กสศ. เปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โชว์ผลงานครู ‘นักจัดการเรียนรู้’ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

กสศ. เปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โชว์ผลงานครู ‘นักจัดการเรียนรู้’ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง

สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน เวทีเปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ ภายใต้โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงผลงาน มอบโล่และเกียรติบัตรเป็นกำลังใจแก่ครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน

เริ่มต้นงานโดย ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ ได้รายงานความก้าวหน้าโครงการว่า โครงการได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยการดำเนินการในปี 2566 นี้มีครูและนักจัดการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายมากกว่า 500 คน ใน 21 เขตพื้นที่การศึกษา 10 จังหวัดต้นแบบ เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ตนเองสนใจ และนำไปพัฒนาห้องเรียนของตัวเอง จากจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 8 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผ่านการสำรวจความเห็นจากเหล่าคุณครูมาแล้วว่า จะเป็นตัวช่วยในการพัฒนาห้องเรียนที่ส่งต่อพัฒนาการและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดีขึ้นได้

ดร.พรนับพัน วงศ์ตระกูล ผู้จัดการโครงการ ฯ

เป้าหมายในการดำเนินโครงการ ได้แก่

  1. เพื่อพัฒนาหลักสูตร Active Learning ที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของครูและนักจัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นหลัก และยื่นขอการรับรองมาตรฐานจากคุรุสภา
  2. เพื่อสร้างพลังของครู โรงเรียน และเครือข่ายเชิงพื้นที่ ให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ มุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนตามเกณฑ์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
  3. เพื่อขยายผลวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับพื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของผู้อำนวยการ ศึกษานิเทศก์ พี่เลี้ยง และครูต้นแบบ ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นได้

การดำเนินงานได้เริ่มจากการคัดเลือกองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของครู เพื่อให้ครูนำไปประยุกต์ใช้ และมีหน่วยงานเจ้าของหลักสูตรให้การสนับสนุนตามแนวทาง Active Learning จากองค์กร Creativity Culture and Education หรือ CCE ประเทศอังกฤษ ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนา 4 ด้านพร้อมเพรียงกัน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา หลังจากนั้นจะมีการติดตามประเมินผลผ่านกระบวนการ (Professional Learning Community: PLC) โดยผลลัพธ์พบว่า ครูและนักจัดการเรียนรู้สามารถนำองค์ความรู้จากการอบรมไปปรับใช้ในห้องเรียนได้อย่างเหมาะสมและเกิดเป็นเขตพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งทิศทางต่อไปจะเป็นการสร้างความเข้าใจระบบพี่เลี้ยง และเผยแพร่การดำเนินงานที่เน้นการนำเสนอเรื่ององค์ความรู้และหลักสูตร PLC ในการพัฒนาห้องเรียน และให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนได้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ต่อมาเป็นการกล่าวเปิดงานโดย ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เป็นตัวแทนของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้

ดร.โชติมา กล่าวว่า การจะพัฒนาโครงการให้มีคุณภาพได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดกลไกขับเคลื่อน นอกจากนี้การพัฒนาการเรียนการสอนของครู โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำ ถ้าหากทุกฝ่ายจับมือร่วมกัน แบ่งปันองค์ความรู้กัน ก็จะช่วยให้คุณภาพการศึกษาพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

การดำเนินการร่วมกันระหว่าง สพฐ. และ กสศ. อย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษามากมาย ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 3 โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สมัครใจเข้าร่วมมากถึง 1,100 แห่ง จาก 21 เขตพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่ 10 จังหวัด จนประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม

สำหรับการดำเนินงานในปี 2566 มีห้องเรียนต้นแบบถึง 14 โรงเรียน ที่ต่อยอดมาจากห้องเรียนต้นแบบในปี 2565 ในลักษณะโรงเรียนคู่พัฒนา พร้อมตั้งเป้าความร่วมมือกับสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทางเลือกในการเข้าถึงการศึกษา เกิดแพลตฟอร์มทางการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นหลากหลายอย่างมีคุณภาพ โดยโครงการจะมีการสร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้ 3 แนวทาง ดังนี้

  1. พัฒนาต้นแบบหลักสูตร องค์ความรู้ และนวัตกรรมการจัดเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่สอดคล้องเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กในปัจจุบัน มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย เข้ากับบริบทชุมชนและกระแสโลกที่เปลี่ยนไป
  2. ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาครูให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแบบรายบุคคล
  3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาช่วยส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาตนเองและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีศึกษานิเทศก์เป็นพี่เลี้ยงที่ทำงานกับโรงเรียนอย่างใกล้ชิด

ดร.โชติมา กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ประทับใจที่สุดอย่างหนึ่งคือ การได้รับรู้ว่าคุณครูที่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้เต็มใจและสมัครใจมาเข้าร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้แก่เด็กไทย ทำให้การดำเนินการไปเป็นอย่างราบรื่นดี และคาดหวังว่าในโอกาสถัดไปจะมีการขยายผลอีกหลาย ๆ เขต เพราะมีต้นแบบที่ดีและมีหลักสูตรที่ได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญ คุณครูหลายคนจึงให้ความมั่นใจที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป

ดร.โชติมา ทิ้งท้ายว่า กุญแจสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้คือ “ครูเก่ง นักเรียนก็เลยเก่งตามด้วย” จึงเป็นที่มาของโรงเรียนต้นแบบทั้ง 14 โรงเรียน ในปี 2566 นั่นเอง

จากนั้น ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวถึงทิศทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาครู นักจัดการเรียนรู้ และนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ โดยหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องให้นักเรียนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการร่วมมือกันระหว่าง กสศ. และภาคีต่าง ๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ดร.ไกรยส ยังกล่าวอีกว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning จำเป็นจะต้องทำให้คุณครูได้สวมหมวกของการเป็นนักจัดการเรียนรู้ด้วย ซึ่งเป็นการแปลงนโยบายของ สพฐ. ให้ปรากฏผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติ โดยการทำให้คุณครูเป็นนักจัดการเรียนรู้ที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วย และสิ่งที่จะตามมาคือ เด็กจะเป็นนักเรียนรู้ที่ Active และไม่ยุติการเรียนรู้แม้จะจบหลักสูตรการเรียนแล้ว นี่คือเป้าหมายสูงสุดในปลายทางระยะยาวที่มั่นคงและยั่งยืน

อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ ดร.ไกรยส ได้กล่าวถึงก็คือ ‘Agentic Teacher’ หรือแปลได้ว่า ‘คุณครูผู้ก่อการ’ ซึ่งมีความหมายที่แฝงไว้อย่างลึกซึ้งและเกี่ยวเนื่องกับ Active Learning และนักจัดการเรียนรู้อยู่ในตัว กล่าวคือ หากคุณครูเป็นครูผู้ก่อการแล้ว ครูจะต้องสามารถเอาคุณค่าที่สะสมในจิตวิญญาณความเป็นครู มาผนวกรวมกับอุดมการณ์ ความคิด ความตั้งใจ และคุณค่าในตัวเองและท้องถิ่นชุมชน เชื่อมโยงกับทักษะในการเรียนการสอน ความรู้ในหลักสูตรแกนกลาง และเชื่อมโยงกับสมาชิกในชุมชนจนเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ดร.ไกรยส เสริมว่า กระบวนการดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณครูสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นคุณครูผู้ก่อการได้ จะเป็นคุณครูที่มีพลัง สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวและผู้คนต่าง ๆ จนเกิดเป็นกระบวนการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนได้ 

ทั้งนี้ โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ฯ มีผู้สมัครเข้าร่วมมากถึง 200 โรงเรียน แต่ กสศ. รับได้เพียง 40 โรงเรียนเท่านั้น นั่นหมายความว่ามีโรงเรียนที่สนใจมากถึง 5 เท่า จึงคาดว่าในรุ่นต่อ ๆ ไปจะมีการเพิ่มงบประมาณและรับเพิ่มได้ 

สำหรับทิศทางต่อไป กสศ. ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างครบวงจร เมื่อคุณครูผู้ก่อการได้เปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นห้องเรียนที่ตื่นตาและน่าเรียนรู้ จะทำให้คุณครูมีกำลังใจและจุดประกายให้โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป และผลประโยชน์ย่อมตกแก่เด็กมากที่สุด