บทบาทของโรงเรียนและผู้บริหาร ต่อการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยผ่านฐานกาย

บทบาทของโรงเรียนและผู้บริหาร ต่อการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยผ่านฐานกาย

ข้อคิดและข้อเสนอแนะ จาก ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อโควิดแผลงฤทธิ์จนโรงเรียนต้องปิดรั้วเกือบ 2 ปี เด็กอนุบาลและเด็กประถมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางพัฒนาการการเรียนรู้ ร่องรอยของผลกระทบนั้น ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แม้ในวันที่เด็กได้กลับคืนสู่ชั้นเรียนแล้ว

สถานการณ์ในปีการศึกษา 2565 โดยเฉพาะในพื้นที่โรงเรียนภาคใต้ สะท้อนชัดว่า เด็กอนุบาลและเด็กประถมมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยที่น่ากังวล นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ กสศ. (กองทุนเสมอภาคเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา) ได้ร่วมมือกับทีมโค้ชโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเข้าไปช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก จนนำมาสู่การค้นพบสำคัญว่า ในการกอบกู้ภาวะเรียนรู้ถดถอยนั้น การฟื้นฟูฐานกายถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญจุดหนึ่ง

และในบทสัมภาษณ์นี้ ทาง กสศ. ได้รับเกียรติจาก ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่มาช่วยเปิดมุมมองและมอบข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยในเด็กไทย หลังจากที่ท่านได้คลุกวงในมาหลายปี จึงมองเห็นทางออกและโอกาส โดยเฉพาะที่โอกาสที่โรงเรียนและผู้บริหารสามารถร่วมผลักดันได้

สภาพปัญหาที่พบ และการดำเนินการฟื้นฟูผ่านฐานกาย

หลังจากโรงเรียนทั่วประเทศไทยเปิดเรียนเต็มรูปแบบในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2565 โรงเรียนจำนวนมากพบปัญหาเด็กไม่มีสมาธิ เขียนอ่านไม่เป็น จดจำพยัญชนะและสระไม่ได้ พัฒนาการเหมือนถูกหยุดนิ่งแช่แข็งไว้ 2 ปี บางกรณีร้ายแรงกว่านั้น คือพัฒนาการถดถอย จากเคยเขียนอ่านได้ ก็กลายเป็นเขียนอ่านไม่เป็น

แรกสุด โรงเรียนได้ดำเนินการฟื้นฟูด้านวิชาการอย่างเร่งด่วน ก่อนจะพบผลลัพธ์ว่า ปัญหาในเด็กอนุบาลและประถมต้นยังคงเดิม เด็กเขียนอ่านไม่ได้ เหนื่อยล้าง่าย นั่งตัวตรงไม่ได้ จับดินสอผิดวิธีใช้การกำดินสอ ไม่มีสมาธิกำกับตนเองเพื่อเรียนรู้

ในกลุ่มโรงเรียนพัฒนาตนเอง พื้นที่ภาคใต้นั้น กสศ.​ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ร่วมมือกันเพื่อหาทางออก

“สิ่งที่พบจากการลงพื้นที่คือ เด็กทุกโรงเรียนมีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง นั่งเขียนไม่ได้ เด็กบางคนเดินลงบันไดโดยการสลับเท้าไม่ได้ บางคนกระโดดไม่ได้ สมาธิสั้น นั่งเขียนอยู่ก็ฟุบลงนอน เป็นต้น” ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ โค้ชโครงงานฐานวิจัย โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวให้ข้อมูล

ทางทีมโค้ช ม.อ.ได้นำเครื่องวัดแรงบีบมือมาเพื่อวัดค่าความแข็งแรงกล้ามเนื้อในเด็ก โดยลงพื้นที่ไปวัดผลในโรงเรียนพัฒนาตนเอง เขตภาคใต้ หลักฐานเชิงประจักษ์คือเด็กอนุบาลมีกล้ามเนื้อมืออ่อนแอและการประสานสัมพันธ์ของร่างกายในการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมไม่ดี ส่วนเด็กประถม 2 มีค่าแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามวัย ซึ่งจำนวนเด็กที่แรงบีบมือไม่ถึงเกณฑ์นั้นมีจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

การมีหลักฐานเชิงประจักษ์​ทำให้หลายโรงเรียนเริ่มตระหนักว่า ต้องเร่งฟื้นฟูพัฒนาการร่างกายของเด็กแล้ว

ขั้นตอนการดำเนินการฟื้นฟูฐานกายและผลสัมฤทธิ์

ตลอดปีการศึกษา 2565 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินการฟื้นฟูฐานกายในพื้นที่โรงเรียนพัฒนาตนเอง ภายใต้การขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง กสศ.​ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งการดำเนินการและผลลัพธ์เป็นดังนี้

การดำเนินการ

  • หารือในวง PLC ร่วมกันระหว่างทีมโค้ช ม.อ. และโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อรับทราบปัญหาและร่วมหาทางออก
  • นำเครื่องวัดแรงบีบมือเพื่อวัดค่าเชิงประจักษ์ จากนั้นวัดผลซ้ำทุก 1 เดือน
  • พูดคุย ให้คำปรึกษา และส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาตนเอง หาแนวทางในการฟื้นฟูฐานกายเด็ก
  • โรงเรียนหาแนวทางร่วมกันระหว่างผู้บริหารและครู โดยมี กสศ. และทีมโค้ช ม.อ. เป็นพี่เลี้ยง
  • โรงเรียนจัดทำกลยุทธ์ที่เหมาะกับบริบทของตนเอง ตั้งแต่เลือกกิจกรรมฟื้นฟูฐานกายที่เหมาะสมกับเป้าหมายในการแก้ปัญหาและการกระตุ้นพัฒนาการในเด็ก ผู้อำนวยการและครูปรับเวลาการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่น เช่น เปลี่ยนบางคาบเรียนให้เป็นการจัดกิจกรรมฟื้นฟูฐานกาย เพิ่มพื้นที่ให้นักเรียนได้เล่นและออกกำลังมากขึ้น บูรณาการกิจกรรมฐานกายเข้ากับวิชาเรียน เช่น ปั้นบัวลอยและนับจำนวนในวิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น
  • ประเมินผลเมื่อผ่านไป 1 เดือน, 1 ภาคเรียน, และ 1 ปี

ผลสัมฤทธิ์ของการฟื้นฟูฐานกายในเด็ก

  • ค่าแรงบีบมือของเด็กเพิ่มขึ้น แม้จะมีบางส่วนที่ยังมีค่าแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น
  • เด็กจับดินสอถูกวิธี ช่วยให้เขียนโดยไม่เมื่อยมือ ส่งผลให้เรียนรู้และทำงานได้ไวขึ้น
  • เด็กเขียนอ่าน จดจำพยัญชนะ สระ และประสมคำได้ดีขึ้น
  • เด็กร่าเริง แจ่มใส มีพัฒนาการด้านการเข้าสังคม·  เด็กมีสมาธิ ตั้งใจในการเรียนและการทำกิจกรรม ทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จตามเวลา

บทบาทโรงเรียนและผู้บริหาร

“บทบาทของโรงเรียน โดยเฉพาะ ผอ. ถ้า ผอ.เข้าใจ เขาจะสนับสนุนเรื่องการฟื้นฟูฐานกาย ซึ่งการสนับสนุนคือ การไม่เร่งให้เด็กต้องขีดเขียนโดยที่ฐานกายเด็กยังไม่พร้อม

“ตอนที่ทีมโค้ช ม.อ. ลงไปพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ในโครงการพัฒนาตนเอง เราพบเด็กประถมต้นที่ฐานกายเขายังไม่พร้อม แรงที่ใช้ในการควบคุมดินสอไม่ดี ยิ่งฐานกายเด็กไม่พร้อม เขายิ่งไม่อยากเขียน พอครูยิ่งให้เขาเขียน เขายิ่งไม่อยากมาโรงเรียน

“จุดนี้ โรงเรียน ผอ. และครู ต้องเข้าใจ ถ้าฐานกายเด็กยังไม่พร้อม โรงเรียนต้องฟื้นฟูฐานกายเด็กควบคู่ไปกับด้านการเรียน

“ที่เราดำเนินการร่วมกับโรงเรียนพัฒนาตนเองมาคือ เมื่อเริ่มกระตุ้นพัฒนาการร่างกายเด็ก ผ่านกิจกรรมฐานกายต่างๆ อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกัน 1 เดือน จะเห็นผลลัพธ์ในทิศทางที่ดีขึ้น ในกรณีที่ครูพบเจอและเล่าให้ฟังคือ เดิมเด็กจะใช้เวลาเขียนวัน เดือน ปี เพียงบรรทัดเดียว แต่เด็กเขียนเป็นชั่วโมง เพราะมือเขาไม่มีแรง แต่พอโรงเรียนจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฟื้นฟูฐานกาย ครูก็พบว่า เด็กเขียนได้เร็วและคล่องขึ้น”

“ดังนั้น ในมุมมองของเรา หากผู้บริหารไม่เร่งรัดว่าต้องอัดวิชาการความรู้ลงไปให้เด็กทันที ครูเข้าใจและมีเป้าหมายที่ต้องการฟื้นฟูเด็ก เมื่อเป็นดังนี้เด็กๆ จะได้รับโอกาสในการฟื้นฟู และเราจะช่วยกอบกู้เด็กกลุ่มนี้ไว้ได้ โดยเด็กๆ จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“นี่คือบทบาทที่สำคัญมากของโรงเรียน” ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ กล่าวย้ำ