เพราะการศึกษาจะช่วยให้ทุกคนมีสิทธิและความสามารถในการจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้
'เมื่อไปโรงเรียนไม่ได้ เราพาโรงเรียนไปหา' เปิดพื้นที่การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต

เพราะการศึกษาจะช่วยให้ทุกคนมีสิทธิและความสามารถในการจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้

“ตอนนั้นเกิดปัญหาและขาดที่พึ่งทางจิตใจ แต่ก็ได้คิดจากบทสัมภาษณ์ของเพื่อนว่า ชีวิตคนเรามีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน แต่เราจะใช้ต้นทุนที่เรามีอยู่อย่างไร หากวันไหนที่ผิดพลาด เราถือว่าได้เรียนรู้ เข้าใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต่างต้องสู้ตามที่จะทำได้ เพียงแต่มองหา ‘โอกาส’ แล้วให้ตัวเองสู้ต่อไป”

เริ่มต้นด้วยสารความรู้สึกจากน้องเจน รุ่นพี่จากโครงการ ‘โรงเรียนมือถือ’ ฝากสู่รุ่นน้องที่จะเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาแบบยืดหยุ่น โดยขีดเส้นใต้ไฮไลต์คำว่า ‘โอกาส’ ที่กวาดสายตาอ่านข้อความท่อนนั้นเพียงครั้งเดียวก็สามารถทัชจิตสัมผัสใจ ต่อสิ่งที่เด็กที่หลุดออกจากการศึกษาหลากหลายคนโหยหา

จนล่าสุด คลอดโครงการเชิงรุกอย่าง Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต โดยความร่วมมือของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่จะพาเด็กค้นหาเส้นทาง ‘การเรียนรู้’ ตามความถนัดของตัวเอง แล้วยังสามารถคว้า ‘วุฒิการศึกษา’ ได้อีกด้วย

ผุดโจทย์ความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อมองตัวเลขปี 2566 พบว่า มีเด็กนอกระบบการศึกษากว่า 1,025,514 คน กลายเป็นตัวเลขที่จะต้องมุ่งเป้าเชิงรุกแม่นยำ หรือ นโยบายเรดาร์ด้านการศึกษา 4 ข้อของรัฐบาล คือ ค้นหา-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ-ดูแล เพื่อให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะเราเชื่อว่า เด็กและเยาวชนมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านสภาพปัญหา ข้อจำกัดในชีวิต และความพร้อมในการเรียนรู้ ดังนั้นต้องจัดการศึกษาที่ดีและมีความ ‘ยืดหยุ่น’

ด้วยความเชื่อมั่นว่า เด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้และพัฒนาตน โดยการศึกษาต้องเป็นทางออกของชีวิต ที่สามารถตอบสนองความหลากหลายของผู้เรียน เชื่อมโยงวิชาการ ชีวิต อาชีพ ให้เป็นเรื่องเดียวกันได้จนประสบความสำเร็จ

ครั้งนี้ กสศ. ได้จัดงาน ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต’ โดยรวบรวมนักเรียนและศิษย์เก่าจากหลักสูตรการศึกษายืดหยุ่น นักวิชาการ และตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ จากหลากหลายแขวงองค์ความรู้ หยิบยกตัวอย่างหลักสูตรที่โอบรับความหลากหลาย พร้อมเปิดอกพูดคุยอย่างเข้าใจเงื่อนไขชีวิตของเด็กและเยาวชน ที่ไม่อาจปล่อยให้หลุดลอยไปจากระบบการศึกษาการเรียนรู้ที่โดมลานกีฬาของชุมชนคลองเตย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมื่อโรงเรียนเป็นฝ่ายหันไปหาเด็ก: สร้างการศึกษายืดหยุ่น ออกแบบชีวิตเองได้

เริ่มฉายภาพจาก นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สำหรับผมคำว่า ‘Mobile School’ มี 2 นัย หนึ่งมันคือการเรียนรู้อีกช่องทางหนึ่งผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่อีกนัยหนึ่งที่เราจะพูดกัน คือ ‘การศึกษาที่ไปหาคนที่ต้องการมาเรียน’ โดยพาโอกาส ‘การเรียนรู้’ และ ‘วุฒิการศึกษา’ ไปให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหลุดพ้นจากวงจรความยากจน

“เด็กแต่ละคนมีหลายเฉด (Shade) บางคนอาจจะถนัดว่ายน้ำ บางคนถนัดบิน เรามีเด็กหลายประเภทซึ่งบางทีการศึกษาเรา อาจจะไม่ตอบโจทย์เด็กในบางเฉดสี ฉะนั้น Mobile School จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้การศึกษา ไปหาน้องที่มีความถนัดแตกต่างกันออกไป วันนี้เรามีการศึกษาที่แตกต่างหลากหลายสู่ชีวิตน้องเหล่านั้น หรือ บางคนอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง ได้มีทางเลือกในการเรียน” นายพัฒนะพงษ์ชูเป้าหมาย

ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า เราอยากให้ทุกคนมั่นใจว่า Mobile School ผ่านการทำงานมาอย่างหนัก เพื่อให้การศึกษาทางเลือกเหล่านี้มีมาตรฐาน ไม่ด้อยไปกว่าช่องทางที่เป็นการเรียนในโรงเรียนปกติ และเราเชื่อว่าการเรียนรู้แบบนี้ มันทำให้ชีวิตของการทำมาหากิน กับ ชีวิตของการทำงาน มันเดินไปพร้อมกับการเรียนรู้ด้วย ‘เราจะได้การเรียนรู้ไปพร้อมกับการมีรายได้’

“เราเชื่อว่าประสบการณ์ของน้องๆ ที่เขาใช้ทำมาหากิน มันสามารถเอามาเทียบโอนวุฒิ และสามารถออกแบบคุณวุฒิและใบประกอบวิชาชีพได้ ฉะนั้นเด็กไม่จบชีวิตการเรียนรู้ตัวเองแค่เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้น แต่ยังสามารถไปต่อได้ ฉะนั้นเราอยากให้มั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้ผ่านมาตรฐานและใช้งานได้จริงในชีวิต” ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ย้ำความสำคัญ

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่น’ เป็นวาระสำคัญครั้งนี้ มันกำลังไปข้ามรั้วโรงเรียน ข้ามเข้าไปอยู่ในจิตใจของครูจำนวนมากที่มองมาตรฐานการศึกษาคือตัวบ่งชี้ 8 กลุ่มสาระ ซึ่งทำให้เด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถอยู่แบบระบบโรงเรียนได้ ก็ทยอยออกกันไปตรงช่วง ประถมศึกษา ม.ต้น ม.ปลาย และอาชีวะ

“เราค้นพบสาเหตุที่เด็กออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่เรื่องของความยากจนเพียงอย่างเดียว มันเกิดจากระบบครอบครัวด้วย เมื่อเราไปตามเด็กพบว่า ปรากฏการณ์องค์รวมของเด็กยากจนในเมือง คือ ระบบรัฐ เขารู้สึกเจ็บปวดและปฏิเสธโรงเรียน ซึ่งมันเป็นเพนพ้อยต์ (Pain Point) ของเด็กจำนวนมาก เด็กบางคนบอกกับผมเลยว่า ชาตินี้เขาไม่มีวันที่จะกลับเข้าไปเรียนหนังสือ” ศ.ดร.สมพงษ์ร่วมกระทุ้งประด็น

ศ.ดร.สมพงษ์ร่วมหนุนว่า Mobile School มันเป็นก้าวย่างสำคัญของการศึกษาที่ยืดหยุ่น ในระบบโรงเรียนที่ตั้งติดรั้ว ติดขอบ ติดหน้าต่าง แต่ขณะนี้โรงเรียนวิ่งไปหาเด็ก ด้วยระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ฉะนั้นการนิยามการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า การเรียนปนรู้ คือ ‘สิทธิ’ และ ‘โอกาส’ ในการเข้าถึงการศึกษาที่ตัวเองเป็นผู้ออกแบบร่วมกับครู ตามเส้นทางความฝัน จินตนาการ และปัญหาที่เกิดขึ้น

“ครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ออกแบบหลักสูตรให้กับเด็กเป็นรายบุคคล ตรงไหนเขาสุขแล้วสามารถพัฒนาศักยภาพ ไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้” ศ.ดร.สมพงษ์ฝากทิ้งท้าย

เสียงเด็กรุ่นใหม่โหยหา ‘การดีไซน์ชีวิต’ เพ่งการเรียนรู้ ไม่หยุดอยู่แค่ห้องเรียน

หันมาฟังเสียง นนทวัฒน์ โตมา หรือ ‘นนท์’ เด็กนักเรียนปัจจุบันของ Free Form School และเยาวชนจากสารคดี ‘School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน’ ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเติบโต ผู้พบเส้นทางการเรียนรู้ตามแนวการศึกษายืดหยุ่นของตนเอง

นนทวัฒน์เล่าจุดเปลี่ยนชีวิตว่า สาเหตุที่ออกจากระบบการศึกษาแบบปกติ เพราะตัวผมไม่ได้เห็นภาพทางด้านทฤษฎี แต่มุ่งไปในด้านปฏิบัติมากกว่า คือ ผมเรียนไม่เก่ง หัวไม่ไปในด้านวิชาการ แล้วมีจุดปลี่ยนที่ว่าผมอยู่กับพ่อ-แม่ พอหลังจากจบม.3 เกิดความอยากออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ก็เลยออกจากพ่อแม่มาหางานทำด้วย แต่ว่าระหว่างที่ทำงานไปด้วย ไม่สามารถบริหารเวลาควบคู่การศึกษาได้ จึงดรอปออกมาหยุดเรียนอยู่ช่วงหนึ่ง

“เมื่อช่วงไม่นานมานี้ ผมอยากกลับไปเรียน แต่ไม่ได้อยากเรียนในระบบเดิม อยากเรียนที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งที่คลองเตยมันมี Free Form School อยู่ผมก็เลยได้ไปเรียน จริงๆ ตอนแรกผมก็แทบจะไม่ได้มีความรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับการเรียนนอกระบบเลย แต่พอได้เรียนแล้วก็รู้สึกแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับภาคการเรียนปกติ

การเรียนแบบปกติไม่ตอบโจทย์ ผมมีงานต้องทำ ไม่สามารถเอาเวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมงมาเป็นนักเรียน มานั่งเรียนได้ พอได้มาเรียน Free Form School มันก็เลยทำให้เราได้มีเวลาไปหาเส้นทางของตัวเองได้ เราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเราเอง เราสามารถจัดการตารางเวลาแล้วแต่การดีไซน์ชีวิตได้” น้องนนท์เปลือยเงื่อนไขชีวิต

จากนั้น น้องนนท์ได้เสนอว่า ตามจริงแล้วอยากจะให้ปรับแผนการศึกษาแบบปกติ เพราะหากเราพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ภาควิชาแบบทางด้านปฏิบัติอย่าง วิชาดนตรี หรือ นาฏศิลป์ไทย 1 สัปดาห์เรียนแค่ชั่วโมงเดียวเอง ผมอยากจะเพิ่มช่วงเวลาการเรียนรู้ตรงนี้ให้มากขึ้น

“ระบบการเรียนรู้แบบยืดหยุ่นมีคำว่า ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาการเรียนรู้’ ถ้าเราทำตรงนี้ให้แข็งแกร่งขึ้นได้ เราทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น โดยการเพิ่มวิชาการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เข้ามา การทำเพลง หรือ การเทรดคริปโต (Cryptocurrency) ถ้าเกิดเพิ่มขึ้นมาแล้ว ผมคิดว่าประชากรหรือเยาวชน ที่จะเติบโตขึ้นไปพัฒนาประเทศ จะมีคุณมากภาพหลากหลายด้านมากยิ่งขึ้น” นนท์เผยผ่านเลนส์คนรุ่นใหม่

ทลายกรอบหลักสูตรเก่า เห็นคุณค่าการทำงาน-เทียบโอนประสบการณ์ชีวิต

“อยากให้ไม่มีแล้วคำว่า ‘เด็กนอกระบบ’ ไม่มีแล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าทุกคนเป็นผู้เรียนรู้ในรูปแบบการศึกษาที่มันแตกต่างกัน ให้เด็กสามารถเลือกการเรียนรู้ตามความสนใจได้” มุมมองครูตูน ศูนย์การเรียน CYF  

หากยังมองภาพการเรียนรู้แบบใหม่แบบสับ เห็นภาพไม่ชัดมากพอ ทาง กสศ. ได้ชวนผู้เชี่ยวชาญหลากแขนงวิชาชีพ มาเปิดตัวอย่างหลักสูตรยืดหยุ่นสุดปัง จากหลากหลายเส้นทางการเรียนรู้ ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิต กับ ‘Mobile School’ ตั้งแต่หลักสูตร ชิม ชอบ โชกโซน เชี่ยวชาญ ห้องเรียนเติมฝัน, Anywhere Anytime เรียนครบจบที่เรา

พร้อมด้วย หลักสูตรเรียน ‘แก้จน’ ด้วยหลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ กับ KFC จาก มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย, เรียนรู้ในสนามข่าว จาก The Reporters Junior, มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม กับ ฟู้ดแพชชัน เห็นแค่ชื่อหลักสูตรสุดซี้ดซ้าด ก็อาจเรียกได้ว่า มุ่งเป้าพร้อมเขย่าการเรียนรู้ไม่ให้จำเจ สร้างความแปลกใหม่ แล้วยังมอบวุฒิการศึกษาให้สามารถเอาไปต่อยอด หยิบจับไปใช้งานสร้างรายได้จริงอีกด้วย!

เริ่มแง้มหลักสูตรจาก ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ครูอ๋อมแอ๋ม หนึ่งหัวหอกผู้ซัปพอร์ต ‘Free Form School’ จากกลุ่มคลองเตยดีจัง เริ่มต้นตั้งคำถามจากปัญหาการสมัครงานของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา พบว่า การที่จะสมัครงานเป็นยาม หรือ รปภ. จะต้องใช้วุฒิการศึกษาม.6 หรือ ไปสมัครงานร้านสะดวกซื้อทั่วไป ก็ต้องใช้วุฒิม.3 บางคนที่จะไปสมัครงานร้านสะดวกซื้อทั่วไปที่ไม่มีแม้แต่โลโก้ ก็ต้องใช้วุฒิป.6

“เด็กกลุ่มนี้แม้ว่าเขาจะมีทักษะ หรือ สกิล (Skill) ที่เขาจะไปประกอบอาชีพทำอะไร แต่วุฒิการศึกษามันก็ยังจำเป็น เพราะฉะนั้นโลกแห่งการเรียนรู้กับโลกของการศึกษา มันเหมือนแยกกันอยู่ เพราะเราแค่จัดการศึกษาให้เด็ก แต่เด็กก็ต้องหันไปเอากับโรงเรียนอยู่ดี เราก็เลยออกแบบโปรแกรมขึ้นมาที่เรียกว่า Free Form School เพราะว่ารูปแบบการเรียนที่ค่อนข้างอิสระและสร้างสรรค์ เราอยากให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัยเมื่อมาอยู่กับพวกเรา และร่วมมือจากสถาบันต่างๆ เพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษา” ครูอ๋อมแอ๋มชูจุดแข็ง

ตบเท้าตามมาด้วย พิมพ์ชนก จอมมงคล หรือ ครูตูน จากศูนย์การเรียน CYF กล่าวว่า เราจะจัดการศึกษานอกกรอบเพื่อไม่ให้คนตกขอบการศึกษา ซึ่งเรามองว่าหลักสูตรการศึกษามันอยู่ที่ตัวเด็ก และชุมชน ว่าอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไรตามเป้าหมายการเรียนรู้ของเขา

“เป้าหมายของการเรียนรู้ CYF จะมีเครื่องในการอำนวยให้เขาถอดการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของตัวเขาขึ้นมาได้ โดยเครื่องมือของเรา เช่น เด็กที่เกินเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ เราจะมีขึ้นตอนของการเทียบโอนตัวผลการเรียนจากที่เดิม และสามารถเทียบโอนจากประสบการณ์ชีวิต ตั้งแต่ตอนที่เขาหลุดออกกลางคัน เขาไปใช้ชีวิตอะไร เรียนรู้อะไรมาบ้าง ตรงนี้เราก็จะจับมาเชื่อมโยงหลักสูตรแกนกลาง และเชื่อมโยงคะแนนได้

ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมีทักษะชีวิตค่อนข้างสูง สามารถจัดเข้าชั้นม.3 เทอม 2 ได้เลย พอเขาเข้าชั้นม.3 เทอม 2 แล้ว เขาก็จะเหลือเรียนเพียง 1 ภาคเรียนเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญว่าศูนย์การเรียนรู้จะใส่ให้อะไรเขา เราจึงออกแบบหลักสูตรบันได 4 ขั้นสู่ฝันที่เป็นจริงทั้ง ชิม ชอบ โชกโชน และเชี่ยวชาญ” ครูตูนกล่าวแบบเปี่ยมด้วยแพชชัน

ครูตูนแสดงทัศนะอีกว่า การที่มนุษย์จะอยู่รอดในสังคมได้ มันก็คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้ว แต่คำว่าเด็กนอกระบบ มันก็แค่ว่า เขาไม่ได้เข้าสู่การเรียนในโรงเรียนตามระบบ ที่วัดผลเป็นตัวเลข หรือ นับเวลาเรียนตามโครงสร้างเวลาเรียนเท่านั้นเอง แต่ว่าวุฒิการศึกษามันไปตีราคาเขาว่า เขาจะมีค่าตัวเท่าไหร่ ตอนที่เขาก้าวขาสู่โลกการทำงาน แต่ถ้าเด็กของเรามีศักยภาพที่สูงเฉพาะทางเลย มันอาจจะไม่มีใครถามด้วยซ้ำว่า ‘เรียนจบอะไร’

“อยากบอกว่าน้องเยาวชนรุ่นนี้มีโอกาสมาก ที่ไม่ต้องเลือกแล้วว่า ‘จะใช้ชีวิต’ หรือ ‘จะเรียน’ แต่ตอนนี้เราใช้ชีวิตเรียน ให้เป็นเรื่องเดียวกันกับการเรียนได้ ผ่านการศึกษาตามอัธยาศัย อยากให้ไม่มีแล้วคำว่า ‘เด็กนอกระบบ’ ไม่มีแล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าทุกคนเป็นผู้เรียนรู้ในรูปแบบการศึกษาที่มันแตกต่างกัน ให้เด็กสามารถเลือกการเรียนรู้ตามความสนใจได้” ครูตูนทิ้งท้ายอย่างทรงพลัง

เสริมทัพด้วย แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล ตัวแทนจากหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมอาหาร ‘มูลนิธิเคเอฟซี ประเทศไทย’ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า เราเริ่มโครงการ Bucket Search ได้ค้นหาน้องที่หลุดออกนอกระบบให้กลับเข้ามาสู่สังคม ให้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ เราเชื่อในตัวเขาว่าจะกลับเข้ามาตามหาฝันของเขา

“เราเปิดโอกาสให้เขาได้ Work & Study ไปด้วย หรือ หากเขาสนใจในด้านวิชาชีพไปเป็นช่างทำผม ช่างสัก บาร์เทนเดอร์ ได้หมด เพราะเอาจริงแล้วเราเชื่อว่า ทุกอาชีพมีความสำคัญเหมือนกัน โดยเฉพาะอาชีพที่เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งหลักสูตรนี้เกิดขึ้นมาจากการที่เราได้ร่วมทำงานกับน้องๆ แล้วเราก็รู้ว่าเขามีเงื่อนไขชีวิตมากมาย เงิน ครอบครัวหรืออะไรก็แล้วแต่

เราเลยคิดว่าลองมา Work & Study กับ KFC ไหม? เลยเป็นที่มาของหลักสูตรทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการ เราเรียกว่าเป็นหลักสูตรยืดหยุ่นให้ทุกคนสามารถที่จะมาเรียนรู้กับเราได้ เพราะว่าเด็กทุกคนก็มีความแตกต่างกัน มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะช่วยทุกคนเพิ่มเติม” แจนเน็ตจุดประกาย

แจนเน็ตขยายต่อว่า เราอยากให้น้องๆ เรียนรู้จริงจากประสบการณ์อย่างมีทางเลือก ซึ่งเราไม่ได้อยากให้น้องมาทำงานกับ KFC เท่านั้น แต่ถ้าใครเข้ามามีความรู้แล้วอยากออกไปประกอบอาชีพต่างๆ ก็สามารถทำได้ โดยจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านการศึกษา จะสามารถทำให้ได้วุฒิการศึกษาม.ปลาย ปวช. ปวส. ได้เลย

“ฉะนั้นมันคือการที่เราจะได้เรียนรู้ด้วย ได้วิชาด้วย ทำงานด้วย และที่สำคัญเขาสามารถที่จะมีเงิน ไปเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และท้ายที่สุดก็จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้ เราจะไม่ทอดทิ้งใครแน่นอน” แจนเน็ตทิ้งท้ายอย่างหนักแน่น

‘อ่อนน้อม’ ต่อความหลากหลาย ไขประตูการเรียนรู้ สู่ โลกแห่งทางเลือก

เดินทางมาถึงวงช่วงเสวนาขมวดท้าย เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า ‘ทำไมการศึกษาและการเรียนรู้ ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียนก็ได้’ ฉายภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

พุ่งเข้าเป้าอย่างไม่รีรอไปกับ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว นักขับเคลื่อนการศึกษาไฟแรง เผยมุมมองว่า สำหรับผมคิดว่าทุกอย่างในชีวิต ทุกอย่างในสังคมมันคือการศึกษาทั้งหมด มันคือระบบที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมา แต่วุฒิการศึกษาต่างหาก ที่ควรเป็นโจทย์ถามว่า ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม

“สำหรับบางคนอาจจะคิดว่าวุฒิการศึกษาไม่จำเป็น เพราะเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่ใช้วุฒิ แต่มันก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่จะต้องไปถึงตรงนั้น โดยที่ไม่ต้องมีใบรับรอง หรือ บางคนเขาก็มีเป้าหมายเหมือนกัน แต่เป้าหมายของเขาจำเป็นต้องใช้ใบบางอย่างเพื่อผ่านทาง หรือ มันเป็นบันไดบางอย่างที่จะสามารถไปที่สเต็ปถัดไปได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เขารู้ตัวเองจริงๆ ว่าทางที่เราจะไปแล้ว วุฒิมันอาจจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นก็ได้” ครูทิวยกประเด็นชวนถก

ครูทิวจับจุดสังเกตอีกว่า ช่วงหลังมาคนเริ่มพูดกันว่า แล้วโรงเรียนมันยังจำเป็นอยู่ไหม ถ้าเราเรียนจากที่ไหนก็ได้ Anywhere Anytime ไม่มีโรงเรียนแบบที่เป็นสถานที่ ไม่มีตึก ไม่มีผอ. ไม่มีครู หรือ แถวเคารพธงชาติไม่ต้องมีก็ได้

“ในมุมมองผมส่วนหนึ่งก็คิดว่า โรงเรียนยังมีความจำเป็น เพราะ ณ โลกปัจจุบันแล้ว เด็กทุกคนควรได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ตามช่วงวัยของตัวเอง ถ้าหากว่าช่วงวัยของเด็กแล้ว ครอบครัว หรือ ชุมชน สามารถที่จะเอื้อการเติบโตเหมาะสำหรับช่วงวัยเขาได้ โรงเรียนก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับเขา แต่อีกจำนวนมากที่ไม่ได้พร้อมทั้งตัวครอบครัว เวลา ชุมชนรอบข้างไม่ได้ซัปพอร์ตขนาดนั้นแล้ว โรงเรียนก็อาจจะยังจำเป็น” ครูทิวแสดงทัศนะ

ครูทิวลงดีเทลลึกไปว่า เราต้องมีความอ่อนน้อมต่อความแตกต่างหลากหลายของเด็ก ซึ่งจากที่ผมได้ทำเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมมา มันเป็นวิธีการมองที่ไม่ได้เห็นว่าการศึกษา ไม่ว่าจะในระบบหรือนอกระบบ เป็นแบบไลน์สายพานการผลิตแล้ว แต่ว่าเราจะมองเห็นความแตกต่างแค่เรื่องเศรษฐกิจ หรือ วัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ว่าต้องออกแบบให้มองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่แตกต่างกันด้วย เพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเองก็มีศักยภาพ ไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือนอกระบบโรงเรียน

“คำที่บอกว่า เฮ้ย! ได้แค่นี้แหละ เอาเท่านี้ มันคือการดูถูก หรือ ทำให้เด็กรู้สึกว่าก็ได้แค่นี้แหละ ทั้งที่เอาจริงแล้วเด็กเขาสามารถเป็น Master of Something ได้ ถ้าเราเชื่อมั่นในตัวเขา และเปิดพื้นที่อย่างยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับตัวเขามากเพียงพอ” ครูทิวปลุกพลังทิ้งท้าย

ขยับมาฟัง อนรรฆ พิทักษ์ธานิน หรือ อาจารย์ปู นักวิชาการผู้ขับเคลื่อนเรื่องเด็ก เล่าจากจุดตั้งต้นว่า เวลาเราพูดถึงการศึกษา มันอาจจะไม่ได้มีแค่บางรูปแบบ มันอาจจะต้องมีพื้นที่ที่เปิดกว้าง มากกว่าการเรียนการสอน มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ในเวลานั้นด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็ดีใจที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

“ตอนนี้สกิลที่สำคัญที่สุด คือ ‘การเรียนรู้’ จะทำอย่างไรให้เรามองการศึกษา ไม่แยกขาดออกไปจากการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และ ความท้าทายสำคัญสำหรับคนที่ทำงานด้านการศึกษา คือ เด็กเขาจะบอกว่า ‘เรียนไปทำไม?’

โดยผลสำรวจพบว่า เด็กหลายชุมชนมีทัศนคติเชิงลบต่อการศึกษา เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม เขาเห็นรุ่นพี่ที่เรียนไปเรื่อยๆ ชีวิตก็ไม่ได้ต่างจากเขา จึงเป็นประเด็นที่เราต้องคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ มันจะไปตอบโจทย์น้องเหล่านี้ ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขากำลังจะเข้าไปเรียน เอาไปทำงาน มันตอบโจทย์ชีวิตเขาได้อย่างไรบ้าง” อาจารย์ปูยกโจทย์สำคัญ

พร้อมแสดงทัศนต่อไปว่า การศึกษาไม่ควรเป็นแค่วุฒิการศึกษา แต่การศึกษามันต้องสร้างการเรียนรู้ได้ ซึ่งตอนนี้หลายคนอาจจะคิดว่าการศึกษามันไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่สามารถสร้างแรงบันดาลให้ชีวิตได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความแข็งตัวที่อยู่ในระบบ

“สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็ก Drop out มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น แล้วกสศ.ถมเงินไปเท่าไหร่ก็ไม่พออยู่แล้ว มันเป็นเรื่องสังคม ตัวคนที่อยู่รอบตัวเด็กที่จะพาเขาไปสู่การเรียนรู้ได้ หรือ อยู่ที่วิธีคิดของเด็กที่มองเรื่องของการศึกษาที่จะสามารถสร้าง Willing ให้กับเขาได้ อันนี้คือเป้าหมายที่เราต้องคิดต่อไปในอนาคต” อาจารย์ปูชวนมองทะลุ

ด้าน วรวัส สบายใจ หรือ ป้อมปืน นักวิเคราะห์การเรียนรู้ และอดีตนักเรียน ที่เกือบหลุดออกจากระบบการศึกษา เล่าว่า ตอนแรกคิดว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเติบโตได้ คือ การปล่อยให้เขาเป็นเจ้าของเวลา ตามที่เขาอยากจะทำอะไร เรียนรู้อะไร เอาตัวเองไปอยู่ที่ไหน

“พอได้มาทำงานคลุกคลีกับเด็กที่มีเงื่อนไขข้อจำกัดชีวิตต่างๆ พบว่า ตามจริงแล้วไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนไม่เก่งนะ ประสบการณ์เขาสูงมากขนาด ‘เชี่ยวสนาม’ ก็ว่าได้ แต่เขาไม่ได้มีโอกาสเลือก หรือ ไม่มีทรัพยากรมากพอในการลองผิดลองถูก มันก็เลยทำให้เขาแทนค่าตัวเองด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เขาโอเคกว่านั้นเยอะ” ป้อมปืนแชร์จากประสบการณ์

ป้อมปืนกล่าวอีกว่า โจทย์การเรียนรู้ตอนเด็กของเราและเพื่อน เป็นเรื่องของการเอาชีวิตรอด เช่น เราจะทำอย่างไรกับเงินที่พ่อให้มาแต่ละวัน มันพอซื้อขนมที่เราอยากจะกินหรือยัง เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าการศึกษาที่ดี ควรจะอ่อนน้อมต่อโจทย์ชีวิตของเด็กที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน

“เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครควรจะเป็นอะไร ตอนอายุเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้วิเคราะห์สภาพสังคม หรือ โจทย์ในการเจริญเติบโตของเขาจริง ๆ เพราะฉะนั้นโจทย์มันต้องเปิดกว้างละหลากหลายมากพอ มันจะสร้างการเติบโตให้เขา ชี้ทางให้เขาสามารถไปต่อได้ ไม่ใช่ปล่อยเขาให้อยู่กับวงจรชีวิตเดิม ๆ เท่านั้น สร้างโอกาสที่เขาจะมีทางเลือกได้มากกว่านี้

ถ้าโจทย์ของเราตอนนี้ คือ การที่เรารู้สึกว่าการได้ใบวุฒิการศึกษา อันนี้มามันเป็นเรื่องท้าทายและทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เราคว้าเลย แต่ว่าขณะเดียวกันก็อย่าลืมมีเวลาว่างในตัวเองพักบ้าง อย่าลืมเผื่อเวลาให้ความเป็นเด็กน้อยในตัวเอง ทำบางอย่างที่ไม่เคยมีประสบการณ์ ก็เรียกชีวิตตรงนั้นกลับคืนมาบ้าง” ป้อมปืนเจาะลึกลงถึงแก่น ทิ้งทวนหนุนให้ใช้ชีวิตควบคู่กับการเรียนรู้ต่อไป

ทั้งนี้ Mobile School เปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนที่ ออกจากระบบการศึกษากลับมาเรียนต่อ ช่วงชั้นป.6 ม.ต้น และม.ปลาย เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยการเรียนยืดหยุ่นออกแบบหลักสูตรตามที่สนใจ และสามารถเทียบโอนประสบการณ์ทำงาน มาเป็นหน่วยกิตผลการเรียน สะสมเป็นวุฒิการศึกษาได้

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Mobile School คลิก
ติดต่อข่าวสารจาก เฟซบุ๊ก : กสศ. การทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
อีเมล : MobileSchool@eef.or.th หรือ โทร : 02-079-5475 กด 0