เปิดพื้นที่รับฟังและเปิดหัวใจ แนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จากโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว (สาครกิจโกศล) อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

เปิดพื้นที่รับฟังและเปิดหัวใจ แนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จากโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว (สาครกิจโกศล) อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว (สาครกิจโกศล) เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 450 คน มีครู 22 คน ครูครบชั้น ถ้าวันไหนที่ครูติดประชุมหรืออบรม โรงเรียนมีวิธีการแก้ปัญหาคือ รวมห้อง โดยประเมินจากพฤติกรรมของนักเรียน และความสามารถของครูท่านนั้นว่าจะรับมือกับเด็กๆ ได้ไหวหรือไม่ 

เพราะด้วยความที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนอยู่ในช่วงวัยของวัยรุ่น  ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเรื่อง พฤติกรรม และการแสดงออกทางอารมณ์ของนักเรียน เช่น ปัญหาทะเลาะวิวาทในโรงเรียน ปัญหายาเสพติด เป็นต้น อีกทั้ง 80% บริบทผู้ปกครองของนักเรียน ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนฝรั่ง และรับจ้างทั่วไป ทำให้พ่อแม่ไม่มีเวลามาดูแลทั้งในด้านวิชาการ และส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกให้แก่นักเรียน แต่ข้อดีของโรงเรียนคือ มีวิทยาลัยการอาชีพบ้านแพ้วอยู่ติดกับรั้วโรงเรียน และได้มีการทำ MOU ร่วมกัน ทำให้นักเรียนม.3 สามารถไปฝึกทักษะอาชีพทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงได้ โดยมีวิชาให้เลือก ได้แก่ งานไฟฟ้า งานอาชีพ เป็นต้น ซึ่งการมีโครงการนี้ ก็ได้ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในเรื่องการไปรับ-ส่ง และการหารายได้ระหว่างเรียนไม่มากก็น้อย 

เมื่อโควิดระบาด การเรียนหยุดชะงัก จนการเรียนรู้ของเด็กๆ ถดถอย แต่โรงเรียนได้หาแนวทางฟื้นฟูด้วยการเปิดพื้นที่รับฟังและเปิดหัวใจ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ได้ถูกถอดบทเรียนไว้ในบทความนี้แล้ว

สภาพปัญหา

ในฐานะครูที่ครูเทียนฤทัย ทองใบอ่อน ซึ่งทั้งสอนคณิตศาสตร์และเป็นฝ่ายปกครองด้วย จึงจับสัญญาณความผิดปกติของพฤติกรรมนักเรียนได้อย่างชัดเจน หลังจากที่เปิดเทอมจากช่วงหยุดยาวด้วยผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปนาน 

ครูเทียนฤทัยซึ่งสอนคณิตศาสตร์ ป.6-ม.3 ได้เล่าให้ฟังว่า “เด็ก ม.1-3 เป็นรุ่นที่เจอปัญหาโควิดหมดเลย และปัญหาที่เกิดขึ้น คือเด็กม.3 เพราะเจอปัญหาตั้งแต่ป.6 เรารู้สึกว่าเรื่องมันเยอะขึ้น คือ ปัญหาเด็กควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ เปลี่ยนไปตั้งแต่อยู่บ้านนานๆ นิสัยเปลี่ยนมาก ด้านอารมณ์และด้านความคิด ล่าสุด นักเรียนบีบคอเพื่อน เพราะเพื่อนเอาดินน้ำมันปา เรามองว่าถ้าเด็กถูกกล่อมเกลาด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีมาตลอดอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์พวกนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นและไม่รุนแรงเท่านี้”

จากปัญหาที่พบ ครูเทียนฤทัยจึงได้ตั้งเป้าหมายในการเปิดเทอมใหม่ว่า “ฉันอยากรู้จักนักเรียนมากขึ้น“เพราะหยุดไปนานเราไม่รู้เลยว่าความคิด หรือทัศนคติของเขาเป็นยังไงบ้าง เลยแจกกระดาษให้นักเรียนลองเล่าว่าในช่วงโควิดที่ปิดไป นักเรียนทำอะไร ที่ไหน อย่างไรบ้าง หรือให้นักเรียนเล่าความประทับใจ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ชีวิต ความรู้สึกในช่วงที่ผ่านมา” 

การเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจึงเป็นหนึ่งในวิธีการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของครูเทียนฤทัย แต่ยังมีอีกหลายวิธีการที่ครูได้ทำเพื่อช่วยนักเรียนฟื้นฟูการเรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการ และด้านสังคมและอารมณ์ ดังนี้ 


Learning Recovery

1.ใช้แบบประเมินทดสอบด้านความรู้และด้านอารมณ์ และสังคมของนักเรียน 

ครูได้มีการสังเกตเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งที่เคยสอนตอนเขาอยู่ป.5 เขาทำงานค่อนข้างช้า ไม่เคยส่งงานตรงเวลาทันเพื่อน และที่สำคัญคือมีพฤติกรรมรุนแรง เวลาไม่พอใจก็จะทำลายข้าวของ ผลักโต๊ะ โยนโต๊ะ ครูเห็นว่าพฤติกรรมแบบนี้อาจไม่ปกติ จึงได้ดำเนินการดังนี้ 

  • ครูใช้แบบคัดกรองเบื้องต้น เริ่มต้นจากอ่านและการเขียนก่อน 
  • ครูวิเคราะห์ผลจากแบบคัดกรอง และส่งผลไปให้โรงพยาบาล หลังจากนั้นโรงพยาบาลจะส่งผลกลับมา ซึ่งผลการวินิจฉัยปรากฎว่านักเรียนมีความเสี่ยงเรื่องการเรียนรู้ช้า
  • ครูทำนัดกับคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
  • ครูสื่อสารกับผู้ปกครอง และสื่อสารถึงผลกระทบที่ดีขึ้นของการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ปกครองยอมรับและเปิดใจที่จะร่วมดูแลนักเรียนไปพร้อมกัน

2.รู้จักนักเรียนทุกคน  

การรู้จักนักเรียนผ่านการให้นักเรียนเขียน หรือเล่าความรู้สึกของตนเอง ทำให้เราไม่ตัดสินเด็ก “ก่อนหน้านี้มีนักเรียนชั้นป.6 เขาบริโภคสื่อมากเกินไปจนเขาไม่เห็นว่าคนอื่นทำอะไรกันบ้าง อาจจะเป็นเพราะว่าผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล ลูกเลยนั่งดูแต่โทรศัพท์ พอเราให้เขาเขียนถึงอาชีพที่อยากทำ เลยอยากจะเป็นแต่ Youtuber กัน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีนักเรียนคนหนึ่งเขียนว่าอยากเป็น ‘นักฆ่า’ อยู่ชั้นป.4 ที่เขาตอบแบบนั้นเพราะว่าเขาติดเกมเราก็เลยเข้าไปคุยกับเขาว่า บนโลกนี้มีอาชีพมากมายที่เด็กเป็นได้นะ และอาชีพที่เด็กอยากเป็นก็ไม่ได้เป็นอาชีพที่ดี ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ครูต้องใช้วิธีการพูดคุยกับเด็กอย่างละเอียดเป็นรายบุคคลเลย” 

ซึ่งก่อนหน้านี้ครูเคยใช้วิธีการตีเด็กคนหนึ่ง เพราะเขาไม่ส่งการบ้าน พอไปเยี่ยมบ้านแล้วพบว่าแม่ไม่มีตังจ่ายค่าไฟ แม่เลิกงานดึก ทำให้เด็กคนนี้ต้องรอแม่เลิกงาน เขาเลยไปรอที่ร้านเกม กลายเป็นว่าถูกปลูกฝังด้วยเกม ทำให้เรารู้เลยว่าเด็กคนหนึ่งมีปัญหามากมายซ่อนอยู่ เราเลยคิดว่า เราต้องรู้จักเด็กก่อนว่าเด็กคนนี้เป็นยังไง บางคนแต่งตัวดี แต่ก็อาจไม่ได้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ การรู้จักเด็กมากขึ้น ก็ช่วยเรื่องภาวะการเรียนรู้ถดถอย เพราะทำให้เราได้ปรับทัศนคติของตัวเอง และจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กได้ง่ายขึ้น 

วิธีการเริ่มต้นรู้จักนักเรียน อาจจะลองแค่การตั้งคำถามง่าย เช่น ‘วันนี้กินข้าวเช้ามาหรือยัง’ ‘ใครทำกับข้าวให้กิน’ และลองสังเกตอาการ ท่าทาง และคำตอบของนักเรียนดู จะช่วยให้เราเข้าไปอยู่ในโลกของนักเรียนมากยิ่งขึ้น 

3.เสริมพลังบวกให้แก่นักเรียน 

การชื่นชมทำให้เด็กเห็นคุณค่าตัวเอง เพราะเขารู้สึกว่า ‘เขาถูกเห็น ถูกใส่ใจ และเขาจะอยากมาเรียนทุกวัน’ วิธีการเสริมแรงเชิงบวก ทำได้ดังนี้ 

  • วิธีที่1 : การเสริมพลังบวกอาจเริ่มต้นด้วยการถามไถ่สถานการณ์ของนักเรียนเสมอว่า ‘มีใครรังแกไหม’ ‘มาโรงเรียนช่วงนี้มีความสุขดีไหม’ การสื่อสารกับเด็กบ่อยๆ ทำให้เด็กรู้สึกว่าครูใส่ใจเขา และรักเขา 
  • วิธีที่2: แทนที่จะตีหรือดุว่าทันที แต่เราใช้วิธีการพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมของเขา เขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่ทำมันดีหรือไม่ดียังไง 
  • วิธีที่3: สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับนักเรียน เช่น การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนเขียนความรู้สึก และความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ 

4.ส่งเสริมด้านกีฬา 

เด็กมัธยมชอบทะเลาะวิวาทกัน ครูจึงสนับสนุนเรื่องกีฬาให้แก่เขา ซึ่งก่อนที่จะปิดเทอมช่วงโควิด จะไม่ได้มีการเล่นกีฬาในช่วงพักกลางวัน แต่ตอนนี้ในช่วงคาบพักกลางวันจะมีครูพละมาช่วยจัดกิจกรรมกีฬาให้แก่นักเรียน 

5.เยี่ยมบ้านนักเรียน 100% 

6.ใช้ Learning Box กระตุ้นการเรียนรู้ 

ตั้งแต่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกสศ.โรงเรียนก็นำมาซื้อสื่ออุปกรณ์ใส่ Learning Box ให้กับนักเรียนเป็นช่วงชั้น Learning Box ช่วยให้เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์การเรียนรู้ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้เท่าเทียมเพื่อน โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ อุปกรณ์ที่จำเป็นคือ วงเวียน ครึ่งวงกลม และไม้โปร เมื่อไหร่ที่เรียนเรื่องการวัดมุม พบว่านักเรียนบางคนไม่มีอุปกรณ์ทุกครั้ง Learning Box จึงเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ได้ และเด็กได้ลงมือทำทุกคน เพราะฉะนั้น Learning Box ช่วยให้นักเรียนได้ใช้สื่อที่เท่าเทียมกัน  

นอกจากนี้ การใช้สื่อหรืออุปกรณ์ใน Learning Box ก็เชื่อมโยงกับการเรียนตามช่วงวัยของนักเรียนด้วย เช่น แผนที่โลก เป็นของพี่มัธยม เพื่อจะได้ใช้ควบคู่กับวิชาเรียน ต่อมาคือ รูบิค พจนานุกรม และหนังสือเล่มเล็ก เช่น เรื่องโลกของฉัน ปริศนาหาของ ให้กับน้องชั้น ป.4 – 6 เพื่อฝึกและปลูกฝังมารยาท ส่วนชั้น ป.1 – 3 จะให้ตารางสูตรคูณ และบัญชีคำพื้นฐานที่เป็นสื่อสร้างสรรค์ และปูพื้นฐานเรื่องการอ่าน ซึ่งถึงแม้ว่าโครงการจะจบไปแล้ว แต่ Learnig Box ก็ยังคงใช้เป็นสื่อให้แก่นักเรียนได้เสมอ 

7.PLC ร่วมกับเพื่อนครูในโรงเรียนและเครือข่าย 

โรงเรียนจะใช้กระบวนการ PLC เป็นประจำ ทำเป็นช่วงชั้น มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและส่งเสริมด้านวิชาการ เพราะครูในช่วงชั้นจะได้รู้จักพฤติกรรมลึกๆ ของเด็กมากขึ้น และพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ถ้าปัญหาไหนเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไขไม่ได้ ครูก็สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้บริหารได้ เช่น ปัญหาเรื่องอาวุธ และยาเสพติด นอกจากนี้ โรงเรียนยังมี PLC ในระดับเครือข่ายโรงเรียน จากการสนับสนุนของกสศ.และสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น โดยการรวมเครือข่ายโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครที่แก้ไขปัญหาการเรียนรู้ถดถอยได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน


ความภาคภูมิใจของครู 

1.โรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์จากการสอน ONET สูงกว่าระดับประเทศ 

ครูเทียนฤทัยเล่าให้ฟังว่าทั้งที่ก่อนช่วงโควิด ผลสอบ ONET ของโรงเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ แต่หลังจากที่การทำกิจกรรมฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย และเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ใช้ Learning Box และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ผลคะแนนมากขึ้น” 

2.นักเรียนมีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดเมื่อเปิดเทอมมาออนไซต์ 

จากนักเรียนที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนออนไลน์ ปิดกล้อง และเล่นแต่เกม แต่พอเปิดมาออนไซน์ ทำให้เด็กได้กลับมาอยู่ในวงจรและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เช่น มีการส่งงานมากขึ้น จนกระทั่งได้รับรางวัลเหรียญทอง การแข่งขันคิดเลขเร็ว 

3.นักเรียนมีพฤติกรรมรุนแรงที่ลดลงและมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

ครูเทียนฤทัย ยกตัวอย่างกรณีเด็กหญิงเอ (นามสมมติ) หลังจากที่ฟื้นฟูด้านพฤติกรรมของนักเรียนด้วยการพาไปพบหมอ และใช้การเสริมแรงเชิงบวกก็ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้น ครูในโรงเรียนหลายคนช่วยกันชื่นชมในสิ่งที่เขาทำได้ดี เช่น เขาลายมือสวย ครูก็พาเขาไปประกวดคัดลายมือ นอกจากนี้ มีพัฒนาการเรื่องความรับผิดชอบ จากที่ส่งการบ้านน้อยมาก ส่ง 3 ชิ้นจาก 10 ชิ้น จนตอนนี้กล้าที่จะเข้ามาถาม ไม่ลอกการบ้านเพื่อนเหมือนก่อน กลายเป็นว่าชอบทำการบ้านและมาส่งงานทุกครั้ง ไม่เคยขาด

ก้าวต่อไป

ปัญหาเรื่อง Learning loss เป็นเรื่องที่ทำได้ต่อไปเรื่อยๆ จนปีนี้ก็นำกิจกรรมไปใส่ในแผนปฏิบัติการ เช่น กิจกรรม Openhouse มีเป้าหมายเพื่อที่จะเผยแพร่องค์ความรู้จากโครงการฟื้นฟูความรู้ถดถอยไปยังโรงเรียนในเครือข่ายสหวิทยาเขต ประกอบไปด้วย โรงเรียนวัดกระโจมทอง โรงเรียนวัดหลักสองราษฎร์บำรุง โรงเรียนวัดคลองตันราษฎร์บำรุง โรงเรียนบ้านคลองตัน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 9 โรงเรียนวัดธรรมเจดีย์ศรีพิพัฒน์ โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว และโรงเรียนบ้านรางสายบัว 

ครูเทียนฤทัยบอกว่าตั้งแต่ทำโครงการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยที่ผ่านมา ทำให้วิธีการสอนเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก “สมัยก่อนเราแค่สอนและตรวจการบ้าน เพราะเชื่อว่าการตรวจการบ้านจะทำให้รู้จักนักเรียนมากขึ้น แต่มันเป็นแค่ส่วนเล็กน้อย ต่อมาเราได้ตั้งคำถามกับตัวเองเพิ่มหลังจากที่ปิดเทอมไปนานๆ พอเปิดเทอมมาพบว่า “ทำไมเด็กทำไม่ได้” เราพยายามหาคำตอบมากขึ้นและปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เป็นแบบ Active Learning คือ การให้พื้นที่นักเรียนได้ยกมือถามและได้ตอบ เหมือนเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และครูต้องจุดประกายให้เขา ให้นักเรียนได้คิด และลงมือทำ เท่านี้นักเรียนก็ active แล้ว”