กสศ. x Microsoft Thailand จัดเวิร์กช็อปการใช้เทคโนโลยีช่วยครูออกแบบสื่อการสอนด้วย AI Microsoft Copilot

กสศ. x Microsoft Thailand จัดเวิร์กช็อปการใช้เทคโนโลยีช่วยครูออกแบบสื่อการสอนด้วย AI Microsoft Copilot

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567 สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ชวนคุณครูผู้เคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (Princess Maha Chakri Award : PMCA) เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบสื่อการสอนผ่านการใช้ ‘AI’ Microsoft Copilot ซึ่งมีการออกแบบกระบวนการ ideation workshop โดยทีม Equity Lab สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (Microsoft Thailand) แนะนำวิธีการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวสำหรับออกแบบสื่อการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยชวนคุณครูเข้าร่วมเรียนรู้ ระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้เครื่องมือนี้ในการออกแบบสื่อการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในประเทศไทย

เพราะสื่อการสอนที่ทันต่อยุคสมัย คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งปรับตัวได้ทันต่อการเข้าถึงความรู้ที่ไร้พรมแดน ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะพาเด็ก ๆ ไปถึงจุดนั้นได้ ก็คือ ‘ครู’ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยออกแบบการเรียนรู้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนที่ไม่พร้อม ในบทความนี้ กสศ. ได้สรุปส่วนสำคัญจากกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มาให้ผู้อ่านได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ให้ Chatbot เป็นผู้ช่วยจัดการเรียนรู้ของครู

เมื่อศตวรรษที่ 21 ผ่านล่วงมาถึงปี ค.ศ. 2024 นี้ ไม่มีใครปฏิเสธได้แล้วว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ‘ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง’ (Generative Artificial Intelligence) เป็นเทรนด์ของโลก นี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และคือสิ่งที่คนทุกแวดวงให้ความสนใจอย่างมาก หรือกล่าวได้ว่า ไม่ว่าใครจะเคยได้ยินเรื่องราวหรือรู้จัก ‘AI’ กันมามากน้อยแค่ไหน แต่ข้อเท็จจริงก็คือปัญญาประดิษฐ์นั้น ได้ก้าวมาเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อผู้คนในศตวรรษนี้

โดยในภาคการศึกษา ‘AI’ ได้เริ่มนำเข้ามามีบทบาทในกระบวนการและมิติที่หลากหลาย ตั้งแต่การเตรียมการเรียนการสอน (Lesson Planning) การจัดการเรียนรู้ ไปจนถึงการติดตามผลลัพธ์ผู้เรียน (Assessment) ซึ่งช่วยให้ครูและบุคลากรในวงการศึกษามีเครื่องมือที่เสมือนเป็น ‘ตัวช่วย’ ทำงานในส่วนต่าง ๆ ที่ไม่เพียงทำให้แต่ละขั้นตอน ‘ง่าย-สะดวก-รวดเร็ว’ กว่าเดิม หากยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพงานให้ดียิ่งขึ้น

หนึ่งในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในวงกว้าง และเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการเรียนรู้ คือ ‘Chatbot’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้สามารถตอบกลับผู้ใช้งานอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบตัวอักษร (Text) หรือโต้ตอบด้วยเสียง (Speech) แบบ Real-Time เสมือนการสนทนาจริง ทั้งนี้ในกระบวนการทำงาน Chatbot จะรับคำถามตามที่ผู้ใช้งานระบุความต้องการ จากนั้นจึงวิเคราะห์คำถามโดยหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง ก่อนประมวลผลและตอบกลับผู้ใช้งานด้วยข้อมูลที่รวดเร็วและอยู่ภายใต้กรอบของคำถาม

ติดอาวุธใหม่ ๆ ให้คุณครู ด้วย Microsoft Copilot

ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในฐานะเครื่องมือพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การอบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบสื่อการสอนผ่านการใช้ AI Microsoft Copilot จึงจัดขึ้นเพื่อติดอาวุธใหม่ ๆ ให้กับคุณครู ในการเรียนรู้แนวทางใช้เครื่องมือ Chatbot ‘Microsoft Copilot’ ที่ตอบคำถามและปฏิบัติการได้ตามคำร้องขอของผู้ใช้งานด้วยภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติ สามารถออกแบบและทำกิจกรรมที่ท้าทายและซับซ้อน เช่น ผลิตสื่อการเรียนการสอนทั้งที่เป็นตัวอักษรและเป็นภาพ รวมถึงแต่งเพลง ช่วยในการค้นคว้าข้อมูลประกอบการจัดทำบทเรียน หรือออกแบบกิจกรรมที่น่าสนใจในชั้นเรียนได้หลากหลายรูปแบบ

รายละเอียดของกิจกรรมนี้ จะเป็นการแนะนำการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ผ่านเครื่องมือ Microsoft Copilot พร้อมสาธิตการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวในการออกแบบสื่อการสอน โดยผู้เชี่ยวชาญจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย พร้อมด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและปัญหา เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนทุนเสมอภาคช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยคณะทำงาน กสศ. และครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรี 15 คนที่เข้าร่วมเวิร์กช็อป

ผู้เข้าร่วมได้ถูกแบ่งกลุ่ม และได้รับโจทย์เป็นรายประเด็น เพื่อไปสู่ขั้นตอนระดมความคิดเห็น รับฟังเสียงสะท้อน (Feedback) และแลกเปลี่ยนแนวทางการนำเครื่องมือ Microsoft Copilot มาประยุกต์ใช้ออกแบบสื่อการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับรายวิชาและชั้นเรียนระดับต่าง ๆ รวมถึงหาแนวทางแก้ปัญหาด้านการศึกษาที่ตรงกับโจทย์ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าวันนี้หรือวันข้างหน้า เทคโนโลยี ‘AI’ คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนในวงการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครูผู้ออกแบบการเรียนรู้ หรือเป็นผู้เรียนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ต่อไป ฉะนั้นการทำความรู้จัก เข้าใจ จนถึงการนำ AI มาเป็น ‘ตัวช่วย’ สำหรับการเรียนและการทำงาน ก็จะยิ่งทำให้การจัดการเรียนการสอนของครูสะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้เรียนเองก็จะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สดใหม่ รวมถึงเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปในสังคม ไม่ว่าการเรียนรู้นั้นจะอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม

สำหรับผู้สนใจใช้งาน Microsoft Copilot คลิก