“ถ้าทุกคนทุกฝ่ายขยับพร้อมกัน ช่วยกันสร้างพื้นที่โอกาสสำหรับคนทุกกลุ่มจริง ๆ ผมเชื่อว่าความแตกต่างใด ๆ ก็ไม่ใช่ข้อแม้ที่จะจำกัดใครคนหนึ่งไว้จากโอกาสในการทำงาน หรือการค้นพบเส้นทางการพัฒนาตัวเองเพื่อประกอบอาชีพ”
ภูรี สมิทธิเนตย์ หัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หนึ่งในตัวแทนจากสถานประกอบการภาคเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการทุนนวัตกรรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. กล่าวในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘ชวนคิดต่อ ข้อค้นพบ เคลื่อนระบบการศึกษาสายอาชีพสำหรับทุกคน’ ภายใต้โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค สถานศึกษาอาชีวศึกษา สถานประกอบการภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรคนพิการ ผู้ปกครองของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รวมถึงตัวแทนผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าร่วม โดยพูดถึงการปรับปรุงพื้นที่และกระบวนการทำงาน เพื่อ ‘สร้างพื้นที่โอกาส’ ให้คนทุกกลุ่มสามารถทำงานร่วมกัน
ภูรีเล่าว่า Amazon ได้ปรับสาขา 287 แห่ง ร่วมกับ 40 สาขา Franchisee ในโครงการ Café Amazon for Chance ให้มีการจ้างงานผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนผู้มีความแตกต่างหลากหลายทุกประเภทมากกว่า 400 อัตรา ซึ่งหัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance ระบุว่า ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ใช้บริการ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายความร่วมมือกับหลายฝ่ายในการสร้างงานสร้างอาชีพสำหรับผู้ต้องการโอกาสในสังคมทั้งในเชิงปริมาณ และการวางแนวทางที่ยั่งยืนระยะยาว
“แนวคิดเรื่องการ ‘อยู่ร่วมกัน’ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะวันนี้ทุกฝ่ายต่างมองว่า ‘ทุกคนในสังคม’ ควรได้มีเส้นทางพัฒนาตัวเอง สำหรับ Amazon เมื่อดำเนินโครงการมาเป็นเวลาหนึ่ง ก็พิสูจน์ได้ว่าตั้งแต่มีโครงการ Café Amazon for Chance ยอดขายเราสูงขึ้นกว่าเดิม แล้วเราเชื่อว่ากระแสความนิยมที่จุดติดแล้ว จะเป็นเทรนด์ (Trend) ของสังคมในอนาคต ซึ่ง Amazon จะมุ่งขยายความร่วมมือไปยังภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยเน้นที่การสร้างประสบการณ์ เชื่อมต่อ และส่งเสริมสนับสนุนผู้ต้องการโอกาสในการประกอบอาชีพ ในทุกเส้นทางที่เป็นได้”
หัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance กล่าวว่า Amazon ได้ออกแบบปรับปรุงพื้นที่และติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน โดยจัดทำระบบอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ อาทิ เครื่องชงอัตโนมัติ หรือระบบเรียกคิว เพื่อส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมจัดฝึกอบรมพนักงานทุกคนให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน เพื่อสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน
ส่วนอีกทางหนึ่ง Amazon ได้ร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษา จัดการศึกษาระบบ ‘ทวิภาคี’ ใน ‘โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ’ ที่ กสศ. สอศ. คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ดำเนินโครงการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมเยาวชนผู้พิการที่มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้ใด้ศึกษาต่อในระดับ ปวส. โดยมุ่งขยายโอกาสการมีงานทำ ผ่านการ ‘สร้างความร่วมมือ’ ระหว่างสถาบันการศึกษาสายอาชีพ และ ภาคธุรกิจเอกชน ในฐานะ Social partners เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาทุน ฯ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จริง และเป็นบันไดต่อยอดสู่การมีงานทำหลังจบการศึกษา
“ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายคือส่วนสำคัญ ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันส่งเสริมวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อการทำงานกับเรา จนสามารถพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพ รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการดูแลตนเองของนักศึกษาทุนผู้มีความต้องการพิเศษ โดยเมื่อน้อง ๆ ผ่านสถานศึกษามายังสถานประกอบการ เราจะเติมเต็มเรื่องการปรับตัวกับการทำงาน มีการอบรมทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่นการวางแผนบริหารจัดการเงิน เพื่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันและเก็บออมสำหรับอนาคต
“นอกจากนี้การจัดการศึกษาแบบทวิภาคี ยังจุดประกายให้เราคิดต่อยอดไปถึงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ โดยสำหรับพนักงานที่ทำงานเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะสามารถนำประสบการณ์ไปเทียบวุฒิการศึกษา แล้วนำประกาศนียบัตรไปใช้ศึกษาต่อ หรือใช้เพื่อปรับตำแหน่งงานตามคุณวุฒิ เนื่องจากโครงการ Café Amazon for Chance เราตั้งใจดำเนินการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสจริง ๆ จึงอยากให้คนที่เข้ามาร่วมงานมีโอกาสเติบโตในทางใดทางหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องทำงานกับเรา ดังนั้นใครที่ทำงานจนมีประสบการณ์และต้องการก้าวไปเป็นผู้ประกอบการเอง สามารถเข้าอบรมเรื่องระบบการทำงาน และเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนและบริหารธุรกิจ ขณะที่ Amazon ยังพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ จนผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถหยั่งรากและเติบโตได้บนถนนสายธุรกิจ”
และนี่คือหนึ่งแนวทางการ ‘สร้างพื้นที่โอกาสสำหรับทุกคน’ จากสถานประกอบการผู้เป็นกำลังสำคัญในโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ’ ที่แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์และยืนยันว่า หากทุกภาคส่วนในสังคมปรับตัวเข้าหากัน เราจะพบหนทางที่เป็นไปได้ของการ ‘อยู่ร่วมกัน’ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง – กสศ. ขับเคลื่อนการศึกษาสายอาชีพสู่การมีงานทำ ส่งเสริมสังคมเสมอภาคด้วย ‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