“นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียน เขาไม่รู้ว่าจะมาเรียนไปทำไม เขารู้สึกว่าการมาเรียนมันทำให้สูญเสียโอกาสในการหารายได้”
นี่คือข้อค้นพบที่เป็นปัญหาหนึ่งของ โรงเรียนนครวิทยาคม โรงเรียนมัธยมฯ ประจำตำบลขนาดเล็กในเขตชุมชนที่มีฉากหลังเป็นภูเขาและธรรมชาติอันร่มรื่นของตำบลสันมะเค็ด อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
“ที่นี่เราเปิดสอนในระดับชั้น ม.1 – ม.6 มีนักเรียนทั้งหมด 175 คน กับครูผู้สอนจำนวน 10 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการอีก 2 คน” ศุภวัจน์ พรมตัน ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย ที่สอนทุกระดับชั้นของโรงเรียนนครวิทยาคม เล่าให้ฟัง
จากปัญหาดังกล่าวบวกกับวิสัยทัศน์ (Vision) ของโรงเรียนที่มุ่งหวังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข มุ่งสู่นวัตกรรมจัดการศึกษาโดยครูมืออาชีพ มีเป้าหมายร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อสร้างนักเรียนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นที่มาของ ‘โครงงานส่งเสริมอาชีพ ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง’ โดยบูรณาการ 3 ส่วนเข้าด้วยกันคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง + การส่งเสริมอาชีพ + โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CIP) ซึ่งจะดำเนินการใน 2 ภาคเรียน
เป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุข พัฒนาครูและนักเรียนให้มีทักษะสำคัญในการทำงาน มีความรู้ ความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เชื่อมโยงความสามารถในการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้
ออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือ ‘นวัตกรรมเพื่อชุมชน’
โรงเรียนนครวิทยาคม เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) โดยการสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยศรีปทุม และได้นำเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ ‘โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน’ ที่มีหลักการสำคัญคือการใช้ชุมชนเป็นฐานในการออกแบบการเรียนรู้ โดยเริ่มจากการสำรวจอาชีพในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จากนั้นกลับมาสู่ห้องเรียน ให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ และประเมินตนเอง ค้นหาความถนัดของตนเอง เพื่อเลือกหัวข้อในการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเน้นเรียนรู้ควบคู่กับการสร้างรายได้
ในการออกแบบการเรียนรู้ ครูศุภวัจน์ใช้เครื่องมือ 6 ขั้นตอน ของ OECD ผสมผสานกับการเรียนรู้แบบ Active Learning และใช้ PBL เป็นฐานในการเรียนรู้ โดยในภาคเรียนแรกจัดการเรียนรู้โดยใช้ Project-based Learning หรือการเรียนรู้ที่ใช้โครงงานเป็นฐาน และในภาคเรียนที่ 2 ใช้ Problem–based Learning หรือการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน
“นอกจากประยุกต์ใช้จาก 6 ขั้นตอนที่นำไปต่อยอดแล้ว ส่วนตัวจะใช้เป็น 3P ก็คือมี Problem ปัญหาอะไร, Passion นักเรียนต้องการทำเรื่องอะไร และ Public ทำไปแล้วมันจะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็คือนักเรียนจะใช้แค่ Passion กับ Public”
และเนื่องจากปีที่แล้วครูศุภวัจน์รับหน้าที่เป็นครูประจำชั้น ม.6 ก่อนที่ปีนี้จะได้มาดูแลนักเรียนชั้น ม.1 จึงมีข้อเสนอในการเลือกหัวข้อโปรเจกต์ว่า “ปีที่แล้วพี่ๆ ม.6 ทำแคคตัสค้างไว้อยู่ เราจะต่อตรงนี้ไหม เพื่อความสะดวกของนักเรียน หรือว่าเขาอยากจะทำโครงงานใหม่เลย ซึ่งเขาก็จะมีทั้งกลุ่มที่ทำแคคตัสต่อจากของรุ่นพี่ไปเลย กับกลุ่มเลี้ยงหอยที่เขาอยากลองทำ”
“ที่เสนอไปอย่างนั้นก็เพราะว่า อยากให้เริ่มมองจากต้นทุนที่มีก่อน คือสิ่งที่รุ่นพี่ทำไว้ แต่ก็เปิดโอกาสให้คิดต่อว่า ถ้านักเรียนไม่ชอบแคคตัสนักเรียนอยากจะทำอะไรบ้าง กลายเป็นโยงไปที่เศรษฐกิจพอเพียงว่า ต้นทุนเรามีอะไรบ้างตอนนี้ ก็เอามาช่วยในการคิดได้”
เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกหัวข้อในการเรียนรู้แล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการเขียนแพลนว่า ในหนึ่งเทอมนี้จะทำอะไรบ้าง ซึ่งครูศุภวัจน์บอกว่าประยุกต์มาจากขั้นตอนที่ 4 ของ CIP คือการจัดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมือ FILA Map ที่ช่วยให้เห็นภาพของโปรเจกต์นั้นๆ ชัดขึ้น และครูแต่ละวิชาจะเข้ามามีบทบาทในการซัพพอร์ตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ของนักเรียนแต่ละกลุ่ม
“ครูแต่ละท่านก็จะมาคิดว่าวิชาอะไรของเราที่จะไปช่วยซัพพอร์ตให้เกิดเป็นนวัตกรรมของนักเรียนได้บ้าง อย่าง ม.1 เขาทำเรื่องเลี้ยงหอยกับแคคตัส ครูวิทยาศาสตร์ที่สอน ม.1 ครูคณิตศาสตร์ ครูภาษาไทย เขามีอะไรที่จะมาช่วยเติมให้นักเรียนได้บ้าง ซึ่งนักเรียนเขาจะเขียนเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ว่าการที่เขาจะเลี้ยงหอยได้เขาต้องมีความรู้อะไรบ้าง ครูก็จะมาช่วยเติมให้ ก็จะมีโพสอิทเขียนแปะเอาไว้ อย่างเลี้ยงหอยในวิชาวิทยาศาสตร์อาจจะต้องมีเรื่องของวงจรของหอยที่มันเป็นตัวชี้วัดในวิชานั้นเข้ามาเสริมด้วย”
“ในส่วนของวิชาภาษาไทยเราก็จะสนับสนุนเรื่องของการสืบค้น การเข้าไปหาข้อมูลยังไง เรื่องการใช้คีย์เวิร์ดในการเสิร์ชกูเกิล ช่วยเสริมเข้าไปนิดหน่วยว่าถ้าเราเจอข้อมูลนี้เราจะสามารถนำมาปรับใช้ยังไงได้บ้าง แต่จะเน้นที่ปลายทางสุดท้ายคือ พอเขาทำโครงงานขึ้นมาแล้ว เขาจะสื่อสารให้ชุมชนเห็นยังไง เพราะเราจะมีการเปิดบ้าน ซึ่งเป็นปลายทางที่สุดของโครงการ เราจะต้องเปิดฐานการเรียนรู้ทั้งหมดที่เราทำมาทั้งปีให้น้องๆ ที่เป็นโรงเรียนประถมใกล้บ้าน เขามาเดินดูที่เป็นฐานต่างๆ นอกจากจะมีชิ้นงานที่สำหรับขายโดยเฉพาะ ยังมีองค์ความรู้ที่นำเสนอด้วย เหมือนเป็นการโชว์ร่องรอยการเรียนรู้ ผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะเป็นฐานนี้”
ดังนั้น หัวใจหลักของการเรียนรู้ที่เล่ามาทั้งหมดครูศุภวัจน์มองว่าคือการที่ ‘เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้’ และการบูรณาการของครูผู้สอนวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน
เปิดบ้านวิชาการ โชว์ร่องรอยการเรียนรู้ของนักเรียน
ในการออกแบบการเรียนรู้ที่ครูศุภวัจน์ตั้งโจทย์กับเด็กๆ ตอนต้นว่า ทำไปแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร? หรือที่บอกว่าเด็กสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำได้จริงหรือไม่นั้น ครูศุภวัจน์มองว่า
“เรายังไปไม่ถึงขั้นที่เขาจะเอาไปใช้กับที่บ้านได้ แล้วก็จริงๆ เป้าหมายของเราไม่ใช้แค่การเอาไปใช้ แต่มันคือต้องเป็น ‘องค์ความรู้ใหม่’ ที่นักเรียนทำขึ้นมา มันเคยมีโมเมนต์ที่เทศบาลมาดูงานที่โรงเรียนในวันเปิดบ้านวิชาการ หรืองาน Open house ของเรา มีนักเรียนทำเครื่องดักควัน ซึ่งอันนั้นเทศบาลก็เห็นว่าน่าเอาไปใช้กับเตาเผาขยะที่เทศบาลนะ เพราะว่ามันน่าจะลดมลพิษในหมู่บ้านได้ อันนี้คือโมเมนต์ที่ดีมาก”
ท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนที่เขาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ก็คือ วิธีคิดแบบผู้ประกอบการ นอกจากนี้สิ่งที่จะเป็นทักษะติดตัวเขาไปด้วยไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็คือ ทักษะการคิด ที่ได้ทั้งคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา ไปจนถึงคิดอย่างสร้างสรรรค์ รวมไปถึงการสื่อสารด้วย
“ที่เห็นชัดน่าจะเป็นเรื่องการคิดนวัตกรรม คิดแก้ปัญหา พอเขาเจอสถานการณ์อย่างในการจัดงานเปิดบ้าน สมมติว่าไปติดขัดเรื่องงบประมาณไม่สามารถใช้เงินไปซื้อของบางอย่างได้ เขาจะมองหาสิ่งมาทดแทน หรืออย่างของแคคตัส เราใช้วิธีการคือสั่งของมา แล้วก็มาเลี้ยงดูให้มันสมบูรณ์ขึ้นแล้วก็ขาย เขาก็จะใช้วิธีการไม่ได้ผลิตเอง แต่เป็นเอามากระจาย ขายในราคาที่ได้กำไร เขาจะมีวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ
อีกอันหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือการพรีเซนต์เวลาเจอเแขกที่มา วิธีการนำเสนอของเขาก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมก็จะเป็นการพูดเหมือนท่องจำมา แต่ตอนนี้มันจะมีความสดของการเล่าเรื่องอยู่ เพราะเขาเล่าจากความเข้าใจ เล่าจากสิ่งที่เขาทำ เจอปัญหาก็บอกไปเลยว่าเจอปัญหา คือพยายามจะบอกเขาว่า อย่าไปคิดว่าอันนี้คือมันไม่สำเร็จนะ แต่ให้มองว่ามันไม่สำเร็จเพราะอะไร มายเซ็ตในการนำเสนอเขาก็จะเปลี่ยนไป”
สำหรับฟีดแบคของผู้ปกครองนั้น ครูศุภวัจน์อธิบายว่า “เราพยายามที่จะสื่อสารให้ผู้ปกครองเห็นว่าสิ่งที่นักเรียนทำมันไม่ใช่เอานักเรียนออกมาจากวิชาการ แต่ว่าเราจะอธิบายให้เขาฟังว่าสิ่งที่นักเรียนทำมันส่งผลต่อผู้เรียนยังไงบ้าง โดยจากการตอบแบบสอบถามของผู้ปกครองเขาก็ไม่ได้ต่อต้านหรือว่าจะสนับสนุนอะไร จะกลางๆ มากกว่า”
“เราจะไม่ได้มองที่ผลลัพธ์ คือเดิมเราคิดว่าถ้าเป็นการเปิดบ้านหรือว่าเป็นการที่จะต้องโชว์เคสอะไรบางอย่าง เราต้องเอางานที่สมบูรณ์แบบมา แต่พอเราเปลี่ยนมายเซ็ตให้มันเป็นแบบ ‘เส้นทางการเรียนรู้’ เรากล้าที่จะเอาเครื่องที่มันไม่สำเร็จมาตั้ง แต่เราอธิบายได้ว่า ตรงนี้มันไม่สำเร็จเพราะอะไร ซึ่งตรงนี้การที่นักเรียนอธิบายได้คือในกรอบเวลาหนึ่งเทอมมันอาจจะไม่สำเร็จ แต่ถ้าเราให้เวลาเขาต่อไปเป็นหนึ่งปี เขารู้แล้วว่าปัญหาเขาคืออะไร แล้วก็ต่อจากนั้นเขาจะแก้ปัญหาของเขาได้ คิดว่าตัวเองก็จะมีมายเซ็ตที่เปลี่ยนไปต่อโชว์เคสแบบนี้” ครูศุภวัจน์ พรมตัน โรงเรียนนครวิทยาคม ทิ้งท้าย