หอการค้าฯ กสศ. และทีดีอาร์ไอ เปิดตัว “เครือข่าย ALL FOR EDUCATION หอการค้า 77 จังหวัด”
ยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถประเทศไทยผ่าน “กองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Sandbox Fund)”

หอการค้าฯ กสศ. และทีดีอาร์ไอ เปิดตัว “เครือข่าย ALL FOR EDUCATION หอการค้า 77 จังหวัด”

การศึกษาเป็นสิ่งบ่งชี้ความก้าวหน้าของแต่ละประเทศ ประเทศที่มีประชากรที่มีคุณภาพและมีทักษะความรู้ ก็ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับสากล และยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลขยายตัวมากเท่าไหร่ (Digital Disruption) การศึกษายิ่งต้องปรับตัวให้เท่าทันตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป หลักสูตรปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนและธุรกิจที่มีความต้องการทักษะเฉพาะที่หลากหลาย นักเรียนมีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ ยังมีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง เด็กไทยกว่า 1 ล้านคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หอการค้าไทย ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมของแต่ละพื้นที่ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา และได้ริเริ่มจัดตั้งกองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (SandBox Fund) เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไปสู่เป้าหมาย ตลอดจนสร้างทุนมนุษย์ที่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศ สอดรับกับแนวนโยบายรัฐบาล “Thailand Zero Dropout” เด็กและเยาวชนต้องไม่หลุดจากระบบการศึกษา ตามที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศไว้ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและยกระดับขีดความสามารถของประเทศ

“ความก้าวหน้าในปี 2567 นี้ คือ การเชื่อมโยงความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เป็นเครือข่าย ALL FOR EDUCATION เพื่อระดมทุนและทรัพยากรในหลากหลายมิติสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ รวมถึงบุคลากร เครือข่ายการทำงาน โดยเครือข่ายหอการค้าทั้ง 77 จังหวัด ยังสามารถทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ นี่คือก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา เป็นหนึ่งใน Game Changer ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนจากฐานรากให้แก่ประเทศไทย”

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาหอการค้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานำร่อง 20 จังหวัด เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ไม่ต้องอิงกับกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และเป็นต้นแบบนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ จึงจัดกิจกรรม “ร่วมคิด ร่วมสร้าง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567 และวันนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่มีการขยายขอบเขตการจัดงานโดยมีผู้แทนหอการค้าจังหวัดและ YEC ทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมกันแสดงพลังเครือข่ายอย่างพร้อมเพียงโดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “All for Education – การลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” และช่วงท้ายเป็นเวทีนำเสนอความร่วมมือพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตัวแทนจากภาคีความร่วมมือ 3 องค์กรและตัวแทนสถานศึกษาและผู้ประกอบการร่วมนำเสนอ

“ปัญหาที่ภาคเอกชนพบเจอมาโดยตลอด คือมีแรงงานไม่เพียงพอกับภาคธุรกิจและเป็นแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ จึงเป็นจุดเริ่มต้น ให้เกิดแนวคิดว่า ภาคเอกชนซึ่งเป็นภาคส่วนที่มักจะทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะต้องมีบทบาทในการช่วยสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างทรัพยากรบุคคลให้ตรงกับตลาดแรงงานในอนาคต สุดท้ายไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนก็ยังคือสิ่งที่สำคัญที่สุด มนุษย์ที่มีองค์ความรู้ จะสามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ คือจุดมุ่งหมายของเรา”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสนามปฏิบัติการในการปฏิบัติรูปการศึกษา โดยมีกลไกการปลดล็อกกฎระเบียบให้โรงเรียนพัฒนาการสอนรูปแบบใหม่ ซึ่งเน้น Active Learning เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่จำเป็น รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นอกจากนี้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีหลักประกันความต่อเนื่องเพราะมีกฎหมายรองรับ ทำให้การดำเนินงานมีเสถียรภาพ มีกระบวนการวิจัยติดตามอย่างเป็นระบบเพื่อถอดบทเรียนจากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ สำหรับนำมาขยายผลเพื่อมาใช้ปฏิรูปการศึกษาทั้งประเทศ การวิจัยที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางบวกในบางด้าน เช่น โรงเรียนส่วนใหญ่ปรับวิธีการบริหารและการสอน เด็กมีความสุขมากขึ้น และเด็กกลุ่มอ่อนเข้าใจการเรียนเพิ่มขึ้น 

