เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหาร นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ร่วมกับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ณ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา คณะครู และตัวแทนนักเรียนเข้าร่วม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวถึงสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาของไทย อายุระหว่าง 3-18 ปี มีมากถึง 1.02 ล้านคน (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566) ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนในจังหวัดบุรีรัมย์ 17,586 คน อยู่ที่อำเภอกระสัง 1,353 คน ลึกลงที่ตำบลกระสังมี 229 คน โดยในภาคเรียนที่ 1/2567 ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว 39 คน ส่วนที่เหลือ 190 คน กสศ. ได้รับแรงสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง (สกร.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดบุรีรัมย์ สำรวจข้อมูลจนสามารถนำไปสู่การค้นพบตัวเด็กได้แล้วกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพบว่า ความยากจน ปัญหาสุขภาพ ความบกพร่องทางการเรียนรู้ และครอบครัวแหว่งกลาง คือสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเยาวชนในพื้นที่ตำบลกระสังอยู่นอกระบบการศึกษา ซึ่งบางส่วนได้เข้าสู่การเรียนรู้กับ สกร.อำเภอกระสัง จำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือดูแลเป็นรายกรณี
“การทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. และ สกร. ทำให้เกิดการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจนสามารถพบและช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบให้เข้าสู่การเรียนรู้ได้ทันที และทำให้เกิดประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการนำเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นรายกรณีตามความเหมาะสมตามมา กสศ. ตั้งสมมติฐานว่าหากมีรอบของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลปีละสองครั้ง ราวสี่ปีจากนี้การทำให้เด็กหลุดนอกระบบกลายเป็นศูนย์เป็นไปได้ โดยหลังจากพบตัวเด็กและนำเข้าสู่การเรียนรู้แล้ว คณะทำงานจะยังมีการติดตามข้อมูลต่อเนื่องผ่านโปรแกรม OBEC CARE หรือระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงด้านทุนทรัพย์ เพราะความเสี่ยงที่ทำให้เด็กคนหนึ่งหลุดออกไปนั้นซับซ้อนด้วยหลายปัญหา ซึ่งจะมีกลไกที่เชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ รองรับ ดังนั้นเมื่อเราพบเด็กคนหนึ่งไม่ว่าจะติดขัดด้วยข้อแม้อะไรก็ตามที่ทำให้เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ ทรัพยากรและความช่วยเหลือจะหลั่งไหลมาตามโจทย์ปัญหา”
ด้าน นางนุจรีย์ ส่องสพ ผู้อำนวยการ สกร.อำเภอกระสัง กล่าวว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 สกร.อำเภอกระสัง ได้ติดตามเด็กเยาวชนช่วงอายุ 3-15 ปีที่ออกกลางคันและตกหล่นจากระบบ กลับสู่การเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้การจัดการศึกษาของกรมส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้ ชั้นประถมและมัธยมต้นรวม 66 คน นอกจากนี้ได้ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนอายุ 6-15 ปี พบว่ามีจำนวนที่ออกกลางคันและหลุดจากระบบการศึกษา 10,294 คน และประชากรอายุ 15-60 ปีที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ 42,250 คน โดย สกร. จะนำผลสำรวจไปชนกับข้อมูลของ กสศ. เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนสำหรับการช่วยเหลือดูแลและส่งต่อเด็กเยาวชนไปสู่การเรียนรู้ที่เหมาะสมร่วมกับสถานศึกษาทุกแห่ง หากมีอายุครบ 15 ปี สามารถเข้าเรียนกับ สกร. ได้ทันที
ขณะที่ นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวเสริมเรื่องข้อจำกัดเมื่อเด็กหลุดออกมาแล้วอยากกลับสู่การเรียนรู้ต่อเนื่องจากชั้นเรียนเดิม ว่าระเบียบกำหนดให้ต้องมีเอกสารแสดงผลการเรียนรู้เดิมในรูปแบบหน่วยกิตสะสม ซึ่งเด็กเยาวชนส่วนใหญ่ที่หลุดจากระบบกลางคันในช่วงชั้น ม.1-ม.2 มักขาดเอกสารส่วนนี้ ทั้งนี้ สกร. พยายามประสานกับสถานศึกษาเดิมเพื่อให้เด็กได้รับเอกสารเทียบหน่วยกิต เพื่อพากลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ลดการสูญเสียเวลาจากการต้องกลับไปเริ่มต้นเรียนใหม่ โดยการออกวุฒิการศึกษาในรูปแบบผลการเรียนล่าสุด ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก หากขั้นตอนดังกล่าวสามารถดำเนินได้สะดวกรวดเร็ว โอกาสที่จะพาเด็กกลับสู่การเรียนรู้ก็จะยิ่งเปิดกว้างยิ่งขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือสถานศึกษาทุกแห่งให้ความสำคัญเรื่องนี้
ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมหารือภายหลังรับฟังประเด็นปัญหา โดยกล่าวว่า การสำรวจเด็กและเยาวชนที่ไม่พบรายชื่อในระบบการศึกษาเป็นนโยบายที่รัฐมนตรีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับ อายุระหว่าง 6-15 ปี จึงขอมอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดรับหน้าที่เป็นฝ่ายบริการจัดการเพื่อทำให้ Thailand Zero Dropout ขับเคลื่อนให้ได้ ขณะที่ สกร. ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการสแกนหาเด็กและเยาวชนที่ไม่พบรายชื่อในระบบการศึกษาของ กสศ. ทุกคน เพราะมีศูนย์การเรียนระดับตำบลใกล้ชิดชุมชน ร่วมทำงานกับ อพม. จะทำให้มาตรการ ‘ค้นหา-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ-ดูแล’ เด็กหลุดนอกระบบการศึกษามีประสิทธิภาพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุขั้นตอนว่า เมื่อพบเด็กแล้วให้สอบถามความประสงค์ หากต้องการเรียนต่อในโรงเรียนเดิมหรือโรงเรียนในพื้นที่ใกล้บ้าน ให้ดำเนินการประสานกับโรงเรียนหรือเขตพื้นที่รับช่วงต่อในการรับเด็กเข้าเรียน ดูแลไม่ให้เกิดกรณีหลุดซ้ำ และมีการศึกษายืดหยุ่นในลักษณะ 1 โรงเรียน 3 ระบบ เหมาะกับกับเด็กรายคน ใช้วิธีการทำงานแบบคิดนอกกรอบ เพื่อทำให้จังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ตั้งเป้าความสำเร็จในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 นี้
“วันนี้ที่บุรีรัมย์เดินหน้าไปแล้ว เราได้เห็นว่า สกร. คือหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ดังนั้นความท้าทายต่อไปคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานอื่น ๆ สามารถเป็นฝ่ายเติมเต็มสนับสนุนและบูรณาการรับช่วงต่อได้ และทำให้เกิดเป็นโมเดลที่จะขยายไปยังทุกพื้นที่ ดังนั้นการพูดคุยกันระหว่างหน่วยงานจะทำให้เกิดการหาแนวทางแก้ปัญหา และช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะพาเด็กกลับสู่การเรียนรู้ ปัญหาที่หน่วยงานหนึ่งแก้ไม่ได้เมื่อส่งต่อไปถึงมือผู้มีความชำนาญก็จะมองเห็นวิธีการแก้ไข
“นอกจากนี้การทำงานร่วมกันยังทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่จะส่งต่อเด็กไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ เชื่อว่าวันนี้ทุกฝ่ายแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานไปด้วยกันแล้ว ดังนั้นถ้าเริ่มสำรวจค้นหาติดตามเด็กทุกคนตั้งแต่เทอมแรกนี้ จะทำให้มีข้อมูลชัดเจนในการทำงาน แล้วในช่วงเปิดภาคการศึกษาที่สอง เราจะไม่มีเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาอีก”