‘มี’ กับ ‘ดีน’ ว่าที่ผู้ช่วยพยาบาลสุดปลายด้ามขวาน  ที่ชีวิตเปลี่ยนจากทุนระยะสั้นและงานที่ตอบโจทย์ชีวิต

‘มี’ กับ ‘ดีน’ ว่าที่ผู้ช่วยพยาบาลสุดปลายด้ามขวาน  ที่ชีวิตเปลี่ยนจากทุนระยะสั้นและงานที่ตอบโจทย์ชีวิต

“เรียนผู้ช่วยพยาบาลมันก็เป็นเกียรติเป็นศรี ได้ใส่ชุดขาว แล้วมันเป็นงานที่ไม่ได้ช่วยแต่ตัวเอง ช่วยครอบครัว แต่ช่วยชุมชนด้วย”

จุดแข็งสำคัญคือเรียนแค่หนึ่งปี เพราะหลายครอบครัวในจังหวัดนราธิวาสรอถึง 4 ปีไม่ได้  ยืนยันจากคนนราธิวาสโดยกำเนิดอย่าง รศ.ดร.ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สถาบันสำคัญที่สร้างและปรับหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปีเพื่อให้เป็นการเรียนรู้ที่สั้น กินได้จริง เลี้ยงปากท้องได้จริงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสที่แรงงานส่วนใหญ่ พอจบมัธยมปลายหนีไม่พ้นไปทำงานร้านอาหารที่มาเลเซีย หรือไม่ก็เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ รปภ.ที่กรุงเทพฯ เพราะบ้านเกิดไม่มีงานทำ 

ยกเว้น มีกับดีน 

‘มี’ นัจมี หะเดร์ กับ ‘ดีน’ มูฮัมหมัดซามีนูดีน อาแซ สองนักศึกษาหลักสูตรประกาศนีบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทั้งสองคนใช้โอกาสนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด 

ถ้าไม่ได้ทุน ทั้งคู่ก็คงหางานทำอยู่ที่ไหนสักแห่ง ไม่กรุงเทพฯ ก็มาเลเซีย แต่ถ้าเลือกได้ มีและดีนไม่ได้อยากไปไหน อยากอยู่ใกล้ครอบครัว ซึ่งไม่ง่ายเลยในจังหวัดนราธิวาสที่ติดอันดับความยากจนอันดับ 2 ของประเทศ 

“ตอนนี้มีหลายคนเรียกว่าพยาบาลแล้ว” มี เล่าให้ฟังในวันก่อนรับใบประกาศนีบัตรผู้ช่วยพยาบาล มีบอกว่าคนเรียกเป็นพี่ข้างบ้านที่ไปช่วยเขาทำแผล 

“เขาบอกว่า เนี่ยเป็นหมอให้พี่ได้เลยนะ (ยิ้ม)”

‘ดีน’ มูฮัมหมัดซามีนูดีน อาแซ, (ขวา) นัจมี หะเดร์

ผู้ช่วยพยาบาลหญิง : หมอของหมู่บ้าน 

นัจมี หะเดร์ คือนักศึกษาหลักสูตรประกาศนีบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จบการศึกษาเรียบร้อยแล้วด้วยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง

นัจมี  หรือ มี เกิดและเติบโตที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส มีเป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยมปลาย เพราะพ่อประสบอุบัติเหตุรถคว่ำจนทำงานไม่ได้ รายได้หลักมาจากพี่สาวสองคนจากทั้งหมดสี่คน​(อีกสองคนพิการ) 

“ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ลูกสาวเรียนต่อ จบมัธยมแล้วก็ให้ออกมาแต่งงาน” รศ.ดร.ศิริพันธุ์ ศิริพันธุ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เป็นคนนราธิวาสโดยกำเนิดบอกว่าศาสนาและความเชื่อมีผลสำคัญต่อการศึกษาของเด็กหญิงในพื้นที่มากพอสมควร 

มีบอกว่า ตัวเองเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่ได้เรียนต่อหลังจบม.6  ขณะที่เพื่อนในห้องไม่ได้เรียนต่อราวๆ 60 เปอร์เซ็นต์ บางคนแต่งงานมีลูก และอีกหลายคนขึ้นมาทำงานกรุงเทพฯ​ 

‘มี’ นัจมี หะเดร์ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสาขาผู้ช่วยพยาบาล

“เป็นรปภ. กับทำงานเซเว่นค่ะ” มีตอบคำถามว่าเพื่อนทำงานอะไรกันบ้าง ซึ่งหลายคนมีความฝันว่าอยากจะเรียนต่อแต่ทำไม่ได้  โดยเฉพาะเพื่อนผู้หญิง มีบอกว่าส่วนใหญ่ฝันอยากเรียนต่อทางกฏหมาย (นิติศาสตร์) ไม่ก็พยาบาล เพราะดูมีรายได้มั่นคง

นราธิวาสคือจังหวัดอันดับ 2 ที่ยากจนสูงสุดของประเทศในปี 2565 (ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมวลผลโดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สศช.)  สถานการณ์ที่มีและเพื่อนๆ ต้องเผชิญจึงไม่ใช่แค่ขาดโอกาสเรียนต่อ แต่คือการไปหางานทำในกรุงเทพฯ เพราะงานมีไม่มากพอในนราธิวาส

เช่นเดียวกับมี ถ้าไม่ได้ทุนเรียนต่อ มีบอกว่าคงจะไปทำงานกับพี่สาวที่ภูเก็ต เพราะค่าแรงของนราธิวาสต่ำกว่าที่ภูเก็ตมาก และตอนนี้ “หนูน่าจะทำงานงกๆ อยู่ (ยิ้ม)” 

ที่มียิ้มได้ในประโยคนี้ก็เพราะมีได้เรียนต่อด้านพยาบาลที่ฝันไว้ โดยได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ในหลักสูตรประกาศนีบัตรผู้ช่วยพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงคือ ทุนให้เปล่าแก่เยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ ให้มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ​​ได้แก่ 1.สาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) 2.สาขาที่ขาดแคลนในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่สถาบันการศึกษาตั้งอยู่  และ 3.สาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM)

สาขาผู้ช่วยพยาบาลอยู่ในข้อ 2 และใช้เวลาศึกษาเพียง  1 ปี ก็ออกมาทำงานได้ 

ที่สำคัญ เยาวชนหลายคนในนราธิวาส การเรียนต่อปริญญาตรีไม่ตอบโจทย์ชีวิตเพราะ 1.กินเวลานาน 2.หลักสูตรวิชาการนำไปประยุกต์ใช้งานยาก 3.ตลาดในพื้นที่เรียกร้องงานสายอาชีพสูง

“ที่ผ่านมา เราเปิดแต่หลักสูตร 4 ปี แต่พอจบไปแล้วเด็กไม่มีงานทำ เรียนศิลปศาสตร์ เรียนวิทยาศาสตร์ ไปอยู่เซเว่นฯ ไปอยู่ร้านโทรศัพท์มือถือ ทำงานบริษัทรถยนต์ ฯลฯ มันไม่ตอบโจทย์เพราะคุณผลิตคนไม่ตรงสาย แต่ขณะที่หลักสูตรระยะสั้นอย่างผู้ช่วยพยาบาล มันเป็นเชิงวิชาชีพ ที่นราธิวาสเศรษฐกิจมันไม่ดี  แต่ละบ้านมีลูกเยอะ ใช้เงินเยอะ เค้าจึงต้องการความรู้ระยะสั้น ความรู้ที่กินได้” คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ อธิบายตรงจุด 

นอกจากรายได้ในอาชีพผู้ช่วยพยาบาลจะเริ่มต้นที่ 10,000 บาทขึ้นไปแล้ว (จากการสำรวจสถานที่ทำงานของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 ของคณะพยาบาลศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครรินทร์) แรงจูงใจสำคัญในการเรียนต่อสายนี้ของมีคือแม่ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ พ่อที่ทำงานไม่ได้เพราะประสบอุบัติเหตุ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ใกล้บ้านที่ไม่มีใครกล้าไปใช้บริการ

“ไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาล มีแต่ อสม. เครื่องมือก็ไม่ค่อยมี ดูเหมือนร้าง คนเลยไม่กล้าไป” 

ถ้าเป็นไปได้ มีบอกว่าถ้าเรียนจบแล้ว ก็อยากจะมาทำงานที่ รพสต. คนในหมู่บ้านจะได้มาใช้บริการเวลาเจ็บป่วย 

ผู้ช่วยพยาบาลทำอะไรบ้าง ? 

เบื้องต้นผู้ช่วยพยาบาลจะรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อจากพยาบาล จะเน้นหน้าที่หลักไปที่ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น โดยเริ่มตั้งแต่การช่วยประสานงานในหน่วยงานโรงพยาบาลต่าง ๆ การเดินยา การรับยา การจ่ายยา รวมถึงการเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ 

“บางทักษะของการดูแลที่ไม่ซับซ้อนผู้ช่วยพยาบาลเข้าไปดูแลได้ เช่น ไปเฝ้าผู้สูงอายุ ที่ไม่มีระโยงระยาง ไปนั่งเป็นเพื่อน พูดคุยหรือว่าดูแลวัดไข้ เช็ดตัว ดูแลความไม่สุขสบายต่างๆ เอายา เดินเอกสาร” คณบดีคณะพยาบาลฯ เล่าเนื้องานคร่าวๆ 

ระหว่างที่มียังเรียนอยู่ เวลาเจ็บป่วย คนในหมู่บ้านเลือกที่จะเดินมาหามีมากกว่าไป รพสต. เพราะหลายคนติดขัดเรื่องภาษาและไม่กล้าไปโรงพยาบาล 

“บางคนก็จะมาถามหนูว่ามีแผลแบบนี้ ต้องไปทำแผลไหม ติดเชื้อไหม หรือ หายใจไม่ค่อยออกต้องหายใจยังไง ไปหาหมอไหม แถวนี้มีคนเป็นหอบเยอะ” 

นอกจากจะมีเพื่อนบ้าน ญาติมาขอความช่วยเหลือเป็นระยะแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมีหลังจากได้ทุนคือ รู้สึกว่าตัวเองพัฒนาขึ้นหลายด้าน 

“หนูมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แล้วก็กล้าที่จะทำหัตถการต่างๆ เมื่อหนูไปเจออุบัติเหตุค่ะ หนูกล้าไปช่วย จากเดิมหนูไม่เคยที่จะไปช่วยเขา นั่งมองเฉยๆค่ะ (หัวเราะ) เพราะตอนนั้นหนูไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะอะไรเลย ไม่กล้าที่จะไปช่วยเขาค่ะ กลัวเขาเจ็บมาก” 

จนตอนนี้มีหลายคนเรียกมีว่าพยาบาลแล้ว มีบางคนเรียกว่าหมอด้วย 

“พี่ข้างบ้านค่ะ ที่หนูไปช่วยพี่เขาทำแผล เขาบอกว่า เนี่ยเป็นหมอให้พี่ได้เลยนะ เรียกหมอเลย(ยิ้ม)” 

รู้สึกอย่างไรบ้าง เราถาม

“ดีใจค่ะ แล้วก็หวังว่าต่อไปจะมีคำว่าหมออยู่ข้างหน้าชื่อหนู มีคนเรียกว่าคุณหมอนัจมี” เพราะแผนถัดจากนี้ของมีคือทำงานเก็บเงิน 2 ปี แล้วเรียนต่อ 

ผู้ชายก็เป็นผู้ช่วยพยาบาลได้ เป็นได้ดีมากๆ ด้วย 

ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่ ‘ดีน’ มูฮัมหมัดซามีนูดีน อาแซ ลูกคนที่ 4 จากชายล้วน 6 คนของบ้าน เคยคิดว่าอาชีพผู้ช่วยพยาบาลมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่ทำกัน จนเมื่อพี่ชายคนที่ 3 มูฮัมหมัดซัมรี อาแซ ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสาขาผู้ช่วยพยาบาลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จนตอนนี้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลตากใบ และส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านทุกเดือน 

วิศวะไอทีที่ดีนสนใจแต่แรกเลยถูกเบนสายไปเพราะเห็นงานที่มั่นคงใกล้บ้านของพี่ชายเป็นตัวอย่าง ประกอบกับดีนอยากอยู่และดูแลแม่ เพราะพ่อไปทำงานขายลูกชิ้นอยู่ที่มาเลเซีย จะกลับก็เดือนละครั้ง 

เพื่อนดีนส่วนใหญ่ไม่มีทุนเรียนต่อหลังจบ ม.6 บางคนไปทำงานเป็น รปภ. ที่กรุงเทพฯ แต่ส่วนใหญ่เลือกไปทำงานร้านอาหารที่มาเลเซีย เริ่มต้นจากงานล้างจานที่ค่าแรงเริ่มต้นเดือนละประมาณ 10,000 บาท ถัดจากนั้นก็เขยิบไปเสิร์ฟ แล้วจบที่เชฟ จนหลายครอบครัวแถวตำบลบางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสที่ดีนอยู่ ตัดสินใจย้ายไปตั้งรกรากที่มาเลเซียเพราะรายได้ดีกว่า 

ดีนเองถ้าไม่ได้ทุนก็อาจจะไปอยู่และทำงานกับพี่ชายสองคนที่กรุงเทพฯ เช่นกัน เพราะที่นราธิวาสไม่มีงานให้ทำ 

แต่เพราะตัวเลขผู้ป่วยจากยาเสพติดในนราธิวาสมีสูงมาก โรงพยาบาลหลายแห่งจึงต้องการผู้ช่วยพยาบาล และเจาะจงว่าต้องการผู้ชายมากเป็นพิเศษเพราะต้องใช้แรงเยอะในการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้ ซึ่ง ‘รี’ พี่ชายของดีนก็ทำงานนี้อยู่ งานชุกถึงขนาดมีโอทีให้ทำไม่เว้นวัน รับแลกเวรก็มีเป็นประจำ จนรายได้บางเดือนพุ่งทะลุสองหมื่น

“ผู้ช่วยพยาบาลเป็นตัวเลือกเดียวในการเรียนต่อมหา’ลัย แต่พอเรียนผู้ช่วยพยาบาล ได้ฝึกงาน รู้สึกว่าตัวเองก็มีความสามารถด้านนี้เหมือนกัน แค่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองชอบด้านนี้”

ดีนบอกอย่างตรงไปตรงมา และโชคดีที่ดีนสามารถหาความชอบในสิ่งที่ต้องทำได้ ในที่สุด

“ผมชอบทำงานในห้องฉุกเฉินครับ” ดีนตอบทันที ก่อนจะอธิบายว่าตัวเองไม่กลัวเลือด เกือบๆ จะตรงข้ามเสียด้วยซ้ำ  

“ยิ่งทำแผลที่เลอะๆ เพื่อนเทให้เราหมดเลย เราก็ ได้ครับ ชอบอยู่แล้ว ยิ่งเลือดเยอะๆ แผลหนักๆ ยิ่งท้าทาย” 

และที่สำคัญความคิดที่เคยฝังหัวว่างานผู้ช่วยพยาบาลผูกขาดแต่ผู้หญิงเท่านั้น ดีนกระจ่างแจ้งแล้วว่าไม่ใช่ 

“แต่พอเรียนจบมาเขาบอกว่าผู้ชายนี่หายาก แล้วก็เป็นบุคลากรที่ใครๆ ก็ต้องการ (หัวเราะ) เพราะถ้าอยู่ ER หรือห้องฉุกเฉินครับ เขาต้องการคนที่มีกำลังแรงในการยึดผู้ป่วย”

‘ดีน’ มูฮัมหมัดซามีนูดีน อาแซ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสาขาผู้ช่วยพยาบาล

ดีนผู้มีรูปร่างค่อนข้างผอมเพรียว มั่นใจในแรงกำลังของตัวเองมาก

“มีแรงครับ มั่นใจมาก ออกกำลังกายตลอด วันนี้ตอนเย็นปกติไปซ้อมบอลครับ เล่นบอลของ อบต. ครับ” 

จึงเท่ากับว่า งานของดีนและพี่ชายเข้ามาเปลี่ยนภาพจำให้ใหม่ว่าผู้ชายก็ทำงานผู้ช่วยพยาบาลได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงอย่างเดียว

“ใช่ครับ ผู้ชายก็เป็นได้ เป็นได้ดีด้วย” 

……..

การได้ประกาศนียบัตรและได้ทำงานในบ้านเกิดของมีและดีน ด้านหนึ่งคือการใช้โอกาสที่ไขว่คว้าอย่างคุ้มค่าและทำมันให้ออกมาดีที่สุด แต่ในอีกด้านคือการส่งเสียงบอกสังคมไปดังสุดตัวว่า ถ้ามีโอกาส โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา ความพยายามของตัวเองและการลงทุนที่ไม่มีวันเสียเปล่านี้สามารถเปลี่ยนชีวิตของคนๆ หนึ่งได้จริง

ก็เหมือนอย่างที่มีนบอกความฝันอันสุดทางเอาไว้ว่า อยากเป็นอาจารย์พยาบาล ถ้าไม่มีทุนที่เปรียบเสมือนมือคู่แรกที่ยืนเข้ามา มีนคงไม่กล้าฝันไกลขนาดนี้

ดีนเอง ความฝันที่จะทำงานในห้องฉุกเฉินก็อีกไม่ไกล ถึงแม้ตอนนี้จะทำได้แค่ฝึกวิชาไปพลางๆ กับน้องชายคนเล็ก

“เขาไปเล่นยังไงมาไม่รู้ครับ ได้แผลตรงนิ้วโป้ง เละเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงพาไปโรงพยาบาล แต่ตอนนี้ผมพามาทำแผลเองได้แล้วครับ หายแล้ว วิ่งปร๋อเลย(ยิ้ม)”