เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘ชวนคิดต่อ ข้อค้นพบ เคลื่อนระบบการศึกษาสายอาชีพสำหรับทุกคน’ ภายใต้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ระดมความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้าง ‘พลังทุนมนุษย์’ จากรากฐานแนวคิดเรื่องความเสมอภาค โดยพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนผู้พิการ และบุคคลที่มีความต้องการจําเป็นพิเศษ ได้เข้าถึงโอกาสการพัฒนาตนเองผ่านการศึกษา เพื่อการประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้และดำรงชีวิตอย่างอิสระ เข้าถึงสิทธิ และอยู่ร่วมในสังคมอย่างเป็นปกติสุข
ย่างสู่ปีที่ 5 แล้วที่โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนผู้พิการที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ได้ศึกษาต่อสายอาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาในโครงการฯ สามารถสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และขยายโอกาสการมีงานทำหลังสำเร็จการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม โดยมีภาคีเครือข่าย (Social partners) ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสายอาชีพสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าร่วมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่บทเรียนและข้อค้นพบสำคัญจากการทำงาน โดยชวนภาคีร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และระดมความเห็น ตลอดจนขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาสายอาชีพสำหรับคนทุกกลุ่มทุกประเภท มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผู้เป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย หน่วยงานในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค สถานศึกษาอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ สถานประกอบการภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรคนพิการ ผู้ปกครองของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงตัวแทนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
‘เปลี่ยนความพิเศษให้เป็นพลัง’ หนุนเสริม เชื่อมผ่าน ประสานความร่วมมือ
ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กล่าวว่า จากที่โครงการฯ ดำเนินงานด้วยแนวคิด ‘เปลี่ยนความพิเศษให้เป็นพลัง’ โดยใช้การ ‘หนุนเสริม เชื่อมผ่าน ประสานความร่วมมือ’ เป็นหัวใจสำคัญ ทำให้นับแต่ปี 2563 ถึง 2566 มีเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์เข้ารับการศึกษาในระดับ ปวส. รวม 4 รุ่น ในสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 10 แห่ง โดยรุ่นแรกปี 2563 จบการศึกษาแล้ว 62 คน รุ่นที่สองปี 2564 จบการศึกษาแล้ว 123 คน รุ่นสามปี 2565 ปัจจุบันศึกษาระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 2 จำนวน 114 คน และรุ่นสี่ปี 2566 ศึกษาในระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 1 จำนวน 125 คน รวมนักศึกษาทุนจบการศึกษาแล้วทั้งสิ้น 239 คน จากจำนวนทั้งหมด 424 คน
จากจุดเริ่มต้น การทำงานได้สร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำให้กับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยขับเคลื่อนจนเกิดแนวปฏิบัติ ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมโอกาส และในวาระที่โครงการฯ เตรียมก้าวเข้าสู่ปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ของการทำงาน จึงตั้งใจจัดงานนี้เพื่อเผยแพร่บทเรียนและข้อค้นพบจากคณะวิจัยที่ดำเนินงานต่อเนื่องตลอด 4 ปี โดยองค์ความรู้ ชุดประสบการณ์ และการระดมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในที่ประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การต่อยอดและการวางแผนงานในขั้นต่อไปของทุกฝ่าย ภายใต้ประเด็นประเด็นสำคัญ คือ
- หนุนเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับการดูแลสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ของนักศึกษาทุน รวมถึงพัฒนาหลักสูตรและจัดกระบวนการสอนคุณภาพสูง ที่เน้นเรื่อง ‘การศึกษาพิเศษ’ เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ
- การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำโดยตรง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
- ขยายโอกาสการทำงานร่วมกับครอบครัวผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษและสถานประกอบการ
- เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคีระดับพื้นที่ทั้งส่วนภูมิภาค จังหวัด และระดับประเทศ5.วางเป้าหมายสู่การจัดการศึกษาสายอาชีพเพื่อการมีงานทำสำหรับทุกคน (inclusive vocational education and training)
ผศ.ดร.ชนิศา กล่าวว่า การสร้างสังคมสำหรับทุกคน หรือ Inclusive society คณะทำงานและภาคีทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดันส่งเสริมให้เกิดการเปิดกว้างยอมรับความแตกต่าง ความท้าทายของงานนี้จึงเป็นโจทย์เรื่อง ‘ความพร้อมสู่การมีงานทำ’ ว่าเราจะช่วยกันพัฒนาผู้เรียนอย่างไร ให้มีคุณสมบัติตรงตามที่ผู้ประกอบการและผู้จ้างงานกำลังค้นหา ซึ่งสถานศึกษาต้องมีหน้าที่ขับดันศักยภาพ ช่วยสร้างประสบการณ์การทำงานที่เสริมความมั่นใจของผู้เรียน และที่สำคัญคือเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ผู้เรียนต้องได้ทำงานที่เหมาะสมตามทักษะความสามารถ ในสาขาวิชาที่จบการศึกษา
“เราจำเป็นต้องต่อจิ๊กซอว์ทีละส่วน เพื่อให้แต่ละฝ่ายเข้าใจบทบาทในการทำงานของตนได้ดีขึ้น จนสามารถประกอบเป็นภาพใหญ่ที่จะเชื่อมต่องานในระดับประเทศ โดยสิ่งหนึ่งที่คณะทำงานเคยค้นหามาตลอด และคิดว่าจะได้รับจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในวันนี้ คือ ‘ข้อมูล’ ที่จะแสดงให้เห็นว่าเราจะค้นพบนักศึกษากลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร หรือมี ‘ใคร’ และหน่วยงานใดบ้าง ที่กำลังร่วมเดินทางไปด้วยกัน ‘ใคร’ และหน่วยงานใดบ้างที่จะมาร่วมเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการทำงานของเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ ให้มีประสิทธิภาพและเปิดกว้างยิ่งขึ้น”
CO-CREATION FOR EDUCATION
ปัทมา วีระวานิช นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 และที่ปรึกษา สอศ. กล่าวว่า การร่วมงานกับ กสศ. ทำให้เห็นว่าการสร้างระบบการศึกษาสายอาชีพเพื่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เราต้องอาศัยภาคี เช่นที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามาเป็นแหล่งองค์ความรู้ และช่วยขับเคลื่อนการทำงานใกล้ชิดถึงในระดับห้องเรียน ที่มากกว่านั้นคืออาชีวศึกษายังได้เครือข่ายที่ขยายและเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับประเทศ ตรงนี้ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถพัฒนา ‘ระบบการศึกษาพิเศษ’ ของอาชีวศึกษาได้ โดยมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บริหารการศึกษาพิเศษส่วนกลาง’ ของ สอศ. รวมถึงได้วางโครงสร้างศูนย์การศึกษาพิเศษระดับภาคและระดับจังหวัด เพื่อทำงานร่วมกับสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ
โดย สอศ. สามารถตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษระดับภูมิภาคได้แล้ว 10 แห่ง แต่ละแห่งประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เพื่อรองรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งห้องเรียน สื่อการเรียนการสอน หอพัก การสนับสนุนการเดินทาง นอกจากนี้ยังเตรียมปรับปรุงกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น มีระบบ credit bank ที่มุ่งส่งเสริมจุดแข็งของผู้เรียนให้ชำนาญเฉพาะทาง เพื่อตอบรับเป้าหมายการเรียนรู้ที่มุ่งส่งผู้เรียนเข้าสู่สถานประกอบการโดยตรง
“การจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ทำให้อาชีวศึกษาเชื่อมั่นว่าผู้พิการสามารถทำงานได้ โดยเฉพาะหากเราสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ ความเป็นไปได้ก็ยิ่งมีมากขึ้น เพราะเมื่อจับมือกันหลายฝ่ายเพื่อผลักดันโครงการฯ เราจะมี ‘องค์ความรู้ด้านการศึกษาพิเศษ’ และ ‘การสนับสนุนการเข้าถึงโอกาส’ มาเป็นเครื่องมือ แล้วผลผลิตของโครงการฯ จะช่วยพิสูจน์ว่า อาชีวศึกษาจัดการศึกษาพิเศษอย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์การมีงานทำของผู้พิการด้อยโอกาสได้จริง
ภูรี สมิทธิเนตย์ หัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance โครงการธุรกิจเพื่อสังคม บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่าตอนนี้ Amazon มี 287 สาขา ร่วมกับ Franchisee อีกราว 40 สาขา เข้าร่วมโครงการ Café Amazon for Chance ที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ มากกว่า 400 อัตรา
