เข้าใจ ‘วิกฤตการเรียนรู้ถดถอย’ บาดแผลจากโรคระบาดที่ตอกย้ำปัญหาใต้พรมการศึกษาไทย
โดย : ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

เข้าใจ ‘วิกฤตการเรียนรู้ถดถอย’ บาดแผลจากโรคระบาดที่ตอกย้ำปัญหาใต้พรมการศึกษาไทย

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นสร้างบาดแผลให้กับทุกองคาพยพในไทย โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่โรคระบาดบีบบังคับให้ต้องปรับการเรียนการสอนทั้งหมดเป็นรูปแบบออนไลน์ ซ้ำร้ายการปิดโรงเรียนนั้นยังนำมาสู่วิกฤต ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ หรือ learning loss ในกลุ่มเด็กปฐมวัยของไทย  

มากไปกว่านั้น เมื่อวิกฤตโรคระบาดแผ่ขยายเข้ามาถึงระบบการศึกษา ยิ่งเปิดเปลือยให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกหรือแม้แต่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมมาเนิ่นนาน ซึ่งล้วนเป็นผลพวงมาจากนโยบายต่างๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน และคำถามสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้สามารถฟื้นฟูการศึกษาจากวิกฤตการเรียนรู้ถดถอยและรอยแผลเป็นจากโรคระบาดที่ยังไม่จางหายไปเหล่านี้ได้

101 จึงชวน ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และ วิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มาร่วมตีโจทย์การศึกษาไทยหลังโควิด-19 ในรายการ 101 Policy Forum #18 ฟื้นฟูการศึกษา พาเด็กไทยออกจากวิกฤตการเรียนรู้ ว่าอะไรคือบาดแผลสำคัญที่เกิดขึ้น นโยบายแบบไหนจะนำพาเด็กไทยออกจากวิกฤตการเรียนรู้ รวมถึงร่วมกันเสนอการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ของเด็กปฐมวัย


วิกฤตการเรียนรู้ถดถอยหรือ learning loss ที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยหลังโควิด-19 คืออะไร

ภูมิศรัณย์ : ภาพรวมของสถานการณ์ learning loss หรือภาวะความรู้ถดถอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งที่ทาง กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เข้าไปเก็บข้อมูล หรือข้อมูลจากงานวิจัยจากแหล่งต่างๆ เบื้องต้นจะเห็นว่าถึงแม้ก่อนเกิดโควิด-19 ประเทศไทยจะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้หรือการเข้าถึงทางการศึกษาอยู่แล้ว โดยคนฐานะยากจนมีสัดส่วนของรายได้ที่ต้องจ่ายให้กับการศึกษาสูงกว่าคนรวย รวมไปถึงก่อนจะมีโควิด-19 นักเรียนในชนบทกับนักเรียนในเมืองมีความรู้ที่ห่างกันประมาณ 2 ปีการศึกษาอยู่แล้ว พอมีสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมาก็ยิ่งมีเด็กยากจนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็นเด็กกลุ่มพิเศษที่อยู่ในการดูแลของ กสศ.

วิกฤตโควิด-19 เป็นเรื่องของสถานการณ์ทางภาวะเศรษฐกิจที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเผชิญปัญหาการตกงาน หรือการย้ายงานจากเมืองใหญ่ไปสู่ชนบท เหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบที่มีต่อบุตรหลานที่อยู่ในรั้วโรงเรียนทั้งสิ้น และผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้เด็กมีทั้งปัญหาเรื่องของการเจ็บป่วยด้วย นอกจากมิติในเรื่องของสุขภาพกายแล้ว ยังวิกฤตด้านสุขภาพจิต มิติทางเศรษฐกิจ และการเรียนรู้ที่หายไป และจากที่เราได้ไปสำรวจทั้งตัวผู้ปกครองและนักเรียน พบว่าประเด็นที่คนยากจนจะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการตกงาน รายได้ที่ลดลง หรือแม้แต่มีญาติพี่น้องเข้ามาขออยู่อาศัยด้วย

ส่วนนักเรียนก็จะพบปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ในช่วงแรกๆ ที่เกิดโควิด-19 มีงานวิจัยค่อนข้างมากที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล ทำให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การเรียน ปัญหานี้ทำให้ความรู้ที่เด็กควรจะได้จากการเรียนทางไกลหายไป ซึ่งความเหลื่อมล้ำของอุปกรณ์ต่างๆ ในไทยชัดเจนว่าระหว่างในเมืองกับชนบทมีความสามารถในการเข้าถึงที่แตกต่างกันมาก ถ้าแบ่งไปตามจังหวัดต่างๆ จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์หรือไฟฟ้าที่แตกต่างกัน

อีกมิติหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 คือในกลุ่มเด็กที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ได้ต้องอยู่หน้าจอมากเกินไปหรือไม่ได้เจอเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเลย ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ภาวะสมองเต็ม’ หรืออาจมีผลกระทบต่อจิตใจ มีความเครียด ความวิตกกังวล ไปจนถึงสภาวะซึมเศร้า จากการที่เราได้ไปคุยกับครูและผู้บริหารโรงเรียนหลายๆ แห่ง พบว่าหลังจากที่เด็กกลับมาเรียนได้ตามปกติ แม้ว่าเด็กหลายคนจะอยู่โรงเรียนในเมืองหรือโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เด็กที่ยากจน เป็นเด็กที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ อีกทั้งพ่อแม่มีการศึกษาสูง ทว่าพอเขากลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้งกลับมีพฤติกรรมซึมเศร้า หรือพฤติกรรมของการแยกตัวออกจากเพื่อน เช่น ไปโรงเรียนแล้วไม่อยากไปนั่งในห้องเรียน อยากจะออกมานั่งเรียนคนเดียว

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านคนเดียวเป็นระยะเวลากว่า 1-2 ปี ดังนั้นโควิด-19 ก็จะมีผลต่อเรื่องของพฤติกรรมหรือสุขภาพจิตของเด็กเหล่านี้เช่นกัน

ฉะนั้นผลกระทบจึงมี 2 กลุ่มคือ เด็กที่ขาดแคลนการเข้าถึงอุปกรณ์และสื่อการเรียนต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้ว่าจะเข้าถึงอุปกรณ์และความรู้ได้ มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ แต่ว่าก็ยังได้รับผลกระทบในด้านความเครียดหรือประสิทธิภาพในการเรียนในช่วงที่ไม่ได้เจอเพื่อนและครู นอกจากนี้ก็จะมีประเด็นของเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาในกลุ่มเด็กยากจน ที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้พวกเขาต้องออกนอกโรงเรียนไป

และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย จริงๆ แล้วหลายๆ ประเทศก็เจอสถานการณ์ learning loss เช่นกัน โดยในช่วงโควิด-19 เด็กที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต รวมถึงจะเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจนมากกว่าเด็กชนชั้นกลางขึ้นไป หรืออาจจะเป็นเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยเป็นภาษาแม่ คือเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กที่อยู่บ้านแล้วใช้ภาษาถิ่น จากงานวิจัยค่อนข้างชัดเจนว่าในช่วงที่มีการปิดการเรียนไปเด็กได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรู้ถดถอย ตอนนี้ก็เริ่มมีข้อมูลออกมาว่าในช่วงโควิด-19 มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยหรืองานสำรวจออกมาหลายๆ ชิ้นที่พบว่าทักษะของคณิตศาสตร์และภาษาของเด็กในปีนี้เป็นปีที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบมาจากการปิดโรงเรียน

ในกรณีของประเทศไทยจากการที่ได้พูดคุยกับครู หรือจากข้อมูลในเชิงสำรวจ ครูหรือผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ให้ข้อมูลว่าครูที่สอนก็สังเกตได้ว่าตัวนักเรียนมีความรู้ที่น้อยลงกว่านักเรียนในช่วงชั้นก่อนๆ ที่เคยสอน คือโดยปกติครูจะรู้ว่านักเรียนในระดับชั้นนี้ควรจะอ่านประโยคนี้ได้ หรือควรจะมีทักษะคณิตศาสตร์ในระดับใด แต่ว่าพอเด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียนใหม่หลังจากที่เกิดโควิด-19 ความรู้ต่างๆ ของเด็กจะถดถอยลง อย่างประเทศไทยเรามีข้อมูลชัดเจนว่ามีภาวะ learning loss ในกลุ่มเด็กปฐมวัยที่เป็นรูปธรรมและมีหลักฐานเชิงประจักษ์

กสศ. ได้เก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอในช่วงของปฐมวัย และพบว่าในกลุ่มนี้มีภาวะ learning loss ในด้านภาษา คณิตศาสตร์ และสติปัญญา และพบว่าหลังจากเกิดโควิด-19 สถานการณ์ความรุนแรงของภาวะ learning loss ในเด็กปฐมวัยก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดในด้านทักษะของเด็ก เช่น การนับตัวเลข การอ่านหนังสือคำง่ายๆ ที่เด็กควรจะทราบ และมีการสำรวจเพื่อเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่อยู่ในฐานะต่างกัน พบว่ายิ่งเป็นเด็กปฐมวัยกลุ่มยากจนจะมีสภาวะ learning loss มากกว่าเด็กที่มีฐานะดี เพราะว่าเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจก็มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย อีกทั้งพ่อแม่ก็มีความสำคัญกับสภาวะ learning loss ถ้าครอบครัวไหนพ่อแม่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูก เช่น อ่านหนังสือให้ลูกฟัง คอยช่วยสอนบทเรียนต่างๆ พบว่าครอบครัวนั้นภาวะ learning loss ของเด็กจะไม่เยอะมากเท่าครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลหรืออาจจะเลี้ยงลูกผ่านหน้าจออย่างเดียว

