เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อ ‘การกระจายอำนาจการจัดการศึกษา (หนึ่ง) คำตอบการลดความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่’ โดยมีคณะทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือ Area based Education : ABE จาก 12 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย สมุทรสงคราม ระยอง ขอนแก่น สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี สงขลา และปัตตานี ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. รวมถึงตัวแทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการกระจายอำนาจทางการศึกษาของประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง
โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการเคลื่อนงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย ด้วยแนวคิดการบริหารจัดการแบบย่อส่วน ลุยสร้างโอกาสและทบทวนข้อติดขัดในการทำงานไปสู่การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ รวมถึงการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับโอกาสอย่างเสมอภาค เชื่อมต่อการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างทุกหน่วยงานในพื้นที่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด
โดยเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนและประสบการณ์การทำงานของ 12 จังหวัดต้นแบบ เพื่อขยายผลและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านการกระจายอำนาจทางการศึกษา พร้อมร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยคณะทำงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ความเป็นไปได้ของ “การกระจายอำนาจและการสร้างหุ้นส่วนในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” ให้กับคณะทำงาน/กลไกการทำงานระดับพื้นที่ ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเข้าใจ บริบทพื้นที่ในมิติที่หลากหลายของคณะทำงานในฐานะของ “คนใน” ทำให้การวิเคราะห์ปัญหาและออกแบบการช่วยเหลือเป็นระบบ 2. การกระจายให้เกิดกลไกระดับจังหวัด ที่สามารถเชื่อมโยงกลไกย่อยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กกว่าจังหวัด ทำให้เกิด “ระบบข้อมูล” ชี้เป้าที่แม่นยำ 3. การขยายภาพของสถานการณ์ปัญหาและการแก้ไขปัญหาเชิงประเด็น ที่มีผลต่อการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน 4. การกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มองเห็นปัญหา และตระหนักต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมไปถึงการ “เปิดพื้นที่” ให้คนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 5. เกิดรูปแบบของ “การบูรณาการ” ระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม 6. การกระจายจุด (dot) หรือ สถานีความรู้ ซึ่ง จุด หรือ Dot หมายถึง หน่วยของการทำงาน/คณะทำงานที่ปฏิบัติการในระบบนิเวศของการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปอย่างหลากหลาย อาทิ หน่วยจัดการเรียนรู้ภาคประชาสังคม สมัชชาการศึกษา เป็นต้น
โดยการทำงานเชิงพื้นที่จำเป็นจะต้องเชื่อมโยง จุด (dot) ให้เชื่อมต่อกัน และขยายความสำเร็จของแต่ละจุดให้ใหญ่ (enlarge) มากขึ้น และเสริมสร้างความสำเร็จนั้นจนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อการทำงานของแต่ละจุด โดยเอื้อต่อเด็กและเยาวชนให้เพิ่มโอกาสและทางเลือกของการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีมากขึ้น
สำหรับการขับเคลื่อนงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ได้ให้ข้อคิดเห็นเรื่องหลักการกระจายอำนาจไปในพื้นที่ ซึ่งหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ คือ ความมีอิสระที่ประกอบไปด้วย 2 เรื่อง คือ 1. อิสระการกำหนดวิธีการแนวทางที่ตอบโจทย์บริบทของแต่ละพื้นที่ และ2. อิสระในการกำหนดวิธีการที่จะแก้ปัญหาที่แตกต่างตามศักยภาพ และสภาพการณ์ ซึ่งวิธีการเหล่านั้นจะเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากร และสามารถจัดลำดับความสำคัญของการใช้ทรัพยากรได้
ด้าน นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) เป็นการทำงานเพื่อประสานเป้าหมายทางนโยบาย 4 ด้านของ กสศ. คือ 1) สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยทำให้เด็กเยาวชนและประชาชนผู้เข้าไม่ถึงโอกาสในสังคม ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและปราศจากข้อจำกัดในการพัฒนาตนเอง 2) การศึกษาและการพัฒนาตนเองนั้นต้องตอบโจทย์บริบทชีวิตผู้เรียน โดยเป็นการจัดการศึกษาในระบบหรือในสถานศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย 3) การศึกษาต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย ออกแบบให้สอดรับความต้องการและข้อจำกัดของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ครอบคลุมผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ผ่านการต้องโทษในกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ และต้องเกิดการสร้างตัวแบบที่จะขยายผลไปสู่การทำงานระดับประเทศ 4) ระดมความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลและนำองค์ความรู้ไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่จะทำให้เกิดการทำงานอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่
ทั้งนี้ การบูรณาการ 4 โจทย์งานเข้าด้วยกัน จะทำให้แต่ละจังหวัดหรือแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลภารกิจทั้ง 4 ด้านโดยเฉพาะ ซึ่งความร่วมมือของคนในจังหวัดจะนำไปสู่การค้นพบเครื่องมือและกระบวนการทำงาน จนเกิด ‘กลไกกลาง’ ในการรับข้อมูลและรายงานสถานการณ์ภายใน ทำให้แต่ละจังหวัดสามารถมีกระบวนการดูแลการศึกษาของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ
“การทำงานภายใต้ข้อจำกัดและทรัพยากรที่มีอยู่ของ 12 จังหวัดต้นแบบ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดตัวแบบที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่จังหวัดขอนแก่นที่สามารถเดินหน้าสู่การก่อตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัด เกิดกลไกการคุ้มครองทางสังคมที่จังหวัดสุโขทัย ส่วนจังหวัดพะเยามีการดึงสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรายังเห็นการจัดทำข้อมูลของจังหวัดระยอง ที่เชื่อมโยงจากระดับจังหวัดลงไปสู่ตำบล เพื่อค้นหาเด็กเยาวชนผู้ตกหล่นจากระบบการศึกษา เห็นการทำงานของจังหวัดสงขลาและสมุทรสงคราม ที่นำข้อมูลด้านสุขภาพมาเป็นฐานการทำงานด้านการศึกษา”
“อีกประเด็นหนึ่งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือการทำ ‘แผนบูรณาการความร่วมมือ’ เพื่อระดมทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน เราเห็นตัวอย่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ทำระบบข้อมูลบูรณาการทรัพยากร จนเกิดแผนงานการจัดการศึกษาจังหวัด หรือที่จังหวัดลำปางก็มีการดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนและประชาสังคมมาเติมเต็ม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานด้านเด็กปฐมวัยที่แข็งแรง ส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแผนตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนภายในจังหวัดเพื่อการจัดการศึกษาระยะยาวของคนในพื้นที่ หรือตัวอย่างนวัตกรรมการจัดการศึกษาและการดูแลเป้าหมายเฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจ ที่จังหวัดพิษณุโลกมีการเซ็ตระบบทำงานแบบ ‘One Stop Service’ เพื่อดูแลประชากรกลุ่มเสี่ยง หรือที่สุรินทร์ก็มีการทำงานกับกลุ่มคุณแม่วัยใสที่เป็นเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ปัตตานีมีการดึงทุนวัฒนธรรมในพื้นที่มาออกแบบการทำงาน และทั้งหมดนี้คือรูปธรรมของกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน”
รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้เป็นการถอดบทเรียนและประสบการณ์การทำงานของ 12 จังหวัดต้นแบบ เพื่อกำหนดข้อเสนอเชิงสังคม และส่งเสียงไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่ากรณีศึกษาของแต่ละจังหวัดจะนำไปสู่การทำงานในทิศทางใดต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นการปรับเปลี่ยนกฎกติกาเพื่อรองรับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปสู่ในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ ตามมาตรา 18 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่มีประเด็นว่า รัฐสามารถยอมรับให้มีการรวมตัวของภาคประชาสังคมและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อระดมทรัพยากรและทำงานเรื่องการจัดการศึกษาของพื้นที่ไปด้วยกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ โครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยกระบวนการวิจัย กล่าวว่า การจัดการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ต้องมีการสนับสนุนเชิงงบประมาณและทรัพยากรเป็นตัวตั้ง อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญกว่าคือ พื้นที่ต้องมีความพร้อมของกลไกการขับเคลื่อน โดยจังหวัดหรือพื้นที่นั้น ๆ ต้องมองเห็นปัญหาของตนเอง และพร้อมเคลื่อนงานเพื่อปิดช่องว่างที่อำนาจจากส่วนกลางมองไม่เห็นหรือทำไม่ได้
สำหรับจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดสุโขทัยที่นำตัวแบบมานำเสนอในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าทางเดินไปสู่เป้าหมายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เช่น สุโขทัยใช้วิธีเชื่อมร้อยหน่วยงานในพื้นที่จนเกิดกลไกการทำงาน โดยเฉพาะส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและวิชาการ ส่วนสมุทรสงครามมีจุดเน้นที่การเอาปัญหาของเด็กเป็นตัวตั้ง ทำให้มองเห็นกลุ่มเป้าหมายชัดขึ้น และสามารถทำงานไปพร้อม ๆ กันได้ในมิติที่ครอบคลุมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ก่อนขยายความร่วมมือในการทำงานออกไปในระยะที่ ‘มือเอื้อมถึง’ จนเกิดการรวมตัวขึ้นเป็นเครือข่ายของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาจังหวัด
ขณะเดียวกัน จุดที่เหมือนกันมากของทั้งสองจังหวัดและเป็นจุดเด่นที่ควรเน้นย้ำ คือการทำงานด้านข้อมูล โดยสุโขทัยและสมุทรสงครามต่างมีข้อมูลที่ ‘สำรวจ-จัดทำ-ปรับปรุง-ตรวจสอบ’ โดยคณะทำงานในจังหวัด ทำให้สามารถนำมาเชื่อมโยงการทำงานได้ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงระดับอำเภอและตำบล ทั้งสองจังหวัดทำให้เห็นว่าสามารถใช้ข้อมูลมาแปลงเป็นเครื่องมือ เป็นแผนงาน เป็นการระดมความร่วมมือ และเป็นโครงการที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ และในอีกทางหนึ่งข้อมูลขนาดใหญ่นี้ ยังมีประโยชน์ต่อการทำงานของหน่วยงานระดับประเทศ ในการนำไปใช้วิเคราะห์ วางแผน และกำหนดมาตรการทางนโยบายทั้งในภาพใหญ่ระดับชาติ รวมถึงการทำงานที่ย่อส่วนเล็กลงในระดับพื้นที่อีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า การทำงานของ 12 จังหวัดต้นแบบ แสดงให้เห็นถึงความ ‘สุกงอม’ หรือความพร้อมของการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา ที่หลังจากนี้จะต้องดำเนินไปสู่การทำงานเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยพยายามผลักดันพื้นที่นำร่องให้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จ เพื่อสื่อสารไปถึงผู้กำหนดนโยบายของประเทศ ว่าการกระจายอำนาจการจัดศึกษาที่เกิดจากการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของคนภายในจังหวัดหนึ่ง ได้ทำให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมทางการศึกษาและองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตกลุ่มผู้ด้อยโอกาส 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศได้จริง
“ถ้าผู้กำหนดนโยบายเห็นพื้นที่ต้นแบบ ในมุมของความเปลี่ยนแปลงที่ลงไปถึงคนที่เคยเข้าไม่ถึงโอกาสในสังคมมาก่อน ความเป็นไปได้ของการพิจารณาแก้ไขระเบียบ กฎกติกาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา ก็จะยิ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้รับการมองเห็นในวงกว้าง และเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องเป็นไปเพื่อการดูแลคน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจแบบหักดิบ
“ดังนั้นต้องนำเสนอข้อค้นพบและแง่มุมที่มีความสำคัญจากพื้นที่นำร่อง เช่น จังหวัดสมุทรสงครามที่มีการแก้ปัญหาเรื่องการไม่ได้รับอาหารเช้าของเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ หรือการมีส่วนร่วมของวัดในการสนับสนุนโรงเรียนให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่าย เหล่านี้ล้วนเป็นความร่วมมือในระดับพื้นที่ที่เราเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมแล้ว ส่วนจังหวัดสุโขทัยได้พยายามจัดการศึกษาที่คำนึงถึงความหลากหลายเป็นตัวตั้ง มีการคลี่คลายขยายหลักสูตรการศึกษาที่พ้นไปจากรั้วโรงเรียน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความยืดหยุ่น สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียนแต่ละคน ในการพัฒนาตนเองตามศักยภาพตามความสนใจและความถนัด”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวทางเหล่านี้จะเป็นตัวแบบของการจัดศึกษาของประเทศไทยในอนาคต ที่ไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงเส้นทางเดียวคือการศึกษาในโรงเรียน แต่การจัดการศึกษาในวันนี้และสำหรับวันข้างหน้า จะต้องมีทางเลือกหลากหลาย ตอบโจทย์การพัฒนาของคนทุกคน