“การอยู่ในสังคมเราต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน อเมซอนจึงปรับกระบวนการเพื่อสร้าง ‘พื้นที่โอกาสในการทำงาน’ สำหรับคนทุกกลุ่ม เราปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก จัดทำระบบและอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อคนทำงาน และเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับสินค้าที่ได้มาตรฐาน สำหรับกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่ผ่านสถานศึกษามาสู่สถานประกอบการ เรามีการเติมเต็มเรื่องการปรับตัวกับการทำงาน หรือการบริหารจัดการรายได้ และมองถึงการยกระดับให้น้อง ๆ ที่มาทำงานกับเราเป็นระยะเวลาหนึ่ง สามารถนำประกาศนียบัตรไปเทียบวุฒิการศึกษา เพื่อต่อยอดการศึกษาในอนาคตได้ด้วย ส่วนคนที่ทำงานจนมีประสบการณ์และต้องการก้าวไปเป็นผู้ประกอบการเอง เรามีการสอนระบบการทำงานภายในเพื่อนำไปใช้กับธุรกิจของตัวเอง ในภาพรวมแล้ว อเมซอนตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสในการทำงาน เพื่อเพิ่มจำนวนคนที่จะมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน”
กฤตย บุญไทย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การศึกษาและแรงงานสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Central Restaurant Group Co.Ltd” (CRG) กล่าวว่า “Central Restaurant Group เป็นธุรกิจร้านอาหารที่มีการจ้างงานผู้พิการโดยทำงานร่วมกับพนักงานทั่วไป บนหลักการว่า ‘ถ้าผู้พิการค้นพบงานที่ใช่ เขาจะเติบโตต่อไปได้ในสายงาน’
“ในแง่หนึ่ง การทำงานจะช่วยให้ผู้พิการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของตนจนก้าวไปถึงตำแหน่งหัวหน้างานได้ ยิ่งถ้าเราจับคู่งานได้ตรงกับความสามารถของคน ‘งาน’ และ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ จะส่งเสริมกัน กุญแจสำคัญคืออาชีวศึกษาในฐานะสถาบันผลิตพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน ถ้าทำให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าสู่ระบบทวิภาคีได้ หลักสูตรที่กำหนดให้เรียนในสถานศึกษา 1 ปี และเปิดโอกาสให้เรียนรู้ในสถานประกอบการอีก 1 ปี จะช่วยยืนยันคุณค่าในตัวเองของผู้พิการ ว่าเขาทำงานได้ หาเงินได้ และนี่จะเป็นการจุดประกายการเรียนรู้และการเข้าถึงตลาดแรงงานให้กับใครก็ตามที่ต้องการโอกาส ฉะนั้นอาชีวศึกษาถือเป็นหัวใจของการเข้าถึงอาชีพสำหรับผู้พิการ ส่วนภาคเอกชนที่เราต้องจ้างงานด้วยมาตรา 33 อยู่แล้ว เมื่อเข้ามาร่วมกับโครงการฯ เราก็ได้มีโอกาสค้นพบบุคลากรที่มีศักยภาพ พร้อมทำงานได้ทันที”
สร้างการศึกษาเสมอภาคด้วยทุนรองรับผู้เรียนทุกกลุ่ม
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ปิดท้ายว่า จากจุดเล็ก ๆ ที่หลายฝ่ายทำงานร่วมกัน เราสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษได้เห็นโอกาสการมีงานทำมากขึ้น
“เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนและครอบครัวของเขาก่อน ว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับชีวิต ต้องมีการแนะแนว มีสาขาวิชาที่ตอบโจทย์ สิ่งสำคัญคือถ้าสถานศึกษาไม่จับมือกับผู้ประกอบการ ก็ยากที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อผู้เรียนไปสู่การมีงานทำหลังจบการศึกษา เพราะแม้กฎหมายระบุว่าสถานประกอบการต้องจ้างงานผู้พิการ แต่ความที่ไม่เคยมีการส่งต่อข้อมูลหรือเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นระบบ ทำให้ ‘ต่างฝ่ายต่างหากันไม่เจอ’ ฉะนั้นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ต้องทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อเชื่อมข้อต่อตรงนี้ และต้องไม่ใช่การให้ทั้งสองฝ่ายหากันเจอหลังเด็กจบการศึกษาแล้ว แต่สถานประกอบการควรได้เจอน้อง ๆ ตั้งแต่ในระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ เพื่อโอกาสฝึกงาน ทดลองงาน แล้วต่างฝ่ายต่างจะได้ดูว่าสามารถทำงานด้วยกันหลังจบการศึกษาหรือไม่
“การจับคู่สถานประกอบการกับผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้ เราต้องสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเรียนรู้สู่การมีงานทำ ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องมาเจอกัน การมาพบกันวันนี้ถือว่าเรามีองค์ประกอบครบที่จะทำให้โครงการฯ เดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกันสิ่งที่ทุกฝ่ายนำข้อมูลมานำเสนอคือองค์ประกอบชีวิตของเด็กจริง ๆ เป็นบทเรียนการทำงานที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วขยายเครือข่ายขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่การทำงานในพื้นที่ใดหนึ่ง แต่มาจากเครือข่ายแกนนำที่กระจายในหลายภูมิภาค ซึ่งหลังจากนี้ กสศ. สอศ. และคณะครุศาสตร์จุฬาฯ จะมีโจทย์และข้อมูลเพิ่มเพื่อกลับไปหาทางจัดสรรทรัพยากร เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ดียิ่งขึ้น”