11 หน่วยงาน MOU เดินหน้า Thailand Zero Dropout ก.ค.นี้ คิกออฟค้นหา ช่วยเหลือ เด็กหลุดจากระบบ 1.02 ล้านคนกลับมาเรียน ส่งเสริมศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต

11 หน่วยงาน MOU เดินหน้า Thailand Zero Dropout ก.ค.นี้ คิกออฟค้นหา ช่วยเหลือ เด็กหลุดจากระบบ 1.02 ล้านคนกลับมาเรียน ส่งเสริมศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ( สคช.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ หรือ “Thailand Zero Dropout” โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวแทนรัฐบาลประกาศความร่วมมือของทั้ง 11 หน่วยงาน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความร่วมมือของ 11 หน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ การเดินหน้าสู่ Thailand Zero Dropout จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ ทำได้จริง รัฐบาลจึงจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ ระหว่าง 11 หน่วยงานขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นรายบุคคลตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกันบูรณาการฐานข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี เป็นรายบุคคลระหว่างหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทั้งสิ้น 21 หน่วยงานทั่วประเทศไทยกับฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย พบว่า ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมายังมีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของทั้ง 21 หน่วยงาน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า จากฐานข้อมูลนี้ รัฐบาลได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการค้นหา ติดตาม และดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาตามศักยภาพ โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ทุกจังหวัดจะ Kick Off กระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งประเทศ โดยมี Application “Thai Zero Dropout” สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้า

“การลงทุนกับเด็กให้มีการศึกษา เป็นเรื่องที่คุ้มค่า เพราะเด็กคือทรัพยากรที่สำคัญ จะเสียงบประมาณเท่าไหร่ก็ต้องยอมเสีย เพื่อให้พวกเขามีการศึกษา ตรรกะของเราคือ ถึงจะรักษาเด็กไว้ได้แค่คนเดียว ก็ถือว่าคุ้มแล้ว ดีกว่าปล่อยให้เขาไม่มีการศึกษา เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะเสียเงินเท่าไหร่ก็เสีย ต้องพยายามให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษา จากนี้ไปเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาทุกคนจะอยู่ในจอเรดาร์ของรัฐบาล” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เอ็มโอยูนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธสัญญาทางสังคมที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและทุกฝ่าย ยินดีที่จะร่วมกันสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อความเสมอภาคแก่เด็กและเยาวชนไทยทุกคน โดยจะนำไปสู่บันได 5 ขั้นในการทำงาน ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 การสำรวจข้อมูลเด็ก Dropout เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษารายบุคคล และพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บันไดขั้นที่ 2 การติดตามช่วยเหลือเด็ก Dropout ได้เป็นรายบุคคล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือของสหวิชาชีพ บันไดขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต โดยมีนวัตกรรมการศึกษารูปแบบต่าง ๆ รองรับบันไดขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนได้รับการส่งต่อผ่านหุ้นส่วนการศึกษา ตามแนวคิด All for Education ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่ การระดมทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ในพื้นที่ บันไดขั้นที่ 5 เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตต่อไป

“ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนกว่า 1 ล้านคนนั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น หากประเทศไทยสามารถพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตได้ถึงร้อยละ 1.7 ต่อปี ฉะนั้นหากเราสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เราย่อมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน” ดร.ไกรยสกล่าว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

ขณะที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดีอีจะเป็นเจ้าภาพบูรณาการเชื่อมโยง และจัดทำข้อมูลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและพื้นที่ มีการติดตามช่วยเหลือนักเรียนเป็นประจำก่อนเปิดภาคเรียน จะทำให้สถานการณ์หรือจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือ กระทั่งมีจำนวนลดลงและเป็นศูนย์ในที่สุด

นอกจากนี้จะพัฒนา Big Data Analytics ช่วยทำนายความเสี่ยงการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน โดยบูรณาการฐานข้อมูลของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองที่อยู่ในกระทรวงต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความสามารถในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และแบ่งกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในระดับต่าง ๆ เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout 4 มาตรการ คือ 1.)มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.)มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ 3.) มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย และ 4.) มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้