“ช่วงชั้นรอยต่อ” คือช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด จากการติดตามข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นรอยต่อปีการศึกษา 2567 มีแนวโน้มการศึกษาต่อของนักเรียน ดังนี้
326,139 คน คือจำนวนนักเรียนทุนเสมอภาคชั้นรอยต่อเมื่อเข้าสู่ปีการศึกษา 2567 ซึ่งสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับหน่วยจัดการศึกษา 6 สังกัด (สพฐ. อปท. ตชด. พศ. สช.และ กทม.) ได้สำรวจแนวโน้มการศึกษาต่อเมื่อช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566
ผลการติดตามแนวโน้มการศึกษาต่อในระบบซึ่งมีการบันทึกข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคชั้นรอยต่อทั้งสิ้น 241,332 คน พบว่าในจำนวนนี้มีนักเรียน 235,483 คน คิดเป็น 97.58% “มีแนวโน้มศึกษาต่อ” ขณะที่นักเรียน 5,849 คน คิดเป็น 2.42% “มีแนวโน้มไม่ศึกษาต่อ”
สาเหตุที่นักเรียน 5,849 คน ระบุว่า “ไม่ศึกษาต่อ” พบว่า 3 อันดับแรก คือ เป็นความต้องการส่วนตัว/ครอบครัว 1,546 คน มีปัญหาด้านการเรียน 1,140 คน ต้องการทำงาน 1,063 คน นอกจากนี้มีระบุปัญหาด้านทุนทรัพย์ 711 คน ด้านสุขภาพ 442 คน ด้านศาสนา 413 คน ติดต่อไม่ได้ 359 คน และด้านที่อยู่อาศัย 164 คน (ทั้งนี้ไม่ระบุสาเหตุ 11 คน)
ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถค้นหาและติดตามตัวเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ เป้าหมายของการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียน แต่หมายถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีทางเลือก สอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่าง ๆ เพื่อพาเด็กเยาวชนกลับสู่เส้นทางการศึกษาและพัฒนาตามบริบทของแต่ละคนต่อไป
ก้าวไปด้วยกัน…สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา