ผลสำรวจทักษะคนไทย กับขับเคลื่อนประเทศด้วย Evidence-based policy
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ผลสำรวจทักษะคนไทย กับขับเคลื่อนประเทศด้วย Evidence-based policy

การประชุมเวทีนโยบายระดับสูง
ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศ
วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567
ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

การสร้างความเสมอภาคให้แก่คนไทยทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยขีดความสามารถสูงสุดของแต่ละคนถือเป็นเป้าหมายสำคัญสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจไทย กลไกสำคัญของประเทศที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุได้อย่างมีประสิทธิภาพคือศักยภาพของระบบการศึกษาและการพัฒนากำลังคนของไทยที่จะสามารถสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้แก่คนไทยทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

หากพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเวทีระดับนานาชาติ
หนึ่งในหลักเกณฑ์การประเมินพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศและระบบเศรษฐกิจในระดับนานาชาติที่ธนาคารโลกใช้มาหลายทศวรรษคือการจัดกลุ่มประเทศตามระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GNI Per-capita) ของประชากรประเทศนั้น ๆ โดยธนาคารโลกได้กำหนดระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับการจัดกลุ่มเป็นประเทศรายได้สูง (High Income Country) ที่ US$ 13,206 ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper Middle Income Country) ที่ US$ 4,256 ประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำที่ US$ 1,086 หรือประเทศรายได้น้อย (Low Income Country) ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับดังกล่าว โดยประเทศไทยซึ่งมี GNI per capita ที่ US$ 7,230 เมื่อปี 2565 ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันประเทศไทยก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ และประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ

ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยทุกคนมากกว่า 66 ล้านคน กสศ. ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชื่อว่าหากเด็กเยาวชน และกำลังแรงงานของไทยได้รับความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์แล้ว ประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางดังกล่าวได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ได้ ทั้ง 3 หน่วยงานภาคีจึงได้ร่วมกันค้นหากุญแจดอกสำคัญในการปลดล็อคศักยภาพของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันตรงกับความต้องการทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติได้เพื่อสร้างห่วงโซ่นโยบาย หรือ Policy Value Chain ซึ่งเริ่มต้นจากการใช้ข้อมูลและผลการวิจัยที่มีคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ สู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการดำเนินการโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand : ASAT) ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปีครบทุกภูมิภาคในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคผ่านการพัฒนาทุนชีวิตของประชากรวัยแรงงานอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทยให้ออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ

จากการใช้เวลาศึกษาวิจัยของโครงการมากกว่า 2 ปี มีประเด็นข้อค้นพบที่สำคัญสามประการ ได้แก่

  1. รายงานฉบับนี้แสดงขนาดของวิกฤตด้านทักษะทุนชีวิต (Foundational Skills) ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทัล และทักษะทางอารมณ์และสังคม โดยพบว่า หากไม่นับประชากรที่กำลังขาดทักษะทุนชีวิตเพียง ด้านใดด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในห้าที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤต ด้านทักษะนั้น ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
  2. รายงานฉบับนี้ได้ทบทวนสิ่งที่ภาคนโยบาย ภาคท้องถิ่น สถานศึกษา สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม และนายจ้าง ได้ดำเนินการเพื่อรับมือวิกฤตด้านทักษะ โดยการจัดเตรียมนโยบาย การนำเครื่องมือมาใช้ และการส่งมอบโปรแกรม ที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทุนชีวิต จากงานวิจัยพบว่า วิกฤตด้านทักษะไม่ได้เป็นผลมาจากความไม่เอาใจใส่ของผู้กำหนดนโยบาย ในทางตรงข้าม ผู้กำหนดนโยบายได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความตั้งใจอย่างเข้มแข็งที่จะส่งเสริมทักษะทุนชีวิตที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ทุกคน วิกฤตด้านทักษะในปัจจุบัน น่าจะเป็นผลมาจากความไม่แข็งแกร่งของรากฐานที่แฝงอยู่ในระบบการศึกษาและฝึกอบรมของประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะลงทุนอย่างมากเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและฝึกอบรมในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในโครงสร้างของระบบที่ขัดขวางไม่ให้ผู้เรียนได้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสการเรียนรู้ที่มีอยู่และไม่สามารถพัฒนาทักษะทุนชีวิตให้ก้าวหน้าได้ในทุก ๆ ระดับการศึกษาและฝึกอบรม
  3. รายงานฉบับนี้ ได้มีข้อเสนอแนะ ทางออกแก่ประเทศไทยในการสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะทุนชีวิตให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน  ซึ่งสามารถผลักดันได้จากการสร้าง สังคมแห่งการเรียนรู้ (learning society) จากผลการศึกษาข้างต้นซึ่งจะมีรายละเอียดในการนำเสนอของผู้แทนธนาคารโลก และในเล่มรายงาน ASAT ต่อไปนั้น กสศ. ขอกราบเรียนข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญแก่รัฐบาล 3 ประการได้แก่

    1) การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต(Foundational Skills) ทั้ง 3 ด้าน ผ่านการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงาน อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง การมีทักษะทุนชีวิตนี้เพิ่มขึ้นในประชากรวัยแรงงานของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในศตวรรษที่ 21

    2) การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานทุก ๆ คน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของการลงทุนในทักษะทุนชีวิต

    3) การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดที่ต้องการ Leadership จากท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฉบับนี้ สู่การปฏิบัติแก่ประชาชนคนไทยทุกคน

วันที่ประเทศไทยขจัดปัญหาความยากจนได้จากการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค คือวันที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ รัฐบาลใดมีส่วนสำคัญในการช่วยประเทศบรรลุเป้าหมายชาตินี้ได้ ย่อมเป็นรัฐบาลที่จะได้รับการจดจำตลอดไป นอกจากนั้นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจด้วย ข้อมูล องค์ความรู้ และงานวิจัยเชิงนโยบายอย่าง ASAT เป็นรัฐบาลที่ขับเคลื่อนประเทศด้วย Evidence-based policy ที่จะได้รับการยอมรับจากภาคเอกชน และนักลงทุนจากทั่วโลก

ในนามของ กสศ. ขอขอบพระคุณรองท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้เกียรติมากล่าวปาฐกถาในวันนี้เพื่อมอบนโยบายจากผลการศึกษาวิจัยนี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสังคมไทย และขอขอบคุณ ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมกันพัฒนาให้เกิดงานวิจัยนี้ขึ้น พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะได้นำนโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรีในวันนี้ รวมทั้งข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยกันยกระดับทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศไทยของเรากันต่อไป ขอขอบพระคุณครับ