กลยุทธ์สู้การเรียนรู้ถดถอย เปิดเส้นทาง Learning Recovery ของโรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล อำเภอเมืองสมุทรสาคร

กลยุทธ์สู้การเรียนรู้ถดถอย เปิดเส้นทาง Learning Recovery ของโรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล อำเภอเมืองสมุทรสาคร

โรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะเล เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 180 คน มีคุณครู 9 คน ด้วยที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ใกล้ชายทะเล ผู้ปกครอง 90% จึงประกอบอาชีพชาวประมง และผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลาในการดูแลการเรียนของลูก บวกกับเมื่อจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  นักเรียนชั้นป.1-3 จึงต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอย 

เด็กส่วนใหญ่ป.1-3 จะไม่มีโทรศัพท์ จากเด็กทั้งห้องประมาณ 30 คน เรียนออนไลน์ได้แค่ 5-6 คน นอกนั้นไม่สามารถถึงเข้าการเรียนออนไลน์ได้ เพราะผู้ปกครองต้องใช้มือถือในการทำงานด้วย” ครูพีระพงษ์กล่าว 

จากปัญหาที่พบเจอในช่วงโควิด ส่งผลต่อเนื่องในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ทำให้ครูพีระพงษ์สังเกตอาการการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนได้อย่างชัดเจน “อาการ คือ เด็กป.3 บวกลบคูณหาร และอ่านโจทย์ไม่ได้ ทั้งที่ตามระดับความสามารถของเด็กป.3 จะต้องบวกลบเลขหลักเดียวได้แล้ว จากเด็กในห้อง 32 คน ถ้าสถานการณ์ปกติ เด็กอ่อนจะมีจำนวนอยู่ที่ 5-6 คน ซึ่งยังพอที่จะดูแลได้ แต่พอเปิดเทอมมาพบว่า ห้องประมาณ 15-16 คนที่มีปัญหา ทำให้ครูสอนรายคนไม่ได้” 

จึงเป็นความท้าทายสำหรับครูพีระพงษ์ที่เพิ่งเข้ามาบรรจุใหม่และจะต้องเร่งดำเนินการตามแนวทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์

และในบทความนี้ได้ถอดบทเรียนการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของโรงเรียนไว้ดังนี้


Learning Recovery

1.จัดลำดับสิ่งที่สอนและเน้นย้ำซ้ำทวน แนวคิดหลักของวิชาคณิตศาสตร์ คือการฝึกฝน และทำบ่อยๆ ทุกครั้งในคาบโฮมรูม ครูจะนำทั้งโจทย์ปัญหามาให้ได้ฝึกอ่าน และนำโจทย์เลขมาให้ทำนอกเหนือจากชั่วโมงเรียนปกติ เนื่องจากครูพบว่า นักเรียนบางคนยังอ่านโจทย์ไม่ออก วิธีการที่ครูใช้ก็คือ การสอนเรื่องเดิมๆ โดยจัดลำดับความสำคัญก่อนว่า เขาจะต้องทำอะไรได้ก่อน เช่น ต้องอ่านโจทย์ให้ได้ก่อน โดยที่ครูจะพานักเรียนให้อ่านออกเสียงทีละคำ และเมื่ออ่านถึงตัวเลข ครูจะให้นักเรียนข้ามการอ่านตัวเลขไปก่อน เพราะต้องการเน้นให้นักเรียนอ่านโจทย์ให้ได้ก่อนที่สอนบวกลบคูณหาร ซึ่งก็พบว่า หลังจากใช้วิธีการนี้ไปเรื่อยๆ จนเข้าเดือนที่ 4 นักเรียนเริ่มอ่านโจทย์ และตีความโจทย์ได้ หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นสอนบวกลบคูณหาร 

2.กลยุทธ์คูปองจับฉลาก  เป็นการเสริมแรงเชิงบวกด้วยการให้รางวัลด้วยคูปองจับฉลากวันสำคัญ โดยมีเงื่อนไขว่า ‘ใครเสร็จเร็ว 20 คนแรก มารับคูปองไปหยอดกระปุก เพื่อจะได้จับฉลากเป็นของรางวัลเล็กๆ น้อยในวันสำคัญต่างๆ’ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการให้คูปองจับฉลาก คือ เด็กนักเรียนพยายามบวกลบเลขมากขึ้น เด็กขยันขึ้น เพราะอยากเก็บสะสมคูปองเยอะๆ ซึ่งคุณครูพีระพงษ์บอกว่า “เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากเดิมมีนักเรียน 15 คนที่ทำไม่ได้ หลังจากใช้วิธีการสร้างเงื่อนไขโดยคูปอง เด็กที่ทำไม่ได้เหลือประมาณแค่ 10 คน”

3.จัดกลุ่มนักเรียน และย่อยเนื้อหาให้ง่ายตามกลุ่ม จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้ครูพีระพงษ์เรียนรู้ว่า “การสังเกตและประเมินความสามารถของนักเรียนรายบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญและจะต้องละเอียดมากกว่าเดิม” ครูเล่าให้ฟังว่า “เพราะเด็กไม่ได้มีแค่เด็กอ่อนเท่านั้น แต่จะมีเด็กที่อ่อนมาก หรือมีความต้องการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนด้วย หลังจากคัดกรองโดยการให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดตามเนื้อหาของระดับชั้นป.3 แล้วพบว่า สามารถการจัดกลุ่มนักเรียนออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มเด็กเก่ง เด็กปานกลาง เด็กอ่อน และเด็กอ่อนมาก ซึ่งวิธีการสอนและเนื้อหาในแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มเด็กเก่ง จะให้เริ่มต้นด้วยเนื้อหาที่ตามช่วงชั้นของเขา คือ บวกลบไม่เกินหลักแสน และเมื่อเขาทำแบบฝึกหัดเสร็จเร็วก่อนเพื่อน ครูจะต้องสื่อสารให้เขาไปช่วยเหลือเพื่อนคนอื่นด้วย ส่วนกลุ่มเด็กอ่อนมาก จะต้องย่อยเนื้อหาให้ง่ายขึ้น คือการบวกลบไม่เกินหลักร้อยก่อน จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน และเมื่อกลุ่มเด็กอ่อนสามารถบวกลบไม่เกินหลักร้อยได้แล้ว ต่อไปครูก็ค่อยเพิ่มเนื้อหาเป็นบวกลบหลักพัน หลักหมื่นต่อไปได้”

4.สอนเสริมเพิ่มเติมความรู้ สำหรับเด็กกลุ่มอ่อนมาก ที่ไม่ได้จริงๆ ครูจะใช้เวลาหลังเลิกเรียน วันละ 5 คน เรียกมาฝึกฝนทำแบบฝึกหัดร่วมกัน ซึ่งจะต้องใช้แบบฝึกหัดที่คิดเพิ่มเอง เพราะเนื้อหาในหนังสือปกติยากเกินไป นอกจากนี้ ครูยังสามารถนัดเด็กก่อนเปิดเทอมประมาณ 2-3 วัน เพื่อทำการฝึกฝนเติมความรู้ และเตรียมพร้อมให้เด็กๆ ก่อนได้

5.ใช้วิธีการจับเวลาทำแบบฝึกหัด เพื่อประเมินความรู้ของนักเรียน ในปีนี้จะเน้นเรื่องการคิดเลขเร็ว เรื่องการบวกลบคูณหาร เช่น ระดับชั้น ป.3 ก่อนเริ่มเรียนคาบแรก จะตั้งโจทย์ให้นักเรียนทำ โดยจับเวลา 5-10 นาที แล้วจัดลำดับให้เด็ก ซึ่งเมื่อใช้วิธีการจับเวลา ทำให้ครูเห็นผลชัดเจนเลยว่าเด็กคนไหนทำได้หรือไม่ได้ เช่น ภายใน 5 นาทีเพื่อนทำไปถึงข้อ 10 แล้ว แต่นักเรียนบางคนยังอยู่ที่ข้อ 3 เป็นต้น  การใช้เทคนิคการจับเวลา สามารถเป็นเครื่องคัดกรองความสามารถของเด็กที่ทำได้และเด็กทำไม่ได้ได้ดีมาก 

6.เพิ่มเวลาถาม ลดเวลาสอน เป็นการจัดสรรเวลาในคาบเรียนใหม่ จากเดิม สอน 1 คาบใช้เวลา 60 นาที ครูจะอัดเนื้อหาเต็มที่ แล้วให้การบ้านเด็กไปทำที่บ้าน แต่ผลปรากฏว่านักเรียนไม่ทำการบ้านมา เนื่องด้วยไม่มีคนสอน ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้อะไร ครูจึงเปลี่ยนใหม่เป็นสอน 30 นาที และให้เด็กมีเวลาทำงาน 30-20 นาที ซึ่งในช่วงที่เวลาเด็กทำงาน เขาจะต้องมีคำถามมาถามครู ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราได้คลี่คลายข้อสงสัยต่างๆให้แก่นักเรียน ซึ่งเห็นความแตกต่างอย่างมาก ครูพีระพงษ์บอกว่า “หลังจากปรับเวลาเป็นแบบนี้แล้ว เด็กสนใจเรียน อยากมาถาม และทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องมากขึ้น”

7.ให้ Learning Bag  เป็นสื่อในการพกพาอุปกรณ์การเรียนรู้   พอมีงบประมาณจากกสศ. โรงเรียนจึงได้จัดซื้อสื่อต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กอยากมาโรงเรียนมากขึ้น โรงเรียนเลือกใช้ Learning Bag เพราะว่าเหมาะสมกับช่วงชั้นของนักเรียนประถมศึกษา สามารถพกพาได้ง่าย และในกระเป๋าการเรียนรู้ จะมีอุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ ไม้บรรทัด สี เป็นต้น นอกจากนี้ จุดเด่นที่สำคัญของ Learning Bag คือ เราแจกเป็นกระเป๋าผ้าว่างๆ ไว้เพื่อให้นักเรียนได้เลือกวาดภาพ ระบายสีกระเป๋าของตัวเอง เป็นการสร้างความเป็นเจ้าของให้แก่นักเรียนว่า ‘อันนี้คือกระเป๋าเรานะ และเขาจะรักษาของ’ ที่สำคัญ เด็กๆ ชอบที่ได้ลงมือสร้างสรรค์กระเป๋าของตัวเอง


ความภาคภูมิใจของครู

1.นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในวิชาคณิตศาสตร์ที่ดีขึ้น ครูพีระพงษ์ยกกรณีตัวอย่างว่า “มีนักเรียน 2 คน ชื่อ ด.ช. ธันวา เกตุก้อง และด.ช. ฐานะพัฒน์ ขนุนทอง ตอนป.3 บวกลบไม่ได้เลย ยิ่งธันวาไม่ได้เลย เพราะความรู้ได้หายไปช่วงหนึ่ง แต่เด็กทั้ง 2 คนได้ผ่านกระบวนการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย แล้วขยับขึ้นไปเรียนในชั้นป.4 เขาสามารถทำได้ ผมคิดว่ากระบวนการที่ให้นักเรียนคิดย้ำซ้ำทวนช่วยให้นักเรียนจดจำขั้นตอนได้ และเรามีเวลาให้นักเรียนได้ถามมากขึ้น ทำให้เมื่อเด็กทำผิด แล้วกล้าเข้ามาถาม เขาจึงได้รู้วิธีการทำที่ถูกต้องและสามารถต่อยอดไปได้”

2.นักเรียนอยากเรียนและรักคณิตศาสตร์มากขึ้น ข้อค้นพบหนึ่งที่ครูพีระพงษ์เล่าให้ฟัง นักเรียนไม่ชอบเรียนเลข เพราะตัวเองเป็นครูที่ดุ แต่ตอนนี้ได้เข้าใจแล้วว่าเราต้องปรับปรุงตัวเอง “เมื่อก่อนสอนแบบโหด ทำให้เรารู้ว่ายิ่งโหดยิ่งเหนื่อย และไม่ได้ผล เรารู้สึกว่าเด็กมีระเบียบวินัยขึ้น แต่ก็มีอาการไม่อยากคิดเลขต่อ ทำให้เด็กต่อต้านไม่อยากเรียน ทำให้ผมรู้ว่า ยิ่งดุ ยิ่งเหนื่อย เลยพยายามพูดให้ดีขึ้น และใช้วิธีการเสริมแรงและสร้างเงื่อนไขการให้รางวัลต่างๆ เด็กๆ ก็อยากกลับมาเรียนเลขมากขึ้น”

ก้าวต่อไป

ระดับโรงเรียน โรงเรียนสหกรณ์กสิกรรมชายทะล ได้พยายามดึงเครือข่ายภายนอกโรงเรียน เช่น อบต. มาช่วยทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อดึงดูดให้นักเรียนอยากกลับมาโรงเรียน ลดปัญหาเด็ดขาดลามาสาย ไม่ยอมมาโรงเรียนจากผลกระทบเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคิดเป็นปริมาณอยู่ที่วันละ 20-30 คน แต่หลังจากที่ร่วมมือกับอบต. จัดกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ เช่น การทำคอนเทนต์ TikTok ทำให้ปริมาณนักเรียนขาดลามาสายลดลง ตอนนี้เหลือประมาณ 10 กว่าคนต่อวัน 

ระดับห้องเรียน ครูพีระพงษ์ยังคงมีเป้าหมายสร้างห้องเรียนที่ให้นักเรียนได้ฝึกทำบ่อยๆ เพราะสิ่งสำคัญของการเรียนคณิตศาสตร์ คือความเข้าใจในขั้นตอน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ใช่แค่ท่องจำเท่านั้น “ในการฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอย คือ เราต้องจัดการเรียนการสอนเน้นเรื่องการฝึกฝนและให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ฝึกย้ำซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ สร้างความต่อเนื่องในการเรียนรู้ให้นักเรียน นักเรียนก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาได้” ครูพีระพงษ์กล่าว