“ปัญหาในการเรียนรู้ ไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่การจัดการเรียนรู้ ปัญหาสำคัญที่พบ คือการจัดการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของเด็ก ไม่คำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ทำให้เด็กบางคนไปต่อกับโรงเรียนไม่ได้”
จงกล ผลประสาท ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานในบทบาทศึกษานิเทศก์ ในโอกาสที่มาร่วมกิจกรรมในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ กสศ. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ศึกษานิเทศก์จงกล มองว่าบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความเสมอภาคด้านการเรียนรู้อยู่ที่คุณครู “คุณครูทุกคนมีศักยภาพที่จะคิดวิธีออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ด้วยตัวเอง หากครูเข้าใจเด็กว่าต้องการอะไร เด็กเป็นอย่างไร ศึกษานิเทศก์คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยครูเปลี่ยน Mindset เรื่องนี้
“เราต้องช่วยให้ครูมองเด็กในแง่มุมใหม่ มองในมุมที่ไม่เคยเห็น และตระหนักว่า ยังมีวิธีจัดการเรียนการสอนที่ครูยังไม่ได้เอามาใช้ในห้องเรียนอีกมากมาย มีนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้ที่ถูกคิดค้นออกมามากมาย ครูสามารถเลือกนวัตกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งที่อยากให้เด็กเรียนรู้ สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องเรียนเพื่อนำไปใช้กับชีวิตจริงได้มากขึ้น”
ตัวอย่างจากโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ดังที่กล่าวมาเกิดขึ้นแล้วกับ โรงเรียนบ้านกล้วยจอหอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 โรงเรียนนี้ได้รับการแนะนำให้ใช้นวัตกรรมในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP (Teacher and School Quality Program) จนสามารถเปลี่ยนโรงเรียนจากที่มีสภาพการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับที่เป็นอยู่ กลายเป็นโรงเรียนที่สามารถเปลี่ยน Mind Set ให้เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก ๆ จัดการเรียนรู้ของโรงเรียนให้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสามารถของผู้เรียน ครูเลือกใช้วิธีการสอนที่สอดคล้องกับปัญหาของเด็ก ครูประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างเป็นองค์รวม จนสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และจัดการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้
“สิ่งที่เห็นจากโรงเรียนนี้ คือ ได้เห็นนักเรียนเรียนอย่างมีความสุข แม้การเรียนจะมีปัญหา แต่นักเรียนก็บอกเราได้ว่าเขาจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร แม้บางครั้งจะแก้ปัญหาไม่ได้ เด็กก็ไม่รู้สึกกดดันที่ต้องล้มเหลว เพราะพวกเขารู้ว่าความล้มเหลวคือโอกาสในการเรียนรู้ที่จะแก้ตัวใหม่ได้เสมอ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับเด็ก เพราะนี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องเรียนรู้ในชีวิตจริง โดยไม่มีใครไปบูลลี่พวกเขา แม้จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ”