ถูกจับจ้องพร้อมคำถามถึง “การศึกษาไทย” เมื่อองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD เผยผลคะแนน PISA 2022 ของเด็กนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ต่ำสุดในรอบ 22 ปีที่เราเข้าร่วมประเมินครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2000 หรือ พ.ศ. 2543 บ่งบอกถึงความไม่พร้อมของการมีสมรรถนะพื้นฐานของคนไทยร่วม 2 ทศวรรษ หรือมากกว่านั้น
ส่งท้ายปี 2023 หรือ พ.ศ. 2566 กสศ. โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้นั่งแลกเปลี่ยนกับสื่อมวลชนถึงอนาคตทิศทางการศึกษาไทย Beyond 2025 ที่จะมีทดสอบความพร้อมรอบใหม่ ซึ่งได้นำฐานข้อมูลนักเรียนไทย 8,495 คน ใน 279 โรงเรียนจาก OECD มาวิเคราะห์ ชวนทุกคนจับมือกันร่วมแก้ปัญหาที่พบว่านักเรียนไทยมีคะแนน PISA ด้านคณิตศาสตร์ต่ำกว่าระดับพื้นฐานมากถึง 68.3% การอ่าน 65.4% และวิทยาศาสตร์ 53% ขณะที่มีกลุ่มเรียนดีมีสมรรถนะระดับสูง ด้านคณิตศาสตร์มีเพียง 1% การอ่าน 0.2% และวิทยาศาสตร์ 0.6% สะท้อนความ “เก่งกระจุกตกกระจาย” ขณะที่ความยากจนมีผลต่อความสามารถมากน้อยอย่างมีนัยสำคัญ
อ่านรายละเอียดจาก : ‘PISA 2022’ ถอดรหัสความเหลื่อมล้ำ : ตอนที่ 1 ผลตรวจสุขภาวะการศึกษาไทย เรียนรู้จากเสียงของเด็ก ๆ และคุณครู
แน่นอนเรื่องนี้ถือเป็นวาระทางสังคมที่มีความสำคัญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องน่าจะต้องขบคิดร่วมกันว่า เกิดอะไรขึ้นกับ “การศึกษาไทย” เพื่อนับจากนี้ประเทศไทยจะเดินหน้าหรือหักเลี้ยวอย่างไรให้ยกระดับความสามารถพื้นฐานจากการเรียนรู้ โดยใช้ผล PISA เป็นผลตรวจสุขภาพด้านการศึกษาประจำปี แล้วนำมาสร้างวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้เกิดผลลัพธ์กับผู้เรียน ไม่ใช่เพียงเพื่อคะแนนดีขึ้น แต่ให้เป็นหลักไมล์แรกของการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาให้มั่นคงในทางยาว ยืดหยุ่นรับโลกเปลี่ยน
การที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ แน่นอนเสียงของผู้คนมีความหมาย กสศ. ได้คุยกับคุณครูที่ทำงานกับเรา อยากให้ผู้อ่านได้ร่วมฟังผ่านตัวหนังสือที่ส่งสะท้อนสถานการณ์การศึกษาไทย อันมีนัยต่อผล PISA ของเด็กนักเรียนไทยในเวลานี้
ถ้าการศึกษาไม่บูรณาการบทเรียนจากความสนใจของเด็ก การเรียนรู้ก็ไม่เกิด
ครูวิธิวัติ รักษาภักดี จากโรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ จังหวัดสุรินทร์ บอกกับเราว่า การเป็นครูกว่า 30 ปี ทำให้ได้ทบทวนว่าการศึกษาบ้านเรากำลังเดินถูกทางหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา สังคมมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นในหลายด้าน มีสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ดึงความสนใจเด็กไปจากการเรียนมากมาย ดังนั้นสิ่งแรกที่การศึกษาต้องทำให้เกิดขึ้นคือสร้างแรงบันดาลใจ หล่อหลอมให้เกิดความมุ่งมั่น เรื่องนี้สอดรับกับผล PISA 2022 ของ OECD ที่สำรวจพบว่า Growth mindset หรือ กรอบความคิดที่เชื่อว่าตนเองสามารถพัฒนาได้มีผลต่อคะแนนความสามารถ คนที่มีคะแนน Growth mindset สูง คะแนน PISA ก็สูง
ซึ่งเมื่อมองมาที่การศึกษาที่เป็นมาของบ้านเรา ในแว่นมองของครูวิธิวัติ เห็นว่าเรามุ่งที่การเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อวัดความสามารถด้านวิชาการมากเกินควร พื้นฐานที่เด็กควรได้รับจากการไปโรงเรียนคือได้รู้จักตนเอง เข้าใจว่าตนเองมีความสามารถและความถนัดด้านใด แล้วโรงเรียนและครูก็คอยช่วยส่งเสริมให้เด็กเดินไปบนลู่ทางนั้น
“ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ลองชวนเด็กทำกิจกรรมกีฬาและโครงงานต่าง ๆ ตามความสนใจ โดยเปิดรับทุกคน ไม่คัดเลือกจากความสามารถ แล้วเราค่อยบูรณาการจากกิจกรรมที่เด็กสนใจไปสู่บทเรียน ให้อย่างน้อยเขาต้องมีพื้นฐานอ่านออกเขียนได้ มีเป้าหมายการเรียนที่ไปต่อได้ด้วยทักษะที่มีติดตัว นอกจากนี้ผลพลอยได้จากการทำกิจกรรมในวงที่เล็กลงกว่าห้องเรียน ยังทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย กล้าเปิดใจกับครูในเรื่องราวด้านต่าง ๆ ของชีวิต ครูจึงรู้จักเด็กมากขึ้น สามารถเติมจุดอ่อนเสริมจุดแข็งให้เด็กได้ถูกจุด และกลายเป็นว่าพอเด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ผลการเรียนของเขาก็ดีขึ้นตามมา”
ไม่สอนแต่ตัวหนังสือ แต่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคน
ครูกมลรัตน์ ฉิมพาลี โรงเรียนถนนหักพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ผลทดสอบ PISA คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเราต้องต่อสู้กับ ‘ภาวะสูญเสียการเรียนรู้’ จากการปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 อย่างรุนแรง เพราะเมื่อเด็กไม่ได้มาโรงเรียน การเรียนรู้เชิงกระบวนการต่าง ๆ ก็ถดถอยลง สิ่งจำเป็นที่ต้องทำจากนี้ ในฐานะครูเธอมองที่การเปลี่ยนเป้าหมาย ว่าต่อไปเราจะไม่สอนหนังสืออีกแล้ว แต่จะให้ความสำคัญกับการสร้างคน โดยทำงานร่วมกับหลายฝ่ายมากขึ้น และต้องเปิดมุมมองเด็กให้เชื่อมโยงไปถึงชุมชน สร้างนิเวศการเรียนรู้ในพื้นที่ เพื่อช่วยพัฒนาในทุกด้านทั้งวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต
“ครูจะต้องไม่ทำงานแบบแยกส่วนอีกต่อไป แต่ต้องมีหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เกิดการเชื่อมประสานกับสังคมอย่างเป็นองค์รวม ต้องช่วยต่อจุด ดูเด็กแต่ละคนว่าควรให้คำแนะนำเขาอย่างไร จะส่งต่อไปที่ไหน คือถ้าเราเบนเป้าจากการสอนเด็กให้ไปสอบ มาเป็นการสร้างพลเมืองคุณภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ เมื่อตั้งเส้นชัยไว้ตรงนั้นแล้วทำสำเร็จ เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่ PISA ที่ผลคะแนนจะดีขึ้น แต่มันหมายถึงสังคมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะเติบโตยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า”
ความเห็นของครูกมลรัตน์ ตรงกับดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. แบบไม่ได้นัดกัน “การปฏิรูปที่สำคัญ คือ ต้องทำให้เกิดวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเราติดกับดักแค่ตอนสอบ ใช้การประเมินเชิง Summative Assessment หรือการสอบไล่ พอวัดผลแล้วก็ปิดเทอม ไม่ได้มีการพัฒนา จึงต้องทำให้เกิดการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เชิง Formative Assessment มากขึ้น ให้ครูมีเครื่องมือนี้ในการประเมินผลตอนที่เด็กกำลังเรียน แต่ไม่ใช่การสอบมิดเทอม จะทำให้เด็กรู้ว่าเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือเนื้อหาส่วนไหน ตัวเองเรียนรู้มาถึงจุดไหน และเป้าหมายการเรียนรู้ต่อไปคืออะไร ทำให้รู้ว่าเด็กเรียนได้ดีขึ้นหรือแย่ลงแล้วต้องรีบพัฒนา อย่าไปรอลุ้นประเมิน PISA ซึ่งเราเป็นอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว ซึ่งจริง ๆ PISA เป็นเพียงเหมือนการตรวจสุขภาพเท่านั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าต้องพัฒนาตรงไหนอย่างไร” ดร.ไกรยส กล่าว (คลิกอ่านฉบับเต็ม)
ทุ่มทรัพยากรและงบประมาณผิดที่ 10 ปีการศึกษาก็ไม่พัฒนา
ครูกิตติกรณ์ หงส์ยิ้ม โรงเรียนปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงคะแนน PISA ว่าสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยในภาพรวมได้เป็นอย่างดี เด็กไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ห่างไกลจากโอกาส และเด็กกลุ่มนี้ถือเป็นค่าเฉลี่ยของประเทศ การจะทำข้อสอบ PISA โดยที่มาตรฐานคุณภาพชีวิตของเด็กยังด้อยกว่าชาติอื่น แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่มีทางอยู่ในมาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว
“ผมคิดว่าเราต้องเทน้ำหนักทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษาไปที่คุณภาพชีวิตของเด็กมากขึ้น และมีการบริหารจัดการที่แยกออกมาจากการพัฒนาแนวทางจัดการเรียนรู้ อย่างน้อยที่สุดเมื่อเด็กอยู่ในโรงเรียนเขาไม่ควรรู้สึกขาดปัจจัยพื้นฐาน แล้วมันจะส่งผลระยะยาวว่าเมื่อปากท้องอิ่ม การคิดถึงเรื่องการศึกษาและการพัฒนาตัวเองก็จะตามมา”
‘ครูครบชั้น สอนตรงสาขา’ ครูเองสอนได้เต็มที่ นักเรียนไม่เสียโอกาส
ครูกนกวรรณ อายุยืน โรงเรียนบ้านปางเป๋ย จังหวัดน่าน ใช้ผล PISA ชวนทุกคนฉุกคิดว่า ‘ทำไมเรายังสอนเด็กให้ไปถึงเส้นชัยได้ไม่ดีพอ’ เธอคือครูที่สอนอยู่พื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารมาแล้ว 6 ปี ต่อสู้กับประเด็นปัญหาเฉพาะหน้ามามากมาย ทั้งเรื่องโอกาส ความห่างไกล ภาษา อย่างไรก็ตามครูกนกวรรณก็ยังมองว่า ปัจจัยเหล่านั้นไม่ได้มีผลกระทบเท่ากับการขาดแคลนครูที่ควรครบชั้น ได้สอนตรงเอก และสามารถอยู่โยงในพื้นที่ได้ยาวนาน
“ถ้ามีครูที่สัมพันธ์กับจำนวนเด็ก และเป็นครูที่จบตรงในสาขาวิชานั้น ๆ เด็กจะไม่เสียโอกาสเรียนรู้ในช่วงเวลาที่เขากำลังก่อร่างพื้นฐาน เราคิดว่างานของ กสศ. ที่ร่วมกับสถาบันต่าง ๆ ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น อาจเป็นคำตอบหนึ่งของการยกระดับการศึกษาของเด็กในพื้นที่ห่างไกล เพราะถ้าครูไม่ได้จบในวิชาหลักที่สอนเด็กจริง ๆ มันก็มีผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก นอกจากนี้การมีครูเป็นคนในพื้นที่ จะสามารถสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับนักเรียนได้ดีกว่าครูที่มาจากถิ่นอื่น ด้วยความใกล้ชิด คุ้นเคยภาษา และเข้าใจบริบทของชีวิต แล้วจากนั้นการเติมเต็มทักษะวิชาการและทักษะอื่น ๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น
“อีกประเด็นหนึ่งคือการทดสอบ PISA เราไม่อยากให้มองแค่การสอบ อย่าลืมว่าเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นต่อไป ชีวิตเขาไม่ได้มีแค่ไปทำคะแนนให้ได้สูง ๆ หรือไปแก้ไขปัญหาคณิตศาสตร์ แต่ในระหว่างทางการเรียนรู้ในโรงเรียน เด็กควรได้รับคุณสมบัติที่ครูต้องช่วยเติมเข้าไป และจะปลูกฝังไว้ในตัวเขา ซึ่งเราคิดว่าถ้ามีการปรับหลักสูตร เปลี่ยนวิธีการสอน มีวิธีคิดที่มากกว่ารูปแบบเดิมแบบเดียว เพื่อให้เด็กได้พัฒนาเรื่องทักษะคิดวิเคราะห์และคิดเชิงระบบมากขึ้น เชื่อว่าเด็กจะทำคะแนนได้ดีขึ้นเอง หรือถึงคะแนนสอบไม่ดีอย่างที่หวัง แต่ถ้าเขามีทักษะที่ใช้เอาตัวรอดได้ ไปข้างหน้าต่อได้ ก็เป็นเรื่องที่สามารถพูดว่า เราทำได้ดีกว่าเดิมแล้ว”
เสียงสะท้อนข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคุณครูที่พอจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นต้นสายปลายเหตุไปจนถึงปลายทางของ “การศึกษาไทย” ว่าน่าจะมีส่วนผสมอะไรในการเดินหน้าปีต่อไป มุมของ กสศ. เรามีข้อเสนอการศึกษาเสมอภาคส่งเสริมข้อเสนอคุณครูคือ “การศึกษาไทย” ต้องไม่มีขอบรั้วระหว่างบ้านกับโรงเรียนแยกทำหน้าที่ ครูผู้สอนสร้างวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน ประเมินผลลัพธ์ โดยสร้างเด็กไทยด้วย 5 ปัจจัย หรือ Big 5 Model อันเป็นทักษะแห่งยุคที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ได้แก่ การมองโลกในแง่บวก การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง มีวินัยในตัวเอง และความใฝ่รู้ ซึ่งเราจะนำผลวิเคราะห์โดยละเอียดมาเผยให้เห็นในตอนต่อไป