“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น” ได้ถูกออกแบบหลักสูตรพิเศษเฉพาะให้เหมาะกับการเข้าไปทำงานตรงตามปัญหาการศึกษาโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ผลิตครูที่รักถิ่นฐาน พัฒนาชุมชน ลดปัญหาการโยกย้าย เพื่อเป็นแนวทางการผลิตและพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ ด้วยการสร้างคนในชุมชนนั้นๆ ผ่านการให้ทุนการศึกษาวิชาชีพครู สู่การเป็นคุณครูของชุมชน จนกลายเป็น ‘ครูคนใหม่ที่คุ้นเคย’ และพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน
ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องเป็น ‘ครู’ และ ‘นักพัฒนาชุมชน’ ไปพร้อมกัน และเพื่อให้ได้บัณฑิตครูคุณภาพตามเป้าหมายที่โครงการตั้งเป้าไว้ ครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงต้องผ่านแบบประเมินสมรรถนะของการเป็นครูนักพัฒนาชุมชน หนึ่งในนั้นคือการผลิต ‘นวัตกรรม’ 1 ชิ้น หลังจบการฝึกสอนในช่วงการเรียนปี 4
นวัตกรรมการเรียนรู้ คือชิ้นงานหรือโครงการที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นจากการศึกษา และวิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการจำเป็นของชั้นเรียน โรงเรียนและชุมชน แล้วนำมาพัฒนาชิ้นงานสื่อการจัดการเรียนรู้หรือโครงการนวัตกรรมที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับสาขาวิชาเอกที่นักศึกษาทุนฯศึกษาอยู่ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาของชั้นเรียน โรงเรียนและชุมชน โดยมีกระบวนการ ตั้งแต่การศึกษาปัญหา ออกแบบ พัฒนานวัตกรรม นำไปทดลองใช้ ปรับปรุงแก้ไข ประเมินผลและเผยแพร่ยังกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนปลายทาง
โรงเรียนบนภูเขา, เสี่ยงภัย, ชายแดน, ทุรกันดาร, บนเกาะ, ชนกลุ่มน้อย, โรงเรียนพระราชดำริ,โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ, พื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลัง, โรงเรียนร่วมพัฒนา และโรงเรียนไม่ทุรกันดารแต่ขาดแคลนครู ทั้งหมดคือกลุ่มโรงเรียนเป้าหมายของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 จะได้ไปครูเต็มตัวในไม่กี่เดือนนี้ ซึ่งพวกเขาต่างคุ้นเคยกับโรงเรียนและพื้นที่เป็นอย่างดี จากการลงสังเกตุการณ์ปีละ 1 ครั้ง และฝึกสอนแบบเต็มตัวกว่า 3 เดือน หรือนับเป็นหนึ่งเทอมการศึกษา จนสามารถรับรู้ปัญหาเชิงพื้นที่ หรือการเรียนการสอน จนกลายมาเป็นนวัตกรรมของแต่ละคน
เราอยากชวนดูนวัตกรรมที่น่าสนใจของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ว่าที่ผ่านมาเขาพยายามแก้ปัญหาโรงเรียน และชุมชนผ่าน นวัตกรรมอย่างไรบ้าง
เรื่องเล่าเกาะยาว เพื่อคนรุ่นหลัง
‘มัส’ ณัฐวุฒิ งานแข็ง ก็คือเด็กทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่กำลังจะกลับไปสอนที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา โรงเรียนบนเกาะที่ตั้งอยู่ระหว่างภูเก็ต พังงา และกระบี่
เกาะยาวกลายเป็นเกาะรองท่องเที่ยว จากกระบี่ และภูเก็ต ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โอกาสการทำงานส่วนใหญ่ถูกผูกขาดอยู่กับงานบริการ หรือท่องเที่ยว หากอยากทำงานนอกเหนือจากนั้น หรือเบื่อการทำสวน ต้องนั่งเรือขึ้นฝั่งประมาณ 30 นาทีเพื่อหาโอกาสอื่นๆ ให้ตัวเอง
เรื่องราวของเกาะยาวโดยเพราะ ‘บ้านโละโป๊ะ’ ที่มัสอาศัยอยู่ จึงกลายมาเป็นนวัตกรรมชื่อว่า ‘นิทาน 10 เรื่องเกาะยาว’ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ โรงเรียนอ่าวมะม่วง
“นิทานเกาะยาวเรื่องแรกจะเกี่ยวกับจะเล่าถึงความเป็นมาของเกาะยาวก่อน จะเล่าแบบกว้างๆ แล้วก็จะโยงเข้ามาในชุมชน จบด้วยเรื่องของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนสําคัญเพราะส่วนใหญ่นักเรียนจะไม่ค่อยรู้ว่าเดิมทีแล้วโรงเรียนอ่าวมะม่วงไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้นตั้งแต่แรก แต่ว่าจริงๆ แล้วโรงเรียนเคยอยู่ที่ริมทะเล”
ชุดหนังสือนิทานเรื่องเล่าชาวเกาะ มีทั้งหมด 10 เล่ม โดยจะเริ่มจากเรื่อง Wเรามาจากไหน’ โดยมีตัวละครครู และนักเรียนถามตอบกันเรื่องประวัติที่มาของเกาะยาว
“ครูจะเล่าให้ฟังนะ เขาบอกว่าบรรพบุรุษชาวเกาะยาวได้ย้ายมา จากชายฝั่งเมืองตรัง เมืองสตูล และเมืองอื่นๆ ที่อยู่ชายฝั่ง จนกระทั่งได้พบเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ และเห็นว่าสองเกาะนี้เป็นทำเลที่เหมาะสมที่จะหลบภัยได้ดีจึงได้ยึดเป็นที่หลบภัยและตั้งหลักแหล่งทำมาหากินจนถึงปัจจุบันนี้ไง”
นี่เป็นตัวอย่างเนื้อหาในนิทานในบทที่ 1 โดยนิทานในบทต่อๆ ไปจะเล่าถึงที่ตั้ง ศาสนา ปลากระตักของดีประจำถิ่น กาละแม และอื่นๆ ที่เกาะยาวควรจะรู้เรื่องเหล่านี้
มัส บอกที่มาว่าด้วยความที่โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอด บางสิ่งบางอย่างที่เป็นเรื่องราวเก่าๆ เป็นตำนาน หรืออะไรต่างๆ มันก็เริ่มจะหายไปตามบุคคลที่เสียชีวิต ถ้าไม่มีการสานต่อเรื่องราวต่างๆ คนรุ่นหลังอาจจะไม่รู้ว่าเกาะยาวมีความเป็นมาอย่างไร แล้วก็มีใครบ้างที่เป็นและเคยเป็นบุคคลสำคัญในชุมชน โดยแหล่งข้อมูลที่มัสใช้อ้างอิง ก็มาจากพ่อของตัวเอง และโต๊ะครู (ผู้มีความรู้ประจำชุมชน)
“ผมแต่งนิทานขึ้นมาเอง แต่ข้อมูลทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน หรือเล่าเรื่องคนสำคัญที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะว่าอยากรักษาเรื่องราวที่อยู่ในชุมชนให้คนรุ่นหลังได้รู้ถึงเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน”
ชง – เชื่อม – ใช้ นวัตกรรมแบบจิตศึกษา เพื่อตั้งต้นแก้เด็กไม่กล้าคุยกับครู
“แป๋มฝึกสอนที่ระดับชั้นอนุบาล 3 ทั้งชั้นมีเด็กประมาณ 13 คน พอไปลองสอนดูแล้วเจอตั้งแต่แรกว่าเด็กไม่ค่อยกล้าแสดงออกในชั้นเรียน ไม่กล้าคุยกับครู ไม่กล้าตอบคำถาม อ่านออกเขียนได้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เลยทำนวัตกรรมเรื่อง หนูน้อยนักวิทย์พัฒนาทักษะการคิดด้วยกิจกรรม PBL (Problem Based Learning)”
‘แป๋ม’ วรรณนิษา แสงศรี นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ แป๋มเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนปลายทางจึงอยู่ที่โรงเรียนบ้านหลักป้ายประชานุเคราะห์ ต.โพนงาม อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีการสอนถึงแค่ระดับมัธยมปีที่ 3 โดยปีล่าสุดมีจำนวนนักเรียน 250 และมีครูรวมบุคลากรอัตราจ้างแค่ 20 คน
