ในวงสนทนา “ถอดบทเรียนท้องถิ่นต้นแบบในการขับเคลื่อนภารกิจสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่” ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นางสุรี สะหนิบุตร ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และนักวิชาการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ท้องถิ่น โดยชูความสำเร็จจากความร่วมมือที่โรงเรียนในสังกัด อบจ.ปัตตานี เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อเก็บข้อมูลการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค ร่วมกับ กสศ. ได้เกือบครบ 100 เปอร์เซ็นต์
ผอ.สุรี เล่าว่าการขับเคลื่อนภารกิจสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ มีจุดเริ่มต้นมาจากการสร้างความไว้วางใจ บทเรียนจากประสบการณ์ทำงานที่เคยทำกับโรงเรียนในสังกัด ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดจากความร่วมมือไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ สิ่งสำคัญที่สุด คือผู้นำต้องลงมือทำก่อน ต้องเดินเข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับโรงเรียน จึงจะค่อย ๆ เกิดความร่วมมือขึ้นได้
“หลังจากรับทราบข้อมูลและความสำคัญของการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาคของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็ได้เดินเข้าไปคุยกับโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดให้เห็นภาพตรงกัน ว่าเมื่อดำเนินการคัดกรองนักเรียนยากจนแล้วนักเรียนกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ต้องย้ำเป้าหมายให้โรงเรียนที่เข้าไปพูดคุยทราบว่าประโยชน์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อตั้งเป้าหมายการทำงานไปที่ตัวเด็ก ครูจะพบว่าหากดำเนินการเรื่องนี้จนเด็กประสบความสำเร็จ สามารถเรียนต่อจนจบการศึกษาได้ ครูก็มีความสุขตามไปด้วย”
เมื่อต้องพูดคุยกับครูในสังกัด ผอ.สุรีมีความตระหนักว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือให้เด็กประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน ไม่ได้ช่วยเหลือเพียงแค่ด้านการศึกษาอย่างเดียว แต่อาจจะต้องดูแลด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิตควบคู่ไปด้วย
การไปเยี่ยมบ้านนักเรียนจะช่วยให้ครูเห็นมิติปัญหาด้านอื่น ๆ เพื่อนำมาประมวลความช่วยเหลือเท่าที่โรงเรียนและท้องถิ่นจะช่วยได้ เคยมีครูท่านหนึ่งเล่าให้ผอ.สุรีฟังว่า เมื่อไปเยี่ยมบ้านเด็กคนหนึ่ง พบว่าสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก สภาพบ้านตั้งอยู่บนพื้นดิน ไม่มีแม้กระทั่งเงินสำหรับเทพื้นซีเมนต์ เมื่อครูนำเรื่องนี้ไปรายงานให้ พมจ. ทราบ ก็ได้มีการประสานความช่วยเหลือให้จัดสรรงบประมาณเข้าไปช่วยสร้างบ้านให้เด็กคนนี้ การช่วยสร้างความเข้าใจกับครู อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นจิตวิญญาณครูให้ลงไปทำงานเรื่องนี้
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกเหนือจากกลไกความช่วยเหลือที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการ คือความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ปกครอง และจากชุมชนในพื้นที่ที่ครูได้เดินทางไปคัดกรอง ความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้ปกครองถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผู้ปกครองของเด็กหรือคนในชุมชนไว้วางใจโรงเรียน เชื่อมั่นว่า โรงเรียนสามารถดูแลบุตรหลานของแต่ละคนได้จริง ๆ จนกล้าเข้ามาพูดคุยกับครู และรายงานปัญหาต่าง ๆ ให้ทราบ เพื่อครูจะได้นำปัญหาเหล่านั้นมาช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป”
ผอ.สุรีแลกเปลี่ยนว่า ด้วยบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มักจะให้บุตรหลานเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะอยากจะให้เด็กได้เรียนศาสนาด้วย โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พยายามหามาตรการเพื่อพิสูจน์ให้ผู้ปกครองเห็นว่า โรงเรียนในสังกัด อบจ. ก็สามารถดูแลเรื่องความรู้ด้านศาสนาได้เช่นกัน จึงได้ประสานกับมหาวิทยาลัยฟาฏอนี สถาบันอุดมศึกษาเอกชนอิสลามในพื้นที่มาช่วยจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ปกครอง จนมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน นักเรียนสอบไอเนตวิชาอาหรับได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กได้ กระบวนการสร้างการยอมรับก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
“ประตูบานแรกของการเข้าไปดูแลเด็กให้ตรงกับปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่จริง คือการเดินทางไปเยี่ยมบ้าน เดินทางไปคัดกรองเด็ก เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบแนวทางการช่วยเหลือ และเติมเต็มในส่วนที่เด็กยังขาด และหากดำเนินการสำเร็จ ในที่สุดแล้วผู้ปกครองก็จะเป็นเสมือนหน่วยประชาสัมพันธ์ที่ช่วยบอกเล่าการทำงานของเราเอง”