เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Sea ประเทศไทย และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กิจกรรมปฐมนิเทศ และ Workshop ครั้งที่ 1 “โครงการขยายผลนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคปีที่ 5 หรือ Equity Partnership’s School Network Season 5” โดยมีนักเรียนทุนเสมอภาคระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในสังกัด สพฐ. 10 โรงเรียนจาก 10 จังหวัด ซึ่งจะร่วมทีมกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายจาก 6 โรงเรียนนานาชาติ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า และจำหน่ายจริงบนแพลตฟอร์ม Shopee Thailand
สำหรับ ‘Equity Partnership’s School Network’ เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยวางแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ครู และนักเรียนทุนเสมอภาคจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล กับโรงเรียนนานาชาติ สร้างพื้นที่การเรียนรู้และใช้เวลาร่วมกันเพื่อให้เกิดการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะผู้ประกอบการ และได้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจในเรื่องวิถีชีวิตที่แตกต่าง
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เรามีเครือข่ายโรงเรียนไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วม 40 กว่าโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ 9 โรงเรียน ใน 30 จังหวัด เป็นคณะครูและนักเรียนในเครือข่ายทั้งหมดโดยรวมกว่า 400 คน ผลกำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ในโครงการของทุกโรงเรียนผ่านช่องทางการขายใน Shopee เป็นมูลค่ากว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท ที่กลับคืนสู่โรงเรียนไทยในเครือข่ายให้ได้นำไปตั้งต้นต่อยอดการผลิตสินค้าต่อไป
กิจกรรมปฐมนิเทศ และ Workshop ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกของการพบกันระหว่างโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ โดย Equity Partnership’s School Network Season 5 ปีการศึกษา 2567 ประกอบด้วย 10 โรงเรียนสังกัด สพฐ. ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนวัดท่าโสม (คุณสารราษฎร์บำรุง) จังหวัดตราด โรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนดงสวรรค์วิทยา จังหวัดหนองบัวลำภู โรงเรียนบ้านนาเลา จังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนบ้านยะพอ จังหวัดตาก โรงเรียนเพียงหลวง 1 (บ้านท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) จังหวัดแพร่ โรงเรียนบ้านนห้วยลึก จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) โรงเรียนนานาชาติรักบี้ (Rugby School Thailand) โรงเรียนนานาชาติเซนต์ แอนดรูว์ส (St. Andrews International School) โรงเรียนสาธิตประสานมิตร (International Programme) โรงเรียนนานาชาติแอสคอท (Ascot International School) ผนวกกับอีกหนึ่งโรงเรียนนานาชาติที่อยู่ในขั้นตอนเข้าร่วม
กิจกรรม Workshop ครั้งที่ 1 เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ทำความรู้จัก ส่งเสริมทัศนคติในการทำงานร่วมกัน ร่วมด้วยการบรรยายในหัวข้อ ‘ชวนคิด ชวนทำ Re-design & Thinking’ โดย Mrs. Rachel Lewis, Head of Design Technology at Shrewsbury Riverside, ‘สร้างโอกาสการทำผลิตภัณฑ์และจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์’ โดย คุณพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เจ้าของแบรนด์ Anitech, ‘กลยุทธ์ทางการตลาด (Marketing Strategy) และฝึกปฏิบัติ’ โดย Mr. Greg Threlfal, Assistant Headteacher, Rugby School, Thailand และ Mr. Paron Mead, Director of the Paron School of Art และ ‘แนวคิดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์’ (Products Design) โดย ผศ.กรณัท สุขสวัสดิ์ ร่วมด้วยการจับคู่ระหว่างโรงเรียนไทยและโรงเรียนนานาชาติ พร้อมระดมความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Brainstorm Product Ideas) และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ (Products Presentation) ดั้งเดิมของแต่ละทีม ก่อนจะดำเนินกิจกรรมตามกำหนดการ จนเข้าสู่กระบวนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์ม Shopee ในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567
คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากที่ Sea ประเทศไทย ได้นำแพลตฟอร์ม Shopee เข้าร่วมโครงการต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี ผลจากการทำงานร่วมกันทำให้เกิดหลักสูตร Digital marketing ที่น้อง ๆ ทุนเสมอภาคจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ตั้งแต่การสร้างสตอรี่ให้ผลิตภัณฑ์จนถึงการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ และเด็ก ๆ จะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดชีวิต รวมถึงนำไปสร้างประโยชน์ในชุมชนของตัวเองต่อไป
“Sea ประเทศไทย ยินดีอย่างยิ่งที่ได้นำแพลตฟอร์มร้านค้าใน Shopee มามีส่วนร่วมกับโครงการอีกครั้ง สิ่งที่ Shopee มุ่งมั่นอยากให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับ คือโอกาสในการฝึกฝนทักษะ Digital Marketing จากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ที่น้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาคจะได้เรียนรู้การเปิดร้านค้าออนไลน์ว่า การทำสินค้าให้น่าสนใจในวงกว้างจำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญต่าง ๆ เช่น การสร้าง Story หรือเทคนิคการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์ รวมถึงยังมีทริคน่าสนใจอื่น ๆ ที่นำมาฝากวันนี้ คือข้อมูลจากฟีเจอร์ Shopee Live หรือพื้นที่ไลฟ์สดขายของ ตอนนี้สินค้าแฟชั่นและสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะสินค้าชุมชนเป็นสินค้าที่ขายดีเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งถือว่าค่อนข้างตรงกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ทุกทีมในโครงการเตรียมพัฒนาขึ้น อยากให้แต่ละทีมได้ลองใช้ฟีเจอร์ Shopee Live ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
“หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนในโครงการจะเรียนรู้อย่างเต็มที่ สนุกและได้ประโยชน์จากโครงการ เกิดความรู้ที่จะใช้นำรายได้มาสู่ตนเองและครอบครัว ยิ่งกว่านั้นคือหลังจากที่โครงการจบลง น้อง ๆ จะสามารถนำประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนถึงการบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ ไปสร้างประโยชน์ในชุมชนของตัวเองได้ต่อไป”
MR. Robort Groves, Head of Senior Rugby School Thailand กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดต่อเนื่องตลอด 5 ปีแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้เติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะความน่าสนใจที่ว่า ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้ทำให้เกิดรูปแบบของการ ‘สร้างโอกาส’ ที่นักเรียนจากสองสังกัดซึ่งแตกต่างกันได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนทักษะใหม่ระหว่างกัน โดยนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติคือฝ่ายที่นำองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และเครื่องมือที่น่าสนใจมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ขณะที่ทางโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ซึ่งมีความโดดเด่นเฉพาะตัวในเรื่องของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นถิ่น ก็จะเป็นผู้มอบประสบการณ์ที่มีคุณค่ากลับไป การทำงานร่วมกันระหว่างสองโรงเรียนที่มีพื้นฐานของความแตกต่าง จึงถือเป็นความสวยงามของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับตั้งแต่ในวันแรก จนวันที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน และกระทั่งถึงวันที่กิจกรรมสิ้นสุดลงไปแล้ว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวแสดงความยินดีกับทุกโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ โครงการนี้เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของหลายฝ่าย ซึ่งต้องใช้งบประมาณและความร่วมมือจำนวนมากจากทั้งภาครัฐและเอกชน สิ่งที่สำคัญคือ กิจกรรมนี้ไม่ใช่สนามซ้อม แต่คือ ‘สนามจริง’ ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เริ่มจาก Prototype หรือ ตัวแบบดั้งเดิมในเวอร์ชั่น 0 ก่อนที่น้อง ๆ จะช่วยพัฒนาร่วมกันไปจนถึงเวอร์ชั่น ‘ขายจริง’ ว่าผลิตภัณฑ์จะปรับเปลี่ยนหน้าตาและมีเรื่องราวดำเนินไปอย่างไร
“อยากชวนครูและน้อง ๆ มองลึกเข้าไปว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากผลิตภัณฑ์ที่เห็นในวันนี้ สู่สิ่งที่จะขายจริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มันไม่ได้สะท้อนเพียงแค่เรื่องของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ หรือลวดลายการออกแบบที่เปลี่ยนไป แต่มันจะสะท้อนถึงความเป็น ‘เพื่อนร่วมทาง’ (Partnerships) สะท้อนถึงความร่วมมือ ความตั้งใจ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสองโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้ถูกเขียนกำกับไว้บนผลิตภัณฑ์เมื่อวันจำหน่ายจริง หากมันจะแสดงออกมาผ่านความเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น แล้วความสุขเหล่านั้นเองที่จะส่งต่อไปยังผู้ซื้อ ที่จะนำผลิตภัณฑ์แห่งมิตรภาพนี้ไปใช้”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาที่เกิดขึ้นจากเยาวชนและครูทุกคนในโครงการ คือมูลค่าที่ผู้บริโภคพร้อมจ่าย ด้วยเชื่อในอนาคตที่มองเห็นผ่านความร่วมมือที่เกิดขึ้นมาตลอด 5 ปี และนั่นคือหัวใจของโครงการ Equity Partnership’s School Network
คุณสุชาดา จัตุรภุชพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวเสริมว่า กสศ. คาดหวังจะได้เห็นการพัฒนาร่วมกันทั้งตัวผลิตภัณฑ์ รวมถึงโอกาสที่น้อง ๆ ในโครงการจะได้เรียนรู้ทักษะและได้รับประสบการณ์รายบุคคล โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันซึ่งตั้งต้นด้วยผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และเสริมด้วยความรู้และเครื่องมือทางการตลาดที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้การร่วมงานกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะอาชีพ และศักยภาพในตัวเองที่จะติดตัวน้อง ๆ ทุกคนต่อไปในอนาคต
“คุณค่าของโครงการที่เกิดขึ้น คือ ‘พื้นที่ของความร่วมมือ’ และ ‘มิตรภาพ’ ของเยาวชนจากพื้นเพที่แตกต่าง ซึ่งได้มาแสดงศักยภาพของตัวเอง เก็บเกี่ยวความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดชีวิตในวันข้างหน้า ทั้งทักษะดิจิทัล ทักษะผู้ประกอบการ หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะอารมณ์สังคม (Social Emotional Learning) ไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ การให้และการรับ อันเป็นประสบการณ์ที่ต่างไปจากการเรียนรู้ในห้องเรียนปกติ เรามุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางเป้าหมายการทำงานสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาบนเครือข่ายความร่วมมือของนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียน และภาคเอกชน ที่จะขยายผลออกไปในวงกว้างมากขึ้น”