กสศ. จับมือ หน่วยงานด้านสาธารณสุข และ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ขับเคลื่อนโครงการ “I SEE THE FUTURE”
สร้างกลไกดูแลปัญหาสายตาเด็กในท้องถิ่น เพื่ออนาคตที่ชัดเจนและเป็นไปได้ของเด็กทุกคน

กสศ. จับมือ หน่วยงานด้านสาธารณสุข และ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ขับเคลื่อนโครงการ “I SEE THE FUTURE” สร้างกลไกดูแลปัญหาสายตาเด็กในท้องถิ่น เพื่ออนาคตที่ชัดเจนและเป็นไปได้ของเด็กทุกคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equity Lab ร่วมกับ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลปราสาท สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โรงพยาบาลท่าตูม โรงพยาบาลสังขะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จัดกิจกรรมตรวจคัดกรองสายตาเชิงรุกนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสังกัดเทศบาล และโรงเรียนใกล้เคียง ภายใต้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต เมื่อวันที่ 10-14 มิถุนายน 2567 ปูพรมคัดกรองสายตาเด็กนักเรียน จำนวน 2,695 คน ใน 10 โรงเรียน พร้อมทั้งประสานให้นักเรียนเข้ารับการตรวจรักษาและตัดแว่นฟรี ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง)

จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา

นางสาวจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE” แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต มีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างกลไกสำหรับส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น เกิดเป็นกลไกความร่วมมือของแต่ละพื้นที่ที่จะช่วยระดมทรัพยากรและบุคลากรด้านนี้ซึ่งมีอยู่แล้ว มาประสานให้เกิดการทำงานในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตาอย่างไร้รอยต่อ เกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที และมีแว่นสายตาเพื่อช่วยให้มองเห็นชัดขึ้น

“กสศ. จะเข้าไปเติมเต็มการทำงานเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือช่วยเรื่องการคัดกรองในโรงเรียนโดยร่วมกับครูซึ่งผ่านการอบรมและมีความรู้ด้านนี้ ประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่มาเป็นผู้คัดกรองเบื้องต้น มีระบบการบันทึกข้อมูลสายตาเด็กเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับช่วงในการดูแลและช่วยกันออกแบบกระบวนการทำงานที่ครบถ้วนไปจนถึงปลายน้ำหรือปลายทาง ซึ่งก็คือ ทำให้เด็กที่ถูกตรวจพบว่ามีความผิดปกติทางสายตา ได้รับแว่นตาที่ตรงกับการแก้ไขปัญหาสายตาที่แต่ละคนประสบอยู่ รวมถึงช่วยให้ครูและผู้ปกครอง เข้าใจถึงความผิดปกติทางสายตาในบางกรณีซึ่งมีความซับซ้อนกว่าสายตาสั้นหรือสายตายาว เช่น โรคตาขี้เกียจ ซึ่งทำให้เด็กมองเห็นภาพลดลง เป็นโรคที่จากความผิดปกติของพัฒนาการของการมองเห็นในช่วงวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 – 7 ปี เกิดจากกระแสรับภาพระหว่างตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ส่งผลต่อเนื่องให้การมองเห็นของตาข้างนั้นลดลง ซึ่งกรณีนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา จะทำให้ตามัว ประสบปัญหาการมองเห็นลดลงอย่างถาวร

“โครงการ I SEE THE FUTURE โดย กสศ. พยายามสร้างความเชื่อมั่นว่า การสร้างกลไกการคัดกรองและการดูแลสายตาเบื้องต้น จะทำให้เกิดกระบวนการเชิงบวกในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น จนเกิดแนวทางที่สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาสายตาให้กับเด็กได้อย่างครบวงจร” ผู้ช่วยผู้อํานวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าว

อัมพร สมพงษ์

นางสาวอัมพร สมพงษ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียน ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า การดูแลด้านปัญหาสายตา เป็นหนึ่งในชุดสิทธิประโยชน์หรือรายการบริการด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้ระบบประกันสุขภาพผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้บริการต่อผู้ที่อยู่ในความดูแลและผู้ประกันตนตามสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยพยายามสร้างกลไกการดูแลซึ่งอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

แต่การดูแลสุขภาพเรื่องสายตา มีประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน จนอาจจะทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าถึงได้ยาก เด็กส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงชุดสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ จากเหตุผลและข้อจำกัดบางประการ เช่น ประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิในส่วนนี้ที่ยังไม่ทั่วถึง ข้อจำกัดด้านครอบครัว เด็กบางคนอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ส่งผลให้การเดินทางไปรับบริการกลายเป็นเรื่องยาก

“โครงการ I SEE THE FUTURE ทำให้เกิดข้อค้นพบหลายด้าน เช่น แม้เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลสุขภาพในชุมชน และครูในโรงเรียนซึ่งได้รับการอบรมให้มีความรู้เรื่องนี้มาแล้วจะมีการคัดกรองสายตาเด็กพบความผิดปกติ แต่หากขาดตัวเชื่อมที่จะช่วยประสาน ให้เด็กเข้าไปใช้บริการในส่วนนี้ ซึ่งมีให้บริการเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ประจำจังหวัด ทำให้บางพื้นที่หรือเด็กบางคน ซึ่งแม้จะถูกตรวจพบว่ามีความผิดปกติทางสายตา ก็อาจจะยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้

“นอกจากนี้ ยังพบว่าสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ อาจจะไปไม่ถึงเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นก็คือกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ อาศัยอยู่กับผู้ปกครองซึ่งเป็นปู่ย่าตายายเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปรับบริการในโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด

“ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เด็กบางคนเข้าไม่ถึงบริการในส่วนนี้ เพราะแผนกสายตาที่เปิดให้บริการในโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด มักจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากเด็กมีความจำเป็นในการการตัดแว่นตาจากบริการในส่วนนี้ จะต้องนัดวันที่จะเข้ามารับบริการล่วงหน้า ซึ่งบางคนอาจจะมีปัญหา เรื่องความสะดวกในการเดินทางมารับบริการ ในวันที่โรงพยาบาลนัดเพื่อให้มาตัดแว่นตา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างตัวเชื่อมประสานให้เกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อทำให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาสายตา ไปถึงเด็กกลุ่มที่ยังตกหล่นจากการบริการของโครงการ I SEE THE FUTURE ทำให้ได้ข้อสรุปว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ในส่วนของสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดรูปแบบการบริการที่เข้าถึงตัวเด็ก ชุมชน หรือพื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัด เกิดกลไกที่เข้มแข็งและแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน” หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียน ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าว

อรรคเดช โทนหงษา

นายอรรคเดช โทนหงษา อาจารย์ประจำคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าทีมนักทัศนมาตรที่ลงพื้นที่ตรวจคัดกรองครั้งนี้ กล่าวว่า การดูแลปัญหาด้านสายตา ในเบื้องต้นผู้ปกครองและครูสามารถเฝ้าระวังปัญหานี้ได้ ด้วยการสังเกตความผิดปกติจากพฤติกรรมการมองของเด็กในแต่ละวัน

“จากการลงพื้นที่ร่วมกับ กสศ. ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่มาร่วมคัดกรองปัญหาด้านสายตา ทำให้พบปัญหานี้ในหลายด้าน ทั้งค่าสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง รวมทั้งพบโรคตาอย่างตาขี้เกียจ ตาบอดสี

“ผู้ปกครองและครูสามารถดูแลเรื่องนี้ โดยสังเกตว่าเด็กบางคนอาจจะมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เวลามอง ชอบเอียงคอ หรี่ตา หรือหยีตา บางคนชอบหลับตาข้างเดียว หรืออาจจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสายตาสู้แสงไม่ได้ ชอบใช้มือบังตา หรือเวลามองวัตถุจะต้องเดินเข้าไปใกล้ ๆ หากพบพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะต้องพาเด็กไปพบจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจซ้ำอีกครั้งว่ามีความผิดปกติด้านสายตาหรือไม่อย่างไร

“อยากจะแนะนำผู้ปกครองว่า หากเด็กคนไหนได้รับการยืนยันจากจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรแล้วว่ามีค่าสายตาผิดปกติจำเป็นที่จะต้องใส่แว่น ผู้ปกครองควรจะกำชับให้เด็กใส่แว่นอยู่ตลอดเวลา เพราะแว่นสายตาจะช่วยแก้ไขเรื่องการมองเห็น ซึ่งจะส่งผลไปถึง บุคลิกภาพและการเรียนรู้อีกด้วย” อาจารย์อรรคเดชกล่าว