จากการเป็นผู้ช่วยฝึกสอนระยะเวลากว่า 1 เทอมที่โรงเรียนบ้านหลักป้ายประชานุเคราะห์ โดยรับผิดชอบดูแลระดับชั้นอนุบาล 2 และ อนุบาล 3 เป็นบางคาบ ทำให้แป๋มเห็นปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กๆ จนกลายมาเป็นวัตกรรมการศึกษา
“เด็กๆ พอให้เขาเล่นกันเองเขาเล่นกันได้ปกติ แต่พอตอนเรียน ครูถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ ไม่ค่อยสนใจ เราคิดว่าเป็นปัญหา ซึ่งช่วงที่ฝึกสอนก็ได้ไปลงพื้นที่เจอครอบครัวเด็กๆ เจอว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่อยู่กับตายาย หรือไม่ก็ถูกเลี้ยงให้อยู่กับโทรศัพท์”
แป๋มเล่าว่า จุดประสงค์หลักๆ คือให้เด็กคิดแบบมีเหตุผลมากขึ้น กล้าพูด กล้าตอบ สิ่งที่ได้ออกมาคือ ตารางกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้เล่น แบ่งเป็น 4 หน่วยการเรียนรู้ คือ 1. หนูทำได้ ปัญหามาจากเด็กๆ ใส่กระโปรงไม่ได้ด้วยตัวเอง 2.ฤดูฝนจ๋า ให้เด็กๆ เรียนรู้การเกิดฝน 3.อาหารดีมีประโยชน์ และ 4.ข้าวแสนอร่อย เพราะเกิดจากที่เด็กๆ ไม่ค่อยทานผัก และข้าวที่โรงเรียน
โดยแป๋มไปเจอการใช้ ‘จิตศึกษา ชง-เชื่อม-ใช้’ ของเพจ I AM KRU. สังคมสร้างสรรค์ของคนสอน จึงดึงเอาหลักการนี้มาทำสื่อการสอนให้เด็กๆ หันมาสนใจในคาบการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยตั้งต้นมาจากปัญหาที่เจอที่เรียกว่า Problem Based Learning หรือ PBL
“หลักการชง-เชื่อม-ใช้ จะเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นในห้องเช่นหน่วยการเรียนรู้ที่ 3.อาหารดีมีประโยชน์ น้องอนุบาลจะได้ดูนิทานเรื่องหนูนิดไม่ชอบทานผัก แล้วหลังจากดูจบก็ตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่าทำไมเขาไม่ทาน แล้วอะไรจะทำให้กินผักได้ เป็นคำถามง่ายๆ อันนี้คือการชงให้คิด ขั้นตอน ‘เชื่อม’ ก็มีกิจกรรมให้มาแก้ปัญหาที่เข้ากับตัวเองอย่างเรื่องทานผัก แล้วขั้นตอน ‘ใช้’ ก็สร้างกิจกรรมทำแซนวิชผักสลัดแล้วกินกันในห้อง และที่เป็นแซนวิช มาจากการถามเด็กๆ ว่าเรื่องกินผัก อยากทำเมนูอะไร เด็กๆ ก็ช่วยกันโหวตในสิ่งที่เขาไม่ค่อยได้กิน”
‘ลูกยาง’ ของดีประจำห้วยตาเปอะ มุกดาหาร สื่อการสอนจากของที่มีในชุมชน ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน
“ปัญหาหลักๆ คือโรงเรียนโดยเฉพาะชั้นอนุบาล 3 ที่ไปฝึกสอนไม่มีสื่อการสอน หรือมีน้อย เด็กๆ ก็จะมีเกมให้เล่นเท่าที่มี หรือเขียนกระดาษเป็นหลัก”
‘เบียร์’ อัมรินทร์ สุวรรณมงคล นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ บอกที่มาของนวัตกรรมที่ต่ออยอดมาจากการลงไปฝึกสอนที่โรงเรียนบ้านห้วยตาเปอะ อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสบนหุบเขา
จากการไปฝึกสอนรวมระยะเวลากว่า 3 เดือน หรือนับเป็น 1 ภาคการศึกษา เบียร์พบว่าสื่อการสอนขาดแคลนในระดับที่ต้องแก้ปัญหา เบียร์มองว่าสื่อการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาการเด็กปฐมวัย
“คนที่นี่ทำสวนยางพารา และปลูกมันสำปะหลัง เราเห็นว่าลูกยางพาราน่านำมาใช้ในการเรียนการสอนและต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนได้ เลยตั้งเป้าหมายไปที่ให้สภานักเรียนทั้ง 11 คนก่อน ให้พวกเขาลงพื้นที่ชุมชน ช่วยกันคิดว่าจะเอาลูกยางมาทำอะไร”
แผนงานของเบียร์ คือใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาสื่อ และสร้างประโยชน์เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุจากธรรมชาติโดยมีสภานักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสื่อและพัฒนาสื่อสร้าง และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทของที่ระลึกหรือเครื่องประดับ
“วางแผนกับกลุ่มสภานักเรียนให้ลงไปคุยกับคนในชุมชนเพื่อดูว่าเขามีความเห็นยังไง แล้ววางแผนขั้นต่อมาคือทำสื่อจากลูกยางพารา จนสุดท้ายกลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมากเก็บเต่าทองจากลูกยางพารา พอผ่านขั้นตอนนี้ก็มีการจัดบูธให้คนในโรงเรียนเข้ามาชม เชิญผู้ปกครองมาด้วย มีการจำลองขายได้ ซึ่งผู้ปกครองก็สนใจ”
ที่เบียร์เน้นการทำงานร่วมกันกับสภานักเรียน ไม่ได้เน้นกลุ่มนักเรียนที่ไปฝึกสอนตั้งแต่แรกเพราะว่า ต้องการให้สภานักเรียนเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนและชุมชนเข้าด้วยกัน
“แล้วหลังจากนั้นก็เอาสื่อพวกนั้นมาสอนน้องๆ อนุบาล น้องสนใจกันเยอะ ส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำไว้ก็อาจจะต่อยอดขายเช่น พวงกุญแจลูกยางพารา สร้อยข้อมือลูกยางพารา กิ๊บลูกยางพารา ตุ้มหูลูกยางพารา”
‘เอ็มมาดพาเที่ยว’ นิทานให้เด็กชาติพันธ์ดารางอังนับเลขได้ ลบเลขเป็น
“โรงเรียนบ้านหัวนาเป็นโรงเรียนบนดอย ตอนไปฝึกสอนครั้งแรก กลัวมากเพราะเด็กในโรงเรียนมีแต่คนดาราอาง และไทใหญ่ ฟังภาษาเขาไม่รู้เรื่องเลย พอปรับตัวไปเรื่อยๆ ก็เจอว่าเด็กอนุบาลบวกเลขไม่เป็นเลย”
‘แคท’ จิตสุภา สมบูรณ์ นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ถูกบรรจุโรงเรียนปลายทางที่โรงเรียนบ้านหัวนา ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้คนในชุมชน และนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ‘ดาราอัง’(บางทีเรียกดาราอั้ง) และ ‘ไทใหญ่’
ผลงานนวัตกรรมของแคทมีชื่อว่า ‘เอ็มมาดพาเที่ยว’ เพื่อส่งเสริมให้เด็กระดับอนุบาล 2 สามารถนับจำนวนตัวเลขได้ โดยแคทบอกว่าตามมาตรฐานเด็กอนุบาลต้องมีความรู้วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานที่สามารถบวกลบเลขไม่เกินหลัก 5 ได้คล่อง
“นิทานจะเล่าเรื่องเอ็มมาด (ชือของเด็กนักเรียนในห้อง) ตอนที่ 1 จะเล่าเรื่องพาเที่ยวสวนส้ม แล้วเนื้อเรื่องจะเป็นการไปเก็บส้มลงตะกร้า แล้วถามว่าส้มเหลือกี่ผลประมาณนี้ เพื่อให้เด็กไปอ่านนิทานแล้วคิดตาม แต่รายละเอียดที่ใส่ในนิทานเป็นเรื่องในชุมชนหมดเลยหรือนิทานตอนที่ 2 คือเอ็มมาดไปงานวัด มีการแสดงในนั้น โจทย์ในนิทานก็ถามว่าคนแสดงมีกี่คน”
นิทานของแคทมีทั้งหมด 6 เรื่อง จะถูกเล่าให้กับเด็กๆ ในชั้นเรียนฟังในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ โดยบางช่วงจะมีการทำกิจกรรมนับส้มกันจริงๆ หรือการเชิญวิทยากร ปราชญ์ชุมชนเข้ามาบรรยาย โดยยึดหลักการเอาชุมชนมาพัฒนานักเรียน
แคทเพิ่มเติมว่าในนิทานจะมีสีสันสดใส โดยตัวละครจะใส่เสื้อผ้าที่แปลกตาไปจากชุดนักเรียน เพราะนั่นคือชุดประจำชาติพันธุ์ อย่างสีแดงคือชุดประจำชาติพันธุ์ ของชาวดาราอาง และชุดสีน้ำตาลคือชุดประจำของชาวไทใหญ่ นอกจากนี้การเลือกโลเคชั่นในนิทานก็มาจากสภาพพื้นที่ของชุมชนที่มักจะมีไร่ส้มจำนวนมาก
“นิทานสอนที่ 2 พาไปเที่ยวงานวัดในนั้นก็จะใส่การแสดงสำคัญ หรือประเพณีสำคัญเข้าใปให้เห็น เช่นงานปอยเทียน งานปอยส่างลอง”