เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม จัดงานมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกรมพินิจฯ (Thanks Giving Opportunities) ภายใต้กิจกรรมการสร้างการรับรู้และยกระดับความร่วมมือของเครือข่ายในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน (DJOP CONNECT) โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ พร้อมด้วย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ เป็นตัวแทนรับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ ซึ่งสะท้อนว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมผลักดันโครงการบูรณาการความร่วมมือเครือข่ายในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ประจำปีงบประมาณ 2567 ของกรมพินิจฯ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ขอบคุณเครือข่ายภาคีทุกหน่วยงานที่ร่วมกันสร้างอนาคตให้กับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เพราะสิ่งที่ยากและสำคัญที่สุดของการฟื้นฟูเยียวยา คือการให้โอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเองสำหรับผู้ก้าวพลาด โดยใช้การศึกษานำพาไปสู่การมีปัญญาและความคิด ทุกฝ่ายในที่นี้จึงถือว่าเข้ามาทำงานที่ยาก และเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงยุติธรรมต้องทำร่วมไปกับทุกหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้เข้มแข็งและขยายขอบเขตงานออกไปให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่องานกับ กสศ. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเด็กเยาวชน 1.2 ล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา กับกรมคุมประพฤติที่รับผิดชอบดูแลเยาวชนผู้พ้นโทษกลับไปอยู่ในสังคมราวปีละ 400,000 กว่าคน โดยในกลุ่มนี้มีเยาวชนถึง 80% ที่มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน
“เพราะการศึกษาคือตัวแปรสำคัญต่อจำนวนผู้กระทำผิดหรือผู้มีแนวโน้มกระทำผิด ดังนั้นพื้นฐานแรกของการลดจำนวนผู้ต้องโทษในกระบวนการยุติธรรม จึงต้องสนับสนุนให้การศึกษามีคุณภาพและทั่วถึง เพื่อให้ความรู้เข้าไปเปลี่ยนทัศนคติ และพาคนไปสู่การประกอบอาชีพ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจฯ ตระหนักและให้ความสำคัญกับการทำงานบูรณาการร่วมกับเครือข่าย ทั้งนี้เครือข่ายถือเป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญที่สามารถสนับสนุนช่วยเหลือในทุกมิติของการดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในสังคม รวมถึงเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยสามารถสนับสนุนช่วยเหลือให้เด็กเยาวชนเหล่านี้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุขด้วยการให้การศึกษา ทักษะวิชาชีพ และมีกระบวนการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูที่เหมาะกับสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมายเป็นรายคน ซึ่งการได้รับทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต จะทำให้สามารถดูแลตนเองและประกอบอาชีพได้ การทำงานที่ผ่านมา กรมพินิจฯ จึงแสวงหาความร่วมมือในทุกมิติของการดูแลเด็กและเยาวชน ตั้งแต่การสาธารณสุขทั้งสุขภาพกายและจิต การบำบัดแก้ไขฟื้นฟูตามลักษณะปัญหา การสนับสนุนการศึกษา การฝึกวิชาชีพ จนถึงการสงเคราะห์ช่วยเหลือภายหลังปล่อยตัว และการส่งต่อไปสู่การทำงาน
กรมพินิจฯ ยังได้รับความร่วมมือด้านวิชาการจากทุกเครือข่าย บนความมุ่งหวังว่าจะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิ งานสร้างการรับรู้และยกระดับความร่วมมือของเครือข่ายในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน (DJOP CONNECT) ที่จัดขึ้นครั้งนี้ จึงถือเป็นการยกระดับการทำงาน และเชิดชูเกียรติเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกรมพินิจฯ ไปพร้อมกัน โอกาสนี้ ขอขอบคุณไปยังทุกหน่วยงานเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเสมอมา และขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ทุกท่านได้มอบโอกาสที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นคนดีของสังคมและประเทศ ทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านต่อไป