“เราเป็นมหา’ลัยที่มาจากหมู่บ้าน” การผลิตครูที่ถูกจุด-รู้จัก-เข้าใจชุมชน งานสำคัญของครูรัก(ษ์)ถิ่น
เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง

“เราเป็นมหา’ลัยที่มาจากหมู่บ้าน” การผลิตครูที่ถูกจุด-รู้จัก-เข้าใจชุมชน งานสำคัญของครูรัก(ษ์)ถิ่น

“เพราะเราเป็นมหา’ลัยที่มาจากหมู่บ้าน”

ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์’ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อธิบายต้นทางหลักการการผลิตครูของสถาบันที่คำว่าหมู่บ้านมาจากคำว่า village ซึ่งอยู่ในหลักสูตรต้นทางจากมหาวิทยาลัยในตุรกีตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว ที่นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่นเข้ามาเรียนที่จอมบึง ก่อนจะกระจายแยกย้ายไปเป็นครูทั่วประเทศ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีก่อน ที่นี่ยังติดป้าย ‘วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง’ ต่อมาเป็น ‘สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ จนปัจจุบันคือ ‘มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง’ 

โดยยังคงคำสำคัญอย่าง ‘หมู่บ้าน’ ไว้อยู่และกลายมาอิฐก้อนแรกๆ สำหรับต่อยอดหลักสูตรผลิตครูของชุมชนตลอด 4 ปี ในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงคือหนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมค้นหา ออกแบบหลักสูตร และผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นมาตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มโครงการ และรับผิดชอบดูแลเด็กๆ พื้นที่โซนภาคตะวันออก ตะวันตก ไปจนถึงภาคใต้ตอนบน ก่อนจะส่งกลับไปสอนยังโรงเรียนบ้านเกิดเมื่อจบหลักสูตร 4 ปี

และความเป็นหมู่บ้าน ความไม่อยู่ในอำเภอเมืองแต่เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับพม่า ความพิเศษอย่างนี้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการผลิตครูของชุมชน  

“เราไม่ใช่แอปเปิลที่ผลิตครูแล้วไปอยู่เตรียมอุดม สวนกุหลาบ แต่เราผลิตครูแบบหัวเว่ย เราจะไม่ไปแข่งกับเขา เราผลิตครูที่เหมาะกับท้องถิ่น อดทน  ถอนหญ้า ขับรถ ทำได้ทุกอย่าง”คำอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นภาพจากคณบดี เพราะเด็กๆ หลายคนไม่ได้ต้องการครูเก่งที่สุด แต่เค้าต้องการครูที่อยู่กับเค้าได้

มหาลัย’หมู่บ้าน ผลิตครูที่รู้จักชุมชนของตัวเองดีกว่าใคร

คำว่าหมู่บ้านมาจากคำว่า village ซึ่งอยู่ในหลักสูตรต้นทางจากมหาวิทยาลัยในตุรกีตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว ที่นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่นเข้ามาเรียนที่จอมบึง ก่อนจะกระจายแยกย้ายไปเป็นครูทั่วประเทศ 

จนเมื่อโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้ามาพร้อมโจทย์การผลิตครูของชุมชน สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กๆ ที่มีความฝันอยากเป็นครูแต่ขาดโอกาส เพื่อกลับไปบรรจุโรงเรียนปลายทางในพื้นที่ห่างไกลหรือและชุมชนเป้าหมาย “ใครจะรู้จักบ้านเกิดได้ดีเท่าตัวเอง เขาจะรู้ว่าท้องที่บ้านเขามีอะไรที่ควรพัฒนา เพราะตอนนี้ครูที่ไปบรรจุ ส่วนมากพอปลายๆ ชีวิตก็ต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเอง พอโครงการนี้เกิดขึ้น มันก็ตอบโจทย์ของพื้นที่จริงๆ ส่วนพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล ไม่มีใครอยากไปบรรจุ มีอัตราการย้ายเยอะ แต่ทุนนี้พอบรรจุแล้วไปเป็นครูแถวบ้าน ไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็น่าจะทำให้การทำงานของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

