“ทุนเสมอภาค” คือต้นทางพาเด็กนักเรียนเข้าสู่ระบบดูแลช่วยเหลือครบทุกมิติ เป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกคน
ครูปทุม คงศิลป์ โรงเรียนบ้านคลองกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

“ทุนเสมอภาค” คือต้นทางพาเด็กนักเรียนเข้าสู่ระบบดูแลช่วยเหลือครบทุกมิติ เป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกคน

“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่คัดกรองข้อมูลเด็กทุนเสมอภาค เราไม่ได้มุ่งความสำคัญที่ปัญหาเรื่องทุนทรัพย์อย่างเดียว เพราะเด็กคนหนึ่งจะอยู่หรือไปในระบบการศึกษานั้นมีหลายสาเหตุประกอบกัน อย่างเด็กหลายคนแม้จะอยู่ในจากครอบครัวที่มีค่าเฉลี่ยรายได้สูงกว่าเกณฑ์รับทุน แต่เขามีปัญหาอื่นห้อมล้อมซ้อนทับ ซึ่งโรงเรียนจะไม่รู้เลยจนกระทั่งเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไป”

ครูปทุม คงศิลป์ คุณครูประจำชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านคลองกระทุ่มแบน ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร สะท้อนประสบการณ์ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านน้อง ๆ ตามกระบวนการทำงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือ ทุนเสมอภาค ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ครูปทุมบอกว่าทุกรอบการสำรวจ ข้อมูลที่ได้รับกลับมาถือเป็นต้นทางของการสร้าง ‘ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน’ ของโรงเรียนให้เข้มแข็ง

ยิ่งหากย้อนมองที่บริบทแวดล้อม สมุทรสาครเป็นเมืองที่ชุกด้วยโรงงานอุตสาหกรรม การหลั่งไหลเข้าออกของประชากรจำนวนมหาศาลจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงสถานะการดำรงอยู่ของเด็กในระบบการศึกษา ที่ทุกเทอม (หรือบางครั้งนับเป็นหลักเดือน) จะมีเด็กใหม่ย้ายเข้า เด็กเก่าย้ายออก หรือมีเด็กย้ายออกไปแล้ววนกลับมาสมัครเข้าเรียนใหม่อยู่เป็นประจำ

ขณะที่การสำรวจเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งได้ทำการสำรวจผ่านข้อมูลทุนเสมอภาคโดยคุณครูทั่วประเทศ พบว่าในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 มีรายชื่อเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในฐานข้อมูล Thailand Zero Dropout ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาราว 40,000 คน  โดยเมื่อลงลึกข้อมูลไปในระดับจังหวัด พบว่า สมุทรสาครมีเด็กเยาวชนอายุระหว่าง 3-18 ปีที่เพิ่งเข้าสู่ระบบการศึกษา และถูกส่งชื่อเข้ารับพิจารณาทุนเสมอภาคเป็นครั้งแรกจำนวนมาก ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา ครูปทุมมองว่าการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลที่ละเอียดแม่นยำ อัปเดตสม่ำเสมอ และนั่นทำให้การเยี่ยมบ้านเด็กทุกเทอมตามกระบวนการทำงานทุนเสมอภาค กลายเป็นกิจวัตรของครูประจำชั้นที่ ‘ละเลยไม่ได้’

