ชวนฟังเสียงเด็ก ๆ “การศึกษายืดหยุ่นและมีทางเลือก ตอบโจทย์กับเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่หลุดออกจากระบบ”
เป็นโอกาสนำพาเด็กแต่ละคนไปในเส้นทางที่เขาถนัดและสนใจ

ชวนฟังเสียงเด็ก ๆ “การศึกษายืดหยุ่นและมีทางเลือก ตอบโจทย์กับเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่หลุดออกจากระบบ”

“การศึกษายืดหยุ่นและมีทางเลือก มันตอบโจทย์กับเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่หลุดออกจากระบบ เพราะถ้ามีรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้เด็กมากขึ้นและแนะแนวทางเขาอย่างเหมาะสม เด็กแต่ละคนจะมุ่งไปในทางใดทางหนึ่งที่เขาสนใจ ได้ฝึกทักษะใหม่ที่จำเป็นกับชีวิตเขา ซึ่งสำหรับผม นั่นคือความหมายที่แท้จริงของการศึกษาที่ควรจะเป็น”

นนท์-นนทวัฒน์ โตมา เยาวชนจากสารคดี School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน ในวัย 19 ปีตอนนี้ เป็นนักเรียนมัธยมปลายของโรงเรียน Free Form School ในโครงการคลองเตยดีจัง เผยแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาในวันเปิดตัวโครงการ ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา’ ที่ กสศ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น เพื่อทำงานเชิงรุกในการเปิดรับสมัครนักเรียนอายุระหว่าง 7-24 ปี ซึ่งมีข้อจำกัดในชีวิตทำให้ไม่สามารถไปเรียนในโรงเรียนหรือในสถานศึกษา ให้สามารถเข้าเรียนเพื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วนำวุฒิการศึกษาพาตัวเองให้ไปต่อได้ ทั้งในเส้นทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ ณ พื้นที่ชุมชนคลองเตย

นอกจากมาร่วมงานในฐานะวิทยากรบนเวที ‘แบ่งปันประสบการณ์การเติบโตและการเรียนรู้ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต’ นนท์ยังสะท้อนคิดจากเส้นทางการศึกษาของเขา ที่แตกต่างไปจากการรับรู้ของคนทั่วไป ว่าในวัยเกือบบรรลุนิติภาวะ วุฒิการศึกษาของเขายังคงหยุดอยู่ที่ชั้น ม.3 ขณะที่หลายปีผ่านมา นนท์พาตัวเองเข้าไปในระบบการศึกษามาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง หากตอนจบก็เหมือนกันทั้งหมด คือด้วยภาระงานเต็มเวลา เขาจึงเลือกปากท้องและยอมหันหลังให้ระบบการศึกษาทุกครั้งไป     

“ผมสมัครเรียนชั้น ม.ปลายครับ” นนท์แจ้งเราด้วยภาษากายที่กระตือรือร้นและน้ำเสียงเจือความหวัง …ว่าบางที ครั้งนี้แหละที่เขาจะก้าวข้ามขั้นตอนชีวิตที่ค้างคา แล้วคว้าประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายได้สักที ก่อนยก ‘ข้อแม้’ และ ‘อุปสรรค’ ที่ขวางเขาและเด็กเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาด้วยภูมิหลังคล้าย ๆ กันไว้จากการศึกษา ว่าการที่เด็กคนหนึ่งเรียนไม่จบหรือไม่อยากเรียน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างจากภาคเศรษฐกิจที่ลุกลามไปถึงเรื่องการศึกษา

“พี่รู้มั้ยว่าเกือบทุกครอบครัวในชุมชนที่ผมโตมา พ่อแม่เขาต้องทำงานจนไม่มีเวลาอยู่กับลูก ไม่มีเวลาสั่งสอนลูกเลย แล้วเด็กที่มาจากสภาพแวดล้อมแบบนี้ ชีวิตเขาไม่ได้มีภาระแค่ไปโรงเรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำงานหาเงินด้วย ฉะนั้นนอกจากบทเรียนหรือการบ้าน ทุกวันเขายังกังวลด้วยว่าหลังเลิกเรียนกลับบ้านจะกินอะไร จะได้เจอหน้าพ่อแม่เมื่อไหร่ หรือทุกสามสี่เดือนก็ต้องกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเทอม ต้องไปกู้จากไหนมาซื้อเสื้อผ้าเครื่องแบบ ภาระพวกนี้ทำให้เขาหลุดออกมา หรือถึงเรียนอยู่ก็แทบมองไม่เห็นเป้าหมายปลายทาง แล้วก็หมดไฟลงเรื่อย ๆ” นนท์เล่า    

แม้อารัมภบทของนนท์จะฉายภาพที่ค่อนไปทาง ‘ไร้หวัง’ หากเขายัง ‘เชื่อมั่น’ ว่าการศึกษายังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพาไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้น …เขาจึงสมัครเรียนอีกครั้ง

นนท์กล่าวว่าเพิ่งรู้จัก ‘การศึกษาทางเลือก’ จากครูท่านหนึ่งที่คอยดูแล-ผลักดัน-ให้โอกาส กับเด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตย พอศึกษาข้อมูล ก็พบว่าเป็นการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อผู้ที่ไม่เหมาะจะเรียนในการศึกษาแบบปกติ ซึ่งตัวเขาเองคือกลุ่มเป้าหมายคนหนึ่ง  

“ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้ว่ามี Mobile School หรือการศึกษาที่จัดให้สอดคล้องกับชีวิตของเราด้วย แต่วันหนึ่งได้เข้าไปปรึกษาครูที่ชุมชนเรื่องอยากเรียนต่อ ซึ่งข้อแม้ของผมคือไม่สามารถเรียนในระบบปกติ เพราะผมต้องทำงานหาเงินด้วย แล้วที่ผ่านมาผมเคยลองเรียนไปทำงานไปก็ไม่รอด คิดว่าถ้าฝืนไปเดี๋ยวก็หลุดมาอีก ครูเลยแนะนำว่าโครงการคลองเตยดีจังเขาจัดการศึกษาแบบ ‘Free Form School’ อยู่ ผมเลยสมัครเข้าเรียน”

ความคาดหวังสูงสุดของนนท์คือ ‘วุฒิการศึกษา’ เพื่อเป็น ‘ใบเบิกทาง’ ชักพาชีวิตให้ก้าวหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม การเรียนผ่าน ‘Free Form School’ ที่นิยามรูปแบบการเรียนรู้ว่าเป็น ‘ห้องเรียนนอกกรอบ’ ด้วยการศึกษาทางเลือกที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้ได้พัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน และได้รับวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมต้น-ปลาย ทำให้นนท์ตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า เมื่อได้กลับมาเรียนรู้อีกครั้ง เขาจะต้องได้ทั้งความรู้และเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพติดตัวกลับไป

“ผมมองว่าการเรียนลักษณะนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราได้ทักษะเพิ่ม อย่างที่ Free Form School เขามีสอนวิชาชีพเฉพาะทางเช่นบาริสต้า หรืออย่างเรื่องทักษะและทฤษฎีดนตรีเชิงลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจ แล้วที่ผมชอบมากคือเราสามารถยื่นเสนอโครงงาน เพื่อจะให้งบมาทำได้ด้วย อย่างผมทำโครงงานเกี่ยวกับดนตรี ก็ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และได้ทุนสนับสนุนนเพิ่มเติมจากตรงนี้”  

ท้ายที่สุดนนทวัฒน์ยืนยันว่า แม้เส้นทางการทำงานของเขาจะค่อนข้างมั่นคงแล้ว แต่ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยประกาศนียบัตร อย่างไรเสียวุฒิการศึกษาก็คือสิ่งสำคัญ และเป็นเป้าหมายระยะสั้นที่เขาต้องไปให้ถึง ก่อนเสนอว่า ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต’ ควรเป็น ‘ทางเลือก’ สำหรับ ‘เด็กทุกคน’   

“สำหรับผม วุฒิจะช่วยรันชีวิตให้เดินหน้าต่อไป เพราะในสังคมที่ผมเติบโตขึ้นมา วุฒิการศึกษามันเหมือนเชื้อเพลง เหมือนเกราะป้องกันชีวิตและจิตใจให้เรามีเครื่องมือต่อสู้กับโจทย์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น  

“และนั่นเท่ากับว่าเราต้องทำให้การศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือกเป็น ‘สิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ’ ยิ่งถ้ารูปแบบการเรียนรู้นั้นมุ่งความสำคัญไปที่ตัวเด็ก มันก็จะยิ่งช่วยลดความสูญเปล่าเรื่องเวลา กลายเป็น ‘เส้นทางตรง’ ที่พาเด็กแต่ละคนไปในทางที่เขาสนใจและถนัด …แล้วเมื่อการศึกษาเป็นไปอย่างนั้น ผมคิดว่ามันจะตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กเยาวชนทุกคนได้จริง และจะไม่มีใครหลุดออกมาอีก”