เด็กทุกคนมีความต่างและมีความต้องการที่พิเศษ ภารกิจสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตของวัดและคนในชุมชนเพื่อเด็กทุกคน
เปิดบทสนทนากับพระครูจันทสีลากรแห่งศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษวัดห้วยหมู

เด็กทุกคนมีความต่างและมีความต้องการที่พิเศษ ภารกิจสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตของวัดและคนในชุมชนเพื่อเด็กทุกคน

ลึกเข้าไปในชุมชนเล็กๆ ไม่ไกลจากชายป่าคือ ‘วัดห้วยหมู’ วัดราษฎร์ขนาดกลางที่ดึงดูดคนเข้ามาทำบุญได้ทั้งประชาชนบ้านใกล้เรือนเคียงในตำบลเจดีย์หัก รวมถึงนักท่องเที่ยวมากมายที่เดินทางมาไกลโดยปักหมุดมาแสวงบุญ ณ วัดแห่งนี้โดยเฉพาะ ความพิเศษของที่นี่ไม่ได้อยู่ที่ขนาดหรือลักษณะอื่นใดของวัดที่ผิดไปจากธรรมดา แต่อยู่ที่ชื่อเสียงของ ‘ศูนย์สาธารณสงเคราะห์เด็กพิเศษวัดห้วยหมู’ ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่วัด 

ผู้ก่อตั้งศูนย์เป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจาก ‘พระครูจันทสีลากร’ เจ้าอาวาสวัดผู้ได้ชื่อว่าเป็นดั่งพ่อพระของเหล่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เกือบ 20 ปีที่ศูนย์แห่งนี้ได้กลายมาเป็นทั้งโรงเรียน สถานที่ทำงาน และบ้าน ให้กับเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท ปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่เคยให้กับหน้าที่ของวัดในฐานะศูนย์กลางของชุมชน

ในวันนี้ทีมงาน กสศ. ได้เดินทางมาเยือนจังหวัดราชบุรีอีกครั้ง เพื่อนิมนต์หลวงพ่อเจ้าของน้ำเสียงนุ่มนวลและบุคลิกอบอุ่นรูปนี้ มาช่วยบอกเล่าที่มาที่ไปของสถานที่แห่งนี้ พร้อมต่อยอดบทสนทนาไปสู่ประเด็นการศึกษาของเด็กและเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษ กับหมุดหมายปลายทางไปสู่ Thailand Zero Drupout และบทบาทของ กสศ. ในการสนับสนุนเด็กทุกคนต้องได้เรียน

ศูนย์สงเคราะห์แห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร

“เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากโยมผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากวัดเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ขณะนั้นอาตมาจำวัดอยู่ที่นี่มาได้สักพักจึงพอรู้จักหน้าค่าตาคนในชุมชนบ้างแล้ว ปัญหาของโยมคนนี้ก็คือลูกของเขามีความพกพร่องด้านสติปัญญา พัฒนาการช้า ไม่ทันเด็กวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าโยมคนนี้จะพาลูกไปสมัครเรียนที่ไหนก็ไม่มีใครรับ

“เหตุผลที่ได้จากโรงเรียนคือ ‘เด็กพิการ ไม่มีใครสอนเป็นหรอก’ หรือ ‘กลัวครูของเราจะรับมือเด็กไม่ไหว’ สุดท้ายแล้ว ลูกของเธอก็เลยต้องหลุดออกมาจากระบบการศึกษาภาคปกติ แม้ว่าแม่จะอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือแค่ไหนก็ตาม

“อาตมาได้รับฟังเรื่องราวแล้วก็รู้สึกถึงความรับผิดชอบต่อโยมคนนี้และลูก อย่างไรเด็กที่มีความต้องการพิเศษในลักษณะนี้ก็ไม่ได้มีแค่คนเดียว สุดท้ายจึงเปิดศูนย์สงเคราะห์เด็กที่มีความต้องการพิเศษขึ้นมาในวัดแล้วรับเด็กคนนั้นเข้ามาเป็นศิษย์คนแรก”

การตัดสินใจทำการใหญ่เช่นนี้ในสมัยนั้น ต้องอาศัยความกล้ามากทีเดียว หลวงพ่อรวบรวมความกล้าขึ้นมาได้อย่างไร

“แรงบันดาลใจหลักก็คือน้ำใจของญาติโยมที่วัดได้รับมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในยุคไหน ความเป็นอยู่ของพระภิกษุทุกรูปในวัดล้วนขึ้นอยู่กับศรัทธาของคนในชุมชน หากคนในชุมชนเห็นความสำคัญของศาสนาและเข้ามาทำบุญ เข้ามาช่วยดูแลทำนุบำรุง วัดถึงจะอยู่ต่อไปได้

“ฉะนั้น เมื่อถึงคราวโยมเขามีปัญหาเรื่องลูก อาตมาเห็นแล้วว่าอาจถึงเวลาที่วัดต้องทำอะไรเพื่อชุมชนบ้าง เหมือนที่ชุมชนทำเพื่อวัดมาตลอด”

20 ปีที่แล้ว ความตระหนักรู้ของผู้คนในประเด็นความหลากหลายทางระบบประสาท (Neurodivergence) ในเยาวชนเป็นอย่างไรหากเทียบกับสมัยนี้

“แถบนี้แทบจะไม่มีเลย สมัยนั้นแม้แต่คำเรียกกลุ่มอาการอย่างออทิสติกหรือดาวน์ซินโดรมก็รู้จักกันน้อยมาก ก็คือไม่ใช่ว่าผู้ปกครองจะดูไม่ออกนะ เขารู้จักลูกตัวเองดีว่าเป็นอย่างไร เพียงแต่การกระจายความรู้ในด้านนี้มันยังมาไม่ถึง

“เทียบกับสมัยนี้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวนี้ญาติโยมเขาเป๊ะกันขึ้นมาก จะออทิสติก ดาวน์ซินโดรม หรือคำศัพท์อื่นๆ ก็รู้จักกันหมด เพราะคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ไหนจะเรื่องสื่อบันเทิงต่างๆ ที่ช่วยทำให้ภาวะเหล่านี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่นโยมบางคนก็รู้จักดาวน์ซินโดรมมาจากละคร จากรายการตลก 

“จากเมื่อก่อนที่เด็กพิการหาที่เรียนยาก ไม่มีที่ไหนรับ เดี๋ยวนี้เราเห็นโรงเรียนและศูนย์พัฒนาทักษะสำหรับเขาเกิดขึ้นมากมาย และหลายครั้ง ครูสอนเด็กพิการที่จ้างเข้ามาก็มีพื้นฐานมาจากการเป็นผู้ปกครอง เป็นพ่อแม่ดูแลลูกที่พิการมาก่อนนี่แหละ”

แล้วส่วนตัวหลวงพ่อคิดว่าเราตระหนักรู้กันมากพอแล้วหรือยัง

“ยังครับ ยังไม่พอ โลกนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้กันเพิ่มเติมเสมอ อย่างเด็กออทิสติก-ดาวน์ซินโดรมที่คนชอบเหมารวมเป็นกลุ่มก้อนเดียว จริงๆ แล้วเด็กสองกลุ่มนี้มีภาวะทางอารมณ์และระดับสติปัญญาที่ซับซ้อนและแตกต่างกันมาก นี่ยังไม่นับรวมเด็กที่มีภาวะซ้ำซ้อนซึ่งต้องการการดูแลและความใส่ใจในรูปแบบที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง”

ในประสบการณ์ของหลวงพ่อ การดูแลเด็กเหล่านี้มีความยากง่ายต่างจากการดูแลเด็กกลุ่มอื่นๆ อย่างไร

“ปัจจุบันศูนย์มีลูกศิษย์รุ่นนี้อยู่ทั้งสิ้น 42 คน มีทั้งกลุ่มออทิสติก กลุ่มดาวน์ซินโดรม กลุ่มที่มีภาวะซ้ำซ้อน และกลุ่มอื่นๆ ปะปนกันไป โดยมากก็รักใคร่กันดีเพราะใกล้ชิดกันเหมือนพี่น้อง หลายคนก็เป็นเด็กที่กินนอนที่นี่และโตมาด้วยกัน

“ความยากประการแรกคือการผูกสัมพันธ์สร้างความเชื่อใจ เด็กแต่ละคนก็จะไว้ใจผู้ดูแลได้ยากง่ายแตกต่างกันไป บางคนไม่กี่สัปดาห์ แต่บางคนก็ใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเปิดใจ การดูแลเด็กกลุ่มนี้จึงต้องอาศัยความอดทน ความเสมอต้นเสมอปลาย และทักษะการสังเกตสูง

“ประการถัดมาที่ผู้ดูแลต้องมีวินัย คือเด็กเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาประจำตัวอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อสังเกตการณ์ จะได้ปรับลดหรือเพิ่มยาให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและสภาวะทางอารมณ์ของเขา ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่าย โดยอาตมาและทางวัดดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้เองทั้งหมด รวมถึงค่าอาหาร ของใช้จำเป็น และที่พักสำหรับเด็กๆ ด้วย”

อ้างอิงจากสถิติของศูนย์ พื้นฐานทางสังคม เศรษฐกิจ และครอบครัวของเด็กเหล่านี้เป็นอย่างไร

“ยากจนด้อยโอกาสเสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องพื้นฐานครอบครัว หากยังมีผู้ปกครองก็จะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเสียมาก มีทั้งที่ดูแลใกล้ชิดและติดตามห่างๆ บางกลุ่มพอหมดวันก็จะกลับบ้านไปหาพ่อแม่ บางกลุ่มพ่อแม่ติดต่อมาที่ศูนย์เป็นระยะ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งเอาไว้ให้เป็นความดูแลของศูนย์โดยสมบูรณ์ กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่

“หลายครั้งสถานการณ์ของเด็กก็ซับซ้อน ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่ง พ่อแม่ทิ้งเอาไว้ให้ยายเลี้ยง ถือว่ามีผู้ปกครองดูแลก็จริง แต่ยายเองก็สูงอายุมากแล้ว นอกจากข้อจำกัดด้านร่างกายและสุขภาพ ยังมีความกังวลด้วยว่าหากยายถึงแก่กรรมไปกะทันหันจะไม่มีใครดูแลเด็ก” 

หากเกือบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ไม่มีศูนย์สงเคราะห์เลย เด็กๆ จะมีชีวิตอย่างไร 

“ก็กระจัดกระจายกันไปตามพื้นฐานทางบ้าน เมื่อก่อน ในกรณีที่พ่อแม่เลือกจะไม่ทอดทิ้งเขา เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เนื่องจากดูแลตัวเองไม่ได้ จึงต้องป้องกันไม่ให้ออกไปเสี่ยงอันตรายข้างนอก

“เด็กคนไหนมีย่ายาย มีพี่เลี้ยงคอยดูอยู่เป็นเพื่อนก็ดีไป แต่น้อยมากที่จะเป็นแบบนั้น ผู้ปกครองส่วนมากต้องออกไปทำงานหาเช้ากินค่ำ จึงต้องล็อกบ้านให้เขาอยู่เองคนเดียวซึ่งไม่ต่างอะไรกับการขังเขาไว้ อาตมาเคยเห็นมาทั้งที่เด็กเอาหัวโหม่งพื้นและที่เด็กกัดเนื้อตัวเองเนื่องจากภาวะเครียด เด็กที่อยู่กับผู้สูงอายุ หากมีพฤติกรรมรุนแรงจนอาจถึงขั้นถูกล่ามเอาไว้ เพราะคนแก่ไม่สามารถสู้แรงเด็กได้

“พอโตขึ้นมาหน่อย เนื่องจากว่าระดับสติปัญญาและทักษะการเข้าสังคมของเขาน้อยกว่าเกณฑ์ จึงถูกเอาเปรียบได้ง่าย ถูกล่วงละเมิด ถูกหลอกไปส่งยาหรือไปทำเรื่องไม่ดีบ้าง หากชุมชนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยอย่างศูนย์สงเคราะห์หรือสถานศึกษาใดให้เด็กที่มีความต้องการที่พิเศษได้พึ่งพิงเลย เด็กๆ ก็มักจะหลุดจากระบบออกไปอยู่กันในสภาพเช่นนี้อย่างช่วยไม่ได้”

ชุมชนรอบๆ วัดมีส่วนช่วยเกื้อหนุนเด็กๆ อย่างไร 

“เรียกได้ว่าแรงสนับสนุนหลักของเด็กๆ มาจากการทำบุญ สังเกตได้ว่าระหว่างที่สัมภาษณ์ต้องปลีกตัวออกไปต้อนรับคนทำบุญเป็นระยะ คนเหล่านี้มาที่นี่เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะ จึงช่วยสนับสนุนทั้งในด้านของอาหาร ขนม เครื่องนอน เครื่องนุ่งห่ม

“แรงสนับสนุนอีกด้านคือด้านอาสาสมัครที่เข้ามาทำงาน ส่วนมากก็เป็นคนแถบนี้ทั้งนั้น ความสำคัญของชุมชนต่อศูนย์ปรากฏชัดมากๆ ก็ตอนช่วงโควิด-19 ระบาด ถือเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะไม่ใช่แค่ไม่มีใครเข้ามาทำบุญหรืออาสามาช่วยงานที่วัดเท่านั้น แต่พิธีการต่างๆ ยังงดจัดกันทั่วประเทศ รายได้ที่พระภิกษุได้จากการสวดอภิธรรม สวดขึ้นบ้านใหม่ และงานอื่นๆ ที่สามารถจุนเจือค่าใช้จ่ายในศูนย์ได้ก็หายไปด้วย”

ปัจจุบัน กสศ. ได้มีบทบาทในการสนับสนุนศูนย์สงเคราะห์อย่างไรบ้าง

“เรียกได้ว่าเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสมชื่อ เพราะช่วยให้เด็กที่มีความต้องกาพิเศษมีโอกาสได้เรียนหนังสือทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ความช่วยเหลือที่ทางศูนย์ได้รับคือทางกองทุนได้จัดหาครูผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะมาเพิ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนค่าจ้างให้ด้วยเต็มจำนวน โดยจะเริ่มเข้ามาสอนที่ศูนย์เร็วๆ นี้

“เป็นโอกาสที่อาตมาตั้งตาคอย วุฒิการศึกษาที่คุณครูชุดใหม่จะรับรองให้เด็กๆ ได้มีสูงไปถึงชั้น ม.3 โดยจะเป็นหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะ เหมาะกับทั้งเด็กที่คิดเลขไม่ได้ หรือบางกรณีก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ร่วมด้วย

“ต้องขอบคุณทางกองทุนจริงๆ ที่จัดหาครูมา อีกทั้งยังดูแลให้ครูเข้ามาสอนในศูนย์ถึงที่ เพราะปกติแล้ว การเดินทางไกลๆ สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะก่อให้เกิดความเครียด” 

ในความเห็นของหลวงพ่อ หากได้รับการประคับประคองอย่างถูกต้อง เด็กๆ กลุ่มนี้สามารถมอบสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไหม

“ได้แน่นอน ตัวอย่างมีอยู่ให้เห็นที่นี่แล้ว เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เขาก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ที่นี่มีกิจกรรมหลากหลายให้เลือกทำ มีทั้งงานจิปาถะ งานฝีมือเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพับกระดาษ ระบายสีตุ๊กตา ไปจนถึงการชงกาแฟ การอบคุ้กกี้ งานทั้งหมดจะถูกคิดเป็นรายได้เข้ากระเป๋าเขา บางคนก็เอาเงินที่ได้ไปแบ่งให้พ่อให้แม่ด้วยซ้ำ

“มีเด็กรุ่นก่อนที่อยู่ที่นี่จนโตและจบการศึกษาไปแล้วคนหนึ่ง สามารถไปทำงานร้านกาแฟได้ เพราะยังคงได้รับการสนับสนุนและความใส่ใจจากผู้ปกครองต่อเนื่อง เป็นเคสหนึ่งของศูนย์ที่ประสบความสำเร็จเกินคาด”

สำหรับเด็กทั่วไป คนมองว่างานเลี้ยงดูสามารถสิ้นสุดลงได้ตอนที่เด็กบรรลุนิติภาวะ แล้วสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษล่ะ 

“เด็กที่มีความต้องการพิเศษคือภารกิจตลอดชีวิตของวัดและคนในชุมชน เป็นงานส่วนรวมที่ไม่สามารถละทิ้งไปได้ เพราะเขาจะต้องพึ่งพาและใช้ชีวิตร่วมกับเราไปตลอดชีวิตของเขา และอย่างที่อาตมาได้กล่าวไปแล้ว ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างชุมชนกับวัดคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาโดยตรง การกล่าวว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ จึงใช้ได้กับกรณีของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย”