เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม PLC (ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ: Professional Learning Community) แลกเปลี่ยนประเด็น ‘บทบาทศึกษานิเทศก์ให้เป็นโค้ช’ (Supervisor as Coach) เพื่อการมีส่วนร่วมกับสถาบันผลิตครูและโรงเรียนปลายทาง ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ผ่านระบบออนไลน์เพจ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน โดยใช้รูปแบบนำเสนอการทำงานจาก ‘ทีมต้นเรื่อง’ หรือ ผู้แทนศึกษานิเทศก์จาก 4 ภูมิภาค ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนคิด และเสนอแนวทางการทำงานกับเครือข่ายด้านการศึกษา ประกอบด้วยผู้แทนจาก สพฐ. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา คณะวิจัยและวางแผนพัฒนาโครงการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้ : ครูรัก(ษ์)ถิ่น และคณะทำงาน กสศ.
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ผลผลิตของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 5 แสดงให้เห็นว่าเรากำลังจะมีครูรุ่นใหม่ที่พร้อมออกแบบการเรียนรู้ที่กว้างออกไปจากแค่ตำราเรียนหรือในห้องเรียน และเป็นการจัดการเรียนการสอนที่สามารถนำมาเป็น ‘ต้นเรื่อง’ ของการ PLC เพื่อขยายผลไปสู่ครูในวงกว้าง ทำให้เกิด ‘ห้องเรียน’ ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะพัฒนาเด็กเยาวชนให้เป็นนักเรียนที่มีคุณภาพต่อไปได้รุ่นสู่รุ่น
“องค์ความรู้ที่จะได้จากกิจกรรม PLC ในวันนี้ถือเป็น ‘ทางลัด’ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินการผลิตครูรุ่นนี้และรุ่นต่อ ๆ ไป และยังถือเป็นวาระสำคัญที่ความร่วมมือของครู โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา
จะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยแรงสนับสนุนจากศึกษานิเทศก์ อันเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้ไปถึงการค้นพบรูปแบบแนวทางเฉพาะของการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพราะเมื่อบุคลากรทางการศึกษาทุกฝ่ายมีความเข้าใจ เข้าถึง และเข้ามาร่วมเป็นผู้นำในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงการสร้าง ‘ความเสมอภาคทางคุณภาพการศึกษา’ ที่ไม่เพียงจะช่วยดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาได้เป็นรายบุคคล หากยังหมายถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนทั่วประเทศ จะลดช่องว่างของความแตกต่างลงด้วย”
ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า ปัญหาของโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ห่างไกล คือครูมีอัตราโยกย้ายสูง สวนทางกับหลักการของผู้ประกอบอาชีพครู ที่ต้องอาศัยความผูกพันกับท้องถิ่น เพื่อรู้จัก เรียนรู้ และสร้างนักเรียนร่วมไปกับชุมชน ดังนั้นการให้โอกาสเยาวชนในพื้นที่ที่มีใจอยากเป็นครูให้ได้พัฒนาตนเองเพื่อกลับไปบรรจุเป็นครูในภูมิลำเนาของตน นับว่าตอบโจทย์เรื่องความผูกพันคุ้นเคยและสร้างแรงบันดาลใจให้ครูรุ่นใหม่อยากกลับไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดเป็นอย่างดี
อีกประการหนึ่งคือการผลิตพัฒนาครูในรูปแบบดังกล่าว ยังเชื่อมโยงไปถึงสถาบันการศึกษาให้รู้จักและเข้าใจ ‘ความเป็นจริงที่เป็นปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้’ เพื่อออกแบบพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมต่อการผลิตครูผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ โดยสององค์ประกอบดังกล่าว จะทำให้เรามีครูคุณภาพที่เป็นคนพื้นที่ รวมถึงมีการพัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะและการจัดการเรียนรู้ตามบริบทจริง (authentic curriculum) เพื่อพัฒนานักศึกษาครูรุ่นต่อไป
“อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาการศึกษาเราต้องมี ‘ข้อกลางในระบบ’ ในที่นี้คือศึกษานิเทศก์ ที่จะเป็นผู้นำนโยบายไปสู่โรงเรียน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาพสังคมมีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เราต้องมีกลุ่มคนที่สามารถเชื่อมโยงและเข้าถึงการทำงานในโรงเรียน เพื่อติดตามความเป็นไปของครูรัก(ษ์)ถิ่นเมื่อพ้นจากสถาบันผลิตครูไปแล้ว ดังนั้นเราต้องทำให้การพัฒนาบทบาทของศึกษานิเทศก์มีความเป็นรูปธรรมเพื่อนำสู่การลงมือปฏิบัติ และสำคัญที่สุดคือต้องมีเวที PLC สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่สม่ำเสมอและยั่งยืนไปด้วยกัน”
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาบทบาทศึกษานิเทศก์ให้เป็นโค้ช เพื่อการมีส่วนร่วมกับสถาบันผลิตครูและโรงเรียนปลายทาง ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นว่า ครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นหนึ่งในนวัตกรรมของการผลิตและพัฒนาครูที่ กสศ. ทำร่วมงานกับ 5 องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการผลิตครู โดยแบ่งการพัฒนาเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมผนวกโจทย์ความต้องการครูของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่
ความท้าทายของงานครั้งนี้คือกลุ่มเป้าหมายโครงการที่ไม่เพียงต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โรงเรียนปลายทางเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้โอกาสเยาวชนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครูให้ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตและพัฒนาครู ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยลัย 18 แห่ง ที่มีการปรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อผลิตและพัฒนาครูเฉพาะพื้นที่เต็มรูปแบบ ภายใต้เป้าหมายการผลิตทั้งหมด 5 รุ่น รวม 1,500 คน ซึ่งในปีการศึกษา 2567 นี้ นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จะจบการศึกษาและพร้อมลงพื้นที่บรรจุเป็นครูที่โรงเรียนปลายทางเป็นรุ่นแรก
“ประเด็นของวง PLC วันนี้ เจาะจงไปที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 2 ที่เราได้เริ่มชวนศึกษานิเทศก์มาร่วมจัดกระบวนการ Active Learning ให้กับนักศึกษาทุนฯ 297 คน ซึ่งจะไปทำงานยังโรงเรียนปลายทาง 269 โรงเรียน ครอบคลุม 45 จังหวัด โดยกระบวนการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการสอนเชิงรุกที่กระจายไปในภาคต่าง ๆ ทำให้เกิดผลลัพธ์คือการสร้างบทบาทของ Facilitator กับศึกษานิเทศก์ อาจารย์จากสถาบันผลิตครู และนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รวม 32 คน สร้างโค้ชจากทีมงานมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต 3 คน และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 2”
ดร.อุดมกล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการการสอนเชิงรุกในสองปีที่ผ่านมา ได้ช่วยพัฒนาบทบาทของศึกษานิเทศก์ให้เป็น ‘โค้ช’ สามารถสนับสนุน ชี้แนะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปพร้อมกับครู โดยมี PLC เป็นเครื่องมือสำคัญ ประการถัดมาคือโรงเรียนปลายทางในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จำเป็นต้องเตรียมโค้ชตัวจริงในพื้นที่เพื่อสนับสนุนครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เตรียมบรรจุ ซึ่งศึกษานิเทศก์คือผู้รับบทบาทนั้น นอกจากนี้กระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ Active Learning ที่ผ่านมา ได้มีศึกษานิเทศก์มาร่วมเป็น Facilitator เป็นการจำลองบทบาทที่ใกล้เคียงกับการปฏิบัติการจริงระหว่างศึกษานิเทก์กับว่าที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น และท้ายที่สุด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากปฏิบัติการจริง ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการของ PLC สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
รศ.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและแผนพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์มีความสำคัญอย่างมากในระบบนิเวศการศึกษา ด้วยบทบาทการเป็นโค้ชเรื่องการเรียนการสอน การเป็นโค้ชการบริหารโรงเรียนทั้งระบบให้มีคุณภาพ (Whole School Approach) การเชื่อมโยงนโยบายและผลงานวิจัยสู่ภาคปฏิบัติ รวมถึงความสามารถในการออกแบบนิเวศการเรียนรู้ และการศึกษากลยุทธ์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ และอีกประการสำคัญคือ บทบาทการผลิตบัณฑิตครู ที่ศึกษานิเทศก์เปรียบได้กับแนวสุดท้ายที่ทำงานใกล้ชิดกับครูที่สุด และเนื่องจากศึกษานิเทศก์คือผู้มีข้อมูลมากที่สุดเรื่องความต้องการใช้งานบัณฑิตครูในแต่ละพื้นที่ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มีส่วนโดยตรงในการผลิตและพัฒนาครู จึงชวนศึกษานิเทศก์เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน
“เรามองว่าโรงเรียนปลายทางกับศึกษานิเทศก์จะต้องทำงานร่วมกันยาวนาน ดังนั้นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนไปพร้อมกันในแต่ละขั้นตอน ผ่านการอบรมและปฏิบัติการจริง เพื่อนำผลไปขยายต่อในพื้นที่ เป็นเรื่องจำเป็น เบื้องต้นจึงมีการคัดเลือกศึกษานิเทศก์จากทั่วประเทศ ที่มีคุณสมบัติของนักเรียนรู้ พร้อมลงมือปฏิบัติ เปิดใจ เข้าสู่การเคี่ยวกรำ ฝึกประสบการณ์อย่างเข้มข้น เพื่อไปถึงการปรับเปลี่ยนตัวเองในระดับลึก (Transformative)
“วันนี้นับเป็นโอกาสดี ที่จะให้ทีมศึกษานิเทศก์กลุ่มดังกล่าว ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่เครือข่ายด้านการศึกษาที่เข้าร่วม จะได้ชักชวนคัดเลือกศึกษานิเทศก์จากทั่วประเทศ ให้หมุนเวียนกันเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาในการผลิตพัฒนาครู รวมถึงยังเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ในการมีข้อมูลใหม่เพื่อกำหนดทิศทางหรือแผนการดำเนินงานศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศในอนาคตต่อไป”
ดร.การญ์พิชา กชกานน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง หัวหน้าโครงการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้ครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวว่า หลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ Active Learning เป็นหนึ่งใน Enrichment Program ที่พัฒนาโดยองค์กรการศึกษาระดับนานาชาติ CCE: Creative Culture and Education ให้เป็นหลักสูตรที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง 3 ขั้นตอน โดยหลักสูตรแรกคืออบรมเชิงปฏิบัติการ Active Learning ที่ศึกษานิเทศก์ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว ส่วนหลักสูตรที่สองคือการสอนเสวนา (Dialogic Teaching) และสามคือหลักสูตรการศึกษาทวิพหุภาษาในบริบทของภาษาแม่เป็นฐาน (Mother Tongue based Multilingual and Intercultural Education: MTB MLE)
ทั้งสามหลักสูตรนำมาใช้เพื่อสร้างแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนรู้ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยเน้นที่กระบวนการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ใน 4 มิติ ได้แก่ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ครอบคลุมหลักการ High Functioning Classroom หรือ ‘ห้องเรียนประสิทธิภาพสูง’ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนมีประสบการณ์ตรงกับหลักการเรียนรู้ที่เน้นเรื่องอุปนิสัยการเรียนรู้สร้างสรรค์ (Five Habits of Mind) นอกจากนี้ยังนำแนวคิด ‘ชุมชนเป็นฐาน’ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยนอกจากนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น และอาจารย์ในสถาบันผลิตพัฒนาครู อีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่โครงการต้องการชวนมีส่วนร่วม คือศึกษานิเทศก์ที่จะทำงานร่วมกับบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นในอนาคต ดังนั้นจึงถือว่าเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญยิ่ง ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการพัฒนานักศึกษาร่วมกัน