“เด็ก ๆ ในโรงเรียนของเราส่วนใหญ่มาจากชุมชนชายทะเล มีปัญหาเรื่องยาเสพติด หลายคนมีสภาพครอบครัวที่แตกแยก อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ทั้งสภาพชุมชนและสภาพครอบครัว ต่างส่งผลให้เด็กหลายคนกลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ขาดการดูแลอย่างเหมาะสม ประสบปัญหาทั้งด้านสุขภาพกาย ใจสุขภาพ และด้านการเรียนรู้”
ศกลวรรณ สุขมี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบาง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการบริหารจัดการปัญหาในโรงเรียน จากการเข้าร่วมกิจกรรมในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ กสศ. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ผอ.ศกลวรรณ ยกเคสตัวอย่างซึ่งอยากนำมาเล่าในทุกครั้งที่ต้องมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ คือเรื่องของเด็กคนหนึ่งซึ่งมาจากครอบครัวที่เป็นเหยื่อความรุนแรง เด็กคนนี้กลายเป็นเด็กที่หวาดระแวงและไม่ไว้ใจใคร เมื่อผู้ปกครองมาส่งที่โรงเรียน ก็นั่งอยู่หน้าโรงเรียน ไม่กล้าเดินเข้าโรงเรียน
“โรงเรียนพยายามแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น โดยค่อย ๆ เข้าไปหาเขาเพื่อสร้างความไว้วางใจ จนเขาเริ่มเกิดความเชื่อใจ ค่อย ๆ ขยับจากที่นั่งอยู่นอกรั้วโรงเรียน เข้ามาในนั่งในโรงเรียน ขยับมานั่งหน้าห้องเรียน จนกล้าเข้ามาในห้องเรียนในที่สุด ครูและเพื่อนนักเรียนทุกคนพยายามช่วยเด็กคนนี้ จนสามารถเปลี่ยนเขาจากเด็กที่หลบอยู่ในมุมโรงเรียนเพื่อซ่อนตัวจากคนอื่น ไม่คุยไม่เล่นกับใคร ให้กลายเป็นเด็กที่ร่าเริง สามารถที่จะมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กคนนี้ ค่อย ๆ เชื่อใจโรงเรียนก็คือ “ความรัก” โรงเรียนของเรามองว่า เด็กคนนี้กำลังขาดความรัก ความดูแลเอาใจใส่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาของเด็ก
“เราต้องทำให้โรงเรียนมีบทบาทในการสร้างความรักและความไว้วางใจขึ้นให้ได้ ก่อนที่จะใช้มาตรการอื่น ๆ เพราะความรักและความไว้วางใจกัน คือเครื่องมือสำคัญชิ้นแรก ๆ ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ กล้าเปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ และเพื่อเปิดโอกาสให้เรานำสิ่งที่ได้รับทราบ มาออกแบบวิธีการช่วยเหลือพวกเขาต่อไปได้”
อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยโรงเรียนได้มาก ก็คือชุมชน เนื่องจากชุมชนที่โรงเรียนสังกัดอยู่ เป็นชุมชนมุสลิมจึงมีเรื่องของความเคร่งครัดในศาสนา โรงเรียนของเราจึงได้เชิญผู้นำศาสนาในชุมชน มาเป็นกรรมการโรงเรียน เพื่อให้ผู้นำศาสนาประสานระหว่างโรงเรียน ชุมชน และบ้าน เข้าด้วยกัน ผลจากการประสานทั้งสามส่วนเข้าด้วยกัน คือ เกิดกลไกความช่วยเหลือที่เข้าถึงปัญหาของนักเรียนแต่ละคนได้ โรงเรียนจะดูแลทุกปัญหาอย่างเต็มกำลัง ครูของเราดูแลกระทั่งการซักเสื้อผ้าชุดนักเรียนให้กับเด็กที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเรื่องนี้ เราเชื่อมั่นว่า การดูแลเด็กให้ดีที่สุด และการดูแลชุมชน เป็นเรื่องเดียวกัน