29 เมษายน 2567 ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ดร.สิริพงศ์ กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ สอดรับกับนโยบาย ‘เรียนดีมีความสุข’ ที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งให้ความสำคัญเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนทุกคน โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภาระต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กเยาวชนบางกลุ่มไม่สามารถมาโรงเรียนได้ทุกวัน จึงมองว่าหากระบบการศึกษายังคงยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ ย่อมหมายถึงเด็กจำนวนหนึ่งจะหลุดอกกจากระบบการศึกษาไปอย่างไม่มีทางเลือก
“วันนี้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไปจากอดีต บางสาระวิชาเด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ที่โรงเรียนแล้ว โรงเรียนจึงต้องปรับบทบาทตัวเอง ขณะที่ครูก็เปลี่ยนจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นโค้ช อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังถือว่ามีความสำคัญมากในการบ่มเพาะทักษะ Softskill ต่าง ๆ ที่เด็กไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เพราะทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการซึมซับผ่านประสบการณ์ตรง”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เมื่อครูปรับบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความรู้ ความหมายของการวัดประเมินผลที่อิงกับกลุ่มสาระวิชา จึงไม่จำเป็นต้องยึดอยู่กับรูปแบบเดิม โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 เอื้อให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้ได้แบบยืดหยุ่น
“โดย พ.ร.บ.การศึกษามีระบุไว้ชัดเจน การศึกษามี 3 รูปแบบ หนึ่งคือการศึกษาในระบบ สองการศึกษานอกระบบ และสามฃการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งในการจัดการเรียน การสอนที่ผ่านมาก็จะสามารถจัดรูปแบบใดก็ได้ หรือใช้ร่วมกันทั้งสามรูปแบบ เด็กบางคนเป็นนักเรียนในระบบก็จริงแต่เนื่องจากเศรษฐสภาพสภาพสังคมไม่เอื้ออำนวย การศึกษาจริง ๆ ก็เพื่อสองแนวทางครับ หนึ่งคือเพื่อความเป็นเลิศ สองคือ ความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นการศึกษาที่จะสามารถเติมเต็มให้เขาเกิดความมั่นคงในชีวิตได้ จึงถือว่าเป็นวัตุประสงค์ของการศึกษาที่ถูกต้อง ดังนั้น Zero Dropout เด็กต้องไม่หลุดออกจากระบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบทำได้ กระทรวงศึกษาธิการยินดีที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน ในตอนนี้ทาง สพฐ. กำลังร่างแนวทางปฏิบัติว่าจะสามารถปฏิบัติการได้อย่างไร ทำให้เป็นรูปธรรมเหมือนกันทั่วประเทศ
“เรามีรูปแบบการศึกษามากมาย ขึ้นอยู่ว่าจะปรับใช้อย่างไร เรามีห้องเรียน EP (English Program) มีการเรียนผ่านศูนย์การเรียน มีระบบบ้านเรียน (Home School) มีห้องเรียนเฉพาะทางมากมายเกิดขึ้น บางโรงเรียนนำร่องลดกลุ่มสาระวิชาจาก 8 เหลือแค่ 5 กลุ่ม ขณะที่องค์ความรู้เท่าเดิม หรือบางแห่งก็บูรณาการบทเรียนจนพาผู้เรียนไปถึงองค์ความรู้ที่กว้างไกลยิ่งกว่ากรอบตัวชี้วัดเดิม ๆ ได้ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพจึงขึ้นอยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญของชั่วโมงการเรียนรู้ และการปรับตัวชี้วัดให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง
“กิจกรรมที่ กสศ. จัดขึ้นนี้ จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีตัวอย่างของโรงเรียนที่จัดการศึกษา 3 รูปแบบได้แล้ว ย่อมหมายถึงข้อกฎหมายอนุญาตให้ทุกโรงเรียนสามารถทำได้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกฝ่ายตั้งใจมาเรียนรู้ร่วมกัน และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผล เมื่อผู้เข้าร่วม workshop จะนำบทเรียนต้นแบบกลับไปปรับใช้ในแต่ละสถานศึกษาตามความเหมาะสม”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เน้นย้ำว่า แนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ปัจจุบัน มุ่งเน้นการทำงานที่หลุดไปจากกรอบ และพยายามเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดไปสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout โดยในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ จะมีการประกาศการใช้งานระบบ Cradit Bank หรือ ‘ธนาคารหน่วยกิต’ ที่สภาการศึกษา สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา วางโครงสร้างร่วมกัน
“ใจความสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิต จะไม่ใช่แค่เรื่องของการฝึกทักษะอาชีพ แต่จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษากำหนดวิชาที่หลากหลาย เพื่อนำมาเสริมการเรียนรู้ในวิชาหลัก รวมทั้งเป็นการบูรณาการบทเรียนที่ผู้เรียนสามารถเก็บเป็นหน่วยกิตเพื่อจบการศึกษา และนำความรู้ประสบการณ์ไปต่อยอดในการเรียนระดับที่สูงขึ้น หรือในการประกอบอาชีพ โดยการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของยุคสมัย จะเน้นที่หลักสูตรระยะสั้น มีความยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“ใจความสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิต จะไม่ใช่แค่เรื่องของการฝึกทักษะอาชีพ แต่จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษากำหนดวิชาที่หลากหลาย เพื่อนำมาเสริมการเรียนรู้ในวิชาหลัก รวมทั้งเป็นการบูรณาการบทเรียนที่ผู้เรียนสามารถเก็บเป็นหน่วยกิตเพื่อจบการศึกษา และนำความรู้ประสบการณ์ไปต่อยอดในการเรียนระดับที่สูงขึ้น หรือในการประกอบอาชีพ โดยการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของยุคสมัย จะเน้นที่หลักสูตรระยะสั้น มีความยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“การศึกษาในโลกปัจจุบัน เขาอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาแล้วว่าจะต้องจบอะไร คืออาจจะมุ่งเน้นไปว่า ศึกษาออกมาแล้ว มีทักษะในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ความรู้พื้นฐานเพียงพอ มีทักษะเพื่อประกอบอาชีพ สามารถต่อยอด พัฒนาตัวเองด้วยระบบการศึกษาได้ ผมคิดว่าการศึกษาในโลกปัจจุบันควรเป็นลักษณะนี้ครับ
“ระบบธนาคารหน่วยกิตที่กำลังจะนำมาใช้ จะเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา ด้วยการศึกษาที่พร้อมเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้เรียน ในนามกระทรวงศึกษาธิการขอขอบคุณ ให้กำลังใจ และแสดงความตั้งใจที่จะสนับสนุนทุกฝ่าย เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสร้างการเรียนรู้ที่มีทางเลือก หลากหลาย และตอบโจทย์ชีวิตของทุกคนไปด้วยกัน”