ขอเชิญร่วมงานสัมมนาวิชาการออนไลน์ Digital Family Card: แพลตฟอร์มอัจฉริยะ เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของประเทศคาซัคสถาน

ขอเชิญร่วมงานสัมมนาวิชาการออนไลน์ Digital Family Card: แพลตฟอร์มอัจฉริยะ เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของประเทศคาซัคสถาน

กรุงเทพฯ, 1 มีนาคม 2567 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขอเรียนเชิญสื่อมวลชน  และผู้สนใจทุกท่านเข้าร่วมการสัมมนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อDigital Family Card: แพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของประเทศคาซัคสถาน” ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ถึง 16.00 น.

กสศ. ตระหนักดีถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการบริการสาธารณะให้เข้าถึงประชากรกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และแม่นยำ ทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมและตรงกับความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ กสศ. จึงจัดให้มีการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Digital Family Card: แพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของประเทศคาซัคสถานขึ้น เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมที่ประเทศคาซัคสถานพัฒนาร่วมกับ UNDP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (Reduce Inequalities) อันเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 10 ของสหประชาชาติ (SDG10) และเพื่อเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ของไทยได้ นำไปพัฒนาต่อยอดระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการบริการสาธารณะแก่ประชาชน จนได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับที่ 28 ของ UN Global E-Government Development Index ในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ Digital Family Card หรือบัตรครอบครัวดิจิทัล ได้รับการออกแบบมาเพื่อมอบบริการสาธารณะอย่างครอบคลุมให้กับทุกครัวเรือน ในการสัมมนาครั้งนี้ มร.วิทาลี อเล็กซานดรอฟ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย และ มร.ดมิทรี มุน รองประธานคณะกรรมการบริหาร National Information Technologies (JSC) จะมาให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นแกนหลักของแพลตฟอร์มดังกล่าว ตลอดจนวิธีการประเมินความกินดีอยู่ดีของครัวเรือน มาตรการความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ รวมถึงผลกระทบของแพลตฟอร์มในการลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ สังคม และศึกษาของประชาชน

Digital Family Card (DFC) เป็นโครงการริเริ่มที่ปฏิวัติระบบการมอบความช่วยเหลือของรัฐบาล อยู่บนพื้นฐานของการประเมินระดับความกินดีอยู่ดีของครัวเรือนโดยใช้หลักเกณฑ์ที่คลอบคลุมมิติต่างๆ DFC ทำงานบนแพลตฟอร์ม Smart Data Ukimet ที่รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลกว่า 80 แห่งเพื่อสร้างโปรไฟล์ครัวเรือนตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ สังคม ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และการศึกษา โปรไฟล์เหล่านี้จะถูกแบ่งออกเป็นห้าระดับตั้งแต่ระดับที่มั่นคงไปจนถึงระดับฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐกำหนดมาตรความช่วยเหลือในเชิงรุก ซึ่งปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของแต่ละครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็น ความช่วยเหลือทางการเงิน การสนับสนุนการจ้างงาน หรือบริการด้านสุขภาพ 

การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการและการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงสามารถลดอุปสรรคของระบบราชการได้อย่างมาก ช่วยให้มั่นใจได้ถึงความช่วยเหลือที่ทันเวลาและตรงเป้าหมาย ที่ผ่านมาระบบนี้ทำการแจ้งเตือนมากกว่า 800,000 รายการ มีประชาชน 650,000 คนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐ DFC จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลคาซัคสถานในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองอย่างแท้จริง

นอกจาก Digital Family Platform ของประเทศคาซัคสถาน ศาสตราจารย์ ดร. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ จะนำเสนอแอปพลิเคชัน SMART ที่พัฒนาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา และ มูลนิธิฯ เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของประเทศไทยในการนำเทคโนยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคมอีกด้วย 

SMART เป็นแพลตฟอร์มความช่วยเหลือทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นแรกที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงกระบวนการและมอบความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาส ดร.ศุภสิทธิ์จะอธิบายถึงคุณลักษณะของ SMART กรอบการดำเนินงาน และผลกระทบที่สำคัญที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัยที่เป็นสองจังหวัดนำร่อง

จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังแนวทางและแบ่งปันความคิดเห็นในงานสัมมนานี้ในวันและเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom จะสามารถเลือกรับชมได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ส่วนผู้ที่รับชมทาง Facebook Live @EEFthailand และ EEF Inter-Forums จะรับชมได้โดยไม่มีระบบล่ามสองภาษา 

งานสัมมนานี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สื่อมวลชนและผู้สนใจกรุณาลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาผ่านระบบ Zoom ได้ที่: แบบฟอร์มลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนา Participant Registration Form (google.com)


ทีมสื่อสารของโครงการเสวนาวิชาการนานาชาติ กสศ.:   

เอกรินทร์ วิบูลย์ตั้งมั่น Line OA: @eefinterforums Tel. 089-497-4229 
พีรพร สินประเสริฐ E-mail: eef.inter@gmail.com Tel. 062-630-9995

เกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

กสศ. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีการบริหารงานที่เป็นอิสระ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสเพื่อเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ด้วยยุทธศาสตร์การทำงาน โดยมีข้อมูลเป็นฐาน ดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ ต้นแบบหรือนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ กสศ. ได้ที่ www.eef.or.th เกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เกี่ยวกับโครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติ กสศ.

โครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติ กสศ. ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ มุมมอง และนวัตกรรมเกี่ยวกับการศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2562 โครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติประสบความสำเร็จในจัดการสัมมนาทั้งในสถานที่จริงและแบบออนไลน์หลายครั้ง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลากหลายประเทศ การสัมมนาออนไลน์ได้รับการเผยแพร่ผ่าน Zoom และ Facebook Live โดยมีวิดีโอบันทึกการสัมมนาสำหรับรับชมย้อนหลังทาง Facebook และ YouTube

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติ กสศ. โปรดเข้าชม https://www.facebook.com/EEFInterForums และ https://en.eef.or.th/eef-international-forums

ภาพรวมการนำเสนอ
Digital Family Card: โซลูชันวิเคราะห์สถานการณ์ระดับครัวเรือนของคาซัคสถาน

ต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบสูงมากต่อการจัดสรรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ประชากรบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบน้อยมากจนไม่ต้องการที่จะรับความช่วยเหลือแต่อย่างใด ขณะที่ประชากรกลุ่มเปราะบางอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทางรัฐกำลังจัดหามาตรการให้ความช่วยเหลือใดบ้างแก่พวกเขา 

นั่นเพราะรัฐขาดกลไกและระบบที่มีประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาของแต่ละครัวเรือน ตัวอย่างเช่น ครอบครัวที่มีปัญหาทางการเงินอาจจะประสบปัญหาด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาทางการศึกษาของบุตรหลาน แต่ว่าระบบความช่วยเหลือจากรัฐที่มีอยู่เดิมกลับขาดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบองค์รวม ยิ่งกว่านั้น ความช่วยเหลือจากรัฐมักจะแยกส่วนกัน แต่ละปัญหาอยู่ภายใต้ดูแลของแต่ละหน่วยงาน จึงเป็นที่มาของการซ้ำซ้อน การจัดสรรทรัพยากรไม่เหมาะสม และสุดท้ายก็ไม่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือได้อย่างเพียงพอต่อปัญหาทั่วไปในแต่ครัวเรือน

ครัวเรือนที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือจึงต้องเป็นฝ่ายที่วิ่งเข้ามาหน่วยงานรัฐบาลและบริการต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น สำนักจัดหางาน สำนักบริการสังคม หน่วยบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น แต่หน่วยงานเหล่านี้มักดำเนินงานเป็นเอกเทศ และขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่รัฐไม่อาจคาดการณ์ความต้องการของประชากรกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ รัฐย่อมไม่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลจึงคิดค้นนวัตกรรมการให้บริการขึ้นมา Digital Family Card หรือบัตรครอบครัวดิจิทัลที่จะเผยให้เห็นสภาพที่แท้จริงของความกินดีอยู่ดีของแต่ละครัวเรือน เป้าหมายของประเทศคาซัคสถานคือการสร้างรัฐบาลที่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างใกล้ชิด เป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและให้บริการเชิงรุกแก่ประชาชน ทั้งนี้ ระหว่างการนำเสนอจะมีการยกตัวอย่างถึงการมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐบาลในอดีต ตลอดจนวิธีการประยุกต์ใช้ Big Data มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการเช่นในปัจจุบัน

Digital Family Card เป็นโซลูชันที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถวิเคราะห์ กำหนดและแบ่งกลุ่มครัวเรือน (หรือบุคคล) ออกตามระดับความกินดีอยู่ดีโดยอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ข้อมูลประชากรทุกประเภทจากหน่วยงานต่างๆ จะถูกนำมาประมวลจนกำหนดได้เป็นลักษณะเฉพาะของครัวเรือน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของแต่ละบุคคลตลอดจนความสัมพันธ์ในครอบครัว จากนั้นนำหลักเกณฑ์กำหนดระดับความกินดีอยู่ดีของครัวเรือนที่พัฒนาร่วมกับ UNDP และกระทรวงแรงงานมาแบ่งเป็น 5 กลุ่ม (A-มั่นคง, B-น่าพอใจ, C- มีปัญหา D-วิกฤติ, E-ฉุกเฉิน) การพิจารณายังคำนึงถึงปัจจัยทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่อยู่อาศัย สุขภาพ ตลอดจนการศึกษาด้วย

บัตรครอบครัวดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนและพัฒนาครัวเรือนของประเทศคาซัคสถาน เป็นนวัตกรรมโซลูชันที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองทุกคน