- กสศ.สรุปเนื้อหาการสร้างคุณครูและห้องเรียนฝึกความคิดสร้างสรรค์ของประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกา ที่นำกรอบคิดของ OEDC มาปรับใช้การการสร้างคุณครูและห้องเรียนฝึกความคิดสร้างสรรค์ และถูกนำมาเสนอในที่ประชุม “Creativity in Education Summit 2023” ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 256
- ความท้าทายที่ทำให้การสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ยากในระบบการศึกษาบราซิล ความท้าทายที่สำคัญคือ “คุณครู” ที่ไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจนของคำว่า ‘ทักษะความคิดสร้างสรรค์’
- เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ประเทศบราซิลใช้กรอบคิดของ OECD เพื่อมอบโอกาสให้ครูชาวบราซิลได้พัฒนาความเข้าใจเรื่องทักษะความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์
- สำหรับสหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนโรงเรียนรัฐบาลที่มากกว่า 130,000 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่ละโรงเรียนก็มีรูปแบบการเรียนการสอนหรือเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนกลายเป็นเรื่องยากสำหรับนักการศึกษาอเมริกัน
- แนวคิด “Many Ways to Many” เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน โดยเน้นเรื่องวิธีการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนและบริบทพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลายทั่วสหรัฐฯ มากกว่าการใช้กลวิธีเพียงหนึ่งเดียวแต่บังคับใช้เหมือนกันทั้งประเทศ
ทักษะความคิดสร้างสรรค์กำลังเป็นทักษะที่ระบบการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หลายประเทศเริ่มใช้รูปแบบและกรอบคิดที่แตกต่างกันเพื่อยกระดับทักษะความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาของตัวเอง ซึ่งในการสร้างคุณครูและห้องเรียนฝึกความคิดสร้างสรรค์นั้น การมองหารูปแบบและนำมากรอบความคิดที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และวัฒนธรรมของตัวเองถือเป็นสิ่งจำเป็น และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ก็มีกรอบคิดในการสร้างพื้นฐานการฝึกฝนทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในการศึกษา ที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้
และนี่คือตัวอย่างจากประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกา ที่นำกรอบคิดของ OEDC มาปรับใช้การการสร้างคุณครูและห้องเรียนฝึกความคิดสร้างสรรค์ และถูกนำมาเสนอในที่ประชุม “Creativity in Education Summit 2023” ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤศจิกายน 2566 โดย Mappa ได้สรุปเนื้อหาของทั้ง 2 ประเทศมาฝากทุกคน สามารถนำไปต่อยอดสร้างระบบการศึกษาที่ให้ทักษะความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ครูและนักเรียนมีร่วมกัน
การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนบราซิล
ดร.คาเรน เตเซย์รา ผู้จัดการฝ่ายงานวิจัยจากสถาบันอาอีร์ตง เซนนา (Institute Ayrton Senna) ประเทศบราซิล เป็นตัวแทนของประเทศบราซิลขึ้นพูดในหัวข้อ ‘Teacher Learning For Creativity: Existing Models and Adapting the OECD Framework to Local Contexts’ โดย ดร.คาเรน ระบุถึงความท้าทายที่ทำให้การสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ยากในระบบการศึกษาบราซิล ความท้าทายที่สำคัญคือ “คุณครู” ที่ไม่เข้าใจความหมายที่ชัดเจนของคำว่า ‘ทักษะความคิดสร้างสรรค์’ ขณะที่ครูชาวบราซิลส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองที่จะต้องสอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และไม่พยายามฝึกฝนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง
ในขณะที่ครูชาวบราซิลส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว นักเรียนกลับไม่มองเช่นนั้น ซึ่งนั่นเป็นปัญหาที่ทำให้ครูมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาด้านทักษะการสอนที่เพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ดร.คาเรน หยิบยกงานวิจัยชิ้นหนึ่งขึ้นมา ตอกย้ำให้เห็นความไม่สนใจของครูชาวบราซิลในการเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนของตัวเอง โดยครูมากกว่า 96.3% เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น แต่มีครูเพียง 18.4% เท่านั้นที่ระบุว่าต้องการการสนับสนุนจากองค์กรรเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง
ไม่เพียงแต่ความท้าทายเรื่องความเชื่อของครูเท่านั้น แต่ครูชาวบราซิลยังต้องเผชิญกับปัญหาอื่นๆ จากการทำงาน ทั้งปัญหาภาระงานที่มากจนเกินไป ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ค่าตอบแทนที่น้อย รวมไปถึงสถานะทางสังคมของครู ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ครูชาวบราซิลส่วนใหญ่ไม่มีความต้องการอยากฝึกทักษะความคิดสร้างสรรค์เพื่อช่วยเหลือนักเรียน
เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ดร.คาเรน สะท้อนว่า ประเทศบราซิลใช้กรอบคิดของ OECD เพื่อมอบโอกาสให้ครูชาวบราซิลได้พัฒนาความเข้าใจเรื่องทักษะความคิดสร้างสรรค์และความคิดเชิงวิพากษ์ แต่การฝึกอบรมที่กินเวลานานก็อาจทำให้ครูที่มีภาระงานอื่นๆ มากอยู่แล้วไม่สนใจที่จะเข้าร่วม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกแบบการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับความต้องการของครูแต่ละคน
ทั้งนี้ การฝึกอบรมทางออนไลน์อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้ครูชาวบราซิลเปิดใจที่จะเข้ารับการพัฒนาฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบ “เก็บคะแนนครู” ที่มีอยู่แล้ว ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจให้ครูส่วนใหญ่ในบราซิลเลือกที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้กับนักเรียนในห้องเรียนของพวกเขาได้
ทิศทางของความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาสหรัฐฯ
ลอร่า แมคเบน ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติตามแผนงาน K12 แห่ง Stanford d.school ร่วมแบ่งปันแนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกาในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาของประเทศ โดยเธอชี้ให้เห็นภาพรวมของระบบการศึกษาอเมริกันที่ใหญ่และมีความแตกต่างหลากหลายมาก ด้วยจำนวนโรงเรียนรัฐบาลที่มากกว่า 130,000 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่ละโรงเรียนก็มีรูปแบบการเรียนการสอนหรือเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนกลายเป็นเรื่องยากสำหรับนักการศึกษาอเมริกัน
“พวกเขาทำงานในบริบทที่แตกต่างกันมากๆ ตั้งแต่โรงเรียนในเมืองแพโลแอลโต ที่มีทรัพยากรครบถ้วนสมบูรณ์ ไปจนถึงโรงเรียนในเซ้าธ์ไซด์ของเมืองชิคาโกที่ไม่สามารถเข้าถึงไวไฟได้ เราจึงกำลังพูดถึงคนจำนวนมากที่ทำงานในพื้นที่และบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อเราคิดจะช่วยทำให้คุณครูและนักเรียนเรื่องทักษะความคิดสร้างสรรค์ การใช้เพียงวิธีเดียวจึงไม่ได้ผล” ลอร่าชี้
ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังกล่าวถึงเรื่องความท้าทายของระบบการศึกษาของโลกหลังโควิด-19 ทั้งจำนวนครูที่ลาออก การเพิ่มขึ้นของระบบเอไอ (Artificial Intelligence) และระบบการศึกษาที่หยุดชะงักไป (Disrupt) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาอเมริกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ลอร่าย้ำว่าการใช้นวัตกรรมเพื่อปลูกฝังทักษะการคิดวิพากษ์และความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องถูกนำมาใช้
ทั้งนี้ เพื่อการฝึกฝนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของคุณครู ลอร่านำเสนอข้อเรียกร้องของพวกเขาซึ่งเธอค้นพบผ่านงานวิจัยของเธอ ซึ่งประกอบด้วย การมีระบบซัพพอร์ตคุณครู การมีตัวอย่างและกิจกรรมที่ทำได้ง่ายเพื่อฝึกฝนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของครูและนักเรียน การมีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อความสนใจที่แตกต่างของนักเรียน การให้เวลาครูในการวางแผนกิจกรรมฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงโอกาสที่ครูจะได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะเดือดร้อน
ลอร่าหยิบยกแนวคิด “Many Ways to Many” ให้เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน โดยเน้นเรื่องวิธีการที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนและบริบทพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลายทั่วสหรัฐฯ มากกว่าการใช้กลวิธีเพียงหนึ่งเดียวแต่บังคับใช้เหมือนกันทั้งประเทศ สุดท้ายลอร่าได้แนะนำให้คุณครู นักการศึกษา และนักทำนโยบายทั้งหลาย ได้ลองใช้กรอบคิดของ OECD เพื่อสร้างวิธีการในการเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งจะเหมาะสมกับการนำไปใช้กับบริบทของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การสร้างแผนการเรียนรู้ แต่เป็นการเตรียมพร้อมนักเรียนสู่การเผชิญหน้ากับโลกในยุคปัจจุบัน