“คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถพาเด็กคนหนึ่งไปที่ไหนก็ได้” ธนาคารโอกาส ส่งต่อโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพถึงมือเด็ก ๆ

“คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถพาเด็กคนหนึ่งไปที่ไหนก็ได้” ธนาคารโอกาส ส่งต่อโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพถึงมือเด็ก ๆ

“คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่วางทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่มีใครใช้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าถ้าส่งต่อถึงมือเด็กสักคนในที่ห่างไกล มันจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของคนคนหนึ่งได้สักแค่ไหน ตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้

“…ที่เจอกับตัวคือเราได้เห็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่มีเด็กคนไหนเคยจับคอมพิวเตอร์เลย จนเราเอาคอมพิวเตอร์ที่ได้รับบริจาคเข้าไปติดตั้งที่นั่น 5 เครื่อง กลายเป็นว่าเวลาไม่ถึง 3 ปี ทางโรงเรียนสามารถพาเด็กออกไปวัดทักษะ IT ในการแข่งขันระดับชาติได้ แล้วศักยภาพไม่ได้ต่างอะไรกับเด็กจากโรงเรียนในเมืองเลย

“…เราจึงเชื่อว่าถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ อย่างน้อยควรเริ่มที่เกลี่ยต้นทุนให้ขยับใกล้กันอีกนิด ลดความต่างทางทรัพยากรของโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลอีกหน่อย แล้วค่อยมาดูกันว่าพลังของคอมพิวเตอร์ปลดระวางที่โยกย้ายถ่ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง มันจะช่วยเปลี่ยนปลายทางการศึกษาในวันข้างหน้าได้อย่างไร”

‘พี่เบิร์ด’ ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง มูลนิธิกระจกเงา

‘พี่เบิร์ด’ ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง มูลนิธิกระจกเงา เล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ติดตั้งคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลให้เราฟัง มันยิ่งเติมความเชื่อมั่นในภารกิจ ‘ธนาคารโอกาส’ ที่ กสศ. กับ มูลนิธิกระจกเงา กำลังทำ ว่าการส่งต่อ-เวียนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คือหนทางหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในเวลาเร่งด่วน และจะสร้างผลลัพธ์ที่ยังอาจประเมินไม่ได้ในวันนี้

กสศ. ชวนติดตามการเดินทางไต่ไปบนถนนสายแคบ คดเคี้ยว และสูงชันของเส้นทางขึ้นดอยแม่สลอง เพื่อสำรวจสถานการณ์ความขาดแคลนทรัพยากรของโรงเรียนพื้นที่สูง ว่าในความทุรกันดารห่างไกลที่ครูบางท่านพยายามเปรียบให้เห็นภาพว่า “ความไม่มี ก็คือไม่มีอะไรเลยจริง ๆ” นั้น ความหมายคืออะไร หรือการไปถึงของธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ จะช่วยเปลี่ยนภาพ “ความไม่มี” นั้นได้สักแค่ไหน …ขอเชิญออกเดินทางไปด้วยกัน

ถอดรหัส “ความไม่มี”

 “เวลาพูดคำว่า ‘ไม่มี’ สำหรับที่นี่มันมีความหมายตรงตัวตามนั้นเลย คือมันไม่มีจริง ๆ  …มองจากตรงนี้จะเห็นชุมชนตรงตีนเนิน หากเข้าไปดูในบ้านเหล่านั้น จะพบว่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลย คนในบ้านมีแต่ผู้สูงอายุกับเด็ก แล้วแถวนี้ไม่มีอาชีพให้เลือก นอกจากงานรับจ้างในไร่ข้าวโพดหรือสวนยาง ไม่มีใครมีรายได้ประจำ

“เด็กโรงเรียนเราเกือบทั้งหมดมาจากชุมชนนั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีบ้านหลังไหนเลยที่จะมีคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต ดังนั้นถ้าเด็กจะได้จับได้ใช้ของพวกนี้บ้าง ก็ต้องเป็นที่โรงเรียนอย่างเดียว”

ผอ.สุดารัตน์ ปัญญาศิริวงค์ แห่งโรงเรียนบ้านห้วยอื้น ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ชี้ให้ดูหมู่บ้านเชิงดอยที่มองจากมุมสูงเหมือนอยู่ไม่ไกล แต่จากที่ตั้งของโรงเรียนลงไปถึงตรงนั้น จะเห็นเนินสูงต่ำพาดขวางอยู่อย่างน้อยสามลูก กับเส้นบางเฉียบลดเลี้ยวไปบนสันเนินของถนนน้อย ราวกับลากตัดไว้ด้วยปลายดินสอ

…ช่วงสายของวัน เรามาที่นี่กับภารกิจติดตามพี่ ๆ ทีมงานมูลนิธิกระจกเงาเข้าไปติดตั้งคอมพิวเตอร์ 14 เครื่องจากโครงการธนาคารโอกาส เสริมเติมจากของเดิมที่โรงเรียนบ้านห้วยอื้นมีอยู่แล้ว 24 เครื่อง ซึ่ง ผอ.สุดารัตน์ บอกว่าประสิทธิภาพการใช้งานเริ่มลดลงไปตามเวลา

ผอ.สุดารัตน์ ปัญญาศิริวงค์ โรงเรียนบ้านห้วยอื้น

“บอกตามตรงว่ายังไม่พอ” คำตอบรวบรัดผ่านการประเมินเร็ว ๆ ว่าคอมฯ  38 เครื่องกับเด็กชั้นอนุบาล 2 ถึง ป.6 รวม 276 คนของโรงเรียนบ้านห้วยอื้นในปีนี้

“…แต่อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงได้มากขึ้น” ผอ. เว้นวรรค แล้วกล่าวตาม ก่อนพูดถึงความสำคัญของคอมพิวเตอร์ ในฐานะเครื่องมือช่วยเปิดโลกการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย 75 กิโลเมตร ว่า

“วันนี้ใครก็รู้ว่าเครื่องมือดิจิทัลเหมือนคู่มือดำรงชีวิต มันทำให้เด็ก ๆ ทันโลก และเห็นทิศทางของสังคมได้ชัดขึ้น ดังนั้นถ้าวันหนึ่งเด็กเรียนจบไปแล้วไม่มีทักษะพวกนี้เลย เขาจะลำบากมากในโลกการทำงาน”

ผอ.สุดารัตน์ยังสะท้อนว่า สำหรับครูแล้ว เครื่องมือดิจิทัลคือตัวช่วยจัดการเรียนรู้ “เพราะบนดอยห่างไกลอย่างนี้ เราเข้าไม่ถึงสื่อการสอน ผลิตสื่อเองไม่ได้ แต่หากเข้าถึงบทเรียนหรือสื่อสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว ครูจะเอามาปรับใช้ได้ทันที

“…ครูที่นี่ทุกคนรู้กันดีว่า พวกเราคือแสงสว่างเพียงหนึ่งเดียวที่จะช่วยส่องทางชีวิตให้ศิษย์ได้ คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจึงสำคัญมาก ๆ ในฐานะเครื่องมือช่วยพาเด็กก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องระยะทางไปถึงองค์ความรู้ ข่าวสาร ความหลากหลายของอาชีพต่าง ๆ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ จะช่วยให้เด็กปรับตัวเติบโตใช้ชีวิตในสังคมที่แตกต่าง”   

ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยอื้น เปรียบ ‘ความไม่มี’ ว่าคือ ‘ตัวการ’ ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างไร้เป้าหมาย และเมื่อไร้เป้าหมาย ก็ขาดแรงจูงใจในการเรียนต่อ ทีนี้พอการศึกษาไม่สูง ทางเลือกยิ่งน้อยลง เด็กส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้นจึงเข้าสู่วงจรเวียนซ้ำแทนที่คนรุ่นพ่อแม่เรื่อยไป

“โรงเรียนพื้นที่สูงหลายแห่งเจอปัญหาคล้ายกันมาตลอด แต่น้ำหนักเรื่องราวอาจต่างกัน อย่างเอาแค่บนดอยแม่สลองแห่งเดียวก็มีโรงเรียนที่ขาดแคลนเยอะมาก ยิ่งลึกและสูงขึ้นไปก็ยิ่งขาดความพร้อม คือแม้จะอยู่ในขอบเขตพื้นที่เดียวกันก็ยังเหลื่อมล้ำแตกต่าง ความช่วยเหลือจากข้างนอกจึงจำเป็นมาก ไม่ใช่แค่เครื่องมือดิจิทัล แต่การส่งต่อเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์การเรียนล้วนมีความหมาย หรือการจัดสรรงบประมาณจากรัฐลงมาก็เช่นกัน ที่เรามองว่าถ้ามันสอดคล้องเหมาะสมกับโจทย์ของแต่ละโรงเรียนมากขึ้น ก็จะช่วยเหลือเด็ก ๆ และโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้มากกว่าที่เป็นอยู่”             

