‘บมร’ บ้าน-มัสยิด-โรงเรียน สูตรพัฒนาเกาะยาวใหญ่ รวมพลังคนบนเกาะทำสิ่งที่ตัวเองถนัด มีครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นตัวเชื่อมทุกอย่างไว้ด้วยกัน

‘บมร’ บ้าน-มัสยิด-โรงเรียน สูตรพัฒนาเกาะยาวใหญ่ รวมพลังคนบนเกาะทำสิ่งที่ตัวเองถนัด มีครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นตัวเชื่อมทุกอย่างไว้ด้วยกัน

ไม่ได้มีแค่ครูที่มักจะย้ายออกจากเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ประชากรบนเกาะเองก็เลือกจะไปอยู่ที่อื่น เพราะพวกเขารู้สึกว่าการอยู่บนเกาะไม่สะดวกสบายเท่ากับการอยู่บนฝั่ง ทำให้เกิดการหลั่งไหลของคนในไปข้างนอก 

แต่อาจจะเรียกว่าเป็นความโชคดี ด้วยความที่เกาะยาวใหญ่ไม่ได้มีพื้นที่ใหญ่ตามชื่อ มันกระทัดรัดพอที่คนทุกคนบนเกาะจะรู้จัก สร้างความสัมพันธ์ และสร้างทางร่วมทำงานพัฒนาเกาะยาวใหญ่ให้ดีขึ้นได้

ชุมชน

บ้านและชุมชน

“สมัยผมเด็กๆ ครูจะมาจากจังหวัดไหนก็ตาม ถ้ามาบรรจุที่โรงเรียนเรา จะได้รับการต้อนรับจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี เขาจะไม่ยอมให้ครูต้องหุงข้าวกินเอง ต้องไปกินกับคนในชุมชน อยู่แล้วมันเกิดความผูกพันมีความสุข”

ตั้งแต่เล็กจนโต สายสัมพันธ์ระหว่างครูและชุมชนเป็นสิ่งที่ วิฑูรย์ บุญสพ กำนันตำบลพรุใน เกาะยาวใหญ่ เห็นจนชินตา พ่อแม่ไม่ได้ไปโรงเรียนแค่วันพบผู้ปกครอง หรือดูผลการเรียนลูก แต่พวกเขาใช้เวลาที่ไปส่งลูก เข้าไปคุยกับครูในโรงเรียน สังเกตว่ามีครูมาใหม่หรือไม่ เพื่อที่ว่าจะขอทำความรู้จัก และทุกๆ เย็น บ้านของครูบนเกาะยาวใหญ่จะว่างเปล่า เพราะคนอาศัยถูกเชิญไปทานข้าวเย็นบ้านผู้ปกครองต่างๆ นั่งบ้านนี้ได้สักพัก อีกบ้านก็มารอต่อคิวรับไปกินด้วย เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากัน

วิฑูรย์บอกว่า ผู้ปกครองอยากดูแลคุณครู ตอบแทนที่พวกเขาดูแลลูกๆ ตัวเอง ครูบางคนต้องย้ายจากบ้านมาไกล มาประจำการบนเกาะยาว อาจเกิดความรู้สึกไม่คุ้นเคย หรือคิดถึงบ้าน ชาวเกาะยาวใหญ่จึงพยายามดูแลครูเท่าที่จะทำได้

แต่นานไป สายใยนี้เริ่มเบาบางลง วิฑูรย์คิดว่าอาจเป็นเพราะครูใหม่ๆ ที่มาบรรจุที่โรงเรียนเริ่มเกรงใจผู้ปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาจึงห่างเหินใกล้ไป แต่เริ่มฟื้นฟูได้ด้วยโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่ทำให้ครูกับชุมชนได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง 

“โรงเรียนกับชุมชนมันแยกกันไม่ได้ ถ้าเราได้ครูที่เข้ากับชุมชนได้ดี ชุมชนก็จะอยากมีส่วนร่วมกับโรงเรียน แล้วโรงเรียนก็เข้าไปช่วยชุมชนได้ด้วย อย่างที่นี่ก็จะเปิดให้เข้ามาใช้สนามกีฬาได้ตลอด เข้ามาสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดก็ได้ บางทีถึงขั้นให้ยืมรถโรงเรียนไปใช้ได้เลย”

เจษฎา อนันตศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวมะม่วง หนึ่งในโรงเรียนบนเกาะยาวใหญ่ เขาก็เป็นคนที่ย้ายมาจากจังหวัดอื่น โชคดีที่ช่วงแรกของการปรับตัว เจษฏาได้รับการดูแลจากคนในชุมชน ทำให้เขาเห็นความสำคัญของสายใยนี้ ในวันที่ได้เป็นผู้นำโรงเรียน เจษฎาตั้งใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ชุมชนและโรงเรียน เขามองว่า นี่จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพัฒนาระบบการศึกษาบนเกาะยาวใหญ่ได้ด้วย

โรงเรียนไม่ได้มีบทบาทสำคัญแค่ให้ความรู้ แต่สามารถให้ความช่วยเหลือในสิ่งที่ชุมชนต้องการ ขณะเดียวกันชุมชนก็มีศักยภาพที่จะสามารถช่วยเหลือโรงเรียนได้เช่นกัน

ครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นคนสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนได้มากขึ้น เพราะเป็นเป้าหมายการทำงานหนึ่งของครูรัก(ษ์)ถิ่นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน แล้วคุณสมบัติครูรัก(ษ์)ถิ่นที่ต้องเป็นคนในชุมชน ก็ทำให้การเป็นตัวกลางของครูไม่ใช่เรื่องยากในการเชื่อม 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน ‘ครูนักพัฒนาชุมชน’

“มีงานบางอย่างที่เราสามารถนําชุมชนและโรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ทํางานร่วมกันได้ เช่น กิจกรรมในโรงเรียนบางอย่าง การจัดอบรม งานกิจกรรมกีฬา หรือในชุมชนจะมีกลุ่มแม่บ้านทำขนม นักเรียนบางคนอยากรู้วิธี ก็สามารถไปเรียนกับกลุ่มนี้ได้”

มัส–ณัฐวุฒิ งานแข็ง เป็นนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก จากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ที่กำลังจะกลับมาบรรจุที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง มองว่าบทบาทนี้อาจมีสิ่งที่เขาต้องทำมากขึ้น แต่เพราะมีจุดร่วม ก็เลยไม่ใช่งานที่ต้องเริ่มต้นใหม่ 

“การทำอาชีพครู มันท้าทายตรงที่ถ้าสอนให้นักเรียนในทางที่ดี เขาก็จะเติบโตได้อย่างดีไปเลย แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจหรือสอนเขาไม่ดี วันหนึ่งสิ่งที่เราสอนไปมันอาจจะทำร้ายนักเรียนและตัวเราเองได้นะ”

ชาญชัย งานแข็ง เป็นป๊ะ (พ่อ) ของมัส เล่าให้ฟังในมุมพ่อแม่ถึงความหวังจะได้เห็นจากตัวลูก คือ ชีวิตผู้ใหญ่ที่มั่นคง สามารถดูแลตัวเองได้ แต่มัสของป๊ะอาจจะทำได้มากกว่าดูแลตัวเองและครอบครัว นั่นคือการได้ดูแลเด็กๆ เกาะยาวใหญ่ในฐานะครู

ถึงจะไม่เคยเป็นครู หรือไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่ในฐานะคนเกาะยาวและเป็นพ่อลูก 2 ป๊ะสัมผัสได้ว่า การได้คนในพื้นที่กลับมาทำงานเป็นครู ณ บ้านเกิดของตัวเอง ทำให้ชุมชนได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง

“พอเป็นครูคนบ้านเดียวกัน มันก็จะทำให้เด็กเข้าใจมากขึ้น เราก็ยังได้เห็นภาษาท้องถิ่นถูกใช้อยู่ วัฒนธรรมของเกาะยาวใหญ่ก็จะเข้มแข็งมากขึ้น คนรุ่นใหม่ที่เริ่มเดินทางออกไปหางานทำนอกพื้นที่มากขึ้น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นเข้ามาสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่ทำงานในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้ชุมชนกลับมาสมานกันได้อีกครั้ง”

คำแนะนำที่ป๊ะมอบให้มัส คือ ครูที่ดี ไม่ใช่แค่ครูที่ฉลาด แต่คือครูที่สอนนักเรียนด้วยหัวใจ เป็นครูที่มีความเข้าใจเด็กและพร้อมที่จะสร้างให้อนาคตเด็ก แน่นอนว่ามัสก็ไม่ละทิ้งความเชื่อตรงนี้และเอาคำแนะนำจากป๊ะมาประกอบในอาชีพครูต่อไป

มัสยิด

มัสยิด

90% ของคนเกาะยาวใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ถ้าใครได้ลองขับมอเตอร์ไซค์เที่ยวบนเกาะก็จะเห็นว่า นอกจากบ้านและโรงเรียนที่เราจะเห็นเต็มสองข้างทาง ‘มัสยิด’ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สังเกตเห็นได้ง่าย เพราะบนเกาะนี้มีมากถึง 20 แห่ง

คนที่อยู่บนเกาะนี้มานานอย่าง สมบูรณ์ อาษาราษฏร์ วิทยากรอิสลามศึกษา ประจำโรงเรียนอ่าวกะพ้อบอกว่า ศาสนาอิสลามอยู่คู่กับคนเกาะยาวใหญ่มาตลอด ตามหลักคำสอนของศาสนา ผู้นับถือจะต้องเรียนศาสนาอย่างลึกซึ้ง เด็กๆ หลายคนถ้าไม่ถูกส่งไปเรียนที่มัสยิดกับ ‘โต๊ะครู’ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลาม ก็จะได้เรียนที่ ‘ปอเนาะ’ โรงเรียนสอนหลักสูตรศาสนาอิสลาม

แต่ข้อจำกัดด้านทรัพยากรต่างๆ ของการเป็นเกาะ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงเลือกส่งลูกหลานของตัวเองไปเรียนหลักสูตรศาสนาที่ต่างเมือง ซึ่งมีการสอนที่เข้มข้นกว่า ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดยะลา ภูเก็ต ตรัง ฯลฯ ทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านลดลงเพราะห่างเหินกัน และประสิทธิภาพการเรียนของเด็กลดลง

“เมื่อเด็กเรียนไม่จบ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น เรื่องเงิน ส่งไปเรียนได้ถึง ม.5 ไม่มีทุนส่งต่อ ก็ต้องย้ายกลับมา หรือความห่างเหิน พ่อแม่ไม่ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ส่งไปอย่างเดียว ไม่รู้ว่าลูกฝั่งโน้นเรียนหรือเปล่า ถ้าลูกคุณตั้งใจเรียนก็โอเค แต่ถ้าไม่ตั้งใจเรียนก็มีโอกาสที่จะเรียนไม่จบ ไม่สนใจเรียน แต่พ่อแม่บางคนไม่เห็น เหมือนปิดหูปิดตา อยู่ห่างไกลด้วย บางทีไปหวังกับครูให้ดูแล เขาเองก็มีเด็กที่ต้องดูแลเป็นร้อยคน เรามีลูกคนเดียวต้องซัปพอร์ตให้ถูกต้อง”

ที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อ ผอ.อุดม กูลดี จึงตั้งใจนำศาสนาเข้ามารวมกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เกิดเป็น ‘หลักสูตรอิสลามศึกษา’ ที่สอนทั้งศาสตร์ความรู้ตามหลักสูตรแกนกลางและความรู้เรื่องศาสนา โดยมีสมบูรณ์เป็นวิทยากรด้านศาสนาอิสลามสอนประจำที่นี่ 

และการได้ มู–ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ที่เป็นคนบนเกาะยาวใหญ่ กลับมาสอนที่ รร.อ่าวกะพ้อ ก็ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและชุมชนแข็งแรงขึ้น เพราะได้คนที่ชุมชนไว้ใจ และเข้าใจชุมชนมากที่สุดมาอยู่ในโรงเรียน

