“ทำงานที่ไหน ก็ไม่ดีเท่าได้ทำงานใกล้บ้าน”
สำหรับใครที่ผูกพันกับคนในครอบครัว คงเกิดความรู้สึกนี้อยู่บ่อยๆ ในใจ เหมือนกันกับ ‘ขวัญ’ ขวัญมณี พูลทวี ที่ย่า (แต่ขวัญเรียกว่าแม่) เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด และเป็นคนที่ขวัญใกล้ชิดด้วยมากที่สุด
เพราะย่าขายขนมไทยเป็นรายได้หลักของครอบครัว ตั้งแต่เด็กขวัญจึงต้องตื่นมาช่วยเตรียมวัตถุดิบตั้งแต่เช้า และเดินขายขนมในตลาดนัดหลังเลิกเรียน
“หนูทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนจะมีลูกพี่ลูกน้องอยู่ด้วยกันที่บ้านหลายคน ก็จะผลัดกันช่วยทำมาตั้งแต่เด็กจนรู้สึกชิน”
ชีวิตวัยเด็กของขวัญอาจไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ได้ใช้เวลาช่วงเย็นวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน
แต่วัยเด็ก ก็เป็นช่วงวัยที่ขวัญเห็นภาพอาชีพในฝันชัดมาจนถึงวันนี้ว่าเธออยากเป็น ‘ครู’
“ครูที่เคยสอนหนูตอนอนุบาล เขาดูแลดีมาก เอาใจใส่เด็กทุกคนในห้อง จำได้ว่าเขาให้ออกมาเล่าเรื่องหน้าชั้นทุกวันเลย ถึงแม้ตอนนั้นจะมีเพื่อนคนหนึ่งที่พูดไม่ชัด เพื่อนทุกคนก็จะขำเวลาเขาแนะนำชื่อ แต่ครูจะบอกว่าไม่เป็นไรนะ แล้วเขาก็ให้ออกมาพูดทุกวันๆ เวลาอยู่กับเขาแล้วมันรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ทำให้หนูอยากเป็นแบบเขา”
แม้ครอบครัวของขวัญจะไม่มีรายได้มากพอสำหรับค่าเทอมมหาวิทยาลัย แต่ความฝันทั้งเรื่องการเป็นครู และการได้กลับมาอยู่กับย่ากำลังจะเป็นจริง เมื่อขวัญได้เป็นนักศึกษารุ่นแรกในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทุนการศึกษาสำหรับเด็กขาดโอกาสได้เรียนครูตามความฝัน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจบออกมาบรรจุในโรงเรียนใกล้บ้านหลังเรียนจบอย่างน้อย 6 ปี เพื่อช่วยแก้ปัญหาครูขาดแคลนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ช่วยให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ขาดตอน
“ถ้าหนูไม่ได้รับทุนนี้ หนูคงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ”
จะพัฒนาโรงเรียนได้ ต้องรู้จักและพัฒนาชุมชนไปด้วย
การที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นให้ทุนคนในท้องถิ่นได้กลับมาเป็นครูใกล้บ้าน ไม่ได้มีเป้าหมายแค่การลดปัญหาครูขาดแคลนเพียงอย่างเดียว แต่ครูยังเป็นตัวกลางเชื่อมโรงเรียนกับชุมชนที่เคยเหินห่างให้แน่นแฟ้น
“โรงเรียนอยู่คู่กับชุมชน และต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ถ้าทุกอย่างในโรงเรียนดีหมด แต่ชุมชนยังอยู่ที่เดิม ไม่มีอะไรพัฒนา ผู้ปกครองไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียน อาชีพ หรือสังคมในปัจจุบัน ก็จะส่งผลต่อเด็กที่มาเรียนในโรงเรียนด้วย ดังนั้นครูจะต้องเป็นคนที่มอบความรู้ มอบโอกาสต่างๆ ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนกับโรงเรียนเข้าใจกันมากขึ้น เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ส่งเสริมให้เด็กมาโรงเรียน แล้วก็เข้าใจในสิ่งที่ครูให้เด็กทำมากขึ้น” ขวัญอธิบายภาพรวมให้ฟัง
ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรที่ขวัญและเพื่อนๆ ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้เรียน จึงไม่ได้มีแค่เนื้อหาเหมือนครูทั่วไป แต่ต้องเสริมด้วย หลักสูตรการผลิตครูพัฒนาชุมชน (Enrichment Program) โดยที่แต่ละมหาวิทยาลัยในโครงการ จะเป็นคนออกแบบหลักสูตรให้เข้ากับบริบทของชุมชนในโรงเรียนปลายทางมากที่สุด
ถึงแม้โรงเรียนโดยรอบมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรีที่ขวัญกำลังเรียนปีสี่ จะไม่ใช่โรงเรียนที่ตั้งบนเขาหรืออยู่บนเกาะ แต่ก็ยังเจอปัญหาครูขาดแคลน และอาจทำให้ครูคนหนึ่งรับหน้าที่ที่มากกว่าการสอนในชั้นตัวเอง เด็กทุนหลายคนจึงต้องเรียนทั้งสาขาปฐมวัย และประถมศึกษาเพื่อสอนแบบคละชั้น รวมถึงเตรียมร่างกายให้พร้อมแต่เนิ่นๆ และเรียนทักษะอาชีพต่างๆ เสริม เพราะการเป็นครูในโรงเรียนปลายทาง บางที่อาจต้องเปลี่ยนหมวกไปเป็นช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ไปจนถึงชาวไร่
ชีวิตของนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นที่นี่ จึงเริ่มตั้งแต่หกโมงเช้าเพื่อออกกำลังกาย ตอนเย็นหลังเลิกเรียนจะต่อด้วยคาบเสริม ที่จะได้ทำตั้งแต่งานไม้ เหล็ก ปูน ไฟฟ้า ไปจนถึงการทำสวนและการทำอาหารกินกันเองทุกวันในพื้นที่ที่เรียกกันว่า ‘บ้านไร่’
“ตอนที่หนูเข้ามาจะเป็นเหมือนบ้านร้างๆ บนดินเปล่าๆ ซึ่งมันเป็นดินเค็ม มันปลูกอะไรไม่ได้ หนูก็เอาความรู้ที่ไปอบรมมาปรับ ไปติดต่ออาจารย์ให้มาช่วยดูขั้นตอนการปรับปรุงดินของพวกหนู จนทุกวันนี้ก็คือน้องรุ่นต่อไปสามารถมาปลูกผักแล้วก็เอาไปขายได้ เอาไปกินกันในบ้านไร่กันทุกวัน”
หลังจากนั้นเมื่อถึงเวลาสองทุ่มก็จะเข้าสู่ช่วงสวดมนต์ และมีบางวันที่มีการทำกิจกรรมแชร์ความรู้กันต่อ ต่อจากนั้นจึงเป็นเวลาที่ทุกคนจะได้เริ่มลงมือทำการบ้านก่อนเข้านอน
“ถ้ามีเวลาว่าง การนอนคือสิ่งที่อยากทำที่สุด” ขวัญแอบพูดความในใจเล็กๆ
โรงเรียนปลายทางของขวัญ คือ โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบน ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ที่แม้จะอยู่ไกลจากเขตบ้านโป่งกระทิงกลางที่ย่าอาศัยอยู่แค่ 3 กิโลเมตร แต่คนในชุมชนรอบบ้านก็มีแต่คนไทย แตกต่างจากชุมชนรอบโรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบนที่มีแต่ชาวกะเหรี่ยง ขวัญจึงไม่ได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมมากนัก แต่ครูพี่เลี้ยงคือคนที่คอยช่วยพาเข้าหาชุมชนอยู่เสมอ
“พอไปลงพื้นที่ชุมชนตอนปีหนึ่งแล้วได้ความรู้สึกนั้นกลับมา หนูก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ต้องกลัวแล้ว มันดีกว่าการที่หนูอยู่บ้าน แล้วก็รู้จักแค่รอบบ้านตัวเอง พอได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขามาหลายอย่าง มันได้รู้จักชุมชนรอบข้าง เหมือนได้ไปเที่ยวโดยที่ไม่ต้องไปไหนไกล อยู่แค่ตรงนี้มันก็รู้สึกสนุกแล้ว”
จากเด็กขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม สู่ครูที่อยากเป็นต้นแบบเรื่องความมั่นใจ
ถึงแม้ภารกิจของครูรัก(ษ์)ถิ่นแต่ละวันมีอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเรียนฝึกทักษะอาชีพ หรือสำรวจและพัฒนาชุมชน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้ขวัญเอาชนะความเหนื่อยล้าในแต่ละวันมาได้ คือ การได้กลับไปเป็นครูใกล้บ้าน ที่เด็กคนอื่นๆ จะมองเป็นต้นแบบ เหมือนสายตาที่เธอเคยมองครูอนุบาลคนนั้น
“ต้นแบบที่หนูอยากเป็น คือ การเป็นคนที่สามารถพัฒนาความมั่นใจในตัวเองได้ เพราะก่อนที่จะเข้าทุนนี้หนูเป็นคนที่ขี้อายมาก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเลย แม้วันนี้มันก็ยังเป็นอยู่บ้าง แต่ดีกว่าตอนนั้นมาก”
ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนคัดเลือกเด็กครูรัก(ษ์)ถิ่น หลังจากผ่านการตรวจสภาพบ้าน และสัมภาษณ์เพื่อวัดทัศนคติคนที่เหมาะสมกับทุนเรียบร้อยแล้ว คนที่ผ่านเข้ารอบจะต้องเข้าค่ายร่วมกับผู้เข้ารอบคนอื่นๆ อีก 2 ครั้ง เพื่อเก็บคะแนนจากการทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะประกาศผู้ได้รับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น
“ตอนเข้าค่าย มีอาจารย์คนหนึ่งเดินมาบอกหนูว่า เขายังไม่เห็นหนูเลยนะ เหมือนหนูกลืนไปกับทุกคน เขายังไม่เห็นว่าหนูโดดเด่นและเห็นตัวตนของหนู”
“หนูเสียใจมาก แล้วก็คิดว่าทำไมหนูถึงไม่กล้า ไม่แสดงออกให้ใครเห็น ตอนนั้นหนูรู้สึกกลัว กลัวว่าถ้าพูดหรือทำออกไปจะผิด หรือมันจะไม่ตรงใจใครหลายๆ คน หนูก็เลยเลือกที่จะไม่แสดงออกไป แต่จากเหตุการณ์นี้หนูเลยเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าถ้าหนูไม่ผิดเลย ถ้าหนูมัวแต่กลัว หนูก็จะอยู่แค่ตรงนี้ หนูก็เลยพยายามกดความกลัวนั้นเอาไว้ แล้วก็เริ่มที่จะกล้าพูด เริ่มแสดงออก ตอนที่หนูพูดอะไรไปแล้วทุกคนยอมรับ ก็ทำให้หนูมีกำลังใจที่จะพยายามกล้า แล้วก็ลดความกลัวของตัวเองลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ค่ายนั้นมา”
ค่ายแรกผ่านไป มาสู่ค่ายที่สองที่ขวัญต้องเก็บคะแนนเพื่อการมีชื่อเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นตัวจริง ขวัญเล่าว่าในค่ายจะต้องเข้าห้องสัมภาษณ์ เธอเห็นว่ากรรมการให้คะแนนเธอศูนย์คะแนนทุกข้อ ตอนที่กรรมการให้พูดคำพูดสุดท้ายก่อนลากรรมการ บทเรียนจากค่ายก่อนที่สอนให้กล้า ทำให้ขวัญไม่ยอมแพ้และพูดออกไปทั้งน้ำตาว่า
“ถึงแม้ว่าตอนนี้หนูจะยังเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่หนูสัญญาเลยว่าถ้าหนูเข้ามา หนูจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น แล้วหนูก็มุ่งมั่นมากว่ายังไงหนูก็จะทำให้ได้ ทำให้ดีขึ้น”
ตอนนี้เธอคือ ‘ครูขวัญ’ ตัวแทนครูรัก(ษ์)ถิ่นที่กำลังให้สัมภาษณ์อยู่ตรงหน้าเรา และกำลังค่อยๆ สะสมความกล้า พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นต้นแบบเรื่องการมั่นใจในตัวเอง
ถ้าขวัญไม่สารภาพว่าก่อนหน้าที่จะมาคุยกัน เธอตื่นเต้นจนกินข้าวไม่ลง และมีคิดเตรียมบทสนทนาล่วงหน้ามาก่อนด้วย ก็คงดูไม่ออกว่าวันนี้ขวัญยังมีความกลัวอยู่ เพราะสายตาของขวัญในวันนี้มันคือ คนที่มีความมั่นใจและเข้มแข็ง ไม่เหมือนขวัญเวอร์ชันก่อนที่เธอเล่า