ทรัพยากรไม่พอ ทำอะไรก็ยากไปหมด

จากโรงเรียนในหมู่บ้านห้วยอื้น ทีมงานมูลนิธิกระจกเงาและเราชาว กสศ. เดินทางต่อไปยังโรงเรียนที่สองซึ่งห่างไปราว 5-6 กิโลเมตร หากต้องใช้เวลาตั้งแต่เที่ยงกว่าจนเกือบบ่ายโมงครึ่ง เพื่อไต่ไปบนถนนคดชันที่แทบไม่มีพื้นที่เหลือพอให้รถสองคันสวนกัน เมื่อชะโงกดูทิวทัศน์สองฝั่ง ก็จะเห็นแต่ผาลาดลึก ทั้งยิ่งลึกเข้าไป ถนนยิ่งหดแคบและสูงขึ้นเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด จึงต้องอาศัยทักษะการเลี้ยงเกียร์ต่ำอย่างยิ่ง กว่าที่รถจะค่อย ๆ เคลื่อนพาพวกเรา กับคอมพิวเตอร์ไปยังที่หมาย

“เส้นทางที่เพิ่งผ่านมาคงบอกคร่าว ๆ แล้วนะคะ
ว่าโรงเรียนเราอยู่ห่างจากพื้นราบแค่ไหน”

ทันทีที่พบกัน ผอ.ธัญนันท์ สุขเกษม แห่งโรงเรียนบ้านห้วยหยวกป่าโซ ซึ่งมาดักรอชาวคณะตรงปากทางเข้าสู่โรงเรียน เริ่มบทสนทนาว่าด้วย ‘ความห่างไกล’

ก่อนขยายบริบทว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนจาก 3 หมู่บ้าน ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า 90% ไทใหญ่และจีนอีก 10% ในชุมชนเกษตรกรรมที่เด็ก ๆ อยู่กับผู้ปกครองซึ่งเกินครึ่งเป็นผู้สูงอายุ ด้วยคนหนุ่มสาววัยแรงงานส่วนใหญ่ แยกย้ายออกไปทำงานในพื้นที่อื่น ๆ กันเกือบหมด

ผอ.ธัญนันท์ สุขเกษม และเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านห้วยหยวกป่าโซ

“บ้านห้วยหยวกป่าโซเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ปีนี้เรามีเด็ก 110 คน ด้วยอุปสรรคเบื้องต้นคือการใช้ภาษาไทย เราจึงพยายามใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนมาเติมเต็มผลสัมฤทธิ์การอ่านออกเขียนได้ แต่ปัญหาเรื่องงบประมาณการจัดซื้อที่น้อยตามจำนวนเด็ก มันก็ยากที่จะเข้าถึงทรัพยากรจำเป็น

“เมื่อไม่มีเครื่องมือเพียงพอ ทุกแผนก็ยากไปหมด อย่างคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเด็กล้อมกัน 3-4 คน ยังไงการเรียนรู้ก็ไม่มีทางเต็มที่ ยิ่งถ้าเทียบกับพื้นที่อื่นที่เด็กคนเดียวมีคอมเครื่องหนึ่ง มีสมาร์ตโฟนเครื่องหนึ่ง มีแท็บเล็ตอีกเครื่องหนึ่ง ผลลัพธ์ปลายทางมันต่างกันอยู่แล้ว”

ผอ.ธัญนันท์ เปรียบความต่างของขนาดโรงเรียน ผ่านประสบการณ์ก้าวผ่านจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการในโรงเรียนที่มีเด็กเกือบสองพันคน มารับหน้าที่ผู้อำนวยการ ณ บ้านห้วยหยวกป่าโซที่มีเด็กร้อยกว่า ว่าทำให้เห็นถึงความต่างของงบประมาณในการผลักดันแผนงานพัฒนาโรงเรียนให้บรรลุ ไม่ว่าการจัดสรรเงินรายหัวเพื่อทำกิจกรรม หรือการจัดหาสื่อการสอนและซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียน โดยสำหรับโรงเรียนเล็ก เมื่อตั้งงบต่อโครงการหนึ่ง ๆ แล้วจะเหลือทุนเพียงน้อยนิด ขณะที่โรงเรียนใหญ่เด็กเยอะ ทุนก็เหลือเยอะกว่า ทั้งที่ปลายทางของโรงเรียนทุกขนาด คือต้องจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มวิชาเท่ากัน ทำโครงงานกิจกรรมจำนวนเท่ากัน และต้องทำด้วยคุณภาพที่เท่ากัน

“โรงเรียนเล็กจึงต้องบริหารจัดการตามกำลัง พยายามดึงมือจากภายนอกมาช่วย โดยเฉพาะการสนับสนุนเครื่องมือจัดการเรียนรู้ เช่น สมาร์ตทีวีนี่จำเป็นมาก เพราะถึงปีนี้เรามีครูครบชั้น แต่ความเป็นโรงเรียนเล็กบนพื้นที่สูงห่างไกล จึงมีแต่ครูผู้ช่วยที่มาอยู่ไม่เกินสองปี อย่างปีหน้าถึงกำหนดย้ายพร้อมกัน 3 คน ระหว่างรอคนใหม่บรรจุ ก็ต้องอาศัยเรียนทางไกลผ่าน ‘ครูตู้’ แก้ปัญหาครูไม่พอไปก่อน

“หรือคอมพิวเตอร์ เดิมโรงเรียนมี 4 เครื่อง เป็นของบริจาคซึ่งสภาพไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วงบรายหัวเราไม่มีทางพอซื้อของใหม่ รอบนี้มีธนาคารโอกาสนำมาเติมให้ ก็ถือว่าดีขึ้นเยอะมาก เพราะเดี๋ยวนี้ความรู้หรือความเคลื่อนไหวของโลกมันอยู่บนอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว เราก็เหมือนได้มีเครื่องมือจัดการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น”

“ถ้าโอกาสเท่ากัน เข้าถึงเครื่องมือเท่ากัน เด็กบนดอยก็ไม่แพ้ใครทั้งนั้น”

ต่อยอดจากประเด็นการเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึงโอกาสที่มาในรูปแบบอื่นสำหรับน้อง ๆ โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เรามีโอกาสคุยกับ ‘ฟิวส์’ ทรรศยา มาเยอะ เยาวชนบ้านห้วยหยวกป่าโซโดยกำเนิด ปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาชั้นปี 1 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเลือกมาร่วมสังเกตการสอนที่โรงเรียนบ้านเกิดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จนได้ความว่า หลายปีที่ออกไปเรียนบนพื้นราบแล้วกลับมาที่หมู่บ้าน ทำให้น้องฟิวส์ยิ่งเชื่อว่าถ้าเด็กทุกคนมีต้นทุนใกล้เคียงกัน ผลลัพธ์คุณภาพการศึกษาในภาพรวมจะไม่มีทางต่างกันสุดขั้วอย่างที่เป็นอยู่ฟิวส์อธิบายว่า ‘ต้นทุน’ ที่หมายถึงคือทุกอย่าง ตั้งแต่การเข้าถึงความรู้ เทคโนโลยี โอกาสศึกษาต่อ จนถึงต้นทางของแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพ ซึ่งหมู่บ้านเล็กห่างไกลและขาดแคลนเครื่องมือย่อมไม่อาจจุดประกายความสนใจได้

‘ฟิวส์’ ทรรศยา มาเยอะ เยาวชนบ้านห้วยหยวกป่าโซ นักศึกษาครูชั้นนปี 1 มรภ.เชียงราย

“คิดว่าถ้าโอกาสเท่ากัน เข้าถึงเครื่องมือได้เท่า ๆ กัน เมื่อนั้นถ้าจะวัดผลลัพธ์ด้วยวิธีเดียวกัน หนูคิดว่าเด็กบนดอยก็ไม่แพ้ใครทั้งนั้น …แต่ที่ผ่านมา เด็กที่นี่ไม่เคยรู้เลยว่าการเรียนหนังสือจะพาไปสู่อาชีพใดได้บ้าง เพราะไม่มีต้นแบบและการแนะแนวทาง แต่การมีคนจากข้างนอกขึ้นมา รวมทั้งมีการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ที่ครูช่วยกันทำผ่านอินเทอร์เน็ต เราเห็นชัดเลยว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาท 100% ในการทำให้ช่องว่างของความแตกต่างมันแคบลง”

“เมื่อก่อนเด็ก ๆ ไม่รู้เลยว่าโลกภายนอกเป็นยังไง พอลงไปข้างล่างก็ทำอะไรไม่เป็น แต่พอมีเครื่องมือพวกนี้ น้อง ๆ เริ่มเรียนรู้และสนใจอาชีพใหม่ ๆ มีทักษะการเข้าสังคมและทักษะชีวิตเพิ่มขึ้น แล้วคนรุ่นนี้ที่โตมากับเทคโนโลยีเขาจะรับรู้ข่าวสารเท่ากันกับเด็กพื้นราบเลย อะไรฮิต อะไรอยู่ในความสนใจเขารู้หมด”

แม้อีกหลายปีจะเรียนจบ แต่เมื่อถามถึงอนาคต ฟิวส์ยืนยันว่า “อยากกลับมาเป็นครูที่นี่” ไม่ใช่สาเหตุเพียงได้อยู่กับครอบครัว แต่เธอฝันแรงกล้าว่าอยากมีส่วนผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ๆ ออกไปศึกษาหาความรู้ แล้วกลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด เพื่อเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น ขณะที่ความคาดหวัง ณ ปัจจุบัน เธอบอกว่าอยากให้โรงเรียนเล็ก ๆ บนพื้นที่สูงได้รับการสนับสนุนความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากรมากกว่านี้ เพื่อโอกาสในการพัฒนาที่ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น ๆ  

…จนบ่ายคล้อย งานติดตั้งแล้วเสร็จ พวกเรามีเวลาไม่นานอยู่กับน้อง ๆ ที่กำลังห้อมล้อมตื่นตากับคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ด้วยทีมกระจกเงาแนะนำว่า ชาวคณะควรลงจากบ้านห้วยหยวกป่าโซ ขณะถนนสายแคบยังคงมีแสงอาทิตย์ส่องทาง

“คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถพาเด็กคนหนึ่งไปที่ไหนก็ได้
เท่าที่ความสามารถเขาจะไปถึง”

ช่วงสายของอีกวัน ก่อนกิจกรรมถนนครูเดินจะเริ่ม เราได้คุยกับ ‘พี่แบงค์’ ทิรัตน์ ผลินกูล หัวหน้าโครงการศูนย์แบ่งต่อมูลนิธิกระจกเงา ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากงานรับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่า นำมาซ่อมแซมตรวจสภาพ และส่งต่อไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ราวปี 2554

พี่แบงค์เริ่มเล่าว่า “ผมเจอเด็กหลายคนที่เพิ่งได้จับคอมพิวเตอร์ครั้งแรก สำหรับพวกเขาวินาทีนั้นคือความมหัศจรรย์ จนหลายปีต่อมา เราเจอกันอีกครั้ง เด็ก ๆ เล่าให้ผมฟังได้ว่าโลกข้างนอกมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งที่ไม่เคยก้าวเท้าลงจากดอยด้วยซ้ำ หรือ บางคนก็เล่าความฝัน ว่าอยากเรียนในสาขาที่ไม่เคยมีใครที่หมู่บ้านรู้จักมาก่อน ผมว่าสิ่งนี้มันคือพลังของเครื่องมือการสื่อสาร ซึ่งสำหรับเป้าหมายของงานที่เราทำ ก็คืออยากเพิ่มจำนวนเด็ก ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น”

‘พี่แบงค์’ ทิรัตน์ ผลินกูล มูลนิธิกระจกเงา

ส่วนผลลัพธ์ด้านอื่น หัวหน้าโครงการศูนย์แบ่งต่อบอกว่า ไม่เพียงทักษะเพิ่มพูนที่ตัวเด็ก แต่การมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมกว่าเดิม ยังช่วยยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งให้มีคุณภาพมาตรฐาน จนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียน แล้วเมื่อจำนวนเด็กเยอะขึ้น โครงสร้างการพัฒนาโรงเรียนในส่วนอื่น ๆ จึงขยายตามมา