เป็นเหตุผลสำคัญที่ มรภ.หมู่บ้านจอมบึงเข้าร่วมโครงการนี้ ขณะเดียวกัน ด้วยความที่มีคำว่าหมู่บ้านเป็นชื่อมหาวิทยาลัย ประชากรอาจารย์ บุคลากร ส่วนใหญ่ของที่นี่จึงเป็นคนจอมบึง เช่นเดียวกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบบ้านใกล้เรือนเคียง ประสานงานใดๆ ก็คล่องตัว โดยเฉพาะด้านการศึกษา 

“มหาลัยมีบริการวิชาการทางด้านการศึกษา ช่วยโรงเรียน เชื่อมโยงระหว่างการทำงานร่วมกับชุมชน เราผลิตครู ซึ่งเป็นครูที่จะต้องออกไปฝึกประสบการณ์หรือไปฝึกสอน ก็ไปเชื่อมโยงโรงเรียน ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ไปพัฒนาคนในพื้นที่” ‘ความใกล้ชิดพื้นที่’ เป็นจุดแข็งสำคัญที่ มรภ.หมู่บ้านจอมบึงมี และใช้เป็นเครื่องมือในการเฟ้นหาช้างเผือกมารับทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น  ซึ่งแบ่งได้คร่าวๆ 6 ขั้นตอน

  1. ประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย อบต. และชุมชน
  2. รับสมัคร
  3. สัมภาษณ์นักศึกษา จะต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมด้วย เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ตัวแทนชุมชน และคณะกรรมการจากสถานศึกษา
  4. คัดกรองอีกครั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มากที่สุด
  5. ประกาศผล
  6. นักศึกษาผ่านเข้ารอบ เข้าค่ายเป็นเวลา 5 วัน เพื่อประเมินความพร้อมและคุณสมบัติ

ด้วยความเป็นสถาบันของหมู่บ้าน หลักสูตรในการผลิตครูของที่นี่ นอกจากจากตอบโจทย์ท้องถิ่น โรงเรียนปลายทาง และเป้าหมายของ กสศ.แล้ว การใส่จุดแข็งหรือลายเซ็นของสถาบันแห่งนี้เข้าไปอย่างรู้ใจชุมชนย่อมขาดไม่ได้ 

“อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอง คือ ใฝ่ดี ใฝ่รู้ สู้งาน ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้นักศึกษาและครูสามารถลงชุมชนท้องถิ่นได้ง่ายมากขึ้น” 

ตามหลักสูตรแบบ Tailor-made อย่างที่คณบดีเล่า นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มรภ.หมู่บ้านจอมบึงจะได้ฝึกสอนจริงตั้งแต่ปีแรกและไล่ระดับความเข้มข้นไปจนถึงปีสี่ 

“ปีหนึ่ง เราอยากให้เด็กรอบรู้เรื่องการทำงานครู เพราะเด็กเพิ่งมาจากม.ปลาย ว่าถ้าเป็นครูเขามีหน้าที่อะไรบ้าง ปีที่สองฝึกเป็นผู้ช่วยครู เพื่อเพิ่มดีกรีให้เขาสามารถทำงานผู้ช่วยครูได้ ครูให้หยิบจับอะไร ช่วยอะไรก็ทำได้ ปีที่สามจะเป็นผู้ช่วยสอน เด็กจะมาช่วยสอน มายืนคู่กับครู หรือสอนเดี่ยวบ้างในบางกรณี พอปีสี่ปุ๊บ เด็กก็จะได้เป็นครู สามารถยืนหน้าชั้นเรียนพร้อมเป็นครูได้แล้ว หลังจบปีสี่ก็สามารถเป็นครูที่มีคุณภาพได้เลย”

สำคัญไม่แพ้งานสอนคืองานพัฒนาชุมชน คณบดีบอกว่าก็มีสอดแทรกหน่วยกิตอยู่ในทุกชั้นปี 

“ปีที่หนึ่ง แค่ไปเรียนรู้ก่อนว่าการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างไร ปีสองไปช่วยเป็นนักพัฒนาชุมชน ปีที่สามเป็นผู้ช่วยโครงการ ปีที่สี่คุณต้องทำโครงการเอง” 

ครูจะต้องอยู่กับชุมชนได้ คือ อีกแนวคิดสำคัญที่ดร.เกรียงวุธนำมาใช้เป็นอิฐก้อนแรกในการออกแบบหลักสูตร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยืดหยุ่นได้ ปรับไปตามบริบทที่เกิดขึ้นได้ คงไว้แค่หลักการสำคัญ 

“เช่นปัญหาครูไม่ครบชั้น ก็ต้องปรับหลักสูตรของสถาบันให้สอดคล้องกับเขามากขึ้น จากการได้แลกเปลี่ยนกับสถาบันอื่นบ้าง บางแห่งอาจใช้วิธีการจัดเป็นวิชาเอกและวิชาโท หรือเป็นการเรียนแบบเอกคู่ก็มี แต่คณะครุศาสตร์ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง ใช้วิธีเพิ่ม 60 หน่วยกิตด้านประถมศึกษา เพื่อเป็นหลักสูตรขนาดสั้นให้เด็กได้เรียนในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้” 

หนักไปมั้ย – เจอคำถามนี้เข้าไป คณบดีที่เป็นคนราด’รีโดยกำเนิดตอบว่า เฉลี่ยแล้วชั่วโมงเรียนตลอดสี่ปีเพิ่มขึ้นมา 120 ชั่วโมง ตกเดือนละ 30 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 8 ชั่วโมง วันละ 1-2 ชั่วโมง 

“เรากำลังเตรียมเทียบโอนจากประสบการณ์ของเขาเข้าเครดิตแบงค์ เพื่อที่จะออกมาเป็นปริญญาตรีอีกหนึ่งใบ ก็คือเป็นปริญญาตรีของประถมศึกษา ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการ” 

สิ่งที่ดร.เกรียงวุธเล่ามานี้ คือส่วนหนึ่งของ Enrichment Program โดยเฉพาะของ มรภ.หมู่บ้านจอมบึงมีด้วยกัน 5 ด้าน คือ 1.พัฒนาชุมชน 2.วิจัย 3.ทักษะวิชาการ  4.ประสบการณ์จากโรงเรียนปลายทาง 5.ทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพ 

“เป้าหมายของ Enrichment Program คือคุณเป็นได้ตั้งแต่ผอ. ยันภารโรง ถ้าน้ำไม่ไหลไฟดับ คุณจะต้องมีวิชาชีพพื้นฐานที่สามารถซ่อมได้ คงไม่ใช่ถึงขั้น expert แต่ถ้ามีปัญหาหน้างานเด็กทำได้ อันนี้จะเป็นอีกแท่งหนึ่งของ Enrichment Program หรือ ด้านวิชาการ จากเดิมที่วางไว้สอนปฐมวัยเป็นหลัก แต่หลายโรงเรียนต้องสอนควบประถมเพราะมีครูไม่ครบชั้น อันนี้ได้จากการติดตามการฝึกสอนจริง พอไปปุ๊บเด็กเกิดความเครียดที่ลงไปสอนเด็กโต เราก็เพิ่มหลักสูตรครูประถมเข้าไป”

ผลิตเด็กแกร่งแรงเกินร้อย

นอกจาก ใฝ่ดี ใฝ่รู้ สู้งาน เด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นของที่นี่จะมีจุดแข็งเรื่องความอดทน 

“เราไม่ได้ผลิตครูเพื่อไปอยู่เตรียมอุดมหรือสวนกุหลาบ แต่เราผลิตครูที่เหมาะกับท้องถิ่น ทุรกันดารถอนหญ้า ขับรถ ได้หมดทุกอย่าง ตามบริบทของภูมิประเทศ” 

แต่จะใช้คำว่าไกลปืนเที่ยงคงไม่ถูกต้องนักเพราะพ.ศ.นี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแทบทุกพื้นที่ ทำให้ ‘ครูพันธุ์บึง’ – คำเรียกนักศึกษาครุศาสตร์ที่จบจาก มรภ.หมู่บ้านจอมบึง มีคำว่าไฮเทคแปะป้ายไปด้วย 

“ไฮเทคก็คือมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี เด็กของเราไม่มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น facility ต่างๆ เราก็พยายามเอาเครื่องมือต่างๆ เข้ามา เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสและคุ้นเคยกับเทคโนโลยี เพื่อวันหนึ่งเขาไปบรรจุที่ชายขอบ แม้ไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเลย เขาต้องอยู่ได้ หรือถ้ามี เขาจะไม่งงเป็นไก่ตาแตก”

ส่วนความอดทน ดร.เกรียงวุธยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า หนึ่งในเงื่อนไขของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นคือฐานะยากจน ฉะนั้นหลายคนผ่านการสู้มาไม่น้อย และพอมาเจอกับหลักสูตรทักษะชีวิตเข้าไป ก็ยิ่งไปเสริมแรงกันให้ไปไกลฉิว  

“บางคนก็มีพื้นฐานตรงนี้มาจากที่บ้านอยู่แล้ว เราก็มาต่อยอดด้านความรู้ให้เขา เขาจะไปได้ไวมากขึ้น เมื่อเขาลงไปทำงานก็จะไม่เกี่ยง หรือเขาไปโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งจะต้องทำทุกอย่าง การเข้าชุมชน มันก็จะง่ายขึ้น”

สิ่งที่คณบดีอธิบายทั้งหมดคือการผลิตครูให้ตรงจุดหรือพื้นที่ที่ต้องการ เพราะที่ผ่านมาปัญหาเกิดขึ้นเพราะผลิตครูไม่ตรงจุด 

“ปัญหาตอนนี้คือเราผลิตไม่ตรงจุด ครูในเมืองก็ต้องเป็นครูในเมือง ครูในเมืองไม่ควรจะต้องเป็นครูที่อยู่ในชนบท ครูในเมืองก็ต้องผลิตในรูปแบบที่จะเป็นครูในเมือง ควรจะต้องผลิตให้ตรงจุด นั่นคือคุณจะต้องวางว่าในกรอบของแต่ละจุด พื้นที่บริบทของประเทศมีอะไรบ้าง กลุ่มนี้ต้องการยังไง อย่างเตรียมอุดมคุณผลิตครูท็อปเลย เพื่อพานักเรียนแข่งโอลิมปิก จัดเต็มสูบไปเลย ขณะเดียวกัน เด็กๆ ในพื้นที่อาจไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น ต้องมีการแบ่งครูให้ชัดเจน” 

เด็กในชุมชนหลายคน จบ ม.3 เขาต้องการไปประกอบอาชีพแล้ว ครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงต้องสอนอาชีพได้ด้วย 

“วันนี้คุณก็ต้องผลิตให้ตอบโจทย์ เหมือนเราใช้มือถือ แอปเปิลก็แอปเปิล ส่วนเราหัวเว่ย ถ่ายรูปสวยราคาไม่แพง แต่ถ้าเราอยากให้มันอึด ก็ซัมซุงฮีโร่ ต้องทำให้ชัดเจน”

สำหรับ ดร.เกรียงวุธ โจทย์การผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นถือว่าชัดเจน เพราะปลายทางคือโรงเรียนท้องถิ่น และ อยู่ไปอย่างน้อย 6 ปี 

“ตรงนี้น่าจะตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่ปัญหาครูย้ายถิ่นฐานอย่างเดียว แต่มันจะเป็นโอกาสของเด็กยากจนที่จะพัฒนาบ้านเกิด เขาไปเป็นครู สตาร์ตเงินเดือนที่ 15,000 พ่อเขาจะเปลี่ยนจากกรรมกรเป็นพ่อแม่ของครู ลูกในอนาคตของเขาก็จะเป็นลูกครู มันจะเหมือน Snow Ball เกิดการพัฒนาออกมาต่อยอด”

เพราะสุดท้ายแล้ว ความหมายของครูไม่เคยแน่นอนและหยุดนิ่ง ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป 

“ครูเป็นทุกอย่าง เพราะเมื่อไหร่เราเป็นครู เราเป็นครู 24 ชม. เวลาไปตลาดคุณก็เป็นครู โดยเฉพาะครูที่อยู่ในชุมชน บางครั้งครูอาจจะมีความรอบรู้ที่ทั้งลึกและกว้างขวาง ถ้าจะลึกในอะไรสักอย่างคือลึกในศาสตร์ของเขา ที่ You must know และ You could know คือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเขา ที่จะทำให้งานของเขาประสบความสำเร็จ กับอีกส่วนคือ You should know คืออะไรก็ได้ที่เป็นความหลากหลายที่เขาจะต้องมี เพราะเวลาลงชุมชนจริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าครูจะรู้มาขนาดไหน แต่เขารู้ว่าครูน่าจะรู้ นั่นคือความคาดหวัง” คณบดีทิ้งท้าย