ยิ้มไม่หุบทุกครั้งเมื่อเจอคำถาม “สอนลูกยังไง” : ความภาคภูมิใจจากพ่อแม่ครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ได้เห็นลูกเป็น ‘ครู’ ของชุมชน

ยิ้มไม่หุบทุกครั้งเมื่อเจอคำถาม “สอนลูกยังไง” : ความภาคภูมิใจจากพ่อแม่ครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ได้เห็นลูกเป็น ‘ครู’ ของชุมชน

“สอนลูกยังไง”

คนที่ยิ้มได้ทุกครั้งเมื่อเจอคำถามนี้คือ ป๊ะ (พ่อ) ชาญชัย งานแข็ง และ มะ (แม่) นิตยา สงวนไถ พ่อแม่ของมัส-ณัฐวุฒิ งานแข็ง นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จากเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ผู้ที่กำลังจะได้เป็นครูในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

มัสอยู่อาศัยที่เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา มาตั้งแต่จำความได้ โรงเรียนที่บ่มเพาะให้มัสเป็นคนที่ขยันและมุ่งมั่นได้ คือ โรงเรียนอ่าวมะม่วง ที่ตั้งอยู่ในเกาะยาวใหญ่

แม้ปัจจุบันมัสจะจบจากโรงเรียนนี้ไปหลายปีแล้ว และตัวเขาเองก็ไปศึกษาที่อื่น แต่ในอนาคตมัสกำลังจะได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง ไม่ใช่ในฐานะนักเรียน แต่เป็น ‘ครู’

มัสยอมรับว่า ตัวเองไม่ได้มีภาพที่ชัดเจนมากนักว่าอยากประกอบอาชีพอะไร เพราะยังไม่มีแรงบันดาลใจที่ชัดเจน หันไปมองเพื่อนๆ รอบตัวก็ทำงานที่แตกต่างหลากหลาย เช่น ทำงานโรงแรม เป็นไกด์นำเที่ยว หรือเป็นชาวประมง เป็นต้น แต่อาชีพเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่อาชีพที่มัสอยากทำสักเท่าไหร่

แต่เพราะโครงการ ‘ครูรักษ์ถิ่น’ ที่สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) (รายละเอียด https://www.eef.or.th/fund/teachereef) ทำให้เขามีความสนใจในอาชีพครูมากขึ้นและตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางนี้ในที่สุด

ตอนนี้ความตั้งใจของมัสกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ มัสได้รับทุนจากโครงการครูรักษ์ถิ่นรุ่นที่ 1 ปัจจุบันมัสเรียนอยู่ปี 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะครุศาสตร์ สาขาการประถมศึกษา และกำลังรอเวลาที่จะได้กลับเป็นครูที่โรงเรียนบ้านเกิดอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้

เบื้องหลังความสำเร็จของมัสมีใครบางคนคอยให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง คนเหล่านั้นคือป๊ะและมะนั่นเอง

พ่อและแม่ บุคคลสำคัญที่สร้างครูรัก(ษ์)ถิ่น

“เลี้ยงง่าย พูดง่าย ไม่ดื้อ”

หากถามเรื่องนิสัยใจคอของมัสคนที่จะตอบได้ดีที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน คำตอบนี้เราได้มาจากพ่อและแม่ของมัสนั่นเอง การที่ได้เห็นลูกชายคนโตคนนี้กำลังเป็นครูและมีอนาคตที่สดใสคือความปรารถนาหนึ่งที่ป๊ะและมะเฝ้ารอมาตลอด

ทั้งป๊ะและมะยิ้มกว้างทุกครั้งที่เราถามว่าอุปนิสัยและพฤติกรรมของมัสเป็นอย่างไร เพราะทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ในบทบาทการเป็นลูก มัสไม่มีอะไรที่ขาดตกบกพร่องเลย ถึงจะมีบ้างที่มัสดูเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่โดยรวมแล้วมัสคือเด็กดีคนหนึ่ง

