จากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย PISA 2022 พบว่า เด็กไทยมีผลคะแนนรวม 3 ด้านคือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นผลประเมินที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี อย่างไรก็ตามกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พบว่า ในจำนวนเด็กกลุ่มตัวอย่าง 8,459 คน ที่ร่วมทดสอบมีเด็กที่สามารถทำคะแนนระดับสูง (High-performing students) ในวิชาคณิตศาสตร์คิดเป็น 1% วิทยาศาสตร์ 0.6% และการอ่าน 0.2% ส่วนในกลุ่มคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ (Low-performing students) วิชาคณิตศาสตร์คิดเป็น 68.3% วิทยาศาสตร์ 53.0% และการอ่าน 65.4% ซึ่งตัวเลขนี้คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในแวดวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะในช่วงระหว่างสถานการณ์โควิด-19 จวบจนวิกฤตผ่านพ้นไป
หากแบ่งเด็กไทยที่เข้าร่วมทดสอบออกเป็น 4 กลุ่มตามเศรษฐานะ จะเห็นว่าคะแนนของเด็กจะแปรผันตามระดับรายได้ของครอบครัว โดยเด็ก 25% ที่ร่ำรวยที่สุดส่วนใหญ่สามารถทำคะแนนได้ในระดับสูงที่สุดของการทดสอบ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยลงมา ค่าเฉลี่ยของคะแนนก็น้อยลงตามกัน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกยังได้แสดงให้เห็นการมีอยู่ของเด็กกลุ่ม ‘ช้างเผือก’ ที่มีอยู่ราว 260 คน โดยแม้จะอยู่ในกลุ่ม 25% ที่ยากจนที่สุด แต่กลับสามารถทำคะแนนได้ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กรวยที่ทำคะแนนสูงที่สุดของประเทศ
“ประเด็นนี้สำคัญต่อการเดินต่อของระบบการศึกษาไทย ว่าเราจะทำให้เด็กกลุ่มนี้ไปต่อจนสุดทางได้อย่างไร โดยไม่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนเสียก่อน หนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายของ กสศ. ครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ว่า ระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องค้นหาเด็กช้างเผือกเหล่านี้ให้พบ และช่วยกันดูให้มีเส้นทางการศึกษาที่ไกลที่สุด เพื่อเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ”
เพราะการศึกษาคือคำตอบสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้าเด็กจากครัวเรือนรายได้น้อยได้รับการสนับสนุนดูแลให้มีการศึกษาสูงขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อแม่ และไปต่อได้สูงที่สุดตามศักยภาพ จะเป็นกลไกที่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในระยะยาวได้อย่างแน่นอน “เราจะมีฐานผู้เสียภาษีที่กว้างขึ้น รวมถึงรายได้ในภาพรวมของประชากรที่มากขึ้นพร้อม ๆ กัน”
ในทางกลับกัน มีกลุ่มเด็กยากจนส่วนหนึ่งที่มีคะแนนอยู่ในค่าเฉลี่ยที่ต่ำที่สุด นำมาซึ่งคำถามว่าเด็กกลุ่มนี้ ‘แตกต่าง’ อย่างไรกับกลุ่มเด็กช้างเผือก อะไรที่ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เผชิญอยู่ได้ เมื่อผลวิเคราะห์บอกว่า เด็ก 25% ที่ยากจนที่สุดของประเทศมีผลทดสอบต่ำกว่าระดับพื้นฐานหรือไม่ผ่านการประเมินถึง 77%
“เราพบว่าการสนับสนุนที่ดีจากครอบครัวมีผลอย่างยิ่ง เมื่อในแบบสอบถามที่เด็กต้องทำควบคู่กับการทดสอบ มีข้อหนึ่งถามว่า แต่ละวันที่กลับจากโรงเรียนได้เจอพ่อแม่บ่อยแค่ไหน หรือมีบทสนทนาเกี่ยวกับการศึกษากับพ่อแม่บ้างหรือไม่ ซึ่งคำตอบของเด็ก 25% ที่ยากจนที่สุดเกือบทั้งหมดบอกว่า ‘ไม่ค่อยเจอพ่อแม่’ และไม่มีบทสนทนาที่เกี่ยวกับการศึกษา เนื่องจากส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม ที่น่าสนใจคือกลุ่มเด็กช้างเผือกนั้นมีสถานการณ์ที่ดีกว่าเด็กยากจนคนอื่น เมื่อแบบสอบถามชี้ให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้มีความรู้สึก ‘เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่โรงเรียน’ และ ‘ได้รับการเอาใจใส่จากครอบครัว’ บทวิเคราะห์นี้จึงบอกเราว่า ‘ครอบครัว’ และ ‘โรงเรียน’ ช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กได้มาก รวมถึงเป็นพลังสนับสนุนให้เด็กมีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และอยากออกจากโรงเรียน ซึ่งถ้าการศึกษาไทยเริ่มพัฒนาจากจุดนี้ เชื่อว่าแนวโน้มการศึกษาไทยในภาพรวมจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการศึกษาาไทยต้องเดินหน้าพร้อมกันทั้งระบบ มีมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเติมเต็มช่องว่างในครอบครัวแหว่งกลาง ซึ่งยังมีเด็กในกลุ่มยากจนที่สุดในประเทศไทยกว่า 40% ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้”
อีกประเด็นนำเสนอคือข้อมูลระบุว่าระดับ Growth Mindset ของเด็กนั้นจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ แต่ที่น่าสนใจคือเด็กที่จนที่สุดของประเทศกลุ่มหนึ่งกลับมี Growth Mindset สูงกว่าเด็กจากครอบครัวฐานะดีกว่า โดยเด็กกลุ่มนี้เชื่อว่าแม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เขาเชื่อเสมอว่าตนเองสามารถพัฒนาได้ และเด็กกลุ่มนี้เองคือกลุ่มช้างเผือกที่ทำผลทดสอบ PISA 2022 ได้คะแนนดี ฉะนั้นนอกจากครอบครัวและโรงเรียนแล้ว ยังจำเป็นต้องปลูกฝังเรื่อง Growth Mindset ในตัวเด็ก ให้เขาไม่ย่อท้อต่อปัญหา และเชื่อมั่นเสมอว่าตนเองพัฒนาได้ โดยทำตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตขึ้นเป็นเยาวชน เพื่อให้ชุดความคิดนั้นติดตัวต่อไปในวัยผู้ใหญ่
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. วิเคราะห์ข้อมูลผ่านโครงการ PISA for school ที่ทำร่วมกับ OECD ยังพบว่า 5 ตัวแปรสำคัญที่อธิบายความเป็นเด็กช้างเผือกได้คือ 1.การมองโลกในแง่บวก (Optimism) 2.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) 3.ความรู้สึกกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง (Assertiveness) 4.ความมีระเบียบวินัย (Self-Control) 5.ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) โดยในบางปัจจัยเด็กกลุ่มนี้มีมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด คุณลักษณะเหล่านี้ มีทฤษฎีทางจิตวิทยารองรับ เรียกว่า Big 5 Model ซึ่งอธิบายว่าเด็กที่มีส่วนประกอบเหล่านี้ในตัวเอง จะสามารถพัฒนาตนเองจนมีคุณภาพสูง ดังนั้นถ้ามีการปลูกฝังคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ในตัวเด็กได้ ก็นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อาจยกระดับคุณภาพเด็กไทยได้ในอนาคต
