สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เปิดเวทีเสวนา ‘การพัฒนาครูและนักจัดการเรียนรู้ แนวทางการขยายผลการพัฒนาห้องเรียน Active Learning เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้’ ในงานเวทีเปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ ภายใต้โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อระดมความคิด เสนอแนวทางการขยายผลพัฒนาครู พัฒนาห้องเรียนในรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุกในมิติต่าง ๆ หรือ Active Learning เพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์อนาคต
- อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : กสศ. เปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โชว์ผลงานครู ‘นักจัดการเรียนรู้’ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง
ดร.โชติมา หนูพริก รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อตอบโจทย์อนาคต โดยมองว่าหลักสูตรการศึกษาที่ถูกออกแบบขึ้นมานั้น จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญก็คือการพัฒนาทั้งครูและนักเรียน รวมถึงเตรียมความพร้อมให้เด็กมีทักษะ เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นนวัตกร
“ในฐานะนักพัฒนาหลักสูตร มองว่าการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องปรับให้ตอบโจทย์อนาคต เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือ การปรับวิธีการจัดการเรียนรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ โดยผลวิจัยยืนยันว่า หลักสูตรการศึกษาที่ดีต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ให้เกิดองค์ความรู้ เกิดทักษะ เกิดคุณลักษณะที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับครูและความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
ดร.โชติมา กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในฐานะที่เป็นครูและนักวิชาการ พบว่า หลักสูตรในประเทศไทยนับว่าดีมาก แต่หลักสูตรเหล่านั้นมักถูกนำไปปฏิบัติในห้องเรียนไม่ได้จริง เพราะครูยังยึดติดอยู่กับสื่อที่เป็นแบบเรียน สอนตามหนังสือ แต่ไม่ได้มองถึงเป้าหมายที่แท้จริงของหลักสูตรว่าต้องการอะไร ทำให้ไม่สามารถบรรลุผลตามมาตรฐานตัวชี้วัด รวมถึงไม่ได้ตรวจสอบผลการเรียนรู้ว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่สอนมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ยังมีหลายตัวแปรที่ทำให้หลักสูตรการศึกษาคลาดเคลื่อนไป ดังนั้นแม้ว่าหลักสูตรจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามเป้าหมายที่หลักสูตรวางไว้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวเร่งให้ครูปรับตัว ปรับเทคนิคการสอน โดยต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างศักยภาพในการสอน แม้ครูจะสร้างสื่อเทคโนโลยีไม่ได้ แต่คุณครูก็สามารถที่จะเลือกหยิบเนื้อหาจากออนไลน์หรือจากหน่วยงานที่ผลิตสื่อคุณภาพได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เอื้อให้ครูค้นพบเทคนิควิธีการสอนที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับนักเรียนได้มากยิ่งขึ้น
“หลักสูตรในอนาคตที่จะถูกออกแบบขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้สร้างนวัตกรรมในอนาคต การปรับหลักสูตรเป็นงานที่ สพฐ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการปรับโดยยึดหลักการทำงานที่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปการศึกษา นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วหลักสูตรการศึกษาหรือหลักสูตรแกนกลางจะมีการปรับปรุงใหม่ทุก 4 ปี
“ในช่วงที่ผ่านมา สพฐ. พยายามขับเคลื่อนเรื่อง Active Learning โดยใช้ช่องทางต่าง ๆ อย่างช่องทางออนไลน์ OBEC Channel ไปจนถึงการสร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อนำไปสู่ความชัดเจนของหน่วยปฏิบัติในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา สามารถวางนโยบาย แนวทาง และแผนการขับเคลื่อนการใช้หลักสูตรแกนกลาง โดยมีตัวอย่างการทำงานที่ประสบความสำเร็จจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เคยนำร่องเรื่องนี้ไว้แล้ว
“สพฐ. หวังว่าในระดับสถานศึกษาจะเกิดหลักสูตรสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนมากขึ้น ขณะที่ระดับครูผู้สอนจะมีหน่วยการเรียนรู้ที่บูรณาการการเรียนรู้เชิงรุกให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหลายโรงเรียนได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีบางโรงเรียนที่ยังต้องการพี่เลี้ยงเพื่อช่วยแนะนำว่า ได้ปรับการสอนให้เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ และมีประเด็นไหนที่ยังต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า หน้าที่สำคัญของคุรุสภาคือดูแลมาตรฐานการศึกษา ดูแลเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดูแลพฤติกรรมตามจรรยาบรรณวิชาชีพ และส่งเสริมการพัฒนาครู ซึ่งกระบวนการพัฒนาครูให้เชื่อมโยงกับ Active Learning คือการกำหนดแนวทางให้มีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจน เช่น หากต้องการให้ผู้เรียนรู้ หรือนักเรียน เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน หรือเรียนอย่างมีความสุข จะต้องพัฒนาครูในด้านใด โดยในปัจจุบันอาจจะต้องกำหนดด้วยว่า ครูต้องช่วยกันสร้างเด็กให้เป็นผู้ร่วมสร้างองค์ความรู้ ร่วมสร้างนวัตกรรมสำหรับการเรียนรู้
“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ครูก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย เมื่อมีกระบวนการ Active Learning เข้ามา ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการจัดการเรียนการสอนเพื่อเน้นฐานสมรรถนะ ส่งเสริมผู้เรียนให้ปรับใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายในสถานการณ์จริง ออกแบบกลยุทธ์ หาแนวทางแก้ไขปัญหา สามารถพลิกแพลงและยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความผันผวนของโลกได้”ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคุรุสภาได้พยายามขับเคลื่อน Active Learning โดยร่วมกับ กสศ. ในการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในโรงเรียนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยถอดบทเรียนจากนวัตกรรมของครูที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติและลงมือทำ และรวบรวมประสบการณ์จากครูมาบรรจุไว้ในแพลตฟอร์ม KM บนเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากว่า 100 รูปแบบ รวมถึงสร้างกระบวนการ PLC หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากครูในการแสวงหากระบวนการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า สพฐ. และคุรุสภา ต่างก็มีวิธีการพัฒนาครูให้สอดคล้องกับมาตรฐาน และมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการตามความเหมาะสม โดยในส่วนของ กสศ. จะทำหน้าที่หาแนวทางหนุนเสริมด้วยโครงการที่สอดคล้องกัน และจะเชื่อมโยงกับความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากงานเสวนา เวทีเปิดบ้าน ‘ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โครงการพัฒนานักจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สู่การขยายผลพื้นที่ต้นแบบ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม TK Convention กรุงเทพมหานคร
รับชมย้อนหลังได้ที่ คลิก