และนอกจากนี้ยังเป็นการถ่ายเทแรงบันดาลใจสู่กัน ระหว่างองค์กรบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ว่าเมื่อถึงคราวเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์ ก็จะนึกถึงมูลนิธิกระจกเงาเป็นที่แรก กลายเป็น ‘วัฒนธรรมการส่งต่อ’ ที่แข็งแรงขึ้นในทุกปี“เดี๋ยวนี้เราส่งคอมพิวเตอร์กระจายทั่วประเทศประมาณสัปดาห์ละ 150 เครื่อง ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด โดยหลักการของโครงการคือเราเชื่อว่าหากเด็กเยาวชนทุกคนพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ การจะวางรากฐานพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นมันก็เป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มจากทำให้การเรียนรู้อยู่บนฐานความต้องการของผู้เรียน ดังนั้นหากโอกาสเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัลขยายขอบเขตออกไป มันอาจช่วยจุดประกายให้เด็กในหลายพื้นที่สามารถทลายกำแพงที่ขวางกั้นเขาไว้จากการเรียนรู้ แล้วกลายเป็นคนกล้าฝัน กล้าทดลอง กล้าทำในสิ่งที่ไม่มีอะไรเอื้อเลยในพื้นที่ชุมชนของเขา จนค้นพบความสามารถจริง ๆ ที่มีอยู่ในตัวเอง

“สำหรับผม สมมติฐานนี้ยืนยันได้จากการที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องของเรารับประกันตลอดการใช้งาน ทำให้ทีมงานมีโอกาสกลับไปทุกโรงเรียนที่นำคอมฯ ไปติดตั้ง ก่อนพบว่าการมีเครื่องมือมันทำให้เด็กหลายคนกระตือรือร้น สนใจใคร่รู้ และมีคุณสมบัติของการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง และผมคิดว่าแนวทางนี้คือสิ่งที่การศึกษาควรจะเป็นที่สุด”

ด้าน ‘พี่เบิร์ด’ ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง มูลนิธิกระจกเงา เสริมว่า การผลักดันของครูมีส่วนสำคัญมากต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมาจากการมีเครื่องมือ เช่นที่หลายโรงเรียนเปลี่ยนไปได้ในเวลาสามปี นั่นเพราะครูสามารถ ‘ทำให้คอมพิวเตอร์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตัวเด็ก’ ในหลากหลายด้าน ทั้งทักษะ การค้นคว้าหาข้อมูลความรู้ จนถึงการแนะแนววางแผนอนาคตด้านการศึกษาและประกอบอาชีพ

ทีมงานโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง มูลนิธิกระจกเงา

“ถ้าครูรู้ว่าคอมพิวเตอร์ใช้ทำอะไรได้บ้าง เขาจะถ่ายทอดความคิดนั้นไปสู่เด็ก และออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กได้ค้นคว้าด้วยตัวเองบ่อย ๆ ฉะนั้นเด็กจะไม่ได้พัฒนาแค่เรื่องทักษะดิจิทัล แต่คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องมันสามารถพาเด็กคนหนึ่งไปที่ไหนก็ได้เท่าที่ความสามารถเขาจะไปถึง โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้องจึงตั้งเป้าว่าทุกโรงเรียนต้องมีคอมพิวเตอร์ แล้วต้องมีคอมพิวเตอร์ประจำชั้นเรียนด้วย เพื่อให้เด็กทุกคนทุกชั้นได้ทดลอง ได้สัมผัสรู้จัก และใช้งานเป็น ไม่ใช่รอขึ้นประถมปลาย หรือรอเรียนในชั่วโมงคอมพิวเตอร์แค่สัปดาห์ละ 1-2 ชั่วโมง”

พี่เบิร์ด กล่าวถึง ‘วัฒนธรรมการส่งต่อ’ ที่ยังคงดำเนินไป

“ถึงตอนนี้โครงการฯ มีผู้บริจาคของเข้ามาอยู่ตลอด แต่ความต้องการไม่เคยลดลง ฉะนั้นใครมีคอมพิวเตอร์ปลดระวางจากการใช้งาน หรือจะมีจิตศรัทธาอยากมอบของใหม่ยังไม่ผ่านการใช้งานเข้ามา มูลนิธิกระจกเงายินดีอย่างยิ่งในการเป็นสื่อกลางรับบริจาค พร้อมส่งต่อไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน”

…สิบโมงเช้า พื้นที่ลานเอนกประสงค์ของโรงเรียนบ้านเทอดไทยอันเป็นสถานที่จัดกิจกรรม ‘ถนนครูเดิน’ กำลังคึกคักเต็มที่ ด้วยบรรดาครูนับร้อยชีวิตจากโรงเรียนพื้นที่สูงทั่วทั้งภาคเหนือ บรรยากาศประหนึ่งกิจกรรมลดราคาสินค้าส่งท้ายปีของห้างดัง ที่กำลังเตรียมนับถอยหลังเปิดให้บริการ

แล้วระหว่างที่เสียงจากเวทีเสวนาเคลื่อนขบวนความร่วมมือ ‘All For Education – Education For All: การกระจายทรัพยากรการศึกษาเพื่อโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล’ เริ่มเคลื่อนไหวที่อีกฟากฝั่งของโรงเรียน เสียงสัญญาณนับจาก 10 ถึง 0 ก็เสร็จสิ้น บ่งบอกว่าถนนครูเดินครั้งที่ 1 จังหวัดเชียงรายได้เปิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ เมื่อนั้นคุณครูจึงทยอยกันเข้าไปเลือกสิ่งของที่เรียงรายจนเต็มพื้นที่อาคาร ตั้งแต่ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน รองเท้า กระเป๋า หนังสือ อุปกรณ์กีฬา สื่อการสอน ถ้วยชามจานช้อน เครื่องดนตรี แฟ้มเอกสาร คลิปหนีบกระดาษ ดินสอสี สีน้ำ ชอล์ก พู่กัน จานสี ฯลฯ ไปจนถึงของเล่นเสริมพัฒนาการต่าง ๆ ด้วยหมายใจจะนำสิ่งขาดแคลนไปเติมเต็มความขาดพร่อง ณ โรงเรียนบนดอยสูง ซึ่งอยู่ไกลแสนไกลจากโอกาส

ชวนอ่าน :  ‘เปิดถุงช็อป’ ถนนครูเดินภาคเหนือบนดอยแม่สลอง คอมพิวเตอร์-สื่อการสอน-ชุดนักเรียน-การเรียนรู้สมัยใหม่-ไฟฟ้า ฯลฯ สารพันสิ่งยังขาดแคลน ณ โรงเรียนพื้นที่สูง

…จังหวะนั้นพี่แบงค์กับพี่เบิร์ดจึงขอตัวไปปฏิบัติภารกิจ โดยก่อนจากกัน พี่แบงค์ได้ฝากวาทะทิ้งท้าย ซึ่งเราขอนำมาใช้ปิดทริปการเยือนโรงเรียนพื้นที่สูงครั้งนี้ ว่า

‘…ทรัพยากร’ คือสิ่งที่ทำให้เด็กที่เกิดมาพร้อม กับเด็กที่มาจากความไม่มี มีชีวิตฉีกห่างจากกันออกไปเรื่อย ๆ จนเหมือนอาศัยอยู่บนโลกคนละใบ 

การผลักดันให้เด็กทุกคนในประเทศเข้าถึงทรัพยากร องค์ความรู้ และเครื่องมืออย่างเสมอภาค จึงเป็นทางเดียวที่จะสร้างสมดุลของการศึกษา …เพื่อให้ ‘เครื่องมือ’ นั้นช่วยลดช่องห่างของความเหลื่อมล้ำเข้ามา

…แล้ววันหนึ่งข้างหน้า สังคมของเราอาจจะไม่มีสรรพนามเชิงแบ่งแยกอย่างเด็กในเมือง-เด็กชายขอบ หรือแม้แต่ ‘เด็กหลังเขา’ ที่มีนัยยะสะท้อนถึงเพียงความขาดพร่่องห่างไกล …อีกต่อไป

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับธนาคารโอกาสได้ เพียงแจ้งความจำนงทางโทรศัพท์ 02 079 5475 หรือบริจาคสิ่งของไปที่ โครงการธนาคารโอกาส ศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซ.วิภาวดี-รังสิต 62 แยก 4-7 ตลาดบางเขต หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210