แม้ว่าเด็กไทยอายุ 3-12 ปี หากจักษุแพทย์ตรวจยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติควรได้รับการแก้ไข ก็จะได้รับแว่นตาฟรีทุกปีจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ข้อมูลจาก กสศ. ชี้ว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล เพราะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องที่สูง เช่น ค่าเดินทาง
ปัญหาสุขภาพสายตา เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และมีส่วนทำให้เด็กหลุดจากระบบในระยะยาวได้ กสศ. สปสช. และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศ ได้เปิดโครงการ I SEE THE FUTURE ร่วมมือกับ 3 จังหวัด ปัตตานี สุรินทร์ สมุทรสงคราม สร้างกลไกท้องถิ่นเป็นต้นแบบของประเทศเพื่อเด็กทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพทันที โดย สปสช. ขอให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ เสนอแผนสุขภาพ เพื่อให้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับนำเด็กนักเรียนไปรับบริการที่โรงพยาบาล สำหรับรับบริการตรวจวินิจฉัย การรับแว่นตา และรับบริการตรวจประเมินสายตาเมื่อครบ 6 เดือน และขณะนี้โครงการ I SEE THE FUTURE ได้เป็นตัวแบบการสร้างกลไกท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา สนับสนุนเด็ก ๆ เข้าถึงสิทธิคัดกรองสายตาและตัดแว่นฟรี
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่หอประชุมโรงเรียนศรีครินทร์มูลนิธิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 13 หน่วยงาน นำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จังหวัดสงขลา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา ร่วมด้วยด้วยภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนงานใน ‘โครงการรวมพลังสร้างอนาคตทางการมองเห็นที่ดีแก่เด็กสงขลา Clearer Vision for Songkhla Kids’ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ลงพื้นที่ 10 จุด คัดกรองตรวจวัดสายตาให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ใน 16 อำเภอจังหวัดสงขลาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 30 สิงหาคม 2567 เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการคัดกรองสายตาและตัดแว่นที่มีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนการแก้ปัญหาทางสายตาที่เหมาะสม
กรณีตรวจพบเด็กมีค่าสายตาผิดปกติ จะทำการส่งต่อเพื่อวัดค่าสายตาอย่างละเอียดจากทีมงานสหวิชาชีพ นักทัศนมาตร หรือพยาบาลเวชปฏิบัติทางตา ภายใต้การกำกับดูแลรักษาโดยจักษุแพทย์ และส่งต่อไปสู่การรักษาเฉพาะทางกรณีตรวจพบเด็กกลุ่มเสี่ยงจากโรคทางสายตาซึ่งต้องการการวินิจฉัยขั้นสูงต่อไป ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกระดับ
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา กล่าวถึงความเป็นมาโครงการว่า ปัญหาสายตาในเด็กเป็นหนึ่งในความดูแลของ สปสช. ที่มีงบประมาณ ‘ส่งเสริมป้องกันโรค’ เพื่อดูแลประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม แต่ที่ผ่านมาการตรวจพบโรคทางสายตาหรือการตัดแว่นสายตา มักเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงอาการแล้ว การเข้าสู่กระบวนการรักษาหรือได้รับแว่นจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทั้งนี้ในปี 2565 กรมอนามัยโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ได้ระบุว่าความผิดปกติทางสายตาของเด็กกำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ จึงได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้ายกระดับให้แนวทางการป้องกันมาก่อนรักษา ซึ่งบอร์ด สปสช. มีมิติเห็นชอบให้คัดกรองกลุ่มเป้าหมายคือเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเด็กที่อยู่ในช่วงวัย 