มีอีกงานหนึ่งที่ กสศ. ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือการศึกษากลุ่มเด็กปฐมวัยในกลุ่มโรงเรียนทางจังหวัดภาคใต้ พบว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนอยู่ในโรงเรียนประมาณ 2 ปี ต้องเรียนผ่านทางออนไลน์มีปัญหาหลายๆ อย่าง หลังจากเด็กกลับเข้ามาเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง เช่น ปัญหากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ การควบคุมตนเอง ไม่มีสมาธิในการนั่งเรียนได้อย่างยาวนาน ต้องขออนุญาตครูออกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ หรือการเดินขึ้นบันไดที่เดินไม่ถนัด เนื่องจากเด็กมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อไม่เต็มที่เหมือนกับเด็กรุ่นก่อนๆ และพบว่าแม้แต่การจับปากกากับดินสอ เด็กก็ไม่สามารถจับได้ถนัดเพราะไม่มีครูสอน รวมไปถึงการเขียนตัวอักษรต่างๆ ที่ไม่สามารถเขียนได้เหมือนกับเด็กที่ได้มาโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ


คุณวิเชียรในฐานะบุคลากรในระบบการศึกษา เห็นบาดแผลอะไรที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยหลังวิกฤตโควิด-19

วิเชียร : เรื่องแรกคือปัญหาที่เกิดขึ้นโดยปกติของการศึกษาในประเทศไทยคือ learning loss ที่เป็นผลมาจากคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เฉพาะในช่วงโควิด-19 เราเจอปัญหาว่าเด็กมาเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ แต่ผมคิดว่าทุกอย่างเราสามารถออกแบบได้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์นั้น อย่างกรณีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนากับโรงเรียนเครือข่าย ในช่วงที่ปิดเรียน 2 ปีนี้ เราได้มีโอกาสในการปรับทัศนคติของครูและผู้บริหารในระดับโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ เดิมทีเราเชื่อกันอย่างหนักแน่นว่าการศึกษาต้องมาที่โรงเรียน ต้องจัดการตามหลักสูตรให้มีเวลาเรียนและให้เรียนตามที่หลักสูตรบอก และต้องวัดผลให้ได้ผ่านตามที่หลักสูตรกำหนด แต่วิธีคิดแบบนี้อาจจะไม่ทันการในอนาคต ในช่วงโควิด-19 ปิดการเรียน 2 ปี เราได้โอกาสเปลี่ยนจาก school based learning เป็น child based learning (วิถีแห่งการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นฐาน) เพราะเรามองว่าผู้เรียนจะกลายเป็นผู้เรียนรู้ที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อได้เผชิญสถานการณ์ และโควิด-19 ก็เป็นสถานการณ์ใหญ่ทั่วโลกที่ทุกคนต้องเผชิญไปพร้อมกัน

ในช่วง child based learning ครูทำงานหนักมากนะครับ ในฐานะที่ต้องวิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคนว่ามีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหมายรวมถึงศักยภาพของผู้ปกครองและเครื่องมือต่างๆ ขณะที่เขาเรียนอยู่ที่บ้านด้วย ครูต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เป็น PLC (professional learning community) หรือชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพที่มีคุณภาพ คือออกแบบการวิเคราะห์ผู้เรียนก่อน แล้วจึงแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่พร้อม กลุ่มที่พร้อมปานกลาง และกลุ่มที่ไม่พร้อม ซึ่งวิธีการในการเข้าไปทำงานกับเด็กแต่ละกลุ่มก็ต้องต่างกันด้วย พอวิเคราะห์แล้วเราก็จะเห็นสถานการณ์และบริบทของเด็กแต่ละคน จากนั้นจะกำหนดโจทย์ โดยโจทย์นั้นจะเป็นเหมือนงานที่เด็กจะต้องทำในขณะที่อยู่บ้าน แต่ละคนจะได้โจทย์ที่ไม่เหมือนกัน และโจทย์นั้นจะเกี่ยวเนื่องกับการนำทักษะ ความรู้และคุณลักษณะต่างๆ ไปปรับใช้เพื่อท้าทายความสามารถของเขา ถ้าใช้แล้วได้ผลก็จะมุ่งเป้าไปดูว่าเด็กมีสมรรถนะที่สำคัญเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะผมมองว่าสมรรถนะที่สำคัญอย่างมากในช่วงโควิด-19 คือการจัดการตัวเองทั้งกายและใจ รวมถึงการคิดขั้นสูงซึ่งมีทั้งการคิดเชิงวิจารณญาณ การคิดเชิงระบบ การคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เหล่านี้เป็นสมรรถนะหลักๆ ที่เราคิดว่าต้องประคองไว้ในช่วงโควิด-19

เรายังมีระบบการเรียนรู้ร่วมกันกับพ่อแม่ เรียกว่าการสร้าง community of practice ผู้ปกครองก็จะรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เป้าหมายคืออะไร และงานและโจทย์ที่ให้ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง เพราะฉะนั้นแต่ละสัปดาห์เด็กจะได้โจทย์ที่พ่อแม่ต้องทำงานร่วมด้วย ผู้ปกครองต้องวิเคราะห์ออกว่าระหว่างที่เด็กทำงานแต่ละชิ้นจะช่วยพัฒนาสมรรถนะตัวไหน วิธีมองแบบนี้ก็จะทำให้ผู้ปกครองไม่จับจ้องสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่จะพยายามประคองให้เด็กเอาชนะสถานการณ์ได้ ในระหว่างนั้นก็จะมีการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่วนนี้เราจะไม่เน้นการสอน แต่จะกระบวนการออนไลน์ที่เน้นให้ข้อเสนอแนะและสะท้อนสิ่งที่เด็กได้โจทย์ไปและทำงานกลับมา โดย 1 สัปดาห์จะมีการเรียนออนไลน์ 2 ครั้ง

ส่วนกระบวนการออนไลน์กับผู้ปกครองส่วนใหญ่ครูจะมอบโจทย์ใหม่ให้ เช่น นักเรียนในชั้นอนุบาลครูจะมอบโจทย์เป็นงานบ้าน งานสวน งานครัว เมื่อเด็กทำออกมา เราก็มาช่วยกันวิเคราะห์ว่าผลลัพธ์แบบนี้จะได้สมรรถนะแบบไหน ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือการทำงานกับผู้ปกครอง เพราะบางทีผู้ปกครองอยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากก็คงอดไม่ได้ที่จะเคี่ยวเข็ญหรือดุด่าว่าเด็ก เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันหาทางออกว่าจะลดสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ช่วงแรกๆ ในปีการศึกษานี้อาจจะมีสะดุดไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วเด็กชั้นต้นๆ ตอนนี้ก็สามารถประคับประคองได้ เด็กชั้น ป.1 ตอนนี้เราพบว่าเขาอ่านออกเขียนได้กันทุกคน และเราไม่ได้มองแค่การแก้ปัญหาช่วงโควิด-19 แต่เรามองไปถึงระยะยาวด้วยว่าจะทำอย่างไรให้เด็กทั้งประเทศไม่มีภาวะ learning loss จากการจัดการเรียนการสอนที่ไม่มีคุณภาพ และพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนไปไกลกว่าความรู้

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

วิกฤต learning loss สะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรที่ซ่อนอยู่ในระบบการศึกษาไทย

พริษฐ์ : ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ข้อมูลของ กสศ. ในการวางแผนนโยบายและพยายามจะคิดค้นทางออกในฐานะพรรคการเมือง ผมมองว่า learning loss สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาบางอย่างที่อาจจะมีอยู่แล้วในระบบการศึกษาไทย แล้วพอมีโควิด-19 เข้ามาก็ยิ่งไปตอกย้ำปัญหานั้น learning loss เป็นปัญหาที่การเรียนรู้ของนักเรียนถดถอยไป เพราะว่านักเรียนหลายคนในช่วงโควิด-19 อาจจะเข้าไม่ถึงการเรียนการสอน หรือพอปรับเป็นรูปแบบออนไลน์แล้วประสิทธิภาพอาจจะลดน้อยลง

ความจริงการใช้ภาษา คำว่า learning loss ก็ถูกตั้งคำถามโดยนักวิชาการหรือนักวิจัยบางกลุ่มในสหรัฐอเมริกา มีคนบอกว่าจริงๆ แล้วคำศัพท์ที่อาจจะตรงกว่าอาจจะไม่ใช่ learning loss แต่เป็น learning missed เพราะคำว่า learning loss ให้ความหมายว่าเรามีบางอย่างอยู่แล้ว แต่บางอย่างที่ว่านั้นอาจจะถดถอยหรือสูญหายไปเพราะไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่บางคนมองว่าพอสถานการณ์โควิด-19 ลากยาวเป็นวิกฤตกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา มันอาจจะเป็น learning missed เพราะว่าเด็กบางคนอาจจะเข้าไม่ถึงการศึกษาเลย พออธิบายแบบนี้ผมคิดว่าเราก็อาจจะเห็นภาพมากขึ้นว่าที่ผ่านมาโควิด-19 ทำให้ผู้เรียนเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างไร ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 คือมีคนที่เข้าไม่ถึงเลย หลุดออกไปจากระบบการศึกษาเลย ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ผ่านมาก็คือปัจจัยทางเศรษฐกิจ พอมีวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาทำให้รายได้ของหลายครัวเรือนลดน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาต่างๆ ที่ กสศ. เคยประเมินไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อคนต่อปีมันสูงเกินกว่าที่เขาจะแบกรับไหว หมายความว่าสมัยก่อนเกิดโควิด-19 ก็อาจจะพอแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไหว แต่พอโควิด-19 เข้ามา รายได้ของผู้ปกครองลดน้อยลงจึงแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ก็กลายเป็นว่าต้องเอาลูกออกมาจากระบบการศึกษา ถ้าเกิดบางคนมีลูกหลานมากหน่อยก็อาจจะดึงลูกออกจากระบบการศึกษาแล้วให้เด็กไปทำงานเพื่อช่วยเสริมรายได้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นข้อจำกัดที่ 1 ที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ก็คือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบเลย

ระดับที่ 2 สำหรับบางคนที่อาจจะไม่ได้เผชิญปัญหาเศรษฐกิจถึงขั้นจะหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่เขาก็อาจจะเข้าไม่ถึงเพราะปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ แน่นอนว่าพอเป็นการเรียนออนไลน์หลายคนก็อาจจะมีปัญหาและข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นมือถือสมาร์ตโฟน หรือที่หนักกว่าคือปัญหาอินเทอร์เน็ต ทำให้ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในระบบได้ แต่พอมีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์จริงๆ เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสในหลายพื้นที่

ระดับที่ 3 คือบางคนอาจจะไม่ได้มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มีอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตพร้อม แต่ว่าแน่นอนว่าพอเข้าไปถึงการเรียนการสอนออนไลน์แล้ว การเรียนออนไลน์ก็อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีเท่ากับการเรียนการสอนออฟไลน์ ในมุมหนึ่งอาจจะเป็นปัญหาเรื่องการปรับตัวของผู้สอนด้วยที่ยังคงคุ้นเคยกับการสอนออฟไลน์ พอต้องปรับมาสอนออนไลน์ก็ต้องมีช่วงเวลาเริ่มต้นที่ต้องเรียนรู้และปรับตัว แต่ถึงแม้จะเอาผู้เชี่ยวชาญที่สุดในการสอนออนไลน์มา ผมเชื่อว่าการพึ่งแค่การสอนออนไลน์อย่างเดียวก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนการสอนออฟไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งข้อมูลก็บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มที่เผชิญสภาวะการเรียนรู้ถดถอยสูง

ผมมองว่าปัญหาเหล่านี้สะท้อนอะไรหลายอย่างในภาพกว้าง ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยสะท้อนให้เห็นถึง 3 ปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานในระบบการศึกษาไทย ได้แก่คุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ และประสิทธิภาพในการจัดสรรงบประมาณ

1. คุณภาพ ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เข้ามา ระบบการศึกษาไทยถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน สถิติที่บ่งบอกได้ดีที่สุดว่าปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษามีอยู่จริง คือจำนวนชั่วโมงเรียนที่นักเรียนต้องเรียนในห้องเรียน ในโรงเรียนรัฐบาลนักเรียนไทยมีชั่วโมงบังคับที่ต้องเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆ แต่ถ้ามาดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พอเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นเรากลับตามหลัง เรามีปัญหาเรื่องคุณภาพเพราะเราไม่สามารถแปรความขยันหรือชั่วโมงเรียนที่สูงออกมาเป็นทักษะที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ พอมีวิกฤตโควิด-19 เข้ามาและทุกอย่างปรับมาสู่ออนไลน์ก็อาจจะตอกย้ำให้ปัญหาเรื่องคุณภาพรุนแรงกว่าเดิม และหากว่าระบบการศึกษาไทยไม่สามารถให้ทางออกนี้ได้ดีเท่ากับระบบการศึกษาในประเทศอื่นๆ ช่องว่างในคุณภาพก็อาจจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ลองจินตนาการดูง่ายๆ ว่าถึงแม้ไม่มีโควิด-19 คุณภาพของเราก็อาจจะตามหลังหลายประเทศอยู่แล้ว พอมีโควิด-19 ภาวะการเรียนรู้ของนักเรียนเราก็จะถดถอยลงมามากกว่าเดิมอีก ถ้าเราไม่รีบปรับตัวจะทำให้ช่องว่างยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ

2. ความเหลื่อมล้ำ ต้องยอมรับว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยส่งผลกระทบต่อนักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยมากกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รายได้ที่ลดน้อยลง และข้อจำกัดเรื่องอินเทอร์เน็ต หรือถ้าพูดถึงบรรดาเด็กที่เข้าถึงการเรียนออนไลน์ก็ต้องยอมรับว่าความสามารถของแต่ละโรงเรียนในการปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์อาจจะแตกต่างกัน ถ้าโรงเรียนที่มีความพร้อม มีงบประมาณเพียงพอ หรือเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ก็อาจจะมีมาตรการที่สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการเรียนออนไลน์ที่แต่ละโรงเรียนจัดสรรก็อาจจะมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไปด้วย ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งสูงขึ้นไป

3. การใช้งบประมาณ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นก็มีคำถามว่าเรากำลังแปรเม็ดเงินออกมาเป็นมาตรการหรือจะใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดหรือเปล่า ถ้าไปดูการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ปรากฏว่าไม่เห็นการตั้งรายการหรือโครงการอะไรเลยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยโดยเฉพาะเจาะจง สมมติเปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักรที่มีการตั้งงบประมาณบางส่วนเฉพาะเจาะจงสำหรับการแก้ปัญหา learning loss เป็นงบประมาณชั่วคราวเพื่อมาดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้ เช่น ตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายระยะเวลาเรียน การพัฒนาศักยภาพคุณครู หรือการฟื้นฟูด้านสุขภาพจิต แต่ในงบประมาณไทย หาเท่าไรก็หาไม่เจอว่ามีการตั้งโครงการสำหรับการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอย พอถามทางกระทรวงไปเขาก็ยืนยันกลับมาว่ามันไปแทรกซึมอยู่ในงบประมาณส่วนอื่น แต่จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าความชัดเจนตรงนั้นเป็นอย่างไร เป็นข้อกังวลว่าในปัจจุบันที่ระบบการศึกษาเจอวิกฤตรุนแรงขนาดนี้ งบประมาณของเรามีความยืดหยุ่นเพียงพอหรือเปล่าที่พร้อมจะรับมือกับวิกฤตใหม่ๆ หรือว่าเรายังคงติดกรอบการตั้งงบประมาณแบบเดิมๆ จริงๆ ส่วนนี้ผมมองว่าเป็นปัญหาในภาพรวมของประเทศด้วย


พ่อแม่สามารถแก้ไขปัญหา learning loss ในเด็กเล็กอย่างไรได้บ้าง

ภูมิศรัณย์ : ผมคิดว่าพ่อแม่เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยได้เยอะมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก โดยเวลาที่เด็กอยู่บ้านพ่อแม่ก็สามารถช่วยอ่านหนังสือให้ลูกฟัง พยายามชวนลูกมาทำการบ้านด้วยกัน ก็จะเป็นผลดีทั้งด้านการเรียนของเด็กและความอบอุ่นในครอบครัวด้วย


แล้วครูและชุมชนสามารถเข้ามาช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง หากว่าพ่อแม่ที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอาจจะไม่มีความพร้อมมากพอ

วิเชียร : สำหรับเด็กเล็กผมมองว่าครอบครัวจะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าโรงเรียนและชุมชน เพราะสายสัมพันธ์คือสิ่งที่จะช่วยก่อร่างสร้างความเป็นตัวตนและทักษะทางสมองของเด็กขึ้นมาได้ และจะนำไปสู่การพัฒนาตัวตนและสมรรถนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานบ้านต่างๆ หรือแค่การอ่านหนังสือ พ่อแม่จะทำได้ดีกว่าโรงเรียนเสียอีก เพราะกระบวนการเหล่านี้จะช่วยปูพื้นฐานสำคัญในการพัฒนามนุษย์

วิเชียร ไชยบัง

ถ้าต้องมาช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไทยช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 อยากจะแก้ปัญหาด้วยการเจาะลึกไปที่ประเด็นไหนก่อน หรือควรจะตีโจทย์อย่างไรเพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ภูมิศรัณย์ : ผมคิดว่ามีประเด็นสำคัญหลายอย่างที่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของคุณวิเชียรได้ อย่างการทำงานร่วมกับครูและผู้ปกครอง เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าสิ่งที่ดีๆ ที่เราคิดว่าอยากจะทำคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองหรือผู้ปกครองไม่ได้มีความเข้าใจในการทำงานร่วมกับทางโรงเรียน ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กๆ ต้องอยู่บ้าน หรือแม้แต่ตอนนี้ที่เด็กสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้แล้วแต่ยังคงมีปัญหาความรู้ถดถอย ผมจึงคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างที่กล่าวไปว่าจากการวิจัยของ กสศ. พบว่าถ้าครอบครัวไหนที่พ่อแม่ให้ความสนับสนุนการศึกษาของลูกหรือมีความร่วมมืออย่างดีกับทางโรงเรียน ครอบครัวนั้นก็จะประสบความสำเร็จอย่างมากหรือมีปัญหาจากการเรียนค่อนข้างน้อย ผมจึงอยากจะให้โรงเรียน หรือทางกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานร่วมกันกับโรงเรียน ผู้ปกครอง หรือชุมชน

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณพริษฐ์พูดถึงคือเรื่องของงบประมาณ ผมค่อนข้างเห็นด้วยเช่นกันว่าจริงๆ แล้วบ้านเราน่าจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องของงบประมาณหรือกิจกรรมในการฟื้นฟูความรู้ในช่วงที่เด็กกลับมาโรงเรียนได้มากขึ้น และมีเรื่องหนึ่งที่พูดกันบ่อยในช่วงที่เกิดโควิด-19 คือนักจิตวิทยาโรงเรียน การดูแลปัญหาสุขภาพจิตของเด็กที่อาจจะเกิดในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน เรื่องนี้หลายๆ โรงเรียนก็รายงานมาว่ามีปัญหา แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของนักจิตวิทยาโรงเรียนและการให้บริการทางสาธารณสุขอาจจะยังไม่ค่อยเพียงพอเท่าไร ผมคิดว่าในประเทศไทยน่าจะมีการดูแลในเรื่องนี้มากขึ้น รวมไปถึงการหนุนเสริมของโรงเรียน ทั้งเรื่องการหาครูพี่เลี้ยง หาอาสาสมัครชุมชนเพื่อมาคอยเสริมเพิ่มความรู้หรือดูแลเด็กๆ เพื่อช่วยครูหรือผู้ปกครองในการดูแลและเข้าถึงการเรียนของเด็กในแต่ละระดับชั้นเรียน ไปจนถึงเรื่องงบประมาณที่บางประเทศมีการตั้งงบมาใช้ฟื้นฟูความรู้โดยเฉพาะ ทั้งการจ้างครูให้ทำงานนอกเวลา สอนเพิ่มขึ้น หรือให้ครูพิเศษมีจำนวนมากขึ้นมาสอนเด็กในช่วงวันหยุดหรือช่วงปิดเทอม เป็นต้น

ในมุมมองของ กสศ. เรามองว่าเด็กในกลุ่มยากจนหรือด้อยโอกาสจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการฟื้นตัว รวมถึงต้องมีตัวช่วยมาสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับนักเรียนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในเรื่องอินเทอร์เน็ต ผมมองว่าเด็กยากจนต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตมากกว่าเด็กในเมืองเสียอีก เพราะเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะซื้อบัตรเติมเงินในการใช้อินเทอร์เน็ต ตอนนี้สิ่งที่เราพยายามจะทำเพื่อแก้ปัญหานี้คือการคุยกับ กสทช. หรือผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตให้ช่วยลดค่าบริการให้กับกลุ่มเด็กยากจน

อีกทั้งอาจจะต้องมีมาตรการพิเศษบางอย่างในการช่วยให้นักเรียนกลุ่มนี้เรียนตามเพื่อนได้ทัน หรือกลับมาเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ เรื่องนี้แล้วเรามองไปถึงการทำงานกับชุมชน หรือที่เรียกว่าอาสาสมัครทางการศึกษา รวมถึงการใช้เครือข่ายคนในท้องที่หรืออาสาสมัครมาช่วยครูในการฟื้นฟูความรู้ ในบางประเทศที่อาจจะไม่ได้มีเศรษฐกิจที่ดีมากนัก เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ก็จะมีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระหลายกลุ่มที่ทำงานร่วมกับชุมชนและผู้ปกครองเพื่อที่จะรวบรวมอาสาสมัครไปช่วยให้เด็กได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือช่วงหลังเลิกเรียนในการทบทวนบทเรียนต่างๆ ได้

วิเชียร : จากที่คุณพริษฐ์พูดถึงปัญหา 3 ประเด็น ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และงบประมาณ ในมุมมองของผมที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน เรามีอุปสรรคสำคัญคือกระทรวงศึกษาฯ มีชั้นของการบริหารจัดการระดับนโยบาย กำกับนโยบาย ไปจนถึงผู้ปฏิบัติและห้องเรียนห่างกันหลายช่วงชั้นมาก หมายความว่าคนคิดกับคนทำดูเหมือนจะเชื่อมกันไม่ติด แต่ผมก็เห็นด้วยว่าการกระจายอำนาจควรจะดีกว่านี้จึงจะแก้ปัญหา 3 เรื่องนี้ได้

เนื่องจากผมไม่ได้มีอำนาจในการทำให้มีการกระจายอำนาจ ผมจึงมีวิธีคิดอีกแบบ คือมองว่าระดับโรงเรียนก็สามารถแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องนั้นได้เลยจากการออกแบบ จริงๆ แล้ว กระบวนการทางการศึกษาในโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดเรื่องนวัตกรรม คุณครูส่วนใหญ่ที่อยู่ในโรงเรียนก็ใช้หลักสูตรและแบบเรียนเดิม หรือหนักกว่านั้นคือใช้แบบเรียนสำเร็จรูปที่บริษัทหนังสือจัดทำ แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ในระดับโรงเรียน เราต้องมีหลักคิดใหม่ คือเราต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดี และเครื่องมือในการเรียนรู้เป็นก็วิธีหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมร่วมกันและเรียนรู้ที่จะมีชีวิตที่ดี ถ้านำหลักคิดนี้มาทำความเข้าใจเราก็จะรู้ว่าจริงๆ แล้วตอนนี้เราสนใจเฉพาะแค่จะยัดเยียดว่าหลักสูตรต้องการให้เด็กอยากรู้อะไร แต่เรากลับละเลยที่จะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเด็กมีกระบวนการเรียนรู้อย่างไรในบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคมโลกตอนนี้ และเราได้ตอบสนองต่อสิ่งนั้นหรือเปล่า เพราะความคิดเดิมของการศึกษาเราเชื่อว่าเราจะสร้างพลเมืองของโลกไปเป็นข้าราชการ ไปเป็นอาชีพต่างๆ แต่ทุกวันนี้เป็นไปได้ไหมว่าเด็กกำลังสนใจแค่งานที่อาจจะไม่ใช่อาชีพ

ถ้าเรากลับมาสู่หลักคิดว่าจริงๆ แล้วมนุษย์อยากจะมีชีวิตที่ดี กระบวนการที่จะพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์หลักสูตรได้ส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากมาทำงานร่วมกับครู เพื่อให้ครูได้เห็นว่าเป้าหมายจริงๆ มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะปลาย ระยะสั้นคือพยายามตอบสนองให้ได้ตามหลักสูตร ระยะกลางคือหวังว่าผู้เรียนจะจบออกไปแล้วมีอาชีพ มีงาน และอยู่ในสังคมได้ ส่วนระยะปลายคือหวังว่าผู้เรียนจะใช้ชีวิตได้อย่างดี และสร้างสังคมที่ดีด้วย

ที่ผ่านมาเราไม่มองมาที่ 3 ระยะนี้ พยายามงมอยู่แค่ตามหลักสูตร แต่ถ้าเราเปลี่ยนให้แต่ละโรงเรียนสร้างสังคมที่ดี คือมีกระบวนการสร้างชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพที่ดี มีคุณภาพ และครูทุกคนหันหน้าเข้าหากัน คุยกันอย่างมืออาชีพถึงการจัดการแก้ปัญหาของเด็กรายคน ถ้าทำอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอและมีคุณภาพ ตัวครูเองก็จะเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริงและเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเด็กอย่างแท้จริง เข้าใจมนุษย์และวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ รวมถึงเข้าใจวิธีที่จะสอนมนุษย์ให้งอกงามไปตามเป้าหมายระยะไกลได้ ตอนนี้เราก็พยายามที่จะมุ่งการจัดการเรียนรู้เพื่อจะให้ได้สมรรถนะที่สำคัญ เพื่อจะได้นำสมรรถนะเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตระยะกลางและระยะไกล

ในส่วนของการออกแบบการเรียนรู้ เราจะจัดกลุ่มวิชาให้เป็นเชิงบูรณาการโดยใช้สถานการณ์และโจทย์เป็นสำคัญ ซึ่งสถานการณ์และโจทย์นั้นจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้เรียน เป็นสถานการณ์และโจทย์ที่ผู้เรียนสัมผัสได้ และในการให้โจทย์ครูต้องช่วยกันคิดโจทย์ที่ดีพอที่จะสามารถให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ในแต่ละสาขามาแก้โจทย์นั้น ทุกครั้งที่เด็กแก้โจทย์ก็จะต้องใช้สมรรถนะหลักๆ และพอทำซ้ำๆ ก็เหมือนเป็นการฝึกเส้นทางของเส้นใยประสาทเพื่อให้ผู้เรียนสามารถดึงมันออกมาใช้ได้อยู่เสมอ วิธีนี้เห็นผลได้ชัดเจนว่าในที่สุดแล้วเด็กสามารถคิดเป็น มีความคิดเชิงระบบ มีความคิดวิจารณญาณ และมีความคิดสร้างสรรค์ มีวินัยในตนเองสูง จัดการตนเองได้ รวมถึงรู้จักการทำงานเป็นทีม เพราะแน่นอนว่าวิธีการแบบนี้เรียนคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง

นอกจากนี้เรายังสร้างชุมชนของผู้ปกครองขึ้นให้มีการพูดคุยกันเพื่อจะแบ่งปันความคาดหวัง วิธีการ ผลลัพธ์ และการตีความจากสิ่งที่ผู้เรียนทำเพื่อความเข้าใจต่อมนุษย์ในที่สุด และถ้าพ่อแม่ค่อยๆ ขยับมาสู่ความเข้าใจต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ ในที่สุดพ่อแม่ก็จะสนับสนุนผู้เรียนได้ดีตามอรรถภาพของตนเอง จะสามารถพัฒนาไปกันได้ทั้งขบวนโดยที่ไม่มีใครคนไหนหลุดออกไป เพราะบนพื้นฐานของเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดี อยากเรียนรู้ อยากอยู่ในสังคมร่วมกัน รวมทั้งการวิธีการประเมินสมรรถนะที่ไปไกลกว่ามาตรฐานและตัวชี้วัดเดิม เรายังสร้างสังคมของครูขึ้นมาด้วย แม้แต่ในระบบออนไลน์ก็จะมีครูในชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แบบนี้ก็จะพอแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องคือคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ และงบประมาณได้ เพราะผมมองว่าสิ่งสำคัญอยู่กระบวนการการในการออกแบบการเรียนรู้และการลงไปทำงานร่วมกัน

พริษฐ์ : ถ้ามองถึงการพยายามจะหาทางออกสู่วิกฤตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ผมคิดว่าเราควรจะจัดสรรมันในเชิงของห้วงเวลามากกว่า ซึ่งผมแบ่งออกเป็น 3 ห้วงเวลา

ระยะที่ 1 ผมวางไว้ว่าเป็นเป้าหมายหรือโจทย์สำคัญในช่วงที่เด็กอาจจะยังกลับไปเรียนที่โรงเรียนอย่างปลอดภัยไม่ได้ เพราโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาอยู่ โจทย์สำคัญของระยะนี้คือคำว่า การประคับประคอง (retain) คือพยายามจะประคับประคองระบบการศึกษาเพื่อให้เด็กที่หลุดออกไปแล้วสามารถกลับเข้ามาได้อย่างไร้รอยต่อที่สุด หรือทำให้เด็กที่ยังคงอยู่ในระบบ ณ ปัจจุบันไม่หลุดออกไปมากขึ้นกว่าเดิม

โจทย์สำคัญของระยะนี้คือการป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเราก็ต้องพยายามลดความเสี่ยงเหล่านั้น เช่น ถ้าเราเห็นว่ามีปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ต้องมานั่งคิดว่าเราจะสามารถเยียวยาหรือทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายที่สูงนั้นไม่สร้างปัญหาให้ผู้ปกครอง หรือทำอย่างไรถึงจะลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลงมาให้มากที่สุดได้เพื่อที่จะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ฟรีจริงๆ ในอนาคตด้วย หรือถ้ามีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์สื่อการเรียนหรืออินเทอร์เน็ต รัฐสามารถเข้ามามีบทบาทอย่างไรได้บ้างเพื่อทำให้ข้อจำกัดเหล่านี้ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านอินเทอร์เน็ตหรือพยายามทางแก้ไขโดยอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์เหล่านั้น

ถ้าถามว่า ณ ตอนนี้เราก้าวข้ามระยะในการประคับประครองนี้มาหรือยัง ผมมองว่าก็ยังมีบางโรงเรียนที่ยังประสบปัญหานี้อยู่แม้ว่าปัญหาโควิด-19 ก็เบาบางลงแล้ว และความพยายามดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบแล้วกลับเข้ามาก็ยังคงเป็นโจทย์ที่สำคัญอยู่ เพราะฉะนั้นแต่ละพื้นที่หรือแต่ละโรงเรียนก็อาจจะอยู่ในห้วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป

ระยะที่ 2 เป็นช่วงเวลาที่เราก้าวข้ามมาแล้ว คือช่วงเวลาที่เด็กสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้อย่างปลอดภัยแล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องที่เด็กจะเจอปัญหาที่ทำให้หลุดออกจากระบบเพิ่มเติมอีก ระยะนี้ผมมองว่าโจทย์สำคัญคือการฟื้นฟู (recover) เพราะแม้ว่าเราก้าวข้ามผ่านโควิด-19 มาแล้วก็ไม่ใช่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะหายไปทันที แต่ยังมีการเรียนรู้ที่ถดถอยไปที่เราต้องมาช่วยกันฟื้นฟูหรือเติมเต็มให้กลับมาสู่จุดที่ดีขึ้น มี 2 ส่วนหลักที่ต้องช่วยกันฟื้นฟู อย่างแรกคือการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย จะทำอย่างไรให้ทักษะที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมากลับคืนมาได้ ทำให้นักเรียนมีระดับการพัฒนาที่ดีเทียบเท่ากับตอนที่ไม่มีโควิด-19 นี่ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ส่วนโจทย์ที่ 2 คือการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ต้องยอมรับว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพจิตในหมู่นักเรียนรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ระยะที่ 3 คือการสร้างใหม่ (remake) นอกเหนือจากโจทย์เดิมหรือปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เราต้องถอดบทเรียนจากช่วงโควิด-19 เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย เช่น ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในช่วงโควิด-19 ไม่ใช่แค่ในมิติการศึกษา แต่ในมิติอื่นๆ ด้วย ตอนนี้เราก็เห็นถึงความเหลื่อมล้ำรูปแบบใหม่ที่เริ่มเข้ามา คือความเหลื่อมล้ำในเชิงดิจิทัล เป็นความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตของคนที่เข้าถึงกับคนที่เข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบทุกมิติเลย ทั้งการเรียน รวมไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐที่สะดวกสบายกว่าสำหรับคนที่เข้าถึงระบบออนไลน์ โจทย์สำคัญคือเราจะถอดบทเรียนนี้อย่างไรเพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง ทั้งการทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กและประชาชนทุกคน หรือการจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

อีกบทเรียนหนึ่งคือเรื่องของหลักสูตร พอโควิด-19 เข้ามาหลายประเทศก็พยายามจะปรับตัวในการลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นในหลักสูตรลง เพราะเรารู้ว่าการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ถ้าจะอัดฉีดเนื้อหาเท่าเดิมอาจจะไม่ได้ผล พอเริ่มลดทอนเนื้อหาลงก็สังเกตเห็นว่าสิ่งที่ตั้งใจว่าจะลดแค่ชั่วคราวในยุคโควิด-19 มันอาจจะลดแบบถาวรไปได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นมาสักพักหนึ่งแล้ว หรือแม้กระทั่งรูปแบบการทำการประเมินรูปแบบใหม่ๆ เช่น บางวิชาไม่สามารถสอบในรูปแบบออนไลน์ได้ จึงต้องปรับการประเมินเป็นรูปแบบอื่น เช่น การสอบแบบ open book ก็เป็นการกระตุ้นให้เด็กสามารถเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อนำมาประกอบการทำข้อสอบได้ หากวิธีการไหนที่มีประสิทธิภาพก็อาจจะนำมาปรับใช้อย่างถาวรหรือในระยะยาวได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราปรับตัวชั่วคราวในยุคโควิด-19 อาจจะมีบางอย่างที่คงไว้อย่างถาวรได้ด้วยเหมือนกัน

บทเรียนสุดท้ายคือเรื่องของการกระจายอำนาจ การปรับตัวของภาครัฐแต่ละช่วงจะเห็นว่าในระลอกหลังๆ ก็มีความพยายามกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้กับโรงเรียนมากขึ้น จากเดิมที่ยังเป็นมาตรการแบบรวมศูนย์ หมายความว่ารัฐออกมาตรการอะไรมา ทุกโรงเรียนต้องทำเหมือนกันหมด ซึ่งเราก็เห็นว่าในการรับมือกับโควิด-19 วิธีนี้อาจจะไม่ได้ผลนัก โดยเฉพาะระลอกแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้เยอะมาก แต่หลายโรงเรียนที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ความเสี่ยงต่ำ ประชากรไม่หนาแน่น รวมถึงเป็นพื้นที่ที่นักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องอุปกรณ์และจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ยาก แต่โรงเรียนเหล่านี้กลับถูกบังคับให้ต้องเรียนออนไลน์ ทั้งที่ความจำเป็นอาจจะไม่ได้สูงเทียบเท่าโรงเรียนที่มีอัตราการติดเชื้อสูง รัฐจึงเริ่มถอดบทเรียนว่ามาตรการแบบรวมศูนย์อาจจะไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ทิศทางต่อมาคือการกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีสิทธิ์ตัดสินใจในการใช้งบประมาณและดำเนินโครงการต่างๆ ได้ เป็นอีกหนึ่งการถอดบทเรียนที่น่านำมาต่อยอดและขยายผลอย่างถาวรเช่นกัน จึงจะเห็นได้ว่าโจทย์การสร้างใหม่มีหลายอย่างที่ถอดบทเรียนจากช่วงโควิด-19 มาใช้ในช่วงหลังเกิดโควิด-19 ได้ด้วย นี่คือ 3 ระยะ ได้แก่ ประคับประคอง-ฟื้นฟู-สร้างใหม่ ที่มีโจทย์ที่แตกต่างกัน


นโยบายแบบไหนจะนำพาเด็กไทยออกจากวิกฤตการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

วิเชียร : ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ที่ผ่านมาสำหรับโรงเรียนต่างๆ การเพิ่มนโยบายคือการเพิ่มงาน ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และยิ่งทำให้ครูออกจากระบบกันไปมากขึ้น ดังนั้น ผมมองว่านโยบายที่เชื่อใจกันและกัน หรือนโยบายแห่งความเชื่อใจจะเป็นการเปิดพื้นที่แห่งความเคารพกันและจะทำให้โรงเรียนสามารถสร้างหรือออกแบบสิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน แต่ละชั้น หรือเข้ากับบริบทของชุมชนนั้นได้ทันท่วงที อีกทั้งความวุ่นวายทั้งหลายในโรงเรียนก็จะน้อยลง แต่ก็จะมีความซับซ้อนตรงที่ผู้กำหนดนโยบายยังอยู่ห่างไกลหลายชั้นจากห้องเรียนหรือผู้ปฏิบัติงานจริง ตอนนี้เราก็พยายามทำให้โรงเรียนในฐานะฐานปฏิบัติการให้ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อจะให้เป็นกรณีตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นไปกำหนดเป็นนโยบายได้

เวลาเราออกแบบฐานปฏิบัติการที่ดีนั้นเราต้องคิดแบบรอบด้าน คือคิดอยู่บนกระบวนทัศน์ใหม่ของการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน เริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมภายในโรงเรียนให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้เรียนทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องมีความเชื่อใจกัน เราต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นการจะสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมาในโรงเรียนได้ต้องมีฐานคิดของการใช้จิตวิทยาเชิงบวกที่มีความเคารพต่อมนุษย์ก่อน รวมถึงการออกแบบวิถีชีวิตที่ไม่บีบบังคับกัน ด้วยเหตุผลนี้ทุกโรงเรียนในเครือข่ายลำปลายมาศพัฒนาจึงไม่มีเสียงออด ไม่มีเสียงระฆัง ไม่มีการอบรมหน้าเสาธง แต่จะมีกระบวนการให้ผู้เรียนฝึกฝนการรู้ตัวและมีสติอยู่เสมอ ความเคารพกันจึงจะเกิดขึ้น และจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี

นวัตกรรมของเราเน้นให้มนุษย์ได้เรียนรู้อย่างแท้จริงเพื่อพัฒนาสมองส่วนหน้าของเด็กให้มีความสามารถในการตัดสินใจเชิงเหตุผล มีการเรียนภาษาไทยและวรรณกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กอ่าน จับใจความและตีความอย่างลึกซึ้ง เมื่อกระบวนการ 2 ส่วนนี้สอดรับกันก็จะทำให้โรงเรียนเป็นฐานปฏิบัติการที่มีผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และพยายามขยายผลไปยังโรงเรียนเครือข่ายอื่นต่อไป ผมหวังว่าการขยายผลจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับล่าง คือให้มีจำนวนโรงเรียนมากพอที่จะเกิดมวลวิกฤต และหวังว่าเมื่อถึงจุดนั้นผู้หลักผู้ใหญ่จะมีกรณีตัวอย่างมากพอจะนำไปกำหนดเป็นนโยบายที่ได้ผลจริง

ผมทราบมาว่าครูและผู้อำนวยการในโรงเรียนเครือข่ายก็ปรารถนาจะสร้างการศึกษาที่ดี แต่อุปสรรคที่พวกเขาเจอคืองานที่ต้องทำนอกห้องเรียนนั้นเยอะมาก ซึ่งปัญหานี้อาจจะเกิดมาจากนโยบายต่างๆ ก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นนโยบายเดียวที่ผมต้องการคืออยากให้เป็นนโยบายที่มีความเชื่อใจต่อกันและกัน