“หนูเคยไปอ่านเจอที่เขาบอกว่า ถ้าเรามัวแต่กลัวความผิดพลาด แล้วเมื่อไหร่เราจะโตขึ้น หนูก็เลยลองเอาประโยคนี้มาคิด พอมาเปรียบเทียบกับชีวิตหนู ก็คือมันตรงกับหนูมากก็คือ ถ้าหนูมัวแต่ขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก คนอื่นเขาก็จะไม่รู้ว่าหนูมีดีแค่ไหน เก่งแค่ไหน”
สอนใกล้บ้าน ดีต่อใจ ดีต่อครอบครัว ดีต่อชุมชน
“เมื่อไหร่จะกลับมาสอน” เป็นคำถามที่ย่าถามกับขวัญอยู่แทบทุกวัน
หนึ่งสาเหตุหลักของปัญหาครูย้ายบ่อย คือ ครูหลายคนอยากกลับไปสอนใกล้บ้านตัวเอง ไม่ต่างกับขวัญที่อยากอยู่กับย่า เพราะการได้กลับไปอยู่กับคนในครอบครัว อย่างน้อยก็จะเป็นแรงซัพพอร์ตทางใจ และช่วยดูแลกันและกันอย่างใกล้ชิด
“ครูจะได้อยู่ดูแลคนในครอบครัวจริงๆ ไม่ต้องกังวลว่าคนในครอบครัวจะเป็นยังไง พ่อแม่จะป่วยไหม ถ้าอีกในแง่หนึ่งก็คือ เขาจะเป็นครูที่อยู่ในชุมชนจริงๆ รู้จักชุมชนจริงๆ มันจะทำให้เขาสามารถช่วยเหลือเด็กและชุมชนได้ง่ายขึ้น ตรงจุดขึ้น เพราะว่าเขาคือคนในชุมชน เขาจะมีความรักที่นี่อยู่แล้ว
“สำหรับหนู แค่ย่าทำกับข้าวให้กินที่บ้าน มีนู่นมีนี่ให้กิน มันก็ช่วยให้หนูหายเหนื่อยจากงานได้เยอะแล้ว (ยิ้ม)”
และถ้าย้อนกลับไปในวันประกาศทุน คนที่ดีใจไม่แพ้ขวัญก็คือคุณย่า
“หนูกับย่าจะไม่ค่อยแสดงความรักต่อกันเท่าไหร่ วันที่หนูบอกเขาว่า หนูได้ทุนนี้แล้วนะ เขาเข้ามากอดหนู”
ดูเหมือนทุนนี้จะไม่ได้ทำให้ความฝันของผู้รับทุนเป็นจริงแค่คนเดียว ขวัญพูดด้วยรอยยิ้มว่า วันนั้นเป็นวันที่เธอรู้สึกประสบความสำเร็จมากที่สุด
อีกไม่นาน หลานสาวของคุณย่าวัย 81 ปี กำลังจะเรียนจบจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง และได้บรรจุไปเป็นครูผู้ช่วยที่โรงเรียนใกล้บ้านไปอีกอย่างน้อย 6 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 นี้เป็นต้นไป ในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก
ถึงก่อนหน้านี้ขวัญจะผ่านอะไรมาเยอะ แต่การเดินทางหลังจากนี้ก็ไม่ได้แปลว่าง่าย การเป็น ‘ครูที่เก่ง’ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งสำหรับขวัญนั่นหมายถึง “ครูที่หาความรู้เก่ง”
“ถ้าเราไม่เก่งตรงไหน เราสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ แต่ถ้าเราเก่งตรงนั้นแล้วเราอยู่แค่ตรงนั้น มันก็จะเก่งแค่นั้น แต่ถ้าเราหาความรู้เก่ง เราพยายามหามันเพิ่มขึ้น เราก็จะเก่งไปอีก หนูคิดว่าครูที่เก่งคือแบบนั้น”
ขวัญคงจะนำหลักการนี้มาใช้พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ จนมาถึงวันนี้ที่เธอกำลังจะได้เป็นครูขวัญของเด็กๆ โรงเรียนบ้านโป่งกระทิงบนแบบเต็มตัว
“แต่ก่อนมีอยู่วันหนึ่งใส่ชุดอยู่บ้านไปเดินตลาด แล้วเด็กจำได้ เรียกว่าครูขวัญ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนด้วยกัน เป็นเด็กห้องอื่น เด็กเรียกครูขวัญครั้งแรก มันดีใจมาก เขาจำเราได้แล้วนะ เขาเรียกเราว่าเป็นครู
สุดท้าย เราถามขวัญว่า ขวัญที่ใกล้จะเรียนจบในตอนนี้ อยากบอกอะไรขวัญในอีก 6 ปีข้างหน้าบ้าง
“อยากจะขอบคุณตัวเองที่กล้าฮึดสู้ในวันนั้น ถ้าวันนั้นหนูท้อไปเลยก็อาจจะไม่มีหนูที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้ ในอนาคตหนูจะเป็นยังไง จะเจอกับอะไร ไม่รู้ แต่ว่าอยากจะขอบคุณตัวเองที่มาถึงตรงนี้ได้แล้ว”