‘ผู้ต้องขังในไทย 77.11% มีระดับการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน’ ก.ยุติธรรม จับมือ กสศ. ชูเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ใช้การศึกษายืดหยุ่นสร้างชีวิตใหม่ให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

‘ผู้ต้องขังในไทย 77.11% มีระดับการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน’ ก.ยุติธรรม จับมือ กสศ. ชูเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ใช้การศึกษายืดหยุ่นสร้างชีวิตใหม่ให้เด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK Park จังหวัดยะลา กระทรวงยุติธรรมร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประกาศร่วมกันแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ Thailand Zero Dropout “การศึกษาสร้างชีวิตใหม่ คืนพลเมืองคุณภาพสู่สังคม”

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรรม ประกาศนโยบายและทิศทางขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือกับ กสศ. และภาคีเครือข่าย ว่าจะทำให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 2 แสน 3 หมื่นคน ได้รับการศึกษา รวมถึงเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ กสศ. ตั้งเป้าเพิ่มทุนมนุษย์เพื่อยุติความยากจนข้ามรุ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ Thailand Zero Dropout เป็นวาระแห่งชาติ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ให้ทุกหน่วยงานคิกออฟมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์

ซึ่งจากข้อมูลของ กสศ. ที่ระบุว่ามีเด็กอายุ 3-18 ปี จำนวนกว่า 1.02 ล้านคน อยู่นอกระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย กระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน่วยงานดูแลเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่าในผู้ต้องขังทั้งหมด 299,499 คน มีระดับการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานถึง 230,914 คน คิดเป็น 77.11%

ในจำนวนนี้พบว่าระดับการศึกษาของผู้ต้องขังก่อนต้องโทษ ไม่ได้รับการศึกษา 28,356 คน คิดเป็น 9.47% เรียนจบชั้นประถมศึกษามากสุด 117,415 คน คิดเป็น 39.21% รองลงมาระดับมัธยมต้น 85,143 คน คิดเป็น  28.43% มัธยมปลาย 40,074 คน คิดเป็น 13.38% ปวช. 10,939 คน คิดเป็น 3.65 % ปวส. 8,939 คน คิดเป็น 2.99 % ปริญญาตรี 7,565 คน คิดเป็น 2.53% สูงกว่าปริญญาตรี 1,018 คน คิดเป็น 0.34% และในจำนวนนี้มีผลจากคดียาเสพติดถึง 217,628 คน มีการกระทำผิดซ้ำถึง 135,269 คน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

พันตำรวจเอกทวี มั่นใจว่า การศึกษาจะเป็นหัวใจสำคัญของการให้โอกาสผู้ที่กระทำผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้ โดยจะต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้เข้ากับเด็กเยาวชนเป็นรายคน ซึ่งการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมถือได้ว่าเป็นสถานศึกษาระดับพื้นฐานที่ใหญ่มากในประเทศไทย เรื่องนี้สำคัญมาก โดยมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ที่มีความพร้อมเดินหน้าก่อน เพื่อเป็นตัวแบบขยับพร้อมกันทั่วประเทศ

“วันนี้เราพบแล้วว่า คนที่ยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาภาคบังคับ ส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำ ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นวิกฤตทางการศึกษาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาดูกันว่า จะทำอย่างไรให้ทุกคนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ ของราชทัณฑ์ทั้ง 143 แห่ง หรือที่เรียกว่า ‘คนที่อยู่หลังกำแพง’ ให้ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนข้างนอก และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาสายอาชีพ หรือด้านอาชีพต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ต้องโทษในแต่ละพื้นที่”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้การศึกษาหมายถึงการได้รับความยุติธรรม ให้ความสำคัญกับการศึกษานำการทหารและการเมือง โดยให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับ กสศ. ออกแบบหลักสูตรให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีหลากหลายรูปแบบ หรือ การศึกษาแบบยืดหยุ่น ผ่านศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ นอกเหนือจากรูปแบบในระบบ ซึ่งเคยทำมาแล้วหลายโครงการกับ กสศ. เช่น การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษากับศูนย์การเรียนรู้ เพื่อการเทียบวุฒิการศึกษา การฝึกอาชีพสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นต้น

“อยากให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นวิกฤต เป็นอันตราย เป็นความรุนแรงที่มองไม่เห็น ถ้าแก้ปัญหาการศึกษาได้ จะแก้ปัญหาผู้ต้องราชทัณฑ์ล้นเรือนจำได้ คิดว่าวันนี้เป็นสิ่งท้าท้ายที่สุดของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมดในภาคใต้ จบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพียง 55 % นี่ คือวิกฤตของพื้นที่ที่ต้องช่วยกันแก้ด้วยความตั้งใจ ช่วยคนหนุ่มสาวที่ก้าวพลาดให้กลับมาเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ” พันตำรวจเอก ทวี กล่าว

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

ขณะที่ นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่นร่วมกับหลายสถาบันการศึกษา เช่น ทุนเสมอภาคสำหรับเด็กยากจน ยากจนพิเศษ ในระดับการศึกษาภาคบังคับ และในระดับสูงกว่าภาคบังคับ มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ทำร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เรียน 1 ปี ได้งานทำทันที หลักสูตรทักษะอาชีพร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่นในระดับอุดมศึกษา และสนับสนุนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับเทศบาลนครยะลา และหอการค้า จังหวัดปัตตานี ส่งเสริมการศึกษายืดหยุ่น มีทางเลือกตอบโจทย์ชีวิต กับศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิศ (ตาดีกา) บาโงยือแร ส่งผลทำให้เด็กมีทางเลือกในการเรียนรู้ที่หลากหลาย

สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งในเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของ กสศ. หลังจากร่วมกับหลายหน่วยงานคิกออฟเริ่มกระบวนการค้นหาและช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาไปแล้วใน 25 จังหวัดเฟสแรก โดยมีแอปพลิเคชัน ‘Thai Zero Dropout’ สนับสนุนภารกิจ สำรวจค้นหา จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล วางแผน ช่วยเหลือ และเชื่อมโยง ส่งต่อการช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงติดตามความก้าวหน้า ที่ตั้งเป้าครบทั้ง 77 จังหวัดในปี 2570

ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระบุถึงข้อมูลที่สอดคล้องกับ กสศ. โดยเปรียบเทียบจำนวนเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปีที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาของ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ปี 2565-2566 ที่พบว่ามีเด็กและเยาวชนประมาณ 7% ไม่อยู่ในระบบการศึกษา พบอีกว่า จำนวนนักเรียนชั้น ป.1–ม.6 ของ 3 จังหวัด ในชั้นรอยต่อ ป.6 ขึ้น ม.1 มีแนวโน้มลดลง โดยลดลงมากในชั้น ม.4 ราว 20% ใน จ.ปัตตานี ลดลง 17% จ.ยะลา ลดลง 21% และนราธิวาสลดลง 23%

“ความร่วมมือครั้งนี้ที่ กสศ. จะทำงานกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการสำรวจค้นหาจัดทำข้อมูลให้ตรงกันก่อนจัดทำแผนการดูแลรายบุคคล ครอบคลุมไปถึงเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม กสศ. ได้ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้กลับสู่การศึกษามาแล้ว เราจะใช้ประสบการณ์ในเรื่องนี้ ทำงานกับกระทรวงยุติธรรมอีก 2 หน่วยงานคือ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ มาดูกันว่าจะจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย Thailand Zero Dropout

“ความร่วมมือของกระทรวงยุติธรรมและ กสศ. ยังตั้งใจที่จะขยายไปสู่ความร่วมมือกับภาคเอกชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัด ในการออกแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องของตลาดแรงงานในพื้นที่ สอดคล้องกับการสร้างงานสร้างรายได้ โดยใช้ประสบการณ์การทำงานของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาขยายผลไปสู่การทำงานกับกลุ่มคนที่เหลือ”

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาการด้านกฎหมาย กสศ. ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า การศึกษาเป็นสิทธิที่ถูกรับรองทั้งในระดับสากลและระดับชาติ ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมถึงรัฐธรรมนูญ แต่จากตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษา และตัวเลขจากกระทรวงยุติธรรม แสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการดูแลเด็กและเยาวชนให้สอดรับกับกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ ในบทบาทของ กสศ. จะเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องมาหนุนเสริมกลไกเชิงระบบและทรัพยากร เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน

“กระทรวงยุติธรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานต้นแบบที่มีวิสัยทัศน์เรื่องการศึกษาให้กับผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยนำเอาแนวคิดเรื่องของการศึกษาที่ยืดหยุ่นมาขับเคลื่อน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงคุณค่าทางการศึกษาได้ ก่อนกลับออกไปสู่โลกภายนอก แล้วสามารถกลับเข้าไปสู่ระบบการศึกษาได้ปกติ โดยพัฒนาตั้งแต่เรื่องจิตใจ คุณภาพชีวิต ให้มีความพร้อมเรียนรู้ มีครูที่พร้อมปรับบทบาทจากผู้คุมส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับผู้ก้าวพลาด ทำให้สามารถพัฒนาหลักสูตร พัฒนาบุคลากรได้

“กสศ. เองก็จะเป็นกลไกที่จะเหนี่ยวนำความช่วยเหลือทั้งระบบเข้ามา โดยหลังจากนี้ต่อไปอีก 6 เดือน เราจะมาถอดบทเรียนกันว่า จะได้รูปแบบของโมเดลที่หวังจะทำให้ Thailand Zero Dropout ภายใต้กระทรวงยุติธรรมประสบความสำเร็จ ทำให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา กลับไปเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมได้” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว