เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “เพื่อการประชาสัมพันธ์ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Service : ESS Help Me)” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนาม พร้อมด้วยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)และนางสาวสุชาดา จัตุรภุชพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ร่วมลงนาม
นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงาน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. ดร.ธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวง พม. นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง รองปลัดกระทรวง พม. นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ระบบ : ESS Help Me ให้สังคมรับรู้ในวงกว้าง เพื่อลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นแบบฉุกเฉิน
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอด ขยายผล และการประชาสัมพันธ์ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ‘ESS Help Me’ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ทั้งภายในและภายนอก เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริหารตลอดจนพนักงานบริษัทฯ นักเรียน นักศึกษา สังกัดสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตลอดจนลูกค้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ได้เข้าถึงช่องทางการรับแจ้งและระงับเหตุด่วนผ่านช่องทางการสื่อสารภายใน เช่น Application CP ALL Connect, Desktop (All Users), Line Group (for commu) สำหรับกลุ่มพนักงาน และหน้าจอ POS, หน้าจอ Plan B สำหรับกลุ่มลูกค้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ นอกจากนี้ยังวางแผนประชาสัมพันธ์ผ่านวงประชุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดกิจกรรม Roadshow ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวง พม. และ กสศ. พร้อมด้วยภาคีที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันพัฒนาระบบส่งต่อเด็กเยาวชนด้อยโอกาส และประชากรกลุ่มเปราะบาง ให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ การช่วยเหลือ และการคุ้มครองที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเป็นการสร้างและพัฒนาภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการการคุ้มครองดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายหรือประชากรกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส
สำหรับระบบ ESS Help Me ถูกจัดทำและพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของ พม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสศ. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางการรับแจ้งและระงับเหตุด่วนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน Line เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน 5 ประการ ได้แก่ 1. ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย 2. กักขังหน่วงเหนี่ยว 3. เสี่ยงถูกละเมิดทางเพศ 4. ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และ 5. มั่วสุมก่อให้เกิดเหตุร้าย
สำหรับการแจ้งเหตุสามารถทำได้โดยเข้าไปกด ‘เพิ่มเพื่อน’ ทางแอปพลิเคชัน Line ในช่องค้นหา และพิมพ์คำว่า @esshelpme เข้าในช่องแชท จากนั้นสามารถกดแจ้งเหตุร้าย (เลือกเพียงหนึ่งเหตุการณ์) กดแชร์พิกัดตำแหน่งเกิดเหตุ และกรอกเบอร์ติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เมื่อดำเนินการครบทุกขั้นตอน ระบบจะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด และเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนสถานะการปฏิบัติงานมายังผู้แจ้งเหตุอีกครั้ง เพื่อแจ้งความเคลื่อนไหวของของสถานการณ์ให้ทราบ เช่น ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากระบบ ESS Help Me จะทำหน้าที่ช่วยชี้เป้า เฝ้าระวัง และป้องกันเหตุฉุกเฉินทางสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ระบบนี้ยังมีส่วนในการประสานสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปร่วมดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนและตามความต้องการเป็นรายบุคคล ด้วยความตระหนักว่า ปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาที่โยงใยกับอีกหลายมิติ ทั้งวงจรความยากจนข้ามรุ่น การหย่าร้าง ภาวะสิ้นหวังในชีวิตและการใช้ชีวิตเร่ร่อนของพ่อแม่ การใช้ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง รวมทั้งคุณภาพของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น การพนัน ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการศึกษาของเด็กโดยตรง
การดูแลปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกใน 2 ส่วน คือ หนึ่ง-พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชน โดยเชื่อมโยงทุกหน่วยงานในระดับชุมชน ท้องถิ่น ให้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้อง ดูแล คุ้มครองเด็กและเยาวชนในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ครอบครัว สังคม และการศึกษา โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัย ซึ่งส่วนกลางต้องสนับสนุนให้กลไกพื้นที่เข้มแข็ง สอง-มีมาตรการให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนสามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้
มีรายงานว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ตุลาคม 2566 ได้รับการแจ้งเหตุแล้วเกือบ 1,300 กรณี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกัน ‘ปักหมุด หยุดเหตุ’ ผ่านระบบ ESS Help Me กว่า 400,000 จุด