1,155
คือตัวเลขโรงเรียนในประเทศไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่อาจจะยุบหรือควบรวมกับโรงเรียนใหญ่ๆ ได้ แต่โรงเรียนเหล่านี้ต้องดำรงอยู่ต่อไปเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กๆ แต่การจะปกป้องโรงเรียนเหล่านี้ได้ ต้องย้อนกลับไปแก้ที่รากของปัญหาคือ ครูขอย้ายบ่อย
ไม่ได้ต้องการแค่ครู แต่ต้องเป็นครูที่รัก(ษ์)ถิ่น
“ครูย้ายเพราะไม่ใช่บ้านเกิดของเขา มันอยู่ไม่ได้ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษา บางคนถูกบรรจุขึ้นไปอยู่บนดอย ไปเพื่อเอาตำแหน่งไว้ก่อน นักเรียนเกือบทั้งโรงเรียนเป็นชนเผ่า ครูก็พูดภาษาชนเผ่าไม่ได้ วิถีชีวิตก็ไม่คุ้นเคย พอครบเทอมเขาก็ขอย้ายออก”
หากโรงเรียนไร้ครู ที่นั่นย่อมไม่ถูกเรียกว่าโรงเรียน รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวไว้
“คนอยากเป็นครูเพราะอยากเป็นข้าราชการ เพราะฉะนั้นตอนแรกสอบได้ที่ไหนไปที่นั่นเพื่อเอาตำแหน่งไว้ก่อน พอไปถึง เขาไม่ใช่คนในพื้นที่ ไปแล้วมันอยู่ไม่ได้ บางคนไปอยู่ไม่ถึงเดือนก็เขียนขอย้ายแล้ว ดังนั้นโรงเรียนกลุ่มนี้ครูย้ายบ่อยมากก็จะขาดครู บางทีไม่มีผอ.เป็นปีๆ บางทีมีผอ.คนเดียวกับภารโรง เพราะครูย้ายออก สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ก็บรรจุครูคืนให้ไม่ทัน ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นปัญหาที่พูดกันมาทุกรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหายังไง ครูน้อย ครูไม่ครบชั้น”
“ครูรัก(ษ์)ถิ่น เกิดขึ้นเพราะปัญหาโรงเรียนในประเทศไทยที่มีกว่า 30,000 กว่าโรงเรียน ในจำนวนนี้มี 15,000 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร เกาะ ภูเขา ซึ่งมีนักเรียน 20-30 คน จนถึงไม่เกิน 100 คน ถัดจากนั้นเป็นโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่”
จุดตั้งต้นโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น จึงปักหมุดที่โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในภาวะที่ยุบก็ไม่ได้ ควบรวมก็ไม่ได้ แต่ยังไงก็ต้องมี
ความยั่งยืนในระบบการศึกษาต้องการมากกว่า ‘ครู’ การแก้ปัญหาให้ตลอดรอดฝั่งจึงไม่ใช่แค่การหาครูมาทดแทน หรือการประกาศจ้างงานครูตามระเบียบเท่านั้น แต่ต้องการครูที่เข้าใจชุมชน เข้าใจบริบทแวดล้อมของโรงเรียน จึงเป็นที่มาของโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ทุนสร้างโอกาสเพื่อผลิตครูจากชุมชน และเพื่อมอบครูสู่ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
มากกว่าผลิตครู คือการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตครู
ในปี 2567 นี้ โรงเรียนห่างไกลทั้งโรงเรียนบนพื้นที่สูง โรงเรียนตามแนวชายขอบ โรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะแก่ง และโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย กำลังจะได้ต้อนรับครูหน้าใหม่ ที่คุ้นเคยกับโรงเรียนไม่น้อยกว่าใครเข้าบรรจุเป็น ครูครับ-ครูขา ของนักเรียนในชั้นต่างๆ ภายใต้โครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ กว่า 300 คน
ตัวเลข 300 คนจะกระจายไปเติมเต็มในตัวเลข 1,155 ของโรงเรียนห่างไกล ตั้งเป้าเอาไว้เป็นตัวเลขที่มากกว่านั้นด้วยคือ 1,500 โรงเรียน โดยหมุดหมายของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมองว่านอกจากจะเพิ่มจำนวนครูแล้ว ยังเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่มีฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 แรกของประเทศ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (learning access & learning outcome) และกลับไปเพิ่มโอกาสให้นักเรียนในชุมชนบ้านเกิดตนเองเพื่อตัดวงจรความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลอย่างยั่งยืน
“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมีจุดประสงค์คือการผลิตครู แต่เป้าหมายลึกๆ คือปรับเปลี่ยนระบบการผลิตครู” ผศ.ดร.พิศมัย รัตนโรจน์สกุล ตอบชัดในมุมของผู้จัดการโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ดังนั้นแล้วสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นคือระบบการค้นหาคัดกรองเด็กนักเรียนทุนโดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนต้นน้ำของการผลิตครูคือให้สถาบันที่สอนครูเข้าใจครูมากขึ้น
“จากเดิมที่มหาวิทยาลัยสอนตามหลักสูตรแกนกลาง รอเด็กมาสมัครเรียนแล้วเรียนจนจบ 4 ปีก็ตัดขาดจากการ ระบบแบบนี้อาจจะไม่ได้เหมาะสมกับทั้งหมด โดยเฉพาะกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล หรือทุรกันดาร เพราะโรงเรียนต้องการครูเฉพาะในแบบของเขา”
ผศ.ดร.พิศมัย มองว่าการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการค้นหาคัดกรองเด็กนักเรียนไม่ใช่เพื่อให้ได้เด็กมาเรียนอย่างเดียว แต่คือการศึกษาบริบทรอบๆ ตัวนักศึกษา
“เมื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยรู้แล้วว่าเด็กคนนี้อยู่แบบไหน ยากจนแค่ไหน แล้วต้องกลับไปสอนโรงเรียนปลายทางแบบไหนเรื่องพวกนี้จึงต้องมีการคิดว่าควรเสริมอะไรบ้างอย่างในการสอน อาจจะไม่ใช่ความรู้ แต่รวมถึงทักษะอาชีพหรือทักษะชีวิตที่จำเป็น”
ดังนั้นแล้วมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นนอกจากจะสอนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตแก่นักศึกษาแล้ว ยังต้องมีหลักสูตรเสริมการเรียนรู้ ที่เรียกว่า Enrichment Program โดยออกแบบให้เข้ากับบริบทพื้นที่ของโรงเรียนปลายทาง และตัวของเด็กนักศึกษาในแต่ละพื้นที่
“สมมุติเราสอนให้ทุกคนเพราะปลูกได้ แต่โรงเรียนบนเกาะหรือติดทะเล เขาก็อาจจะไม่ต้องการวิชาการเพาะปลูก แต่อาจจะต้องการวิชาการทำประมง ซึ่งตรงนี้มหาวิทยาลัยก็ต้องออกแบบมาให้เข้ากับบริบทพื้นที่ของนักศึกษา”
เพราะโรงเรียนและชุมชน คือหน่วยย่อยในสังคมที่เกื้อหนุนกันและกัน อ.พิศมัย มองแบบนั้นหมุดหมายโครงการครูรัก(ษ์)จึงไม่ได้ต้องการผลิตครูกับโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการผลิตครูให้กับชุมชน
“ยกตัวอย่างง่ายๆ ชุมชนนิยมเลี้ยงแพะ แต่แพะชอบมาขี้ที่สนามโรงเรียน มองผิวเผินอาจจะไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ลึกๆ แล้วมันคือหนึ่งปัญหาของความขัดแย้ง ซึ่งครูต้องเข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นครูต้องเข้าใจบริบทโรงเรียนและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วย”
แต่การที่นักศึกษาครูจะเข้าใจบริบทและแก้ปัญหาให้ตรงจุด สถาบันการผลิตครูต้องสร้างองค์ความรู้ให้เข้ากับพื้นที่ซึ่งจะต้องเข้าใจบริบทเชิงพื้นที่เสียก่อน
“ผลตรงนี้มันต่อเนื่อง เพราะสถาบันการผลิตออกแบบการสอนให้เข้ากับเด็กกับพื้นที่ สร้างครูให้ตรงจุด ในอนาคตอาจจะไม่มีครูรัก(ษ์)ถิ่น แต่ถ้าสถาบันการผลิตครูเข้าใจหลักคิดแบบนี้เขาก็อาจจะมีการสอนที่เปลี่ยนไป และก็อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตครูในมุมที่ดีขึ้น”
ครู+โรงเรียน+มหาวิทยาลัย คือส่วนที่ต้องเติมเต็มกันและกัน
“มหาลัยมีบริการวิชาการทางด้านการศึกษา ช่วยโรงเรียน เชื่อมโยงระหว่างการทำงานร่วมกับชุมชน เราผลิตครู ซึ่งเป็นครูที่จะต้องออกไปฝึกประสบการณ์หรือไปฝึกสอน ก็ไปเชื่อมโยงโรงเรียน ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ไปพัฒนาคนในพื้นที่”
‘ดร.เกรียงวุธ นีละคุปต์’ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวถึงความสำคัญของโรงเรียน ครู และสังคมรอบๆ เข้าด้วยกัน
มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงคือหนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมค้นหา ออกแบบหลักสูตร และผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นมาตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มโครงการ และรับผิดชอบดูแลเด็กๆ พื้นที่โซนภาคตะวันออก ตะวันตก ไปจนถึงภาคใต้ตอนบน ก่อนจะส่งกลับไปสอนยังโรงเรียนบ้านเกิดเมื่อจบหลักสูตร 4 ปี
“ใครจะรู้จักบ้านเกิดได้ดีเท่าตัวเอง เขาจะรู้ว่าท้องที่บ้านเขามีอะไรที่ควรพัฒนา เพราะตอนนี้ครูที่ไปบรรจุ ส่วนมากพอปลายๆ ชีวิตก็ต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิดของตนเอง พอโครงการนี้เกิดขึ้น มันก็ตอบโจทย์ของพื้นที่จริงๆ ส่วนพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล ไม่มีใครอยากไปบรรจุ มีอัตราการย้ายเยอะ แต่ทุนนี้พอบรรจุแล้วไปเป็นครูแถวบ้าน ไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ญาติพี่น้อง ก็น่าจะทำให้การทำงานของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“ปีหนึ่ง เราอยากให้เด็กรอบรู้เรื่องการทำงานครู เพราะเด็กเพิ่งมาจากม.ปลาย ว่าถ้าเป็นครูเขามีหน้าที่อะไรบ้าง ปีที่สองฝึกเป็นผู้ช่วยครู เพื่อเพิ่มดีกรีให้เขาสามารถทำงานผู้ช่วยครูได้ ครูให้หยิบจับอะไร ช่วยอะไรก็ทำได้ ปีที่สามจะเป็นผู้ช่วยสอน เด็กจะมาช่วยสอน มายืนคู่กับครู หรือสอนเดี่ยวบ้างในบางกรณี พอปีสี่ปุ๊บ เด็กก็จะได้เป็นครู สามารถยืนหน้าชั้นเรียนพร้อมเป็นครูได้แล้ว หลังจบปีสี่ก็สามารถเป็นครูที่มีคุณภาพได้เลย”
“ครูเป็นทุกอย่าง เพราะเมื่อไหร่เราเป็นครู เราเป็นครู 24 ชม. เวลาไปตลาดคุณก็เป็นครู โดยเฉพาะครูที่อยู่ในชุมชน บางครั้งครูอาจจะมีความรอบรู้ที่ทั้งลึกและกว้างขวาง ถ้าจะลึกในอะไรสักอย่างคือลึกในศาสตร์ของเขา ที่ You must know และ You could know คือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเขา ที่จะทำให้งานของเขาประสบความสำเร็จ กับอีกส่วนคือ You should know คืออะไรก็ได้ที่เป็นความหลากหลายที่เขาจะต้องมี เพราะเวลาลงชุมชนจริงๆ เขาไม่รู้หรอกว่าครูจะรู้มาขนาดไหน แต่เขารู้ว่าครูน่าจะรู้ นั่นคือความคาดหวัง” คณบดีกล่าว
4 + 6 = เส้นทางของครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ยาวนาน แต่มีคุณภาพ
“ครูจบใหม่ไฟแรง แต่นานไปก็ลดคุณภาพของตัวเองลง เราเลยต้องประเมินครูรัก(ษ์)ถิ่นยาวถึง 6 ปี”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย หนึ่งในคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กสศ. และประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของทีมหนุนเสริมที่กำลังจะเริ่มทำงานหลังจากนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นทำงานเป็นครูอย่างเต็มตัว โดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องประจำการที่โรงเรียนปลายทางห้ามย้ายไปไหนจนกว่าจะครบ 6 ปี
“สมัยที่ผมได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการแรกๆ โรงเรียนที่ประจำอยู่ในขณะนั้นมีครูจำนวน 8 คน ขอย้ายออกไปบรรจุที่อื่นพร้อมกัน 6 คน ทำให้เหลือครูอยู่ที่โรงเรียนเพียง 2 คน หนึ่งในเหตุผลหลักที่บุคลากรเหล่านั้นต้องย้าย เพราะพวกเขาไม่ใช่คนในพื้นที่ แล้วการที่เด็กนักเรียนต้องเจอครูใหม่ตลอดเวลา ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการเรียนรู้”
ทีมหนุนเสริมจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมระหว่างการทำงานจริง และสิ่งที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องพัฒนาต่อ เพื่อให้อยู่ครูอยู่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยทีมหนุนเสริมจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ
“ถ้าครูเข้ามาแล้วเขาจะเปลี่ยนโรงเรียนเลยทำไม่ได้ เพราะอายุงานเป็นเรื่องสำคัญ ต้องค่อยๆ สร้างการยอมรับ เพื่อให้เห็นว่าเขามุ่งมั่นพัฒนาแล้วก็ สอนเก่งจริง เรียนเก่งกับสอนเก่งนี่ไม่เหมือนกันนะ ตรงนี้เขาจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย พอเขาพิสูจน์ตนเองจนกระทั่งได้รับการยอมรับ แล้วจะพัฒนาโรงเรียนได้ แล้วภาพของครูนักพัฒนาชุมชนจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นขึ้นในปีหลัง นี่คือภาพกว้างเราเข้าไปสร้างเป้าหมายให้โรงเรียนชัดเจนว่าต้องการครูแบบไหน เซ็ตวัฒนธรรมโรงเรียนใหม่ แล้วค่อยเข้าไปคุยสร้างกัลยาณมิตรระหว่างโรงเรียนและครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งมันก็จะนํามาซึ่งองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ดี เพราะครูใหม่ต้องใช้เวลาปรับตัวอีกเยอะ”
ผอ.ศุภโชค มองว่าที่ผ่านมาผอ.ก็อยู่ส่วนผอ. ครูก็อยู่ส่วนครู เด็กก็ส่วนเด็ก ชุมชนก็ส่วนชุมชน แต่ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องเป็นครูนักพัฒนาชุมชน บทบาทหน้าที่ของครูรัก(ษ์)ถิ่นจึงต้องเป็นทั้งครุ และคนเชื่อมประสานความเข้าใจระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยๆ ของการประจำการ 6 ปีของครูรัก(ษ์)ถิ่น”
“ครูรัก(ษ์)ถิ่นต้องไม่โดดเดี่ยว ทีมหนุนเสริมจะเข้าไปช่วยเป็นผู้ใหญ่ที่คอยคิดแล้วก็ห่วงใย หรือช่วยฟีดแบคการทำงาน เพราะนี่คือสิ่งหนึ่งที่ทําให้เขามีความมั่นคงในอาชีพแล้วก็อุดมการณ์ของการเป็นครูไม่เปลี่ยน”
โรงเรียนที่รอจัดงานเกษียณ
“เคยมีครูสองคนจะเข้ามาบรรจุที่นี่ แต่เขาเห็นเส้นทางแล้วเลี้ยวรถหันกลับไปเลย ไม่มาแล้ว”
ร้อยโทเจนกวี ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน จ.กาญจนบุรี เล่าให้ฟัง
โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 259 คน นับเป็นโรงเรียนห่างไกล ที่หากเดินทางจากตัวเมืองทองผาภูมิ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงในการขับรถขึ้นภูเขา ผ่านถนนลูกรังเป็นระยะทางเกือบร้อยกิโลเมตร ยังไม่นับรวมเวลาที่อาจหลงระหว่างทาง เพราะแผนที่บนจอมือถือก็ช่วยไม่ได้ตลอดเส้นทาง เมื่อต้องขับผ่านพื้นที่ที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นบางช่วง
“ครูข้าราชการ 11 คน ทำเรื่องย้าย ได้ย้ายกันทั้ง 11 คน”
ก่อนที่ผอ.เจนกวีจะมาทำงาน โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทนแห่งนี้ขาดคนนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการเป็นเวลาสองเดือน และเป็นช่วงเวลาครูที่บรรจุเป็นข้าราชการแล้วทำเรื่องย้ายเกือบทั้งหมด ย้ายไปโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่า เหลือไว้แต่เด็กๆ ตาแป๋ว และครูที่ยังไม่ได้บรรจุ
“เวลาครูข้าราชการทำเรื่องย้ายโรงเรียน เขาวัดผลกันจากจำนวนเด็กที่เคยสอนในโรงเรียนเดิม ซึ่งถ้าเทียบที่นี่กับอำเภอใกล้เคียง บ้านทุ่งเสือโทน ถือว่ามีจำนวนนักเรียนเยอะกว่ามาก เพราะฉะนั้นครูที่ย้ายขึ้นมาที่นี่ เขาย้ายมาจากโรงเรียนที่มีนักเรียนประมาณหกสิบคน เพื่อเตรียมย้ายไปโรงเรียนใหญ่ต่อ”
จำนวนครูในโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ตอนนี้มีอยู่ 15 คน มากกว่าครึ่งเป็นครูที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ และเป็นคนจากต่างพื้นที่ ตอนนี้ทางโรงเรียนยังต้องการครูเพิ่มอีก 4 คน จึงจะเต็มอัตราการว่าจ้างครูตามสูตรการคำนวณอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด แต่การเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ก็ทำให้ทุ่งเสือโทนไม่ใช่จุดหมายในฝันของคุณครูที่สมัครเข้ามา
“ผมอยู่ที่นี่ ก็ได้ส่งเพื่อนครูย้ายเกือบทุกปีนะ ยังส่งครูเก่า ต้อนรับครูใหม่อยู่ตลอด เด็กบางคนก็ต้องปรับตัวกัน”
ในสถานที่เดียวกัน มี ‘ครูต้อง’ นพดล หม่องสาย ‘อดีตภารโรง’ ที่ผอ.เจนกวีแนะนำไว้ว่าครูต้องคืออดีตภารโรงโรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ผู้เปลี่ยนหมวกมาเป็นครูสอนเด็กๆ ที่นี่
“ผมเป็นภารโรงที่นี่ตั้งแต่ปี 2552 เป็นนานประมาณ 11 ปี ถึงสอบมาเป็นครูผู้ช่วย เพราะอยากทำงานที่นี่ แล้วครูคนอื่นๆ ก็แนะนำให้ไปสอบครูด้วย”
ด้วยคลุกคลีกับโรงเรียนมานานกว่าสิบปี ทำให้ครูต้องให้ค่าของอาชีพครูว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ
“เพราะผมจบป.สองไง”
วันจันทร์ถึงศุกร์ต้องทำหน้าที่เป็นนักการภารโรง แต่วันเสาร์และอาทิตย์ต้องขับรถลงไปเรียนต่อที่ราชภัฏกาญจนบุรี ความพยายามของภารโรงต้องทำให้เขากลายเป็นครูบรรจุที่โรงเรียนทุ่งเสือโทนสำเร็จ แม้ว่าจะต้องสอบถึงสี่ครั้ง ใช้เวลารวมนานกว่า 8 ปี
“งานนักการส่วนใหญ่ใช้แรงงาน แต่การสอนเด็กก็ต้องมีวิธีกับเด็กสังเกตพฤติกรรมเด็กแล้วก็ต้องไปลงไปพื้นที่ไปศึกษาดูพื้นที่ครอบครัว เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน”
สิ่งที่ครูต้องชอบที่สุดจากการเป็นครูคือ “ผมพบว่าได้อยู่กับเด็กแล้วมีความสุข พวกเขากำลังน่ารัก เราพูดแล้วเขาเชื่อฟังเหมือนเราได้สอนลูกเราเอง และอีกอย่างคืออาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เป็นผู้ปิดทองหลังพระ คือ อยู่เบื้องหลังของคนทุกอาชีพ ผมมองดูใครๆ เขาก็ต้องผ่านครูมา แม้แต่คนใหญ่คนโต”
“ผมวางแผนจะอยู่ที่นี่ไปตลอดแหละครับ ใครจะย้ายก็ย้าย แต่ครูจะอยู่ จะเป็นครูเกษียณรุ่นแรกของที่นี่” ครูต้องตั้งใจอย่างนี้
Welcome Teacher
“เมื่อไหร่จะกลับมาสอน” เป็นคำถามที่ย่าถามกับขวัญอยู่แทบทุกวัน
‘ขวัญ’ ขวัญมณี พูลทวี นักศึกษารุ่นแรกในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดกาญจนบุรี
“ทำงานที่ไหน ก็ไม่ดีเท่าได้ทำงานใกล้บ้าน” ขวัญกล่าว ชีวิตของขวัญมีย่า (แต่ขวัญเรียกว่าแม่) เลี้ยงดูมาตั้งแต่เกิด และเป็นคนที่ขวัญใกล้ชิดด้วยมากที่สุด
หนึ่งสาเหตุหลักของปัญหาครูย้ายบ่อย คือ ครูหลายคนอยากกลับไปสอนใกล้บ้านตัวเอง ไม่ต่างกับขวัญที่อยากอยู่กับย่า เพราะการได้กลับไปอยู่กับคนในครอบครัว อย่างน้อยก็จะเป็นแรงซัพพอร์ตทางใจ และช่วยดูแลกันและกันอย่างใกล้ชิด
“ครูจะได้อยู่ดูแลคนในครอบครัวจริงๆ ไม่ต้องกังวลว่าคนในครอบครัวจะเป็นยังไง พ่อแม่จะป่วยไหม ถ้าอีกในแง่หนึ่งก็คือ เขาจะเป็นครูที่อยู่ในชุมชนจริงๆ รู้จักชุมชนจริงๆ มันจะทำให้เขาสามารถช่วยเหลือเด็กและชุมชนได้ง่ายขึ้น ตรงจุดขึ้น เพราะว่าเขาคือคนในชุมชน เขาจะมีความรักที่นี่อยู่แล้ว”
“สำหรับหนู แค่ย่าทำกับข้าวให้กินที่บ้าน มีนู่นมีนี่ให้กิน มันก็ช่วยให้หนูหายเหนื่อยจากงานได้เยอะแล้ว (ยิ้ม)”
และถ้าย้อนกลับไปในวันประกาศทุน คนที่ดีใจไม่แพ้ขวัญก็คือคุณย่า
“หนูกับย่าจะไม่ค่อยแสดงความรักต่อกันเท่าไหร่ วันที่หนูบอกเขาว่า หนูได้ทุนนี้แล้วนะ เขาเข้ามากอดหนู”
ดูเหมือนทุนนี้จะไม่ได้ทำให้ความฝันของผู้รับทุนเป็นจริงแค่คนเดียว ขวัญพูดด้วยรอยยิ้มว่า วันนั้นเป็นวันที่เธอรู้สึกประสบความสำเร็จมากที่สุด
ไม่ต่างจาก ‘มู’ ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมีพื้นเพเป็นคนเกาะยาวใหญ่ เกาะแก่งที่ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่
“เอาจริงๆถ้าไม่ได้ทุนนี้ ผมก็คงลงเล (ทะเล) ตามพ่อ เพราะที่บ้านก็ไม่ค่อยมีเงิน ต้องสละให้น้องได้เรียน เพราะผมเป็นลูกคนคนโตอาจจะช่วยพ่อแม่หาเงินอะไรประมาณนี้ครับ” มู จบจากโรงเรียนอ่าวกะพ้อ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ครั้งเมื่อคาบวิชาแนะแนวตอนม.6 มูรู้จักโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจากผอ.โรงเรียน
ตอนนี้มูพ้นจากสถานะนักศึกษา และเริ่มสถานะใหม่เป็นครูที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อที่มูจบมา
“คือได้กลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง อย่างน้อยคือได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว และได้พัฒนาบ้านตัวเอง”
มูทำนวัตกรรม (ผลงานที่ครูรัก(ษ์)ต้องทำหลังจากจบการฝึกสอน) คือชุดความรู้เรื่องพิธีฮัจญ์ โดยมองว่านี่ก็คือหนึ่งในการพัฒนาชุมชนเกาะยาวได้
“เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเกือบ 90% เลยเลือกทำชุดความรู้ให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้เรียนรู้พิธีฮัจญ์อย่างละเอียด และจำลองพิธีฮัจญ์เสมือนจริงที่โรงเรียน โดยการเชิญคนในชุมชน หรือพ่อแม่ของเด็กมาด้วย เพราะพิธีนี้เป็นพิธีที่สำคัญของศาสนาอิสลาม แต่ใช่ว่าทุกคนจะได้ไปทำพิธีจริงๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง”
ก่อนทำมูบอกว่าไปปรึกษากับผอ. และครูพี่เลี้ยงรวมถึงไปลงพื้นที่ถามคนในชุมชนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ
“สิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่มันก็ทำให้คนในชุมชนรู้ข้อมูลสำคัญพวกนี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการพัฒนาชุมนเหมือนกัน”
สำหรับมู ‘ครู’ ไม่ใช่แค่การทำการสอน แต่คือการเป็นหนึ่งของชุมชน และทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นก็ทำให้เขาได้เข้าถึงโอกาสตรงนี้