ว่ากันว่า “ก้าวแรกมักเป็นก้าวที่ยากที่สุดเสมอ” โดยเฉพาะเมื่อก้าวแรกถูกหยิบยกมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงหรือเริ่มต้นความท้าทายครั้งใหม่เพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
เช่นเดียวกับก้าวแรกของ ผอ.อลิสา กลิ่นหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดลัฏฐิวนาราม โรงเรียนขนาดกลางในตำบลฉลอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ไปจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ในบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง หลังตัดสินใจนำโรงเรียนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
“ตอนแรกก็กังวลเล็กๆ เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหม่ แล้วคุณครูจะโอเคไหมกับที่เราเอามาใช้ แต่พอเราได้เห็นกระบวนการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเอาเครื่องมือเข้ามา เราเห็นว่าดี แล้วมันตอบโจทย์ว่าเราจะพัฒนาครูและกระบวนการสอนอย่างไร ซึ่งเราสามารถใช้กระบวนการนี้ไปพัฒนาครูท่านอื่นๆ ด้วย คือเราเห็นก่อนว่ามันได้ประโยชน์ถึงนำมาใช้ ตอนแรกคุณครูก็ยังไม่เชื่อเราเท่าไหร่ เพราะหากทำตามเราเท่ากับต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณครูอาจจะยังไม่อยากเปลี่ยน”
ผอ.อลิสา กล่าวเพิ่มเติมว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ TSQP บทบาทของ ผอ.จะอยู่ในฝ่ายบริหารและการนิเทศเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายวิชาการมากนัก แต่พอเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ตระหนักถึงบทบาทอีกด้านหนึ่งคือ การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โรงเรียน
“ก่อนหน้าจะดูในส่วนนิเทศ ดูว่าชั้นเรียนว่าได้ตามเป้าหมายไหม ณ ตอนนั้นเราจะเป็นคนเดียวที่รู้ทั้งหมดว่าคุณครูคนนั้นสอนเป็นอย่างไร คุณครูคนนี้สอนดีหรือเปล่า มันจบแค่ในห้องใครห้องมันแค่นั้น โดยไม่ได้เอามาแชร์กันว่าแต่ละห้องเป็นอย่างไร จนวันหนึ่งราชภัฏภูเก็ตเข้ามาแนะนำว่า ผอ. จะต้องเป็นผู้นำ ต้องค่อนข้างละเอียดในการนิเทศ รวมทั้งให้คำแนะนำกับคุณครู เราจึงเริ่มนำเครื่องมือ เช่น การทำ PLC (Professional Learning Community) , LS (Lesson Study) มาใช้และสังเกตการสอนของครูที่เน้นในเรื่องของการใช้คำถามขั้นสูง การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เราจึงได้เครื่องมือต่างๆ มาใช้ในโรงเรียน”
หลังจากเข้าอบรมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตแล้ว ผอ.อลิสา ได้จัดตั้งวง PLC ในโรงเรียนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับคุณครูทุกคนว่าจะเปลี่ยนมาเน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning มากขึ้น
“บทบาทของ ผอ. บทบาทของคุณครูเปลี่ยนไปเลย จากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างมีเป้าหมาย เราก็เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ว่าเน้นเรื่องของกระบวนการ Active Learning นะ คุณครูจะใช้นวัตกรรมอะไรก็แล้วแต่สไตล์ของคุณครูแต่ละวิชา นอกจากครูแล้ว ทุกคนก็เข้ามาร่วมกันดูว่าคุณครูนำเสนอในการสอนอย่างไรบ้าง มันไม่ใช่ของใครของมันแล้ว เรามาร่วมกันดูสื่อการสอนตรงนี้ก่อนที่จะเข้าไปสอนจริงว่าดีหรือยัง ทุกคนร่วมกันให้คำแนะนำ เช่น เติมตรงนี้นิดหน่อยไหม เวลาพอไหม มันเยอะเกินไปไหม และจะตอบตัวชี้วัดกับจุดประสงค์จริงไหมในการวัดประเมินผลนั้น”
แน่นอนว่าไม่ใช่ครูทุกคนจะกล้าแสดงความเห็นในที่ประชุมอย่างเต็มที่ ทำให้ ผอ.อลิสา พยายามสร้างความมั่นใจให้กับคุณครูว่าวง PLC นี้เป็นวงประชุมที่ปลอดภัย
“ครูอาจยังไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเท่าไหร่ เพราะกลัวจะพูดผิดต่างๆ นาๆ แต่พอเราทำวง PLC สม่ำเสมอ และไม่มีการตัดสินคุณครู ทำให้ครูเริ่มมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพราะเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะช่วยกันพัฒนาการสอน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และครูทุกคนจะร่วมมือกันเพื่อเด็กของเรา”
เมื่อผู้บริหารและคุณครูมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาโรงเรียนไปในทิศทางเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและกล้าแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน
“ถ้าพูดถึงเด็ก ใน 4 ปีที่ผ่านมานี้เด็กเปลี่ยนแปลงมากกับการใช้นวัตกรรม PLC, LS เวลาเราเข้าไปดูห้องเรียน เทียบกับเมื่อก่อน เด็กจะปล่อยให้คนเก่งประจำห้องเป็นคนทำ อาจจะคิดว่าฉันไม่เก่งหรือฉันก็ไม่กล้า เมื่อต้องออกไปพูดหน้าชั้นก็พูดเสียงเบาๆ เพราะว่าเขาจะอยู่หลังห้อง ครูก็จะไม่ค่อยเรียก แต่ตอนนี้ในห้องมันเป็นภาพของการเรียนรู้ทั้งหมด เพราะว่าคุณครูเขาก็จะออกแบบการสอนมาแล้วว่า ส่วนใหญ่จะเน้นกิจกรรมกลุ่ม แต่ละวิชาเขาก็จะมีสไตล์ต่างกัน โดยคุณครูก็จะมีเทคนิคในการแบ่งเด็กแต่ละกลุ่ม มีทั้งเด็กเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อนอยู่ในนั้นโดยที่เด็กไม่รู้ตัว เด็กเขาก็จะมอบหมายงานของแต่ละกลุ่มกันเองว่าแต่ละคนจะทำหน้าที่อะไรบ้างตามความสามารถ
เราจะเห็นเลยว่าเด็กทุกคนได้แสดงความสามารถ ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง กล้าแสดงออกมากขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น แล้วก็ไม่ใช่แค่คนที่เก่งเท่านั้นที่พูดได้ ทุกคนสามารถพูดได้หมด เด็กหลายๆ คนเปลี่ยนไปมากหลังจากเรามาใช้ออกแบบการสอนให้เด็กเขาได้แสดงความสามารถ เด็กเขามีความมั่นใจมากขึ้น”
นอกจากนี้ ผอ.อลิสา ยังมองว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนและกล้าแสดงศักยภาพของตัวเองมากขึ้น คือการที่คุณครูทุกคนเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีครูทำหน้าที่ประคับประคองอยู่ข้างหลัง
“เรารู้สึกว่าเกิดจากความกล้าของคุณครูที่เปิดโอกาสให้เด็กเขาได้ทำ ได้แสดงออก ได้ออกแบบกิจกรรมของเขาเอง ได้หาความรู้ด้วยตัวเองแล้วก็มานำเสนอ จากเดิมอาจจะแค่มีใบงานให้ทำ คุณครูก็จะบอก แล้วเด็กก็ทำใบงานแค่นั้น เด็กก็เหมือนอยู่ในกรอบ เราก็ไม่เห็นพัฒนาการอะไรของของเด็ก ไม่เห็นปฏิสัมพันธ์ของเด็กในกลุ่ม แต่ตอนนี้คิดว่าเด็กโรงเรียนวัดลัฎฐิเปลี่ยนไปแล้วก็คุณครูก็เปลี่ยนไปด้วย
ตอนนี้คุณครูทุกคนชอบการประชุมมาก ในวง PLC นี่คือเป็นวงที่มีความสุขมาก ผอ. ก็มีความสุขเพราะว่าเมื่อก่อนอาจจะพูดเยอะกว่าคนอื่น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะครูท่านอื่นๆ บางคนก็สามารถเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้นำแทนเราได้ด้วย”
ผอ.อลิสา กล่าวทิ้งท้ายว่านอกจากการเปิดโอกาสให้คุณครูมาเป็นผู้นำในบางครั้ง สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือผู้อำนวยการจะต้องเป็นกัลยาณมิตรกับคุณครูอย่างสม่ำเสมอ
“การที่โรงเรียนจะเปลี่ยนแปลงได้ ผอ.เองก็ต้องเป็นกัลยาณมิตรกับคุณครูมากขึ้น ดังนั้นเราจะมีการเสริมแรง ให้คำแนะนำในเชิงบวก ไม่ใช่ว่ามัวแต่จ้องจะจับผิดคุณครูอะไรอย่างนี้ค่ะ มีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แล้วเราก็จับมือกันแล้วไปด้วยกัน ทำให้เรารู้สึกว่ามีความสุขตรงนี้ เห็นแววตาเด็ก เห็นความสุขของเด็ก เรามีความสุขค่ะที่ได้ทำเพื่อเด็ก แล้วก็คิดว่าเราก็จะร่วมพัฒนาไปเรื่อยๆ แล้วเสียงสะท้อนที่ได้จากคุณครูก็คือ คุณครูไม่เหนื่อยเพราะว่าคุณครูเป็นแค่โค้ช คุณครูจะไม่เหนื่อยเลย เพราะว่าทุกขั้นตอนกระบวนการเด็กจะเป็นคนได้แสดงได้ลงมือปฏิบัติจริง”