สัญญาณเหล่านี้สะท้อนความจำเป็นที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดทางงบประมาณเพราะพึ่งพิงงบประมาณของรัฐเป็นหลัก ซึ่งไม่คล่องตัว และไม่เพียงพอต่อการปฏิรูปอย่างก้าวกระโดด แม้บางจังหวัดสามารถระดมทรัพยากรภายในพื้นที่ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการกิจกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมการสอนได้ เช่น พัฒนาหลักสูตรจังหวัด ข้อสอบ หรือ Platform แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษาในพื้นที่ ผ่านการระดมทรัพยากรเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และร่วมกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านทุนมนุษย์ในจังหวัด

“หลักสูตรการศึกษาของไทยที่ใช้กันทุกวันนี้ ใช้มาแล้วถึง 17 ปี ซึ่งเน้นเป็นรายวิชา แต่ไม่สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงจะเป็นหัวหอกในการปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ ปลดล็อกให้ใช้หลักสูตรอะไรก็ได้ที่นำไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งไม่ได้เรียนรู้เป็นรายวิชาแบบเดิม แต่เรียนรู้เพื่อให้นำไปใช้ได้จริงและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ หลักสูตรที่ว่านี้อาจจะไปได้ไกลถึงหลักสูตรนานาชาติก็ได้ ซึ่งโมเดลนี้เกิดขึ้นแล้วในจังหวัดซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมเช่น จ.ระยอง กรุงเทพมหานคร ในอนาคตทั้งหลักสูตรและรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จะถูกนำไปพัฒนาเพื่อให้ได้แนวทางในการปรับปรุงและขยายผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาของทั้งประเทศในอนาคต”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท  ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า วันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนไทยหลายล้านคน โดยทาง กสศ. และองค์การ UNESCO เคยประเมินไว้ว่าหากประเทศไทยสามารถแก้ไขโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จแล้ว จะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.7% ของ GDP ซึ่งจะช่วยพาประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมถึงเกือบ 2 เท่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งทุกคนในประเทศไทยล้วนได้ประโยชน์สาธารณะร่วมกันเช่นนี้ จึงมิใช่โจทย์ของภาครัฐแต่เพียงลำพัง แต่ถือเป็นกิจของทุกคนที่สามารถร่วมกันเข้ามาเป็นเจ้าของและลงมือทำร่วมกัน

โดยสามารถขยายฐานการระดมทุนเพื่อการศึกษา ซึ่งจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่เสียภาษีเพียง 6.5 แสนคน หรือ 17% ของผู้เสียภาษีเงินได้ทั้งหมดที่บริจาคเพื่อการศึกษา ขณะที่มีผู้มีรายได้สูงไม่ถึง 1 ใน 3 บริจาคเพื่อการศึกษาและบริจาคเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของรายได้ ทั้งผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลต่าง ๆ ยังสามารถบริจาคเพิ่มเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกมากกว่า 10 เท่า

“การจะบรรลุเป้าหมาย EDUCATION FOR ALL ได้สำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่าง ALL FOR EDUCATION ให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศ ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทยและที่มีศักยภาพที่ระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อมาร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของจังหวัดและของประเทศในระยะยาวจากรากฐานที่มั่นคง”

ทั้งนี้ สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดย ร่วมบริจาคในกองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Sandbox Fund) ผ่านเว็บไซต์ https://www.eef.or.th/edusandbox/ หรือ เลขที่บัญชี 172-0-44299-1 ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี: กสศ. เงินบริจาคเพื่อกองทุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งทุกการบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า