เอ่ยถึงวิชาคณิตศาสตร์ หลายคนคงจินตนาการถึงตัวเลข การคิดคำนวณและสมการยากๆ ท่ามกลางบรรยากาศเคร่งเครียดในห้องเรียน แต่สำหรับห้องเรียนคณิตศาสตร์ของ ครูนัฐพล หัสนี โรงเรียนเมืองถลาง ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต การออกแบบการเรียนรู้ไม่เพียงเชื่อมโยงให้เข้ากับชีวิตประจำวันและความสนใจของนักเรียน ยังบูรณาการความรู้ที่เกี่ยวข้องและให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติ เพื่อสร้างคุณค่า (Value) ในการเรียนรู้แบบองค์รวมให้กับนักเรียนด้วย
ห้องเรียนคณิตศาสตร์ การออกแบบบทเรียนบูรณาการสู่การร่วมปฏิบัติ
ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ปลุกพลัง เปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กทุกคน” ในมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โรงเรียนพัฒนาตนเองระดับพื้นที่ ครั้งที่ 2 จ.ภูเก็ต โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ครูนัฐพลจำลองบรรยากาศในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบคร่าวๆ โดย ‘ออกแบบบทเรียนแบบบูรณาการสู่การร่วมปฏิบัติ’ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หยิบสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอถลางเป็นตัวตั้ง
สำหรับเป้าหมายในการเรียนรู้ครั้งนี้ ครูนัฐพลบอกว่า อยากเห็นนักเรียนของตัวเองเชื่อมโยงสถานการณ์ เหตุการณ์ และปัญหาในชีวิตประจำวัน กับคณิตศาสตร์ ซึ่งในที่นี้คือเรื่องสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว และสามารถแก้โจทย์ปัญหาได้
และจากการศึกษาพื้นที่จังหวัดภูเก็ตครูนัฐพลก็พบว่า สิ่งที่โดดเด่นของภูเก็ตคือการท่องเที่ยว ทำอย่างไรให้คณิตศาสตร์กับความโดดเด่นของภูเก็ตกลายเป็นบทเรียนได้ จึงเริ่มจากพานักเรียนไปท่องดินแดนของอำเภอถลาง เรียนรู้พื้นที่ของตัวเอง ในคาบเรียนก่อนหน้านักเรียนจึงได้ทำกิจกรรม ‘แผนที่เดินดิน’ สำรวจเมืองถลางว่ามีแหล่งท่องเที่ยวอะไรที่น่าสนใจบ้าง และมาร์กจุดเด่นนั้นบนแผนที่ นี่คือข้อมูลตั้งต้นที่จะนำไปสู่กิจกรรมต่อไป
เมื่อนักเรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับเมืองถลาง ได้ข้อมูลมาชุดหนึ่ง ครูนัฐพลพานักเรียนนำข้อมูลมาทำโปรแกรมท่องเที่ยว ‘One day trip in Thalang’ รับบทเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งสำคัญในการวางแผนทัวร์นั่นคือ การคำนวนระยะทางและเวลาในการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B และเวลาที่ใช้ในการทัวร์แต่ละจุด
“ในคาบนี้เราจะมาเป็นผู้ประกอบการ จากการลงพื้นที่และทำแผนที่เดินดิน ทำให้เรารู้ว่าสถานที่ตรงนั้นชื่ออะไร มีจุดเด่นอย่างไร วันนี้ครูจะพานักเรียนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ เราจะเป็นเจ้าของธุรกิจทัวร์ ซึ่งเราจะต้องมีการวางแผนโปรแกรมทัวร์ของเรา โดยให้นักเรียนทุกกลุ่มออกแบบตาราง One day trip in Thalang จะพาไปไหนในอำเภอถลางก็ได้ แต่ขอให้เริ่มต้นที่โรงเรียนเมืองถลาง และระยะเวลาในการวางโปรแกรมทัวร์สำหรับท่องเที่ยวนี้ภายใน 6 ชั่วโมงเท่านั้น”
จากนั้นครูนัฐพลใช้คำถามชวนคิด เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสะท้อนการทำงานของตัวเองหรือข้อผิดพลาดเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงพยายามให้เหตุผลว่า มีปัจจัยอะไรที่ทำให้การเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B ใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน นั่นก็คือขึ้นอยู่กับอัตราเร็ว และเชื่อมโยงไปสู่การหาคำตอบทางคณิตศาสตร์
ชุดคำถามที่ครูนัฐพลใช้ เช่น ในการออกแบบตารางการเดินทาง นักเรียนคิดว่า ข้อมูลสำคัญที่จะต้องใช้ในการออกแบบการเดินทางน่าจะมีอะไรบ้าง? ข้อมูลที่นักเรียนนำมาใช้ในการวางแผนการเดินทาง One day trip in Thalang นักเรียนนำข้อมูลมาจากไหน? และข้อมูลระยะทางที่ได้จากการค้นหาใน Google Map และประสบการณ์ตรง มีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
“ในการวางแผนทัวร์ข้อมูลที่เราจะต้องมีคือ ‘ระยะทาง’ จากจุดที่ 1 ไป จุดที่ 2 และเราจะต้องทราบ ‘เวลา’ ที่ใช้ในการเดินทาง แล้วก็ยังมีข้อมูลของสถานที่ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาในการเปิด-ปิดของสถานที่และวันด้วย ซึ่งเราต้องคำนวนไว้ด้วยว่านอกจากเวลาในการเดินทาง แล้วยังมีเวลาในการทำกิจกรรมแต่ละจุดอยู่ที่เท่าไร
หากนักเรียนเริ่มต้นเดินทางจากจุดเดียวกันและไปในสถานที่เดียวกัน เราจะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายพร้อมกันหรือไม่ อย่างไร? ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งพร้อมและไม่พร้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าอัตราเร็วของเราอยู่ที่เท่าไร ซึ่งจากที่ยกตัวอย่างมาก็คือ ความเร็วในการขับรถของเรา แล้วอัตราเร็วมาจากไหน ก็มาจากระยะทางหารด้วยเวลานั่นเอง เรื่องนี้นักเรียนจะเรียนโดยตรงเลยก็คือในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ในระดับชั้นม.2 จะใช้ค่อนข้างบ่อย”
จากความสัมพันธ์ข้างต้นครูนัฐพลและนักเรียนร่วมกันสรุปโจทย์สมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ได้ว่า “โจทย์ปัญหาสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว จะมีข้อความไม่ทราบค่าอยู่ และมีข้อความที่เกี่ยวข้องอีกหลายประโยคอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม การแก้ปัญหาสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ก็คือ การหาคำตอบของโจทย์ โดยใช้วิธีกำหนดตัวแปรแทนข้อความที่ไม่ทราบค่า เรานิยมใช้ X แทนตัวแปร แล้วสร้างเป็นสมการขึ้น”
ลำดับต่อไปจึงเป็นกิจกรรม ‘ช่วยคิดหน่อย’ โดยครูนัฐพลจะกำหนดสถานการณ์ปัญหาให้นักเรียน และให้ช่วยกันหาคำตอบเกี่ยวกับเวลาในการเดินทาง และต่อยอดด้วยการให้นักเรียนสรุปเชื่อมโยงกับหลักการของสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยสร้างโจทย์ปัญหาขึ้นเองจากข้อมูลก่อนหน้า โดยนอกจากนักเรียนจะต้องแสดงวิธีทำลงในใบงานแล้ว นักเรียนยังต้องฝึกเขียนแนวคิด โดยจะเขียนเป็นข้อความ วาดภาพ หรือตารางก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นแนวคิดที่นำไปสู่วิธีการในการหาคำตอบของนักเรียน
ผลลัพธ์คือ นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม
สิ่งที่นักเรียนได้จากการเรียนรู้ที่ครูนัฐพลบอกว่าเป็น ‘การบูรณาการสู่การร่วมปฏิบัติ’ นอกจากองค์ความรู้คณิตศาสตร์ที่จะเป็นพื้นฐานให้นักเรียนเข้าใจถึงกระบวนการในการหาคำตอบ โดยที่แต่ละกลุ่มไม่จำเป็นจะต้องใช้กระบวนการเดียวกัน แต่ต้องอธิบายได้ว่าคำตอบนั้นมาจากที่ไหน ยังมีองค์ความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สังคม และวิทยาศาสตร์ วิชาเหล่านี้เข้ามาแทรกอยู่ในบทเรียนคณิตศาสตร์ของครูนัฐพล ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Learning) ได้
ทั้งนี้การวัดและประเมินผลนั้น เกิดขึ้นควบคู่กับการทำกิจกรรมในคาบเรียน ซึ่งสะท้อนผ่านกิจกรรมที่ครูให้เด็กออกแบบโจทย์สถานการณ์เองเพื่อหาคำตอบ เป็นการวัดความเข้าใจของนักเรียน สเต็ปต่อไปที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือการให้นักเรียนนำเสนอกระบวนการที่ได้มาซึ่งคำตอบ
บทเรียนนี้จะเห็นว่า “คณิตศาสตร์ที่ทุกคนจะมองว่าต้องอยู่ในห้องเรียน คณิตศาสตร์ต้องอยู่ในหนังสือ คณิตศาสตร์ไม่สามารถนำออกไปใช้ได้จริงๆ สิ่งที่อยู่รอบตัวนักเรียนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน รอบๆ โรงเรียน หรือในชุมชน หรือในอำเภอถลาง นักเรียนสามารถนำคณิตศาสตร์ไปใช้ได้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงของตัวเราเอง” ครูนัฐพล หัสนี โรงเรียนเมืองถลาง กล่าวสรุป