เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมเวทีนโยบายระดับสูง “ทิศทางการพัฒนาทักษะพื้นฐานชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และธนาคารโลก โดยระบุว่า ประเทศไทยและคนไทยมีศักยภาพที่จะก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงได้ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้ดึงศักยภาพของคนไทยหลายล้านคนออกมาใช้อย่างเต็มที่ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนากำลังคน
การลงทุนพัฒนาพื้นฐานมนุษย์ในคนไทยทุกคนอย่างเสมอภาค คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่จะทำให้สามารถออกจากกับดักรายได้ปานกลาง
เราเห็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำมาเป็นเวลานาน ทั้งจากการวัดผลด้านทักษะระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ความแตกต่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาส มีช่วงห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ
รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางเชิงกลยุทธ์ ผ่านโครงการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (หรือ Adult Skills Assessment in Thailand) ในช่วงอายุ 15-64 ปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ข้อมูลการวัดระดับทักษะ เพื่อให้เราได้เห็นภาพศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา ตามความเป็นจริง
ผลการสำรวจดังกล่าว จะช่วยให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นจุดสำคัญ ทั้งในด้านช่องว่างทางทักษะ (หรือ skill gaps) และการขาดแคลนทักษะที่เป็นต้นทุนในชีวิต ได้แก่ การรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล ทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นทักษะขั้นพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายในชีวิตในศตวรรษที่ 21
ข้อค้นพบ และข้อเสนอนโยบายจากงานวิจัยนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมี Roadmap การพัฒนาพื้นฐานมนุษย์ทุกช่วงวัยที่ตรงจุด และสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาคนได้สูงที่สุดรวมทั้งช่วยให้ภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ มีความมั่นใจในการลงทุนเพื่ออนาคต อันจะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ไปสู่ประเทศรายได้สูงในทศวรรษหน้า
ประเทศไทยจะเผชิญกับต้นทุนทางเศรษฐกิจ หากเราไม่เร่งด้าเนินการเรื่องการพัฒนาคน และจะติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง เราเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ต้องการ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ในการสร้างระบบนิเวศของการศึกษา และการฝึกอบรม ให้เข้มแข็ง ยืดหยุ่นและยั่งยืน
ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความมุ่งมั่น และมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีขึ้น เช่น นโยบาย “Thailand Zero Dropout” หรือ “Learn to Earn” สำหรับทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ จากการปฏิบัติจริงในการประกอบอาชีพ
รวมถึงการที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนจากทั่วโลก ที่มีจุดแข็ง ที่หลากหลาย เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทักษะที่ต้องมีในตลาดแรงงาน สำหรับคนไทยทุกช่วงวัย
ความพยายามทั้งหมดนี้ คือ “สัญญาประชาคม สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” ที่รัฐบาลมีต่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเพียงใด เพราะเราเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม ผมขอย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นฐานมนุษย์ เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ได้สำเร็จภายในปี 2030
อ่านรายงานวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ได้ที่ คลิก