เมื่อนำข้อมูลของโรงเรียนไทยที่เข้าร่วมทดสอบ PISA 2022 มาวิเคราะห์ พบว่าโรงเรียนที่มีปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร มีแนวโน้มที่นักเรียนจะทำคะแนนได้น้อย ยิ่งขาดแคลนบุคลากรครู ผลคะแนนยิ่งต่ำ หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนและสื่อการสอนก็มีผลคะแนนที่ลดลงมาเช่นกัน จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายจาก กสศ. ว่า ถ้าอยากเห็นการศึกษาไทยมีคุณภาพ งบประมาณและทรัพยากรต้องลงไปที่ห้องเรียนและการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วยเติมเต็ม ก็นับเป็นหนึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้
จากแบบทดสอบ PISA 2022 ทำให้เราได้ยินเสียงของเด็ก ๆ ที่ส่วนหนึ่งบอกว่า ‘การศึกษาไทยใช้เวลาเรียนเยอะ แต่ไม่รู้สึกเลยว่าได้เรียนรู้’ ขณะที่ในหลายประเทศที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcomes) ระดับสูง อาทิ ฟินแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ เอสโตเนีย หรือญี่ปุ่น กลับใช้เวลาเรียนไม่เยอะ แต่เด็กรู้สึกว่าได้เรียนรู้จริง ๆ แล้วมันสะท้อนด้วยผลคะแนนที่ดี
อีกประเด็นน่าสนใจคือ ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียนของเด็กไทยอยู่ใน 4 อันดับล่างสุด ร่วมกับจาเมกา กัมพูชา มองโกเลีย ขณะที่ประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามอย่างยูเครน เด็กกลับรู้สึกมีความปลอดภัยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่มาก
“ต่อประเด็นนี้ ความเป็นไปได้หนึ่งคือช่วงทดสอบ PISA 2022 นั้น หลายโรงเรียนในประเทศไทยยังเปิดปิดสลับไปมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายดี เด็กจึงมีความกังวลทั้งเรื่องสุขภาพกาย ประกอบกับภาวะจิตใจที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติจากความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างรอบตัวที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต อีกทั้งเด็กไทยส่วนใหญ่ยังรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน แม้คะแนนส่วนนี้จะขยับขึ้นจากผลทดสอบในปี 2018 แต่ก็ยังไม่ทำให้ไทยพ้นจากพื้นที่ 5 อันดับรั้งท้าย จึงอาจสรุปได้ว่าเด็กไทยยังคงอยู่ในภาวะ ‘ขวัญหาย’ จากสถานการณ์โควิด-19 และสภาวะทางจิตใจนั้นได้ส่งผลต่อการสอบ PISA 2022 ที่ยิ่งมีความยากขึ้นด้วยเป็นปีที่ข้อสอบเน้นไปที่วิชาคณิตศาสตร์ และแบบทดสอบซึ่งทำหลังจากสอบเสร็จก็ได้สะท้อนผลต่าง ๆ ออกมาให้เห็น”
เมื่อมาดูภาพในระดับนานาชาติ ในเรื่องการสนับสนุนจากครอบครัวและโรงเรียน เราจะเห็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ครอบครัวและโรงเรียนสนับสนุนเป็นอย่างเต็มที่จนเด็กมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาตรงจุดนี้ หากมองสิงคโปร์ซึ่งได้ผลคะแนนทดสอบ PISA 2022 เป็นอันดับหนึ่ง ผลที่ได้ชี้ว่าสิงคโปร์กับไทยกลับอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน เพราะเด็กสิงคโปร์จำนวนมากเองได้ยอมรับว่าหลังเลิกเรียนกลับบ้านก็ไม่ค่อยเจอพ่อแม่ ส่วนบรรยากาศในโรงเรียนก็มีความเครียดกดดันจากการเรียนหนัก หรือมองไปที่เวียดนามซึ่งได้คะแนนในระดับที่สูงกว่าประเทศไทย แต่แบบทดสอบก็ระบุว่าเด็กมีความเครียดจากการเรียนสูงมากเช่นกัน ผลทดสอบจึงเผยให้เห็นอีกมิติหนึ่งที่ไม่ได้มีแค่การศึกษา แต่เป็นเรื่องสภาพจิตใจ และการสนับสนุนจากชุมชน บ้าน และโรงเรียน เพื่อที่เราจะนำมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาการศึกษาไทยในอนาคต
ข้อเสนอเชิงนโยบาย กสศ.
