“เราทุกคนควรหัดเชื่อตัวเองเพียงแค่ครึ่งเดียวเสมอ และสงสัยเอาไว้ก่อนว่าเราอาจจะไม่ได้คิดถูก”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ชวนมองการปรับสมดุลวงจรการเรียนรู้ในโรงเรียน เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

“เราทุกคนควรหัดเชื่อตัวเองเพียงแค่ครึ่งเดียวเสมอ และสงสัยเอาไว้ก่อนว่าเราอาจจะไม่ได้คิดถูก”

ในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีงานประชุมสัมมนาอันเป็นหมุดหมายสำคัญในการยกระดับระบบการศึกษาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี นั่นคืองาน ‘Schools That Matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่ายในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP)

นอกเหนือจากการเสวนาหารือระดมสมองในประเด็นต่างๆ ร่วมกันอย่างขันแข็งระหว่างโรงเรียนต่างๆ ในภาคี และการประกาศเจตนารมณ์อันแรงกล้าของ กสศ. นำโดย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา ภายใต้แนวคิด Education for All – All for Education อย่างเป็นทางการแล้ว อีกหนึ่งบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเชิญให้มากล่าวปิดงานในหัวข้อ ‘โรงเรียนพัฒนาตนเอง ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน’ คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP)

ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญที่ได้จากงานไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งยังพ่วงมากับวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยหลายประการ

การเปลี่ยนแปลงที่ประเทศไทยต้องการ

อ้างอิงจากหนังสือ World Development Report 2018: Learning to Realize Education’s Promise ศ. นพ.วิจารณ์อธิบายว่า การศึกษาคุณภาพสูงอันจะนำมาซึ่งพลเมืองคุณภาพสูงนั้นประกอบด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ประการสำคัญที่สุดที่เปรียบเสมือนหัวใจของงาน School That Matter ซึ่งได้มีการเน้นย้ำมาตลอดตั้งแต่เริ่มจนจบงาน นั่นคือ การยกระดับอัตราการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและการพัฒนาการศึกษาให้ครบรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง

ถัดมาอีกประการคือ การจัดการเรียนรู้เชิงรุกเพื่อให้มั่นใจว่าสถานศึกษาเป็นระบบนิเวศในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ผ่านวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ให้ครู ผู้บริหาร และนักการศึกษาเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เป็นวิธีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเด็กและของโรงเรียนอย่างแท้จริง

“อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการวางแผนพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้เป็น ‘Agentic Person’ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีความคิดริเริ่ม มีศักยภาพในการเป็นแกนนำในการทำงานให้กับคนรอบข้างโดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่ง เพราะเมื่อเด็กนักเรียนถูกรายล้อมไปด้วยบุคลากรที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ จะทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะเติบโตมาเป็น Agentic Person ด้วยเช่นกัน” ศ. นพ.วิจารณ์กล่าว

จากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน

กระบวนการเรียนรู้และปรับตัวที่ยั่งยืนนั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องอาศัยแรงขับช่วงเริ่มต้นจากล่างขึ้นบนเป็นแกนก่อน จากนั้นการพัฒนาจากบนลงล่างจึงจะตามมา

“การพัฒนาจากล่างขึ้นบน คือการนำประสบการณ์จากหน้างาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาทบทวน เรียนรู้ และตีความเพื่อหาหลักการ ทฤษฎี หรือปัจจัยความสำเร็จ นี่คือกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

กระนั้นก็ตาม ศ.นพ.วิจารณ์ก็ยังไม่ลืมที่จะเน้นย้ำว่าพัฒนาการจากทั้งสองทิศทางต่างมีความสำคัญทั้งหมด ไม่สามารถขาดทางใดทางใดหนึ่งไปได้

Kolb’s Experiential Learning Cycle

ศ.นพ.วิจารณ์เชื่อใน Experiential Learning ว่านี่คือหนทางหนึ่งที่เราจะพัฒนาสมรรถนะในการเรียนรู้อย่างยั่งยืนได้ เขายืนยันว่าความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์นั้นมีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้จากการเรียนภาคทฤษฎี

เพื่อให้มองภาพตามได้ง่ายๆ เขาได้นำเสนอภาพกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ โดยใช้โมเดลที่มีชื่อเสียงของเดวิด เอ โคลบ์ (David A. Kolb) นักทฤษฎีการศึกษาชาวอเมริกัน

Kolb’s Experiential Learning Cycle เป็นวงจรการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

  1. ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม (Concrete Experience) ขั้นตอนที่ผู้เรียนทดลองลงมือทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดประสบการณ์ อันจะนำมาซึ่งการรับรู้และเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับขณะนั้น
  2. การสะท้อนคิดจากการสังเกต (Reflective Observation) ขั้นตอนที่ผู้เรียนพยายามเฝ้าสังเกตและไตร่ตรองทำความเข้าใจสิ่งที่ตนมองเห็น
  3. การสร้างแนวคิดที่เป็นนามธรรม (Abstract Conceptualization) ขั้นตอนที่ผู้เรียนพยายามสรุปผล ตีความ จับจุดที่ได้จากการสังเกต4. การทดลองปฏิบัติจริง (Active Experimentation) ขั้นตอนที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติซ้ำเพื่อทดลองนำแนวคิดที่ตนเองสร้างมาปรับใช้

นอกจากนี้ คุณหมอยังยกตัวอย่างอีกแนวคิดหนึ่งที่คล้ายกัน คือ Double-loop Learning อย่างไรก็ดี เขาคอยย้ำเตือนผู้ฟังในงานอยู่เสมอว่านี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งจากแนวทางอีกมากมาย และแน่นอนว่าอาจไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด

“อย่างที่กล่าวเตือนไปแล้วตอนต้น ทุกท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผม เพราะผมเองก็เชื่อว่าตนเองไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุด” คุณหมอกล่าวด้วยอารมณ์ขัน นี่เป็นวิธีคิดที่สอดคล้องกับวงจรของโคลบ์ด้วยเช่นกัน

“เราทุกคนควรหัดเชื่อตัวเองเพียงแค่ครึ่งเดียวเสมอ และสงสัยเอาไว้ก่อนว่าเราอาจจะไม่ได้คิดถูก แม้จะมีประสบการณ์จากขั้นที่ 1 คือ Concrete Experience มาแล้ว แต่ก็ไม่เสียหายที่หลังจากผ่านกระบวนการคิดมาแล้วในขั้นที่ 2 – 3 เราจะทดสอบความเข้าใจซ้ำอีกครั้งในขั้นที่ 4 หรือ Active Experimentation” ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวปิดท้าย