“ที่เกาะยาวใหญ่เรารู้จักทั้งเกาะ มีความสนิทสนมจนกลายเป็นความผูกพันอย่างพี่น้อง เราถือว่าเด็กทุกคนเป็นเด็กของชุมชน เพราะฉะนั้นมีกิจกรรมอะไรที่ช่วยได้จะส่งเด็กไป เช่น จะไปช่วยมัสยิด ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น พิธีต้อนรับเด็กแรกเกิด ขึ้นบ้านใหม่ คนอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในพิธีต่างๆ ละหมาดให้คนตาย (ละหมาดญะนาซะห์) ก็ส่งเด็กๆ ไปช่วย ทำให้โรงเรียนกับชุมชนจะผูกพันกันมาก”

โรงเรียน

โรงเรียน

“ผมเคยมีครูสอนภาษาไทยแล้วย้ายออกไป พอเราไปเรียนกับครูอีกคน ซึ่งเขาไม่ได้จบเอกภาษาไทยมาโดยตรง เขาอาจจะไม่สามารถเต็มที่กับการสอนได้ สอนเราได้ในระดับพื้นฐาน มันเกิดปัญหาตรงนี้”

ปัญหาครูโยกย้ายเป็นปัญหาที่อยู่คู่โรงเรียนบนเกาะยาวใหญ่ ระยะเวลาที่ครูบรรจุเฉลี่ย 1-2 ปี ก่อนจะขอย้ายไปที่อื่น สมัยที่มัสยังเป็นนักเรียนมักจะเจอเหตุการณ์ครูย้ายบ่อยครั้ง การหาครูมาทดแทนก็ต้องใช้เวลา ทำให้บางครั้งครูจากวิชาอื่นต้องมาช่วยสอนแทน

ผอ.อุดมเคยออกนโยบาย ‘ชวนน้องกลับบ้าน’ ชวนคนเกาะยาวที่ไปทำงานเป็นครูในพื้นที่อื่น ขอย้ายกลับมาสอนที่บ้าน เขามองว่าจะเป็นวิธีช่วยแก้ปัญหาครูโยกย้าย เพราะได้คนในพื้นที่มาสอนเลย โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เลยเป็นโครงการที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้เพิ่ม 

ในความรู้สึกของมู การเป็นคนในพื้นที่จะช่วยให้การทำงานเป็นครูราบรื่นขึ้น เขามองไปถึงการเป็น ‘ครูนักพัฒนาชุมชน’ เพราะว่าโรงเรียนกับชุมชนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ มีความสัมพันธ์ในลักษณะเกื้อกูลอาศัย เขายกตัวอย่างเวลาโรงเรียนจะจัดกิจกรรมอะไร มักจะมองหาจุดที่ชุมชนสามารถมาร่วมได้ เช่น งานประจำปี ชวนคนในชุมชนมาตั้งร้านขายของหารายได้ โรงเรียนก็มีอาหารและของให้คนมางานได้เลือกซื้อ หรือการที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อปรับหลักสูตรนำศาสนาอิสลามเข้ามาสอนควบคู่วิชาสามัญ ช่วยลดภาระครอบครัวที่จะส่งลูกออกไปเรียนข้างนอก เพราะบนเกาะก็มีโรงเรียนที่สอนศาสนาให้ลูกๆ ได้

เจษฎา มองเห็นข้อดีของการได้คนในพื้นที่มาเป็นครู เพราะจะสามารถเข้ากับชุมชนได้ สามารถดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานพัฒนาไปกับโรงเรียน

“การได้ครูที่เข้ากับชุมชนได้ด้วยมันดีต่อโรงเรียนมาก เพราะว่าโรงเรียนกับชุมชนมันแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก งบประมาณของโรงเรียนปีหนึ่งได้มาไม่เท่าไหร่นะ การบริหารก็จะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“ถ้าได้ครูที่เข้ากับชุมชนได้ดี ชุมชนก็จะอยากมีส่วนร่วมกับโรงเรียน และโรงเรียนก็เข้าไปช่วยชุมชนด้วย เปิดบริการให้ใช้สนามกีฬาได้ตลอด เข้ามาสืบค้นข้อมูลก็ได้ มัสยิดจัดงานอะไรก็ส่งครูและนักเรียนไปช่วย”

เกาะยาวใหญ่ยังคงต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ มีงานอีกหลายด้านที่ต้องทำ แต่พวกเขาจะไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยว เพราะจะมีคนที่มีความเชื่อและเป้าหมายเดียวกันมาร่วมทางด้วยเสมอ