‘ทำให้ การเรียนรู้ เป็นหัวใจของการพัฒนาเด็กเยาวชน’
ผลจากการวิเคราะห์ครั้งนี้ทำให้เห็นความสำคัญระหว่างบ้านกับโรงเรียน ว่าการศึกษาจะต้องไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันใดหนึ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายจะต้องดูแลเด็กไปด้วยกัน มาตรการที่สนับสนุนให้เกิดการทำงานระหว่างบ้านกับโรงเรียนจึงต้องมีมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเด็กไทยให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อการทดสอบ PISA แต่ต้องทำให้ ‘การเรียนรู้’ เป็นหัวใจของการพัฒนาเด็กเยาวชน โดยต้องเชื่อมโยงผ่านสามเสาหลัก คือ การเรียนการสอน การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ และสุขภาวะ (Well-being) ให้เป็นภาพเดียวกัน
“ข้อมูลบอกเราแล้วว่าถ้าไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ไม่มีครูเพียงพอ ผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กไม่มีทางดีขึ้นได้ และจากเสียงสะท้อนของเด็ก ๆ ก็ทำให้เราต้องมองเด็กเป็นมนุษย์ ที่ยังมีความบอบบาง กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้พร้อมในทุกมิติ ทั้งโภชนาการ สภาวะจิตใจ ถ้าสิ่งเหล่านี้พร้อมเราถึงค่อยไปดูเรื่องการเรียนการสอนที่สอดคล้อง ยืดหยุ่น มีการออกแบบการเรียนการสอนจากตัวเด็ก แล้วถ้าทั้งหมดนี้พร้อม จะมีการประเมินมาอีกเมื่อไหร่ เชื่อว่าเด็กไทยก็พร้อม ไม่ใช่แค่กับการประเมิน แต่เขาจะสามารถสู้กับทุกปัญหาอุปสรรคได้”
มีตัวอย่างประเทศที่มีการศึกษาที่เด็กมีความสุขกับการเรียนทำคะแนนได้ดีทั้งที่มาจากเศรษฐานะครอบครัวต่างกัน ถือเป็นระบบการศึกษาที่บรรลุเป้าหมายเรื่องคุณภาพชีวิต ความเสมอภาค และความเป็นเลิศไปพร้อมกัน ส่วนบางประเทศก็สามารถพัฒนาการศึกษาจนประสบความสำเร็จได้เพียงในด้านใดด้านหนึ่ง คำถามคือประเทศไทยจะเริ่มเดินไปทางไหน ความสุข? เรียนดี? หรือเสมอภาค? ตรงนี้เป็นเข็มทิศที่ทาง OECD ได้แสดงให้เห็นว่า ในโลกนี้มีระบบการศึกษาที่มีความหลากหลาย มีเป้าหมายแตกต่าง หากนำเครื่องมือเดียวกันไปวิเคราะห์ ก็จะเห็นว่าแต่ละประเทศอยู่ตรงตำแหน่งไหน
“สำหรับ กสศ. ที่ทำงานร่วมกับ OECD อย่างใกล้ชิด เรามองการแก้ไขปัญหาการศึกษาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ในการพัฒนา ‘วงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน’ ที่สามารถยกระดับการศึกษาได้ตั้งแต่ในห้องเรียนและหนึ่งในข้อเสนอคือการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ทำตั้งแต่ในชั้นเรียน (Formative Assessment) ด้วยการสนับสนุนให้การประเมินอยู่ในมือของครู โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งครูจะสามารถวัดประเมินสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ได้โดยไม่ต้องรอบการสอบวัดผลเพียงครั้งเดียว
“วงจรการเรียนรู้อยู่ที่ตอนเรียน ไม่ใช่ตอนสอบ เราควรมีโอกาสเข้าใจได้ว่าระหว่างที่เรียนรู้ เด็กทำได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แล้วพัฒนาจากตรงนั้น ไม่ต้องรอสามปีสอบ PISA แล้วไปลุ้นผลคะแนน เราต้องมีกระบวนการทำให้เกิดการเรียนรู้ในชั้นเรียนระหว่างปีการศึกษาให้ได้มากขึ้น เพื่อให้เด็กมีเป้าหมายในการเรียน รู้ขั้นตอนต่อไปบนเส้นทางการศึกษา เด็กจะรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองและพัฒนาได้ตลอดเวลา
“สมติฐานคือถ้าเรามีเครื่องมือนี้และใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ต่อไปเราก็จะไม่ต้องลุ้นกับ PISA ทุกสามปีอีกแล้ว เพราะเราจะรู้ว่าเด็กเราพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เรามีเครื่องมือนี้ที่ทำหน้าที่ในชั้นเรียนและแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำได้เลย นี่คือคำตอบที่ยั่งยืน และจะเป็นสิ่งที่ทำให้การทดสอบ PISA เป็นเพียงการตรวจสุขภาพประจำสามปี ที่จะไม่ทำให้คนไทยต้องเอาหัวใจไปฝากไว้อีกแล้ว”