รู้หรือไม่ว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว จากสถิติพบว่าจำนวนผู้สูงอายุในสังคมไทยตอนนี้มีจำนวนมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อ้างอิงจากรายงานของกรมกิจการผู้สูงอายุ เมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึง 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั่วประเทศทั้งหมด โดยครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุในช่วง 60-69 ปี เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าประชากรทุกๆ 5 คน ในจำนวนนั้นจะเป็นผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คน
และที่สำคัญที่สุด ในปี 2566 นี้ถือเป็นปีที่สังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุพุ่งทะยานเมื่อเทียบกับหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจคือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายพันคน
เมื่อพลเมืองจำนวนมหาศาลเข้าสู่ภาวะสูงวัย การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมมาพร้อมกับความเปราะบางทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจและการดำเนินชีวิตประจำวันในสังคม เมื่อช่องว่างระหว่างวัยเพิ่มสูงขึ้นตามกาลเวลา ผู้สูงอายุบางคนจึงอาจรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งจากคนรอบข้าง รู้สึกโดดเดี่ยว รวมไปถึงรู้สึกเหงาและว้าเหว่เมื่อไม่ได้ออกไปทำงานอย่างเคยเมื่อเป็นเช่นนี้ การออกแบบพื้นที่หรือการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงวัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสังคมผู้สูงวัยได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ จึงถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัย เพื่อถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบให้เกิดทักษะด้านการดูแลตัวเองและพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งเป็นสถานที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้สูงอายุจากหลากหลายพื้นที่ได้หลอมรวมเป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และหนึ่งในโรงเรียนนำร่องในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัยก็คือ โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา ณ วัดทองบน กรุงเทพฯ
โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาเป็นพื้นที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางวัดทองบน ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห้อมล้อมด้วยโบสถ์และอุโบสถ บรรยากาศโดยรอบนอกจากจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาทำบุญไหว้พระแล้ว เรายังได้เห็นภาพผู้สูงอายุหลากหลายวัยสวมใส่เสื้อสีสันสดใส บ้างนั่งประดิษฐ์สิ่งของ บ้างนั่งอ่านหนังสือ บ้างจับกลุ่มแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิต ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยที่ใส่ยูนิฟอร์มแบบเดียวกันนี้เองที่เป็น ‘นักเรียน’ ของโรงเรียนแห่งนี้
แท้จริงแล้วการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาเกิดขึ้นจากความตั้งใจจะสานฝันการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้สูงวัยในชุมชน ลิขิต ลิ้มรสรวย ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย’ หรือที่รู้จักในนามโรงเรียนผู้สูงอายุประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยเดิมทีลิขิตทำงานเกี่ยวข้องกับส่งเสริมและพัฒนาชุมชนมาแต่แรก จึงทำให้รู้จักกับผู้สูงอายุในชุมชนมาแต่ไหนแต่ไร และที่มาที่ไปของการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาก็เริ่มต้นจากผู้สูงวัยในชุมชนนี่เอง
“ก่อนหน้านี้เราทำกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชนมาอยู่แล้ว แต่อยู่มาวันหนึ่งประธานชมรมผู้สูงอายุมาเล่าให้ฟังว่าไปเห็นข่าวในโทรทัศน์ว่ามีโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ในข่าวมีภาพกิจกรรมการมอบ ‘ปริญญาชีวิต’ มีภาพคนสูงอายุใส่ชุดครุย ผู้สูงอายุหลายคนที่เห็นจึงเกิดความรู้สึกอยากใส่ชุดครุยแบบนั้นบ้าง ตอนนั้นเราเคยไม่รู้มาก่อนเลยว่ามีโรงเรียนผู้สูงอายุด้วย พอไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่าโรงเรียนที่ออกข่าวคือโรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” ลิขิตเล่าย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ขึ้นมา
“จากนั้นเราก็ไปคุยกับหลวงพ่อวัดด่านพระรามสาม เล่าให้ท่านฟังว่าอยากจะทำโรงเรียนผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ หลวงพ่อท่านจึงให้แนวคิดว่าถ้าอยากจะทำจริงๆ ก็ต้องไปดูที่โรงเรียนที่สนใจ ไปหาข้อมูลให้ครบถ้วน เราเลยตัดสินใจบินไปเชียงใหม่เพื่อไปศึกษาหลักสูตรและการเรียนการสอนของโรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย จึงนำมาสู่การเริ่มขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งยานนาวาในช่วงปลายปี 2559 และจัดการทุกอย่างลงตัวจนสามารถเปิดการเรียนการสอนรุ่นแรกได้ในวันที่ 6 เมษายน 2560”
“เมื่อก่อนโรงเรียนเราตั้งอยู่ที่วัดด่านพระรามสาม แต่พอเริ่มมีนักเรียนเยอะขึ้นมาก สถานที่ตรงวัดด่านก็ไม่ใหญ่พอจะรองรับ ที่ผ่านมาเราย้ายสถานที่มาหลายแห่ง จนมาลงตัวที่นี่ ห้องตรงนี้เริ่มต้นจากการเป็นศาลาเปล่าๆ ไม่มีอะไรมาก่อนเลยนะ จังหวะที่เราย้ายมาหลวงพ่อของวัดนี้อยากจะทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนอยู่พอดี ท่านเลยยินดีให้เราใช้สถานที่ในการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาในปัจจุบัน”
ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตคงไม่พ้นรายละเอียดหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนของผู้สูงวัย ลิขิตกล่าวว่าตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนมากว่า 7 ปี มีการปรับปรุงหลักสูตรการสอนเพิ่มเติมหลายครั้ง เพื่อให้ได้รูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้เรียนมากที่สุด โดยการเรียนการสอนในหนึ่งภาคการศึกษาของโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้จะเรียนทั้งหมด 240 ชั่วโมง หรือประมาณหนึ่งปี โดยหลักสูตรตั้งต้นเกิดจากการประยุกต์ใช้รูปแบบการเรียนรู้จากสามองค์กร ได้แก่ กรมอนามัย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และของกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งจะแบ่งแนวทางการเรียนรู้ออกเป็นสามมิติ ได้แก่
มิติแรก คือเรื่องสุขภาพ เน้นให้ความรู้เรื่องสุขภาพของผู้สูงวัย มีหมอและพยาบาลมาช่วยเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้แก่ผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลร่างกาย การทานยาและใช้ยาให้ถูกวิธี ไปจนถึงการพักผ่อนและการทานอาหารที่เหมาะสม
มิติที่สอง คือการเรียนรู้เรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน ทั้งการเข้าสังคม การเข้ากับคนรุ่นใหม่ การดูแลความสัมพันธ์กับลูกหลาน เช่น ถ้าวันไหนรู้สึกเหงาขึ้นมา ผู้สูงวัยเหล่านี้ควรเริ่มต้นพูดคุยกับคนรอบตัวอย่างไร โดยทางโรงเรียนได้นิยามการเรียนรู้ในมิตินี้ว่าเป็นเรื่องของ ‘วิชาชีวิต’
มิติที่สาม คือวิชาชีพ เช่น สอนร้อยพวงมาลัยลูกปัด หมวกสาน ทำดอกไม้จันทน์ ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ โดยลิขิตเน้นย้ำว่าการเรียนรู้วิชาชีพของโรงเรียนผู้สูงอายุไม่ได้เรียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพอย่างจริงจัง แต่เน้นเป็นการเรียนรู้เชิงสันทนาการเพื่อความเพลิดเพลินและให้ผู้เรียนได้นำกลับไปทำเป็นงานอดิเรกที่บ้านต่อไป
“ต่อมาหลังจากใช้หลักสูตรตั้งต้นในรุ่นแรกแล้วเรามีการปรับปรุงหลักสูตรเพิ่มเติม และเนื่องจากเราต้องการสร้างให้เป็นหลักสูตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทางโรงเรียนจึงได้เข้าไปพูดคุยกับ กศน. ในการจัดทำหลักสูตรเฉพาะสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ ทาง กศน. จึงช่วยจัดทำและรับรองหลักสูตรให้ จนกลายมาเป็นหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ” ลิขิตกล่าวเสริม
ในตัวหลักสูตรใหม่จะแตกต่างออกไปด้วยการเพิ่มการเรียนรู้ออกเป็น 5 มิติ ยังคงมีมิติของสุขภาพอนามัยที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มมิติเรื่องเศรษฐกิจ เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาชีพต่างๆ ที่ผู้เรียนแต่ละคนสนใจ
มิติที่สามที่เพิ่มเติมเข้ามา คือด้านวิชาการ เช่น สอนเรื่องกฎหมายและสิทธิต่างๆ ที่ผู้สูงอายุได้รับจากรัฐ เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกคนรู้และเข้าใจถึงสิทธิที่ตนเองสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด
มิติที่สี่ คือด้านวัฒนธรรมและประเพณี เน้นส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญา วิชานาฏศิลป์ การร้องเพลง และศิลปะการแสดงดั้งเดิมของไทย
มิติสุดท้าย คือเรื่องเทคโนโลยี มีการสอนวิธีใช้งานสมาร์ตโฟนในการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์ ไปจนถึงการไลฟ์สดขายของผ่านออนไลน์
ลิขิตเน้นย้ำว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่แม้แต่ผู้สูงวัยก็หลีกเลี่ยงที่จะเรียนรู้ไม่ได้ เพราะแม้แต่ภาพดอกไม้พร้อมข้อความทักทายและคำคมธรรมะประจำวันที่ถูกส่งมาทางไลน์ของผู้สูงอายุในครอบครัวของเราทุกคน ล้วนเป็นพฤติกรรมอันเป็นผลจากการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับชีวิตประจำวันของคนแต่ละช่วงวัย และเป็นข้อพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้สูงอายุเลยแม้แต่น้อย
“ในรุ่นแรกๆ ยังมีผู้สูงอายุบางคนที่ใช้มือถือที่เป็นปุ่มกดกันอยู่เลย และมีความคิดว่าอย่างไรก็จะไม่เปลี่ยนไปใช้สมาร์ตโฟน เพราะมองว่าวิธีการใช้งานยุ่งยากวุ่นวาย แต่พอมาในวันนี้แม้แต่นักเรียนที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นหนึ่งก็เปลี่ยนมาใช้สมาร์ตโฟนกันหมดแล้ว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่เกิดโควิด-19 การสื่อสารผ่านออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็น”
“ช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดเราก็สอนผู้สูงอายุผ่านโปรแกรมออนไลน์ซูม เพราะเรื่องเทคโนโลยีสำคัญและจำเป็นมากในยุคสมัยนี้ เราจึงแยกออกมาเป็นหมวดใหญ่ในหลักสูตรไปเลย และวันนี้ไม่ได้มีแค่โปรแกรมซูม แต่ยังมีเรื่องการทำธุรกรรมและขายของออนไลน์ อีกทั้งมีแอปพลิเคชันอีกมากมายที่ผู้สูงอายุควรจะต้องรู้ ทุกวันนี้อันตรายต่างๆ ก็เกิดขึ้นผ่านโลกออนไลน์เยอะมาก ทุกอย่างที่อยู่ในหลักสูตรคือเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้สูงอายุเลย”
“ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้สูงอายุควรรู้แต่ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้ศึกษา อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น การทำพินัยกรรม ไม่ใช่ว่าเราจะไปแช่งใครนะ แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่บางทีเรามองข้ามไป ต่อให้จะใช้หรือไม่ใช้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในช่วงวัยนี้ควรศึกษาไว้” ลิขิตเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัย
อย่างไรก็ดี ลิขิตระบุว่าข้อจำกัดใหญ่ที่สุดในการบริหารโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาคือเรื่องของการจัดการงบประมาณและหาแหล่งทุน เนื่องจากโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบการดูแลของกรุงเทพมหานคร ทางสำนักงานเขตและหน่วยงานรัฐอื่นๆ จึงไม่สามารถออกงบประมาณสนับสนุนให้ได้ อีกทั้งโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาไม่ได้เก็บค่าสมัครเรียนจากผู้เรียน เพื่อหวังให้การเรียนรู้กระจายสู่ผู้สูงอายุทุกคนได้อย่างดีที่สุด ด้วยเหตุนี้ รายได้ที่นำมาใช้บริหารโรงเรียนจึงมาจากการระดมทุน ไปจนถึงการขายสินค้าที่ผู้สูงอายุในโรงเรียนจัดทำขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ของทางสถาบัน
“ที่นี่ไม่เหมือนโรงเรียนผู้สูงอายุในต่างจังหวัดที่มี อบต. หรือเทศบาลดูแล ช่วงก่อตั้งเราไม่มีเงินทุนจากที่ไหนเลย เราได้เงินก้อนแรกจากการจัดทอดผ้าป่าสามัคคีด้วยการช่วยเหลือและสนับสนุนจากวัดด่านพระรามสาม เงินทุนก้อนนั้นเราจึงนำมามาซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน และเนื่องจากเราไม่ได้เก็บค่าเรียน นักเรียนทุกคนที่นี่เรียนฟรี ครูผู้สอนทั้งหมดจึงจะเป็นจิตอาสา มีทั้งเพื่อน รุ่นพี่ หรืออาจารย์ที่รู้จักกัน บางคนเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยสอนโดยไม่หวังค่าตอบแทน”
“อุปกรณ์ทั้งหมดที่เห็นคือเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมถึงนักเรียนรุ่นเก่าๆ ช่วยกันระดมทุนมาจัดซื้อ อย่างพัดลมไอเย็นที่ใช้อยู่ตอนนี้เพิ่งซื้อมาได้แค่สองเดือนเองนะ เพราะที่นี่ไม่ติดแอร์ แต่ช่วงหน้าร้อนปีนี้ร้อนมาก ศิษย์เก่าหลายๆ คนจึงรวมเงินกันซื้อมาให้ เนื่องจากผู้สูงอายุบางคนที่เรียนกับเราค่อนข้างมีฐานะ หลังจากเรียนจบไปแล้วก็ยังซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ให้ทางโรงเรียนอยู่เสมอ”
“แต่จะมีบางวิชาในโรงเรียนที่รัฐสนับสนุนบุคลากรมาช่วยให้ เช่น ในหลักสูตรด้านวิชาชีพ บางทีกรมผู้สูงอายุ กศน. หรือทางเขตจะจัดหาบุคลากรที่อยู่ในแวดวงอาชีพนั้นและสนับสนุนเครื่องมือในการเรียนให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งยังมีนักเรียนรุ่นเก่าบางคนมาช่วยแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เช่น บางทีเราพบว่ามีผู้สูงอายุบางคนเป็นพยาบาลเก่าหรือทนายความที่เกษียณแล้ว เราก็ชักชวนให้มาเป็นครูผู้สอนแก่เพื่อนนักเรียนรุ่นต่อๆ ไป”
ในแต่ละปีการศึกษาโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาจะรับสมัครผู้เรียนประมาณ 50-70 คนต่อรุ่น โดยมีหลักเกณฑ์คือรับนักเรียนที่เป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำกัดอายุสูงสุดในการสมัคร ขอเพียงสามารถเดินทางมาเรียนได้ด้วยตัวเองและสามารถดูแลตนเองได้ในระดับหนึ่ง ลิขิตยังเสริมว่านักเรียนที่อายุมากที่สุดของโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาตอนนี้มีสถิติอยู่ที่ 86 ปี ซึ่งทางโรงเรียนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบการเรียนรู้แก่ผู้สูงวัยที่ยังมีใจรักในการเรียน
มากไปกว่านั้น ความน่าสนใจของผู้เรียนที่นี่ คือในแต่ละรุ่นจะมีทั้งนักเรียนใหม่และนักเรียนเก่าที่ไม่ยอมจบ ซึ่งนักเรียนที่ ‘ไม่ยอมจบ’ ในที่นี้ หมายถึงนักเรียนรุ่นเก่าที่ยังมีไฟแรงและอยากเรียนกับที่โรงเรียนผู้สูงอายุต่อไปเรื่อยๆ ทว่าเมื่อมีนักเรียนที่ไม่ยอมจบหรือไม่อยากจบเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้รับนักเรียนใหม่ได้น้อยลง ทางทีมงานของโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาจึงจัดได้ตั้ง ‘ชมรมผู้สูงอายุ’ เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้นักเรียนรุ่นเก่าๆ ได้ศึกษาต่อได้ตามใจปรารถนา ทั้งยังมีกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ให้ผู้สูงอายุได้ออกไปเปิดหูเปิดตากันอีกด้วย
“การเรียนการสอนที่นี่จะแบ่งเป็นการเรียนในระบบกับนอกระบบ การเรียนในระบบ คือการเป็นนักเรียนที่โรงเรียนผู้สูงอายุ ส่วนการเรียนนอกระบบเป็นการเรียนสำหรับศิษย์เก่าที่อยากมาเรียนต่อกับเราในบางวิชา จึงให้ศิษย์เก่าเหล่านี้เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุแทน” ลิขิตอธิบาย
“ส่วนนักเรียนที่ยังคงอยากมาเรียนด้วยทุกวันก็มีนะ เพราะอยู่ด้วยกันแล้วผูกพัน เรียนแล้วมีความสุข บางคนมาตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงตอนนี้เลย เรียนด้วยกันมา 7 ปีแล้วก็มี และส่วนใหญ่นักเรียนรุ่นเก่าเหล่านี้ก็จะผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโรงเรียนเพื่อช่วยเหลืองานต่างๆ ด้วย ผู้สูงอายุบางคนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเขาก็เบื่อ บางคนมาเป็นฝ่ายทะเบียน บางคนเป็นแม่ครัวให้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ศิษย์เก่าหลายคนเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เป็นทั้งนักเรียนและรุ่นพี่ ที่นี่พวกเขาเป็นได้ทุกอย่างที่อยากจะเป็น”
ระหว่างเดินชมการทำกิจกรรมของผู้สูงอายุในโรงเรียน เราได้พูดคุยกับ พี่ชัชวาล นักเรียนอายุ 72 ปีที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาตัดกระดาษลวดลายต่างๆ เมื่อเราถามพี่ชัชว่าเรียนที่นี่มากี่ปีแล้ว พี่ชัชจึงเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้มสดใสว่าตนเองเรียนที่โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวามานานกว่า 7 ปี “โอ้โห ผมเรียนที่นี่มาตั้งแต่รุ่นแรกเลย อยู่ที่นี่ได้เพื่อนเยอะมาก” พี่ชัชตอบพลางตกแต่งพัดสานในมือตัวเองไปด้วย
“ใจเรายังรักจะเรียน ก็เลยเรียนมาเรื่อยๆ อาทิตย์ก่อนเรียนการประดิษฐ์ แต่เมื่อเช้าได้เรียนการขายของทางออนไลน์ สนุกไปอีกแบบ”
เพื่อนร่วมคลาสของพี่ชัชที่เรียนกับโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวามายาวนานไม่แพ้กันคือ พี่ดวงพร อีกหนึ่งนักเรียนรุ่นก่อตั้งของโรงเรียนที่ยังคงไฟแรงและมีใจรักในการเรียนรู้อยู่เสมอ
“บ้านเราอยู่แถวสาธุประดิษฐ์เลยมาได้บ่อยๆ แต่มีบางคนบ้านอยู่บางแคหรือบางนาก็ยังนั่งรถเมล์มาเรียนเลย บางคนบ้านอยู่รัชดาแต่ตื่นตั้งแต่ตีห้า นั่งรถเมล์ 1-2 ต่อ เพื่อมาเรียนที่นี่ เพราะใจเขารัก เลยมาเรียนด้วยกันตลอด”
เมื่อถามพี่ดวงพรว่าชื่นชอบวิชาไหนในหลักสูตรมากที่สุด พี่ดวงพรตอบกลับมาสั้นๆ พลางหัวเราะว่า “เราชอบทุกอย่างเลยนะ สนุกทุกอย่างเลย”
“สวยจังเลยค่ะ เห็นแล้วอยากลองทำบ้างเลย” อดไม่ได้ที่จะกล่าวประโยคนี้ขึ้นมา เมื่อเห็นพี่ชัชและพี่ดวงพรค่อยๆ บรรจงนำภาพวิวทิวทัศน์และสัตว์น้อยใหญ่ตัดแต่งลงไปในพัดสานทำมือทีละชิ้นจนกลายเป็นลวดลายอันสวยสดงดงาม
“ในตู้โชว์ข้างหน้ามีของให้ดูอีกเยอะเลยนะ” เมื่อเห็นพวกเรามองพัดทำมือบนโต๊ะอย่างตั้งอกตั้งใจ พี่ชัชจึงหยิบกุญแจข้างตัวไปไขตู้เก็บผลงานเพื่อโชว์งานฝีมือต่างๆ ของนักเรียนที่นี่ให้ดูเพิ่มในทันที
“ของที่ฝึกทำกันมามีหลายแบบมากเลย อยากทำแนวไหนก็แล้วแต่คนชอบ นักเรียนที่นี่ทำกันเองทั้งนั้นนะ ที่เห็นตรงนี้ก็วาดกันเองออกแบบเองกันหมดเลย” พี่ชัชเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมส่งรอยยิ้มแสนสดใสที่ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะยิ้มตามไปด้วย
เพราะนอกจากความรู้ทั้งด้านวิชาชีวิตและวิชาชีพแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุได้รับกลับไปคือสังคมและเพื่อนใหม่ๆ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มาเรียนที่โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาเป็นผู้สูงวัยกลุ่มติดสังคม คือเป็นผู้สูงวัยที่มีไฟแรง ยังอยากออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน ยังอยากมีเพื่อนและอยากมีสังคมของตัวเอง ลิขิตเล่าว่ามีหลายกรณีที่ผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านคนเดียวทุกวันเนื่องจากลูกหลานไม่มีเวลาให้ และเมื่อไม่ได้ออกไปไหนหลายคนก็เริ่มมีภาวะซึมเศร้า สุขภาพถดถอยอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การได้ออกไปเจอสังคมและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวาและมีทั้งสุขภาพกายใจที่ดี และหากถามว่าการได้ออกมาทำกิจกรรมที่โรงเรียนแห่งนี้มอบสีสันให้แก่ชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้มากแค่ไหน ภาพรอยยิ้มพร้อมด้วยเสียงหัวเราะที่ดังขึ้นมาให้ได้ยินตลอดเวลาที่เดินเก็บภาพกิจกรรมของโรงเรียนได้มอบคำตอบให้เราด้วยตัวมันเองแล้ว
ด้วยความที่โรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวาไม่จำกัดคุณสมบัติใดๆ ของผู้เรียน ทั้งยังไม่เก็บเงินค่าเล่าเรียน จึงทำให้มีผู้เรียนในหลากหลายอาชีพและช่วงวัย การสร้างสังคมผู้สูงอายุที่เป็นมิตรและคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันจึงเป็นอีกจุดประสงค์สำคัญของการก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ ลิขิตเล่าเสริมถึงเรื่องราวที่ทำให้เขาตกใจไม่น้อย ว่าครั้งหนึ่งโรงเรียนแห่งนี้เคยมีเศรษฐีชื่อดังมาร่วมเรียนกับเขาด้วย “มีรุ่นหนึ่งเรามีนักเรียนที่เป็นเศรษฐีเข้ามาเรียนด้วย ตอนแรกเราไม่รู้มาก่อนว่าเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเขาก็มาเรียนร่วมกับผู้สูงอายุคนอื่นตามปกติเลย”
และเมื่อเรียนจนจบการศึกษาตามหลักสูตรของโรงเรียน สิ่งที่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับคือ ‘ปริญญาชีวิต’ สื่อถึงเป้าประสงค์ของทางโรงเรียนที่ต้องการผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงวัย ทั้งยังการจัดงานรับปริญญาเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้สูงอายุทุกคน นับเป็นคุณค่าทางจิตใจที่ลิขิตตั้งใจมอบให้ผู้สูงอายุทุกคนของโรงเรียน นอกเหนือจากความรู้ที่ได้รับจากคลาสเรียนที่จัดไว้ตามหลักสูตร
“ปริญญาชีวิตได้แรงบันดาลใจมาจากที่ผู้สูงอายุหลายคนอยากใส่ชุดครุย อยากเห็นภาพงานรับปริญญาของตัวเอง เพราะมีผู้สูงอายุหลายคนที่ทำงานหนักเพื่อส่งลูกเรียนจนจบปริญญา แต่ตัวเองเรียนจบแค่ระดับประถม เราจึงอยากสานฝันให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้มีชุดครุยและใบปริญญาเป็นของตัวเอง เวลาได้เห็นภาพลูกหลานเอาดอกไม้มาแสดงความยินดีกับพ่อแม่ของเขา เราก็มีความสุขตามไปด้วย” ลิขิตกล่าว
ณ ปัจจุบัน ในกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนผู้สูงอายุผู้สูงนำร่องทั้งหมด 11 แห่ง เมื่อถามต่อไปในอนาคตถึงภาพของการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัยในประเทศไทย ลิขิตระบุว่าตนเองปรารถนาให้ทั้งภาคท้องถิ่นและรัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้สูงอายุมากขึ้นกว่านี้ ไปจนถึงการออกนโยบายเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุทุกคนในสังคม โดยคาดหวังว่าภาครัฐรวมถึงกรุงเทพมหานครจะช่วยเสริมหนุนการดำเนินงานของโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น และร่วมกันผลักดันให้มีพื้นที่เรียนรู้ของผู้สูงวัยกระจายต่อไปในอีกหลายพื้นที่
“การเรียนรู้ตลอดชีวิของผู้สูงวัยสำคัญมากนะ เพราะประเทศไทยเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุแล้ว เราหลีกเลี่ยงการดูแลผู้สูงอายุไม่ได้หรอก บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมีโรงเรียนผู้สูงอายุ อายุมากขนาดนี้แล้วทำไมยังต้องไปเรียน แต่ในความเป็นจริงคนทุกช่วงวัยยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ และทุกวันนี้คนเข้าสู่วัยสูงอายุจำนวนมหาศาล เราจึงต้องเตรียมการดูแลพวกเขาตั้งแต่วันนี้ ส่วนตัวผมจึงมองว่ารัฐควรจะส่งเสริมให้มีโรงเรียนผู้สูงอายุกระจายทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงในหลายจังหวัดทั่วประเทศ” ลิขิตกล่าวทิ้งท้าย
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world