ครูปทุม คงศิลป์

“บริบทของพื้นที่สมุทรสาครมีลักษณะค่อนข้างชัดเจน ยิ่งถ้าระบุเป็นโรงเรียนก็ต้องบอกว่าโรงเรียนบ้านคลองกระทุ่มแบนของเรา นักเรียนเกินครึ่งหรือมากกว่านั้นเป็นเด็กต่างถิ่น ผู้ปกครองเกือบ 100% ทำงานในโรงงาน นอกจากสถานการณ์ที่ ‘ไม่นิ่ง’ ของการย้ายเข้าย้ายออก ในการสำรวจข้อมูลเด็กที่เข้าเทอม 1 ปี 2567 ยังทำให้เราพบกลุ่มเด็กอายุเกินเกณฑ์ที่เพิ่งได้เข้าสู่ระบบการศึกษาครั้งแรกจำนวนไม่น้อย ทีนี้ถ้ามองไปที่การสร้างระบบดูแลช่วยเหลือให้ตรงตามบริบท ก็ต้องบอกว่าข้อมูลของเราชี้ไปที่ความหลากหลายของภูมิลำเนาเดิม หมายถึงเด็กส่วนใหญ่ไม่มีความแน่นอนเรื่องเส้นทางการศึกษา ว่าจะเรียนจบที่ไหน ไปไหนต่อ หรือจะอยู่กับเราไปจนถึงเมื่อไหร่ ดังนั้นการ ‘ดูแลประคับประคอง’ และ ‘เตรียมแผนการส่งต่อ’ จึงเป็นมาตรการที่โรงเรียนต้องสร้างไว้รองรับ”

ครูปทุมขยายภาพให้เห็นการสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ว่าทางโรงเรียนบ้านกระทุ่มแบนได้ปรับแนวทางจากกระบวนการตระเวนเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาคทุกเทอม ให้เป็นกระบวนการเก็บข้อมูลนักเรียนทุกคนไปพร้อมกัน โดยตั้งต้นจากนำรายชื่อเด็กที่อยู่ในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center : DMC) มาทำแผนเยี่ยมบ้าน และจะเก็บข้อมูลจากผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน รวมถึงรายละเอียดแวดล้อมเด็กในทุกมิติ ซึ่งสำหรับเด็กที่สำรวจแล้วว่าอยู่ในเกณฑ์ทุนเสมอภาค จะส่งชื่อต่อให้ กสศ. เพื่อพิจารณารับทุน ส่วนข้อมูลของเด็กที่อยู่นอกเกณฑ์ จะนำมาใช้ทำแผนดูแลรายกรณี รวมถึงยังมีนโยบาย ‘เชื่อมต่อทุน’ เพื่อเติมเต็มทรัพยากรอย่างถ้วนหน้า

“การคัดกรองทุนเสมอภาค เป็นต้นทางของการพาเด็กทุกคนไปถึงโอกาส ช่วยให้เราดูแลได้ตามลักษณะปัญหา ทั้งการขาดแคลนทุนทรัพย์ มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัว หรือจำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครองบ่อย ๆ สำคัญคือเมื่อเข้ามาอยู่ในโรงเรียนแล้วจะมีทุนตามมา เพราะโรงเรียนเรามีนโยบายว่าเด็กทุกคนต้องเข้าถึงทุนได้ ไม่ว่าทุนเรียนดี ทุนด้อยโอกาส ทุนเกี่ยวกับกีฬา  หรือทุนอะไรก็ตามแต่

“แล้วเป้าหมายของโรงเรียนคือจะพยายามออกแบบเส้นทางเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กเรียนจบ หรือนำผลการเรียนสะสมไปใช้ต่อได้ เพราะเราอยากให้เด็กทุกคนอย่างน้อยต้องมีวุฒิชั้น ป.6 และมีทางไปต่อจนถึงวุฒิการศึกษาภาคบังคับ สำหรับเด็กที่อยู่กับเราจนจบการศึกษา โรงเรียนจะร่วมกับเครือข่ายสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นให้ได้ 100% บนความหลากหลายของบริบท ทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา ส่วนคนที่ไม่พร้อมศึกษาต่อด้วยจำเป็นต้องทำงานหารายได้ ซึ่งทุกปีจะมีอยู่จำนวนหนึ่ง โดยมากเป็นเด็กที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายที่มีรายได้แค่จากเบี้ยคนชรา ทางโรงเรียนจะยังคงติดตามดูแลช่วยเหลือ เพื่อหาช่องทางให้ได้เรียนและมีวุฒิสูงขึ้น เป็นการทำงานร่วมกับ สกร. หน่วยงานพัฒนาทักษะอาชีพ หรือเด็กที่ต้องการการดูแลด้านสวัสดิภาพ ก็มีการเชื่อมต่องานกับ พม. เรื่องสุขภาพก็เป็นสาธารณสุข หรือน้อง ๆ ที่พิการหรือบกพร่องทางการเรียนรู้ ก็จะติดต่อไปที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ”

ครูปทุมเล่าถึงการทำงานที่แตกต่างไปในปีนี้ว่า ตั้งแต่เริ่มเทอม 1/2567 กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้ทำงานตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ทำให้การคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาคมี ‘ความพิเศษ’ ยิ่งขึ้น เพราะการบันทึกข้อมูลนักเรียนที่ไหลกลับเข้ามาในระบบการศึกษา จำเป็นต้องทำอย่างรัดกุม ด้วยครูทุกคนตระหนักร่วมกันว่าเด็กที่เคยหลุดจากระบบไป ไม่ว่าโดยกรณีใดก็ตามล้วนมีสาเหตุ มีความเปราะบาง และต่างต้องการการประคับประคองเพื่อไม่ให้หลุดซ้ำ

“การดูแลที่ครบถ้วนทุกมิตินี้เอง ที่เราจะบอกได้ว่าเป็น ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่แท้จริง เราถึงพยายามสร้างเครือข่ายที่ครอบคลุมทุกปัญหา ให้เด็กทุกคนที่กลับมาไม่ถูกปล่อยให้หลุดไปอีก ดังนั้นในฐานะครูที่ปรึกษา เราจะมองการทำงานเพียงเชิงโครงสร้างหรือกระบวนการไม่ได้ แต่เราต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เอาใจใส่กับการสื่อสารทำความเข้าใจ แล้วหาจุดเชื่อมบางอย่างให้พบ คือการเปิดใจของเรา แล้วพยายามคลี่ปมในใจของเขาออกมาให้ได้

“ถ้าไม่รู้ว่าอุปสรรคคืออะไรหรืออยู่ตรงไหน ไม่มีทางเลยที่เราจะแก้ปัญหาหรือร่างเส้นทางเดินให้เด็กได้ การเข้าหาเด็กจึงต้องมองแยกเป็นคน ๆ ว่าใครสนใจหรือถนัดอะไร หรือดูตามลักษณะนิสัยใจคอ อย่างเด็กบางคนซื่อ ๆ ใส ๆ บางคนใจร้อน บางคนขี้อายพูดน้อย หรือบางคนมีความแข็งกร้าว ทั้งหมดนั้นเกิดจากปูมหลังของชีวิตที่แตกต่างกัน เราก็ต้องค่อย ๆ สังเกตแล้วปรับวิธีสื่อสาร ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราแน่ใจ ว่าเด็กทุกคนจะมีจุดเชื่อมบางอย่างที่เราต้องหาให้เจอ เช่นบางคนชอบเล่นกีฬา บางคนชอบทำกิจกรรม บางคนชอบเต้นชอบแสดงออก หรือบางคนก็ต้องการเพียงใครสักคนที่รับฟังปัญหาโดยไม่ตัดสิน ซึ่งถ้าเขารู้ว่าเราจริงใจที่จะช่วยเหลือ เด็กจะเปิดใจ เหล่านี้คือกุญแจสำคัญมากที่ครูต้องตกผลึกให้ได้ เพื่อจะรั้งเด็กทุกคนเอาไว้แล้วส่งเขาไปต่อถึงปลายทาง”  

นี่คือส่วนเสี้ยวประสบการณ์จากคุณครู ผู้เป็น ‘ด่านหน้า’ ของกระบวนกการทำงานทุนเสมอภาค ร่วมกับ กสศ. เพื่อเชื่อมต่อสู่ภารกิจ Thailand Zero Dropout ซึ่งมุ่งเป้าหมายนำเด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา ให้ได้เข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก และตอบโจทย์ชีวิต พร้อมวางแนวทางพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อเป็น ‘หลักประกันโอกาส’ ให้เด็กที่กลับคืนสู่การเรียนรู้สามารถประคองตนเองไปได้จนสำเร็จการศึกษา ไม่หลุดซ้ำ อยู่ในเส้นทางการพัฒนาตนเองได้ไม่รู้จบ