ทั้งป๊ะและมะต่างต้องการส่งลูกไปให้ถึงฝั่งฝัน มัสเองก็ต้องการอย่างนั้น เมื่อจบมัธยม 6 มัสก็อยากเรียนต่อ แต่ติดอุปสรรคตรงทุนการศึกษาและฐานะทางบ้านไม่สู้ดี

จนกระทั่งวันประชุมผู้ปกครอง ครูที่โรงเรียนอ่าวมะม่วงก็แนะนำให้ทั้งป๊ะและมะรู้จักกับโครงการ ‘ครูรักษ์ถิ่น’ เพราะเห็นว่านี่อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็กที่ขยันและตั้งใจอย่างมัส

“ถ้าเอาตามแผนเดิมที่เรียนต่อสายอาชีพ มัสเขาต้องยายจากเกาะยาวไปอยู่กระบี่ ค่อนข้างเป็นห่วงอยู่เหมือนกัน” ป๊ะกล่าว

ที่อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีทั้งป๊ะและมะรวมถึงพี่น้องคนอื่นๆ อยู่อาศัย รวมถึงมัสเองก็เกิด เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาตลอด การมีทางลือกอื่นเพิ่มขึ้นมาก็ทำให้ป๊ะและมะ รวมไปถึงตัวมัสเองสนใจอยู่ไม่น้อย อีกทั้งสถานะการเงินของที่บ้านก็ห่างไกลจากคำว่าสบายตัว การเข้ารับทุนครูรักษ์ถิ่นจึงตอบโจทย์มาก

“มัสมีพร้อมทุกอย่างทั้งเรื่องความขยัน ความเอาจริงเอาจัง และความมุ่งมั่น ป๊ะเชื่อว่าเขาอยากจะเป็นอะไร เขาเป็นได้แน่นอน แต่เพราะที่บ้านเราอาจไม่มีทุนมากพอที่จะส่งเขาได้อย่างราบรื่น มันเลยเป็นเหมือนข้อจำกัดอย่างหนึ่ง”

ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กอีกหลายร้อยคนที่มุ่งมั่นอยากจะเรียนต่อ มัสเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีความฝันอยากเรียนต่อและตั้งใจไว้ว่าจะต้องทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ

“พอได้ยินโครงการเราก็ให้เขาลองไปสมัคร เพราะได้เป็นครูด้วย แถมได้ทุนในการเรียนด้วย จนพอทางโครงการเขาประกาศว่าลูกเราได้ทุนนะ ป๊ะกับมะก็ดีใจมากเลย”

ในที่สุดความฝันของมัสก็ได้ถูกสานต่อ ก้าวต่อไปคือการเตรียมพร้อมเพื่อเป็นครูที่ดี ซึ่งทั้งป๊ะและมะเชื่อว่า มัสจะเป็นครูและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กคนอื่นๆ ในสังคมได้

อยู่ใกล้บ้าน คือ ความต้องการของเด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น

ตีหนึ่ง 

ช่วงเวลาที่ใครหลายคนหลับ แต่ป๊ะกับมะคือบุคคลที่ลุกขึ้นมารับสายโทรศัพท์จากมัสในช่วงที่ต้องเดินทางออกจากเกาะยาว ไปเรียนที่ยะลา

ถึงแม้ว่าปลายทางมัสจะได้กลับมาเป็นครูที่เกาะยาวและอยู่อาศัยกับชุมชนที่ตัวเองคุ้นเคยอย่างเดิม แต่ในช่วงเวลาของการเรียนมัสต้องไปเรียนที่ยะลา ทั้งป๊ะและมะก็ไม่ได้ติดปัญหาอะไร แน่นอนว่าต้องมีห่วงกันบ้างตามประสาคนเป็นพ่อแม่ แต่เขาก็อยากให้ลูกได้เติบโตจากประสบการณ์นี้ด้วย

“พื้นเพเขาเป็นคนเงียบๆ ด้วย เขาก็ต้องไปอยู่กับสังคมใหม่ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน ไปพบกับผู้คนมากหน้าหลายตา มีบ้างที่เขาเครียดหรือกังวัล เราก็จะอยู่ตรงนี้ รอให้กำลังใจเขา”

การเดินทางออกจากเกาะยาวครั้งนี้อาจจะมีเส้นทางที่ขรุขระทำให้หวั่นใจและกังวลกันบ้าง แต่เพราะกำลังใจที่ดีจากคนที่บ้าน ทำให้มัสกลับมามุ่งมั่นใจได้ในเร็ววัน เพราะทุกครั้งที่มัสเจอปัญหา คนที่บ้านนี่แหละจะทำให้เขาสบายใจ

“ครอบครัวรอรับฟังและเป็นกำลังใจให้มัสเสมอ บางทีเขาเจอเรื่องเครียดหรือไม่สบายใจเขาก็จะโทรมาปรึกษาเรา มีครั้งหนึ่งที่เขาโทรมาตอนตีหนึ่ง มะหลับไปแล้ว แต่ป๊ะก็ตื่นมาคุยกับเขา เราก็แนะนำเขาว่า ถ้าหากเจอเรื่องที่ทำให้เราคิดมากก็ต้องหัดลดละบ้าง อย่าเก็บทุกเรื่องมาใส่ในหัวใจ”

คำแนะนำของป๊ะและมะทำให้มัสมีแรงอยู่ยะลาต่อไป แม้จะแปลกถิ่นแปลกหน้า แต่เสียงโทรศัพท์จากป๊ะและมะทำให้มัสรู้สึกอุ่นใจเหมือนอยู่บ้านได้เสมอ

แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้กลับบ้านเลย มัสกลับมาที่เกาะยาวอีกเนื่องจากโครงการครูรักษ์ถิ่นมีหลักสูตรที่ให้ครูทุกคนไปสังเกตการณ์ที่โรงเรียนปลายทาง ในช่วง 3 ปีแรก และตอนปี 4 ถึงจะได้ฝึกสอน 1 เทอม มัสเลือกโรงเรียนอ่าวมะม่วงซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้านเขาจึงได้กลับมาที่เกาะยาวทุกปี ป๊ะและมะก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกชายคนนี้เป็นระยะ

“เขาเป็นคนเงียบๆ นะ แต่พอหลังจากกลับมาจากยะลา เราเห็นเลยว่าเขาพูดมากขึ้น แสดงออกมากขึ้น ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นด้วย เราเริ่มเห็นว่าเขาดูเป็นคนคิดนอกกรอบอีกด้วยนะ”

มะกล่าว และไม่ใช่แค่ป๊ะกับมะที่เห็นพัฒนาการของมัส แม้แต่คุณครูกุศล บุญสบ ที่โรงเรียนอ่าวมะม่วงผู้เป็นคนสอนมัสมาตั้งแต่เด็กก็เห็น

“เราก็สอนมาตั้งแต่ประถม กลับจากยะลามาเราเห็นเลยว่ามัสเขาโตขึ้นเยอะ เขาดูเป็นคนที่มีความมั่นใจมากขึ้น มาฝึกงานที่โรงเรียนก็ช่วยคุณครูได้เยอะเลย ทั้งเรื่องสื่อการสอนแล้วก็เรื่องอื่นๆ ด้วย เขาจะเก่งด้านเทคโนโลยีก็เอามาสอนทั้งครูกับนักเรียนที่นี่ได้”

นอกจากที่ป๊ะและมะจะเป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิตให้กับมัสแล้ว พวกเขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับงานนวัตกรรมชุมชนที่เป็นโครงการของมัสอีกด้วย ซึ่งมัสเลือกที่จะทำนิทานเกี่ยวกับเกาะยาว เพื่อให้ความรู้เด็กๆ และแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักพื้นที่แห่งนี้มากยิ่งขึ้น

“มัสมาปรึกษาป๊ะกับมะและเก็บข้อมูลนานมาก เราก็แนะนำเขาไปว่าที่เกาะยาวเราจะโดดเด่นเรื่องศาสนาอิสลาม และการท่องเที่ยว มีเรื่องของโต๊ะครูแอที่เขาเป็นครูที่โด่งดังเรื่องของการปฏิบัติตามศาสนาและมีลูกศิษย์ให้ความเคารพมากมายในเกาะยาวด้วย มัสก็เอาข้อมูลจากเราตรงนี้ไปพัฒนาเป็นงานเขาต่อ”

ความเป็นคนเกาะยาวไม่เคยหายไปจากมัส ด้วยเหตุนี้เองทั้งเขาและครอบครัวจึงดีใจมากที่จะเห็นมัสเป็นครูที่นี่ ป๊ะเล่าว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะป๊ะได้เห็นปัญหาจากโรงเรียนในละแวกใกล้เคียงว่ามีครูมาสอนไม่กี่ปีแล้วก็ย้าย อีกทั้งถ้าได้ครูที่เป็นคนดั้งเดิมมันดีต่อเด็กตรงที่วัฒนธรรมและภาษาของชาวเกาะยาวจะยังไม่หายไปไหน เพราะมีครูที่เป็นคนท้องถิ่นส่งต่อให้คนรุ่นหลังต่อๆ ไป

“พอเป็นครูคนบ้านเดียวกัน มันก็จะทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้น เราก็ยังได้เห็นภาษาท้องถิ่นถูกใช้อยู่ วัฒนธรรมของเกาะยาวก็จะเข้มแข็งมากขึ้นด้วย”

ด้วยความที่อยู่เกาะยาวมานาน ป๊ะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ว่า คนรุ่นใหม่เริ่มเดินทางออกไปหางานทำนอกพื้นที่กันแล้ว การที่โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ทำงานในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้ชุมชนกับมาสมานกันได้อีกครั้ง

เป็นลูกที่ดี และเป็นครูที่สอนด้วย ‘หัวใจ’

“เราบอกเขาเสมอ การเป็นครูเรื่องของหัวใจมันต้องเยอะ”

ป๊ะเชื่อว่าครูที่ดี ไม่ใช่แค่ครูที่ฉลาด แต่คือครูที่สอนนักเรียนด้วยหัวใจ เป็นครูที่มีความเข้าใจเด็กและพร้อมที่จะสร้างให้อนาคตเด็ก แน่นอนว่ามัสก็ไม่ละทิ้งความเชื่อตรงนี้และเอาคำแนะนำจากป๊ะมาประกอบในอาชีพครูต่อไป

“การทำอาชีพครู มันท้าทายตรงที่ถ้าสอนให้นักเรียนในทางที่ดี เขาก็จะเติบโตได้อย่างดีไปเลย แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจหรือสอนเขาไม่ดี วันหนึ่งสิ่งที่เราสอนไปมันอาจจะทำร้ายนักเรียนและตัวเราเองได้นะ”

มัสเป็นคนแรกในครอบครัวที่เป็นครู ถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวไม่น้อย รวมถึงคนในชุมชนอื่นๆ ที่ร่วมแสดงความยินดีกับมัสด้วย บางคนถึงกับขั้นถามเลยว่า “สอนลูกยังไง” ป๊ะได้แต่หัวเราะและตอบกลับว่าเขาก็สอนปกติเหมือนพ่อแม่คนอื่นๆ 

การเดินทางของมัสยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เส้นทางการเป็นครูของเขายังมีอะไรให้ได้เจออีกมากมาย ซึ่งในฐานะคนเป็นพ่อแม่ ป๊ะและมะก็หวังว่าลูกของเขาจะประสบความสำเร็จได้ด้วยดีตามที่มัสปรารถนา พร้อมทั้งขอบคุณครู ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มัส และโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ทำให้มัสมีวันนี้

ส่วนป๊ะและมะก็ยังคงอยู่ที่เกาะยาวเหมือนเดิมและเฝ้ารอวันที่มัสเรียนจบ จนได้มาเป็นครูที่เกาะยาวในเทอมต่อไปที่จะถึง