ความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนต้องใช้เวลา ผลลัพธ์ที่ตัวเด็กจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าของความตั้งใจ
สมปอง ยอดมณี : ผู้อำนวยการโรงเรียนชัยมงคลวิทย์ จังหวัดสงขลา

ความเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนต้องใช้เวลา ผลลัพธ์ที่ตัวเด็กจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าของความตั้งใจ

“ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ตอนที่โรงเรียนของเราเริ่มขับเคลื่อน TSQP โดยเริ่มจากนำนวัตกรรม Active Learning หรือการจัดการเรียนรู้เชิงรุกไปใช้ในห้องเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีก็คือมีแรงเสียดทานจากครูเยอะมาก เพราะการสอนแบบใหม่นี้ เป็นวิธีการที่ครูจะต้องปรับตัวหลายด้าน ครูส่วนใหญ่เคยชินกับการสอนจากตำรา ผมพยายามแก้ไขทัศนคติเรื่องนี้ ด้วยการบอกกับคุณครูของเราว่า ผมเชื่อมั่นในศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคน ทุกคนสามารถเขียนตำราสอนหนังสือเป็นของตัวเองได้ เมื่อเวลาผ่านไปและครูได้เห็นด้วยตัวเองว่า การสอนแบบใหม่ เป็นวิธีการที่ดีกว่า ครูก็มีแรงเสียดทานน้อยลง”

สมปอง ยอดมณี ผู้อำนวยการโรงเรียนชัยมงคลวิทย์ จังหวัดสงขลา แลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการโรงเรียนด้วยความภาคภูมิใจในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ กสศ. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

“นวัตกรรมที่ช่วยให้ผมเปลี่ยนโรงเรียนแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย ก็คือ Q-info หรือระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ครูที่นำ Q-info ไปใช้ตอนแรกก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่ามีประโยชน์อย่างไร แต่ผ่านไปหนึ่งภาคเรียนก็เริ่มเห็นว่าระบบฐานข้อมูลของเด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้สามารถนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาการศึกษาได้ในหลายมิติ”

หลังจากครูเริ่มเห็นว่านวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้ สามารถเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน เปลี่ยนแปลงไปถึงผลลัพธ์ที่ตัวเด็กได้จริง ครูทั้งโรงเรียนก็เริ่มยอมรับ แนวทางใหม่นี้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เห็นได้ชัด ก็คือเรื่องของสมาธิในการเรียน พวกเขาเรียนอย่างตั้งใจ และมีส่วนร่วมกับชั้นเรียนมากกว่าการสอนด้วยแนวทางเดิม เด็กหลายคน เปลี่ยนจากการเป็นเด็กขี้อายหรือกลัวไม่กล้าตอบคำถาม กลายเป็นกล้าตอบโต้กับครูมากขึ้น หลายคนมีทักษะการคิด ความกล้าแสดงออกมากขึ้น

ปีแรกที่ผมเข้าร่วมโครงการ TSQP (Teacher and School Quality Program) และไปรับฟังแนวทางในการใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนที่ถูกคิดค้นขึ้น ผมยังมีความสงสัย ลังเลใจ และคิดว่า เขาจะเอาอะไรมาเป็นฐานให้เราเดิน โรงเรียนก็ยังแกว่งไปแก่วงมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี มาตรการต่าง ๆ อย่างการกำหนดเป้าหมายโรงเรียนคุณภาพ ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่มีคุณภาพ การพัฒนาครูและผู้บริหารด้วยกระบวนการ Professional Learning Community (PLC) จัดการเรียนการสอนแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง Active Learning ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาสและมีความต้องการพิเศษ และ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียน ก็เริ่มเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างและส่งผลกับเด็กได้ชัดเจนมาก