4-12 ปี เพื่อผลักดันให้ ‘เด็กไทยทุกคน’ ได้รับการดูแลปัญหาทางสายตา และได้รับแว่นตาที่เหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มีเพียงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นฝ่ายรอตั้งรับเด็ก ปรากฏว่าผลตอบรับยังไม่เป็นไปตามเป้า เพราะเมื่อรอให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กไปตรวจที่โรงพยาบาล หลายคนก็เข้าไม่ถึงข่าวสาร ไม่มีค่าเดินทาง ไม่ทราบขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไร หรือเมื่อพบจักษุแพทย์และตรวจพบความผิดปกติของสายตาแล้ว ก็ยังไม่ทราบว่าการตัดแว่นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ณ จุดนั้นคณะทำงานจึงมองถึงการดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาช่วยกัน จนได้แนวร่วมจากภาคการศึกษาคือกระทรวงศึกษาธิการและท้องถิ่นคือ อบต. อบจ. เข้ามา จังหวะเดียวกันกับที่ต้นปี 2567 คณะทำงานเห็นว่า กสศ. มีโครงการนำร่อง ‘I SEE THE FUTURE’ ในจังหวัดสุรินทร์ สมุทรสงคราม และปัตตานี กระจายตามภูมิภาค ทั้งกลาง ใต้ และอีสาน โดยเป็นการทำงานด้วยลักษณะเชื่อมโยงเครือข่ายเชิงพื้นที่ ส่งผลให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุม การร่วมงานกันจึงเกิดขึ้น และทำให้พบเด็กจำนวนมากที่มีปัญหาทางสายตาแต่ไม่ได้รับการดูแลรักษามาก่อน ขณะเดียวกันนอกจากนอกจากงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. สำหรับกลุ่มเด็กวัย 4-12 ปีแล้ว ในส่วนของเด็กที่อายุเกินกว่า 12 ปีขึ้นไป ทาง กสศ. ยังสามารถจัดหางบประมาณมาเติมเพื่อช่วยเพื่อปิดช่องว่างของการทำงานได้อีกด้วย
นพ.วีระพันธ์ กล่าวแสดงความชื่นชม กสศ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำโครงการนำร่อง I SEE THE FUTURE จนเป็นจุดเชื่อมต่อมาถึงโครงการ Clearer Vision ที่จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะโมเดลจากจังหวัดปัตตานี ที่เป็นเสมือนต้นแบบของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและสาธารณสุขที่สงขลานำมาใช้ โดยเชื่อว่าจะทำให้การคัดกรองสายตาเด็กทั้งจังหวัดเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จังหวัดสงขลา จับมือกับ อบจ.สงขลา และเห็นตรงกันว่าโมเดลที่เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานีนั้นน่าสนใจ สามารถทำได้ทันทีที่สงขลา ด้วยความเป็นจังหวัดใหญ่ ทรัพยากรพร้อม อย่างไรก็ตามยังมีเด็กเยาวชนที่เข้าไม่ถึงบริการสาธรณสุขเป็นจำนวนมาก ทั้งจากความขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือความไม่เข้าใจของผู้ปกครองในการพาบุตรหลานไปตรวจ ฉะนั้นแนวทางการออกนโยบายให้ครูช่วยกรองเด็กเป็นชั้นแรก โดยตรวจวัดสายตาเบื้องต้นก่อนส่งงานต่อไปที่ทีมสหวิชาชีพ จึงเป็นทั้งการทำงานเชิงรุก และเป็นตาข่ายช่วยโอบอุ้มเด็กทุกคนให้เข้าถึงบริการตามสิทธิ์
“การทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน เป็นกุญแจสำคัญของการ ‘กระจายความเสมอภาค’ หรือนำสิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับให้ไปถึงตัวเด็ก ด้วยเด็กมีความผิดปกติทางสายตาส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความยากจน บางคนที่บ้านมีหลอดไฟดวงเดียว เด็กต้องอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างไม่พอ สายตาก็เสีย ทีนี้พอหลายหน่วยงานจับมือกัน พร้อมนำโมเดลการทำงานจาก กสศ. ที่ปัตตานีขยับมาทำที่จังหวัดสงขลา เราจึงเข้าถึงตัวน้อง ๆ กลุ่มนี้ได้ดีกว่ารอให้เขาเดินเข้ามาเอง ซึ่งเราหวังว่าด้วยโมเดลนี้ถ้าทุกจังหวัดยินดีและมีความพร้อม อีกไม่นานอัตราความผิดปกติทางสายตาของเด็กไทยจะลดลง การเรียนรู้ก็จะดีขึ้น แล้วเมื่อนั้นเราจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป” นพ.วีระพันธ์ กล่าว
คุณจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า กสศ. เข้าร่วมโครงการ Clearer Vision ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ โดยพร้อมนำรูปแบบนวัตกรรมการคัดกรองสายตา ‘I SEE THE FUTURE’ ซึ่งเป็นการประสานกับหน่วยงานภาคีเพื่อออกแบบแนวทางและสร้างกลไกส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น มาช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตา รวมถึงสร้างระบบส่งต่อให้เด็กที่มีปัญหาสายตาด้านต่าง ๆ ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและมีแว่นสายตาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการลดอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้
(อ่าน Equity lab จับมือ สปสช. เขต 12 หน่วยงานท้องถิ่น ตรวจคัดกรองสายตาเชิงรุกให้เด็กนักเรียน จ.ปัตตานี กว่า 1,700 คน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และลดอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา https://research.eef.or.th/proactive-eye-screening-for-students/)
แม้ว่าเด็กช่วงอายุ 4-12 ปี หากได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ว่ามีภาวะสายตาผิดปกติ ทุกคนมีสิทธิได้รับแว่นตาที่มีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิพื้นฐานในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่ข้อมูลชี้ว่า เด็กยากจนด้อยโอกาสจำนวนหนึ่ง ยังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการ ทั้งการวัดสายตา การส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติเพื่อเข้ารับการรักษา และการรับแว่นสายตาที่สถานพยาบาล เพราะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องที่สูงโดยเฉพาะค่าเดินทาง ดังนั้นปัญหาสุขภาพตาจึงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ และมีส่วนต่อการหลุดจากระบบการศึกษา กสศ. สปสช. และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศ จึงดำเนินการโครงการ I SEE THE FUTURE ใน 3 จังหวัดได้แก่ปัตตานี สุรินทร์ สมุทรสงคราม เพื่อสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้เด็กยากจนด้อยโอกาสเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยมี สปสช. เป็นแรงสนับสนุนให้ท้องถิ่นทำแผนสุขภาพ สร้างกลไกการทำงานต่อเนื่องให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น และสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจคัดกรองสายตา รับแว่นตา และนำเด็กที่มีปัญหาทางสายตาเข้ารับบริการวินิจฉัยเฉพาะทาง รวมถึงได้รับบริการตรวจประเมินสายตาซ้ำเมื่อครบ 6 เดือน
ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า การทำงานของ กสศ. ที่มีพันธกิจในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัย มุ่งเน้นการนำไปใช้งานได้จริง โดยได้ส่งต่อให้กับภาคีเครือข่ายหลากหลายรูปแบบ สำหรับนวัตกรรมการคัดกรองสายตา ‘I SEE THE FUTURE’ ถือเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานด้านการศึกษาและสาธารณสุขเข้ามาจับมือทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบองค์รวม ทั้งนี้การทำงานกับเด็กเยาวชนในหลายพื้นที่ทำให้ กสศ. มีข้อมูลยืนยันว่าปัญหาสุขภาพอนามัยเป็นปัจจัยสำคัญต่อพัฒนาการการเรียนรู้และการคงอยู่ในระบบการศึกษา และถึงแม้ว่าสิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุขหรือการได้แว่นสายตาฟรี จะระบุไว้ในหลักประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ทางสถิติจากฐานข้อมูลของ สปสช. กลับชี้ว่าอัตราการคัดกรองสายตาและการเบิกจ่ายแว่นตาในเด็กชั้น ป.1 ยังทำได้เพียง 20% กสศ. และ สปสช. จึงตั้งใจทำโครงการเพื่อปิดช่องว่างโดยใช้งบประมาณที่มีอยู่แล้วจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือ ‘กองทุนตำบล’ ก่อนมุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุด เพื่อค้นหาว่าภายใต้กฎระเบียบที่มีอยู่ คณะทำงานจะสามารถทำงานในลักษณะใดได้บ้าง จากนั้นจึงถอดบทเรียนว่าภายใต้ข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่าง ความต้องการแตกต่าง การจัดบริการสาธารณสุขหรือบริการคัดกรองทางสายตาเด็ก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางเป็นสัดส่วนแค่ไหน อีกทั้งเมื่อสามารถตรวจคัดกรองสายตาเด็กได้เต็มพื้นที่ จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลและจำนวนที่แท้จริงว่าเด็กที่มีปัญหาทางสายตามีอยู่เท่าไหร่ แต่ละกรณีต้องการการดูแลรักษาอย่างไร นอกจากนี้การมีข้อมูลเด็กเป็นรายคน ยังหมายถึงการสร้างจุดเชื่อมต่อกับงานด้านอื่นของ กสศ. เพื่อจะนำทรัพยากรและความช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ มาถึงกลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย
“กสศ. ทำงานบนฐานข้อมูล ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงคือเด็กไม่เคยเข้ารับการตรวจ เราจะไม่รู้เลยว่าปัญหาการเรียนรู้ของเด็กมาจากสาเหตุใด โครงการต้นแบบจึงเน้นความสำคัญว่าการศึกษากับสุขภาพคือเรื่องเดียวกัน ด้วยข้อมูลที่ได้รับจะถูกนำมาดูต่อว่าเด็กกลุ่มเป้าหมายเคยได้รับทุนเสมอภาค หรือเป็นเด็กที่เคยได้รับความช่วยเหลือในมิติอื่น ๆ จาก กสศ. มาก่อนหรือไม่ เพราะข้อมูลเด็กที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงสังกัดการศึกษาใดหนึ่ง แต่มาจากทั้งเทศบาลและ สกร. จะเชื่อมต่อไปถึงภารกิจ Thailand Zero Dropout ซึ่งเด็กที่พบที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหลุดหรือหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ทาง กสศ. จะทำการส่งต่อผ่านเครือข่ายระดับจังหวัด เช่น พม. หรือกองสวัสดิการเทศบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ต่อไป” คุณจันทน์ปาย กล่าว
นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ และประธาน Service Plan กระทรวงสาธารณสุข จ.สงขลา กล่าวว่า ก่อนหน้าที่โครงการนี้จะเกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกรมอนามัย ท้องถิ่น สปสช. ทำงานร่วมกัน โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คัดกรองเบื้องต้นเพื่อส่งต่อเด็กไปที่โรงพยาบาล ผลคือกลายเป็นว่ามีอุปสรรคเรื่องการเข้าถึงเนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมาก ดังนั้นกว่าจะผ่านการคัดกรองแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลานาน รวมถึงการส่งตัวเด็กหรือการขนส่งทรัพยากรต่าง ๆ ทำได้ลำบาก ขณะที่โมเดลการทำงานจากโครงการนำร่อง ‘I SEE THE FUTURE’ ของ กสศ. ที่ให้ความสำคัญกับการ ‘ป้องกัน’ ก่อน ‘รักษา’ แสดงให้เห็นว่าการทำงาน ‘เชิงรุก’ ช่วยให้พบเด็กที่มีสายตาปิดปกติได้ตั้งแต่อายุน้อย ทำให้สามารถพาเด็กเข้าถึงการดูแลรักษา และแก้ไขได้ก่อนที่อาการจะลุกลามจนรักษายากขึ้นในภายหลัง
นอกจากนี้การขับเคลื่อนโครงการที่มีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเข้ามา ยังเป็นการเสริมพลังการทำงานให้เกิดเป็นสายพานของระบบ ตั้งแต่หน่วยงานด้านการศึกษาที่จะเป็นฝ่ายคัดกรองเด็กเบื้องต้น ก่อนส่งต่อข้อมูลของเด็กที่มีปัญหาทางสายตาไปยังทีมสหวิชาชีพที่พร้อมดูแลรักษาต่อเนื่องและเฉพาะทางตามระดับ ทั้งยังมีความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามความเชี่ยวชาญจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามาเติม จึงไม่เพียงทำให้เด็กเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ยังหมายถึงการระดมสรรพกำลังและทุ่มทรัพยากรให้ลงไปตรงจุดอย่างแท้จริง
คุณไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า โครงการรวมพลังสร้างอนาคตทางการมองเห็นที่ดีแก่เด็กสงขลา เป็นงานที่ อบจ.สงขลาชักชวนภาคีหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน เพื่อเป้าหมายให้เด็กชั้นประถมศึกษาทั้งจังหวัดสงขลาเข้าถึงบริการการตรวจวัดสายตา และคัดกรองเด็กที่มีปัญหาทางสายตาให้ได้รับการรักษาและมีแว่นตาที่เหมาะสม เนื่องจากทุกฝ่ายมองเห็นตรงกันว่า ‘สายตา’ นั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ว่าการมองเห็นในห้องเรียน การอ่านหนังสือ หรือการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ที่ดีได้ ก็ต่อเมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน หรือ ‘Clearer Vision’ ทางส่วนราชการจากฝั่งสาธารณสุขและฝั่งการศึกษาจึงจับมือกัน พร้อมขยายความร่วมมือออกไปถึงโรงพยาบาล สถานศึกษา จนถึงมูลนนิธิและภาคธุรกิจเอกชน เพราะเราเห็นความสำคัญของความร่วมมือ ที่แต่ละองค์กรหน่วยงานซึ่งมีพันธกิจ ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญที่แตกต่าง จะได้ช่วยกันสนับสนุนงานให้เดินไปได้ในทุกมิติ อาทิศึกษาธิการจังหวัดเป็นฝ่ายให้ข้อมูลด้านการศึกษา โรงพยาบาลช่วยดูแลด้านบริการสาธารณสุข หรือภาคเอกชนผู้ประกอบการก็สามารถช่วยเรื่องทุน ยานพาหนะขนส่ง หรือการอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ทั่วจังหวัด ฉะนั้นจะเห็นว่าเมื่อต่างฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มกำลัง ภาพของความสำเร็จที่ทุกฝ่ายมองเห็นร่วมกัน ว่าเด็กทุกคนในจังหวัดสงขลาจะได้รับการดูแลปัญหาทางสายตา เพื่อวางรากฐานของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพก็เป็นไปได้
คุณนรินทร์รัชต์ สีแก้วน้ำใส รองศึกษาธิการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภททั้งโรงเรียนสังกัด สพฐ. เอกชน สกร. จนถึงอาชีวศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดพร้อมรับผิดชอบในเรื่องการเป็นแหล่งฐานข้อมูล และจะเป็นหน่วยงานกลางที่จะประสานทุกฝ่ายเพื่อให้แน่ใจได้ว่า ‘โอกาสจะไปถึงเด็กทุกคน’ ทั้งนี้ในแง่ของการเรียนรู้ การมีแว่นตาที่เหมาะกับค่าสายตามีผลมากกับการเรียน ยิ่งเราทราบว่ามีเด็กจำนวนมากที่มาจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หลายคนเรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่เพราะมองเห็นไม่ชัด ดังนั้นถ้าทำให้เด็กมองเห็นชัดขึ้นก็จะช่วยเพิ่มความ ‘อยากเรียน’ เนื่องจากมีความพร้อมยิ่งขึ้น
“ปัญหาเรื่องสายตาเป็นเรื่องที่ทราบกันมานาน ว่าบางทีเด็กนั่งเรียนในห้องมองเห็นไม่ชัด แต่ครูไม่รู้เลยว่าเด็กสายตามีปัญหา ซึ่งมันส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ทีนี้ถ้าเรามีข้อมูลจากการคัดกรองสายตาแล้ว นอกจากเรื่องการดูแลตัดแว่น เรายังสามารถเอาข้อมูลนี้มาช่วยจัดที่นั่งเรียนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน คิดว่าเป็นโอกาสดีและโครงการดี ๆ ที่เราพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมมือ โดย ณ จุดนี้ ศึกษาธิการจังหวัดได้แจ้งไปยังหน่วยงานการศึกษาและสถาบันการศึกษาทุกแห่งในสังกัดในพื้นที่ รวมถึงมีการคัดกรองเบื้องต้นจนได้ตัวเลขของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีปัญหาทางสายตาใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลาแล้วทั้งหมด 3,574 คน ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้จะเป็นการ Kick-Off เพื่อคัดกรองอย่างละเอียดเป็นรายคน ผ่านการลงพื้นที่ 10 จุดจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ต่อไป”