นอกจากนี้ ผมมองว่าครูและผู้บริหารเป็นผู้ที่อยู่กับเด็กและเผชิญปัญหากับเด็กอยู่ทุกวัน และตอบสนองต่อปัญหานั้นได้อย่างดีด้วย เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่ผู้ปฏิบัติงานจะคิดว่าเขาควรจะสามารถออกแบบหลักสูตรเองได้ และผมมองว่าหลักสูตรก็เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมาย แต่เป้าหมายที่แท้จริงต้องไปไกลและลึกกว่าหลักสูตรนั้น

ภูมิศรัณย์ : โดยภาพรวมผมให้ความสำคัญในเรื่องของการกระจายอำนาจและให้สถานศึกษาที่อิสระในการตัดสินใจมากขึ้น รวมไปถึงอิสระทางความคิดของครู ให้ครูมีความคิดสร้างสรรค์ในการริเริ่มทำสิ่งต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับกรอบของกระทรวงศึกษาธิการหรือกรอบที่หน่วยงานเบื้องบนกำหนดไว้ และแม้ว่า พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับปัจจุบันจะมีการพูดถึงการกระจายอำนาจไว้ค่อนข้างมาก แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้มีการกระจายอำนาจจริงๆ เช่น การตัดสินใจด้านงบประมาณก็ยังคงมาจากส่วนกลาง

สังเกตได้ว่าช่วงที่เกิดโควิด-19 ช่วงแรกๆ ณ ตอนนั้นเราก็ค่อนข้างตื่นเต้นกันที่ได้เห็นโรงเรียนหรือครูมีมาตรการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ หลายอย่างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์หรือไปสอนหนังสือให้เด็กที่บ้านหรือชุมชน จะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วครูหลายๆ คนก็มีศักยภาพและมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นถ้าหากว่าเราให้โอกาสเขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา อีกอย่างหนึ่งที่อยากเสริมคือการเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้อำนวยการสถานศึกษา ผมคิดว่าสิ่งนี้คือปัจจัยที่สำคัญ จริงๆ แล้วครูจะดำเนินงานได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน หรือจะมีความสุขในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารสถานศึกษาด้วยว่ามีความใจกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นมากแค่ไหน เพื่อที่จะก้าวทันโลกได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าเป็นทักษะที่สำคัญในการปรับตัวในยุคนี้คือทักษะทางอารมณ์สังคม (social emotional learning) เพราะเรื่องวิชาการก็เป็นแค่เหรียญด้านเดียว แต่ถ้าโรงเรียนให้ความสำคัญกับทักษะทางอารมณ์สังคมของเด็กด้วยก็จะมีผลดีในระยะยาวของชีวิต การทำงานและความก้าวหน้าของเด็ก ทาง กสศ. ก็เพิ่งทำโครงการที่ไปสำรวจข้อมูลด้านทักษะทางอารมณ์สังคมของเด็กไทยทั้งในกลุ่มยากจน กลุ่มยากจนพิเศษ และกลุ่มทั่วไป เราไปสำรวจทักษะด้านอารมณ์สังคมของเด็กที่ประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น การควบคุมตนเอง ความอยากรู้อยากเห็น การเปิดรับสิ่งต่างๆ พบว่าเด็กที่มีคุณสมบัติเชิงบวกเหล่านี้จะสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนมากเช่นกัน

แม้แต่เด็กในกลุ่มยากจนก็จะมีกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในทางวิชาการ พบว่าเบื้องหลังเด็กกลุ่มนี้ก็จะเป็นเด็กที่มีทักษะทางอารมณ์สังคมที่สูงเช่นกัน และมีพ่อแม่ที่ค่อนข้างให้การสนับสนุนการศึกษาแก่ลูกค่อนข้างมาก แม้ว่าตัวพ่อแม่จะไม่ได้มีฐานะทางการเงินดีมากนักหรือไม่ได้มีการศึกษาสูง แต่ผู้ปกครองเหล่านี้สนับสนุนการศึกษาแก่บุตรหลานอย่างดี เพราะฉะนั้นในภาพใหญ่นอกจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแล้ว ด้านเนื้อหาอื่นๆ ทางวิชาการก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ และนอกจากตัวเด็กแล้ว ผมมองว่าถ้าครูและผู้ปฏิบัติงานมีทักษะทางอารมณ์สังคมที่ดีด้วยก็จะยิ่งเป็นแรงเสริมในเชิงบวกที่จะนำสิ่งดีๆ ให้เกิดกับเด็กด้วย

พริษฐ์ : ถ้ามองมาที่นโยบายการฟื้นฟู ในส่วนของการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยในภาพกว้าง ผมมองว่ามี 3 อย่างที่ภาครัฐสามารถช่วยสนับสนุนโรงเรียนได้

1. ควรมีการช่วยผลิตเครื่องมือที่ครูหรือโรงเรียนสามารถนำมาใช้ในการวัดว่านักเรียนแต่ละคนที่กลับมาเรียนที่โรงเรียนมีการถดถอยด้านไหนและถดถอยมากน้อยแค่ไหน เพราะในช่วงเรียนออนไลน์ครูอาจจะไม่ได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนว่านักเรียนแต่ละคนเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเครื่องมือที่สามารถระบุแบบเฉพาะเจาะจงได้ว่าสิ่งที่เด็กแต่ละคนต้องการคืออะไรก็น่าจะมีประโยชน์ในการแก้ปัญหาสภาวะการเรียนรู้ถดถอยได้ ยิ่งถ้ามีการจัดสรรข้อมูลทั่วประเทศอย่างเป็นระบบก็จะยิ่งช่วยหาค่าเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ได้ และแน่นอนว่าในการออกแบบเราก็ต้องทำให้เป็นภาระต่อผู้ปฏิบัติงานจริงให้น้อยที่สุด เช่น คุณครูเก็บข้อมูลจากนักเรียนในห้องเรียนเองเลย หรืออาจะโทรสัมภาษณ์นักเรียนหรือผู้ปกครองที่บ้านในข้อมูลพื้นฐานที่ต้องการทราบ จัดทำแบบสอบถามให้ผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานที่บ้าน เป็นต้น

2. เมื่อเรามีเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์แล้ว เราควรจะต้องมีมาตรการเฉพาะกิจสำหรับช่วงเวลาฉุกเฉินนี้ที่เราต้องช่วยกันฟื้นฟู ซึ่งต้องอาศัยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมด้วย แน่นอนว่าพอความรู้ถดถอยไปก็อาจจะต้องมีการเพิ่มเวลาเรียนเพื่อชดเชยสิ่งที่สูญหายไป รวมถึงดูว่าอะไรคือเนื้อหาที่จำเป็นที่ต้องสอนเพิ่มจริงๆ ในเวลาเรียนที่เสริมมา เนื่องจากประเทศไทยแค่เวลาเรียนในสภาวะปกติก็สูงอยู่แล้ว จึงต้องใช้เวลาเรียนที่เสริมมาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนเรื่องรูปแบบการสอนต้องขึ้นอยู่กับบริบทความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน และอาจจะต้องมีการพักการประเมินบางส่วนเพื่อลดความเครียดของนักเรียน หรือปรับการประเมินเพื่อมีข้อมูลมาประกอบการออกแบบการเรียนการสอน ไม่ใช่ประเมินเพื่อตัดสินว่านักเรียนจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะเราต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมานักเรียนบางคนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ผมย้ำว่าต้องทำให้เป็นแบบชั่วคราว อย่างการเพิ่มเวลาเรียน ถ้าเพิ่มชั่วโมงเรียนแบบถาวรเลยอาจจะสร้างปัญหาเพิ่มได้ เพราะไม่ใช่วิธีการทุกอย่างที่เหมาะสมจะนำไปใช้ในระยะยาว

3. เราต้องมามองโจทย์ในฝั่งของ supply side หรือบุคลากรในโรงเรียนด้วย ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อมาช่วยเสริมบุคลากรสำคัญเช่นกัน เพราะถ้าครูคนเดียวต้องมารับภาระเพิ่มขึ้นทั้งหมดก็ต้องดูด้วยว่าเราจะช่วยลดภาระส่วนอื่นได้อย่างไร รวมถึงต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งที่สำคัญกว่าคือเราอาจจะต้องหาช่องทางในการดึงบุคลากรประเภทอื่นเข้ามาช่วยด้วย เช่น ในกรณีที่ต้องสอนเพิ่มคิดว่าเราอาจจะไปดึงครูที่ยังไม่ได้บรรจุหรือแม้แต่นักศึกษาครูมาช่วยภาระงานบางอย่างได้ ในมุมหนึ่งตัวบุคลากรที่มาช่วยก็จะได้ประสบการณ์เพิ่ม และในมุมของครูประจำก็จะได้มีคนที่มีทักษะในระดับหนึ่งมาช่วยแบ่งเบาภาระด้วย ภาครัฐอาจจะสร้างงานขึ้นมาที่มีความจำเป็นเฉพาะกิจในช่วงโควิด-19 และหาคนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่นี้

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของสุขภาพจิตรู้ที่ถดถอย ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 มีงานวิจัยหลายแห่งระบุว่าเด็กรุ่นใหม่มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาสุขภาพจิตกว่าเดิมมาก โดยเป็นเด็ก gen z มากกว่าคนรุ่นอื่น นักวิชาการหลายคนมองว่าโซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เด็กเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับคนอื่น แน่นอนว่าชีวิตของคนอื่นที่เราเห็นในโซเชียลมีเดียคือความสำเร็จในเบื้องหน้า แต่สิ่งที่เรานำมาเปรียบเทียบกับตัวเองคือความล้มเหลวเบื้องหลังในชีวิตเรา หรือแม้แต่การพะว้าพะวังกับยอดไลก์ ยอด engagement ซึ่งมันเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่แฟร์กับตัวเองตั้งแต่แรก เป็นการเปรียบเทียบที่ใจร้ายกับตัวเองมาก จึงเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าในเด็กรุ่นใหม่สูงขึ้นมากและเป็นสัญญาณอันตราย

ปัญหานี้ผมคิดว่ามี 3 ส่วนที่เราน่าจะช่วยกันแก้ไขได้ ประการแรก เราต้องรณรงค์ให้สังคมมองเรื่องของสุขภาพจิตให้เหมือนกับสุขภาพกายก่อนเพราะต้องยอมรับว่าสังคมบางส่วนมอง 2 เรื่องนี้ต่างกัน แล้วจึงมาช่วยกันออกแบบเครื่องมือให้ครูที่อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มากมี checklist เพื่อสังเกตว่าถ้านักเรียนมีอาการดังต่อไปนี้อาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต หรือหากมีนักเรียนมาปรึกษาเรื่องสุขภาพจิตเราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถไปรักษาจนหายดีและกลับเข้าสู่ห้องเรียนได้ตามปกติ ดังนั้น การเข้าถึงนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงถ้านำเทคโนโลยีมาช่วยในจุดนี้ เช่น การปรึกษาจิตแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ก็น่าจะช่วยให้ปัญหานี้ดีขึ้นได้

ประการที่ 2 เราต้องออกแบบสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ลดการเรียนรู้ที่เครียดเกินไป ลดชั่วโมงเรียนที่มากเกินไป การสอบแข่งขันที่สูงเกินไป หรือปัญหาการบูลลี่ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน หรือระหว่างครูกับนักเรียนเอง ช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการทำให้บรรยากาศที่โรงเรียนมีการสนับสนุนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจของครูที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิต หรือการส่งเสริมกิจกรรมที่ให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ประการที่ 3 การพัฒนา ‘นักรบสุขภาพจิต’ คือเราอย่ามองว่าสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญอย่างเดียว แน่นอนว่านักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์คือบุคคลที่ขาดไม่ได้ในการแก้ไขปัญหา แต่ก็มีบางส่วนที่คนในสังคมสามารถมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ เช่น จัดให้มีการอบรมครูและผู้ปกครองในปัญหาสุขภาพจิต เพราะคนเหล่านี้จะเป็นด่านหน้าที่สำคัญในการช่วยกันเป็นหูเป็นตาและคอยดูแลนักเรียน เพื่อที่ว่าหากพบว่าเด็กมีปัญหาสุขภาพจิตจะได้ส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลได้ทันท่วงที

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ประเทศไทยต้องการรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย รวมไปถึงรัฐธรรมนูญแบบไหนที่จะทำให้เราสามารถมีนโยบายที่มีคุณภาพมาแก้ปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมดได้

วิเชียร : ผมมองว่าสิ่งไหนก็ตามที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนะครับ

ภูมิศรัณย์ : คิดว่าต้องเป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษา ที่ให้อิสระกับสถานศึกษาในการจัดการศึกษาได้มากขึ้น รวมถึงให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนตามสมควรโดยใช้หลักของความเสมอภาคเป็นธรรม เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่ กฎหมายต่างๆ ที่รัฐออกควรจะทำโดยคำนึงถึงบริบทของความเหลื่อมล้ำในสังคม ผมคิดว่าครูควรจะมีอิสระที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานทางวิชาชีพ ให้ครูได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีกรอบมากดทับเขา นอกจากนี้ ควรมีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคประชาสังคมในพื้นที่ของโรงเรียนได้เข้ามาสนับสนุนการศึกษาในโรงเรียนเหล่านั้น และถ้าทางภาครัฐมีกลไกที่สามารถทำให้องค์กรอิสระหรือคนภายนอกเข้ามาช่วยเหลือด้านการศึกษาในด้านต่างๆ ได้อย่างสะดวกก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก

พริษฐ์ : อันดับแรกผมมองว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่โจทย์จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าวัตถุประสงค์ในการไปโรงเรียนในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกันออกไป อย่างสมัยก่อนที่ยังไม่มีระบบออนไลน์เด็กก็ต้องไปโรงเรียนเพื่อหาความรู้ แต่ในโลกปัจจุบันที่มีพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น บทบาทของโรงเรียนก็จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับระบบให้ตรงกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และถ้าพูดถึงความยืดหยุ่นของระบบ ผมมองว่ามี 3 ปัจจัยที่สำคัญ

ปัจจัยแรกคือการจัดสรรงบประมาณ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการศึกษายังไม่ฟรีอย่างแท้จริง เราจะเห็นว่าในสภาพความเป็นจริงการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงมีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าเครื่องแบบ ค่าเดินทาง เพราะฉะนั้นเราต้องวางรากฐานให้การศึกษาฟรีอย่างแท้จริงก่อน ไม่เช่นนั้นทุกครั้งที่มีวิกฤตเศรษฐกิจก็จะมีเด็กหลุดออกจากระบบไปเรื่อยๆ

ปัจจัยที่สอง เราต้องคิดถึงนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย หมายถึงทัศนคติหรือความพร้อมของคนในการเข้าถึงองค์ความรู้ โจทย์ของรัฐบาลคืออย่ามุ่งเน้นแค่นโยบายทางการศึกษาเพียงอย่างเดียว ต้องทำให้การศึกษาส่งเสริมการเรียนรู้และเติมไฟในการเรียนรู้ ไม่ใช่ทำให้ระบบการศึกษาบั่นทอนการเรียนรู้ทำให้เด็กหมดไฟกับการเรียนรู้เสียเอง รวมให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมให้เด็กสนใจอยากหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ

ปัจจัยที่สาม เราต้องการรัฐบาลหรือนโยบายที่มีการกระจายอำนาจให้ได้มากที่สุด คือกระจายอำนาจไปถึงโรงเรียนให้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะใช้งบประมาณอย่างไร จะบริหารจัดการบุคลากรอย่างไร รวมถึงมีสิทธิ์ออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ อย่างล่าสุดผมเพิ่งไปจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา พบว่าปัจจุบันนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีภาระการเรียนที่สูงกว่านักเรียนในจังหวัดอื่นๆ เพราะด้วยบริบททางพื้นที่ทำให้เขามีความจำเป็นต้องเรียนเกี่ยวกับศาสนาหรือภาษามลายูเพิ่มด้วย แต่ในเมื่อหลักสูตรแกนกลางมันอัดแน่นจนเต็มแล้ว วิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากจากส่วนกลางก็ต้องมาเรียนในวันหยุด หากมีนโยบายให้ท้องถิ่นออกแบบหลักสูตรเองได้ก็น่าจะมีความยืดหยุ่นกับเด็กด้วย


การให้ทุนเด็กยากจนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้ทำให้การศึกษาฟรีจริงๆ

พริษฐ์ : ถ้าระบบการศึกษาฟรีจริง ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนหรือสอบที่สูง ความจำเป็นในการให้ทุนการศึกษาก็น้อยลง แต่แน่นอนว่าถ้าเราอยากจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือการจัดสรรงบประมาณ ต้องบอกว่าปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละโรงเรียนจะคิดเป็นรายหัว คือถ้าโรงเรียนไหนมีจำนวนนักเรียนเยอะก็จะได้งบประมาณสูง ซึ่งอาจจะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบได้เพราะจะมีค่าใช้จ่ายคงที่ที่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ต้องจ่ายเท่ากัน ดังนั้นถ้าเราแก้สูตรในการจัดสรรงบประมาณได้ก็อาจจะทำให้เราแก้ปัญหานี้ได้

อีกแนวทางหนึ่งคือต้องดูว่าการอุดหนุนนั้นเพียงพอกับค่าใช้จ่ายแอบแฝงอื่นๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ การสนับสนุนค่าอาหารของเด็ก แต่ระหว่างที่เรากำลังหาทางแก้ปัญหาจากต้นเหตุนี้ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็ยังจำเป็นอยู่และยังต้องทำควบคู่กันไป พูดง่ายๆ คือการแก้ที่ปลายเหตุยังจำเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ปัญหาต้นเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข


ระบบต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรจึงจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้ครูทุ่มเทให้กับการสอนนักเรียนได้

วิเชียร : ผมมองว่าระบบความเชื่อของเราคือเชื่อว่าคนไม่มีแรงจูงใจ จึงพยายามสร้างแรงจูงใจจากภายนอกเข้าไป และแรงจูงใจจากภายนอกนี้ก็มี 2 ด้าน คือด้านที่ให้ประโยชน์กับด้านที่ให้โทษ ด้านโทษคือถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษ ซึ่งตัวนี้กลายเป็นว่าทำให้มีความอยากกับความกลัวอยู่ในแรงจูงใจภายนอก หมายความว่าทุกครั้งที่เราใส่แรงจูงใจภายนอกไปที่ครู จะเกิดเป็นความจดจ่อของครูที่จะทำเพราะตัวเองได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว่าตัวเองจะต้องทำเพราะกลัวโดนลงโทษ และระบบนี้ก็ถ่ายทอดจากครูไปสู่นักเรียน คือครูก็พยายามสร้างแรงจูงใจภายนอกให้นักเรียนด้วย เช่น ถ้าทำดีจะได้เกรด A ถ้าทำไม่ดีจะหมดสิทธิ์สอบ ซึ่งมันเป็นระบบที่เราไม่เชื่อกันว่ามนุษย์มีความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดี ผมคิดว่าเราควรจะไปกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจภายใน ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงคุณค่าของความเป็นครู ความตระหนักต่อการทำหน้าที่ ระหว่างที่เด็กเรียนร่วมกันก็ไม่ต้องแข่งกันเรียน คือต้องให้ความสำคัญกับแรงจูงใจภายในมากกว่าแรงจูงใจภายนอก แล้วอะไรๆ จะดีขึ้น

พริษฐ์ ผมมองเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือจริงๆ แล้วสิ่งที่ครูขาดไปตอนนี้อาจจะไม่ใช่แรงจูงใจ แต่คือเรื่องของเวลา เพราะมีหลายส่วนที่เป็นภาระของครูที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนสักเท่าไร เช่น งานธุรการต่างๆ ผมคิดว่านี่เป็นกระดุมเม็ดแรกที่ทำได้ดีที่สุดในการจัดการออกไปเพื่อให้ครูมีเวลาในการคิดและออกแบบการเรียนการสอนมากขึ้น

ประเด็นที่ 2 ถ้าพูดถึงเรื่องการเพิ่มแรงจูงใจ ผมคิดว่าหลักการสำคัญคือการทำให้ความก้าวหน้าทางอาชีพของครูสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พูดง่ายๆ คือถ้าเรามองว่าเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของบทบาทครูคือการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ก็อาจจะต้องทำให้ความก้าวหน้าของครูยึดโยงกับเรื่องนี้ แต่เราไม่ได้หมายความว่าจะเอาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนของครูคนนั้นคนเดียวเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าครูอยู่ในโรงเรียนที่อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีก็อาจจะได้เปรียบครูที่อาจจะอยู่ในพื้นที่ที่นักเรียนไม่มีความพร้อมในฐานะทางการเงินหรืออื่นๆ มากนัก ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้ครูแย่งกันไปอยู่ที่โรงเรียนที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องออกแบบให้ดี แต่คงไว้ซึ่งหลักการดังกล่าว


ปัจจุบันปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษายิ่งรุนแรงขึ้น จะทำอย่างไรจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้เร็วที่สุด

ภูมิศรัณย์ : วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกไปตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับครู ผู้ปกครอง และสถานศึกษา แต่ในกรณีที่เด็กหลุดออกไปแล้วที่ผ่านมาก็จะมีครูลงไปติดตามที่บ้านของเด็กเพื่อไปพูดคุยกับผู้ปกครอง ช่วยเหลือด้านงบประมาณ หรือรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก สำหรับเด็กที่หลุดจากระบบไปเป็นหลักหลายปีต้องยอมรับว่ากรณีนี้มีความยากลำบาก เพราะเด็กบางคนอาจจะเลือกที่จะไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นเราอาจจะช่วยให้เขาเข้าสู่ระบบการศึกษาทางเลือกแทน เช่น กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) หรือพยายามเชื่อมโยงเข้ากับระบบพัฒนาอาชีพ


เป็นไปได้แค่ไหนที่เราจะกระจายอำนาจทางการศึกษา และต้องเริ่มที่ตรงไหน

ภูมิศรัณย์ : จริงๆ ก็น่าจะต้องเริ่มที่กระทรวงนะครับเพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง และกระทรวงก็น่าจะต้องยึดโยงไปกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทางกระทรวงก็น่าจะพอทำได้ในด้านของการบริหารจัดการ คำสั่งภายในกระทรวง หรือความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกับเขตพื้นที่การศึกษาที่ปัจจุบันมีห่วงโซ่ที่ค่อนข้างยาว ซึ่งในระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพส่วนใหญ่จะมีห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ที่สั้น เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องเริ่มต้นจากผู้ที่อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่เป็นคนออกแบบนโยบายต่างๆ พยายามให้โรงเรียนมีอิสระในด้านงบประมาณ การตัดสินใจต่างๆ รวมถึงบริหารจัดการแนวทางและหลักสูตรการสอน การใช้สื่อ การใช้ตำรากันเองได้ เพื่อให้เส้นสายทางอำนาจหรือความสัมพันธ์ที่สั้นลง ซึ่งถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็น่าจะทำให้กระจายอำนาจมีผลได้เร็วขึ้น

พริษฐ์ : ถ้าเราลองตั้งคำถามไปอีกขั้นหนึ่งว่าที่ผ่านมาอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถกระจายอำนาจไปได้ ผมคิดว่ามีทั้งอุปสรรคในเชิงกฎหมาย กฎระเบียบ และอุปสรรคในเชิงของทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานหรือระบบราชการด้วยเหมือนกัน ในเชิงกฎหมายถ้าพูดถึงภาพรวมในการกระจายอำนาจ ถ้าไปดู พ.ร.บ. ปี 2542 ที่เขียนเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ภาษาที่ใช้ใน พ.ร.บ. นั้นจะเป็นการเขียนถึงอำนาจของท้องถิ่นแบบที่เราเรียกว่า positive list (สิ่งที่ทำได้) ซึ่งโดยพื้นฐานก็ฟังดูดี แต่ปัญหาคือสมมติว่ามีปัญหาที่ท้องถิ่นต้องการจะแก้ไขด้วยมาตรการบางอย่างที่ไม่เข้าเค้าระเบียบข้อบังคับในกฎหมายแบบเป๊ะๆ ท้องถิ่นก็จะไม่กล้าทำ เพราะหากทำไปแล้วไม่อยู่ในอำนาจที่สามารถทำได้ใน positive list ก็จะถูกตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะแก้ไขได้คือพลิกวิธีการเขียนกฎหมายจาก positive list ที่ยึดส่วนกลางเป็นหลักให้เป็นแบบ negative list (สิ่งที่ห้ามทำ) คือโรงเรียนหรือท้องถิ่นทำได้ทุกอย่างยกเว้นบางข้อที่ระบุมา ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพมากกว่าเดิม สามารถทำงานได้ทุกอย่าง เป็นการปลดล็อกการทำงานของท้องถิ่นไม่ให้เกิดความกำกวม

ส่วนมิติเชิงปฏิบัติการ ผมได้รับข้อมูลจากคนที่ทำงานในแวดวงการศึกษาหลายคนว่าบางครั้งกฎหมายเขียนให้โรงเรียนทำได้ แต่พอหน้างานจริงๆ กลับไม่มีการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบนั้น กลายเป็นว่าแม้กฎหมายจะเขียนให้ทำได้ แต่ในที่สุดส่วนกลางก็ยังคงมีแบบประเมินที่ต้องกรอก หรือข้อมูลที่ต้องส่งกลับไป ซึ่งเป็นการสร้างระบบที่ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันสูงมาก จนความไม่ไว้วางใจถูกถ่ายทอดไปเรื่อยๆ ทำให้การกระจายอำนาจเกิดได้แค่เพียงในเชิงนิตินัย แต่ไม่เกิดขึ้นจริงในเชิงพฤตินัย เช่น ส่วนกลางไม่ไว้ใจท้องถิ่น ท้องถิ่นก็ไม่ไว้ใจโรงเรียน ก็ถ่ายทอดไปยันโรงเรียนไม่ไว้ใจครู ครูก็ไม่ไว้ใจนักเรียน จึงเป็นความไม่ไว้วางใจที่ถูกถ่ายทอดไปในเชิงวัฒนธรรมไปเรื่อยๆ ทำให้สุดท้ายโรงเรียนก็ไม่กล้าทำอะไรที่หลุดออกจากกรอบของส่วนกลางมากนัก


ปัจจุบันเด็กจำนวนมากพูดถึง ‘อำนาจนิยม’ ในโรงเรียน ทั้งจากครูและระบบการศึกษา ซึ่งส่งผลเรื่องสุขภาพจิต ทำอย่างไรปัญหานี้จึงจะเบาบางลง

วิเชียร แน่นอนว่ายิ่งมีอำนาจนิยมมากเท่าไร กระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียนก็จะยิ่งน้อยลง เพราะต้องสยบยอมและไม่กล้าคิด เพราะฉะนั้นถ้าเราหวังดีกับผู้เรียนจริงๆ เราต้องลดสิ่งนี้ลงเพื่อให้ผู้เรียนได้มีศักยภาพในการเรียนรู้ที่สูงขึ้น มีความสามารถในการคิดที่มากขึ้น วิธีการที่เราทำคือปลูกฝังหลักคิดที่ดี เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และมีแนวปฏิบัติที่ลดทอนอำนาจนิยมในโรงเรียน แค่เสียงระฆังกับตารางเรียนก็เป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่งแล้วนะครับ การที่ครูยืนอยู่หน้าห้องแล้วเด็กนั่งเรียงแถวกันก็เป็นอำนาจนิยม ให้ผู้เรียนมีส่วนในการออกแบบการเรียนการสอน รวมถึงนำเอาปัญหาต่างๆ ของผู้เรียนมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบการเรียนด้วย ปรับรูปแบบพฤติกรรมให้ไม่มีการลงโทษ แต่ชวนให้ผู้เรียนได้มีการตระหนักรู้และมีการแก้ไข พูดง่ายๆ คือเริ่มต้นจากการมีหลักคิดสำคัญคือเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ อย่างที่สองคือมีแนวปฏิบัติที่ทุกคนรับรู้ร่วมกัน

และเมื่อลดอำนาจนิยมในโรงเรียนลง สิ่งที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับครูดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ดีขึ้น และทุกครั้งที่ความสัมพันธ์ดีขึ้นเราก็จะได้สารแห่งความสุข สารแห่งสานสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ในสังคมก็จะดีขึ้นเช่นกัน

ภูมิศรัณย์ : ผมเห็นด้วยอย่างมากกับคุณวิเชียร เพราะในความเห็นของผม วงการครูและวงการการศึกษาต้องการความคิดและการเติบโตในทางจิตใจ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากว่าเรายังมีอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นในระดับโรงเรียนหรือใหญ่กว่านั้น และเป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าทางความคิด

พริษฐ์ : ถ้าเรามองว่าอำนาจนิยมหลายครั้งเกิดจากพฤติกรรมของครูหรือบุคลากรในสถานศึกษา ก็ต้องทำให้ความก้าวหน้าทางอาชีพของกลุ่มคนเหล่านั้นสัมพันธ์ประเด็นนี้เช่นกัน คือถ้าใครมีประวัติเคยถูกร้องเรียนในการใช้อำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษเกินขอบเขตหรืออื่นๆ ก็ต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหานั้น และประเด็นที่ 2 คือต้องยอมรับว่าเวลานักเรียนเจอปัญหานี้บางครั้งเขาไม่รู้ว่าควรจะหันหน้าไปหาใคร สมมติว่าประสบปัญหาจากครูประจำชั้น ถ้าจะไปปรึกษาครูคนอื่นหรือผู้บริหารก็กังวลว่าอาจจะยิ่งโดนลงโทษหนักว่าเดิม ผมจึงมองว่าส่วนกลางหรือท้องถิ่นอาจจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ร่วมกันได้ คือสร้างกลไกหรือช่องทางรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากครูและบุคลากรในสถานศึกษานั้นเพื่อให้นักเรียนได้มาขอความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัยจริงๆ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world