กสศ. มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่าย จัดกิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดินครั้งที่ 2 ภาคใต้
‘สมัชชาการศึกษาสุราษฎร์ธานีผนึกการเมือง’ ประกาศสานต่อความร่วมมือเติมทรัพยากรโรงเรียนขาดแคลน

กสศ. มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่าย จัดกิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดินครั้งที่ 2 ภาคใต้ ‘สมัชชาการศึกษาสุราษฎร์ธานีผนึกการเมือง’ ประกาศสานต่อความร่วมมือเติมทรัพยากรโรงเรียนขาดแคลน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 กองทุนเพื่อความภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ครั้งที่ 2 ภาคใต้  ณ โรงเรียนวัดศรีสุวรรณ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ครูจากโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบนเกาะ พื้นที่ห่างไกล ร่วม 25 แห่งร่วมรับทรัพยากรทางการศึกษา

งานวิจัยพบว่าผลการเรียนรู้ของผู้เรียน สอดคล้องกับคุณภาพการสอนของครู รวมถึงความพร้อมด้านทรัพยากรของโรงเรียน ‘นักเรียนในโรงเรียนชนบทมีผลการเรียนรู้ช้ากว่านักเรียนในเขตเมืองถึง 2 ปีการศึกษา’ สาเหตุจากขาดแคลนอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญของการเข้าถึงองค์ความรู้ในโลกปัจจุบัน ทว่าโรงเรียนขนาดเล็กและพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีอยู่ราว 15,000 แห่ง รองรับนักเรียนมากกว่า 900,000 คน ยังขาดแคลนทรัพยากรเหล่านี้

จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนโครงการ ‘ธนาคารโอกาส’ โดย กสศ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนด้วยการเป็นแพลตฟอร์มกลาง รับ-ส่ง สิ่งของจากการระดมความร่วมมือไปยังโรงเรียนที่ต้องการผ่านกิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน โดยครั้งที่ 2 ภาคใต้ ได้ส่งมอบคอมพิวเตอร์ 250 เครื่อง และทรัพยากรด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน อุปกรณ์กีฬา หนังสือส่งเสริมการอ่าน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์สริมทักษะ ฯลฯ

อีกทั้งได้เปิดวงคุยขยายความร่วมมือ ‘All For Education – Education For All: การกระจายทรัพยากรการศึกษาเพื่อโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล’ ระดมข้อเสนอจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว อาทิ เครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (ABE) จ.สุราษฎร์ธานี ผู้แทนสมัชชาการศึกษาจังหวัด หอการค้าจังหวัด ตัวแทนครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่น 1 ครูในเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอท่าชนะ เขต 2 รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งต่างมองตรงกันว่า แม้ธนาคารโอกาสและถนนครูเดินจะช่วยบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที แต่การสร้างเครือข่ายการทำงานระดับพื้นที่และการปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรแบบมุ่งเป้าคือทางออกที่ยั่งยืน

ดร.สุชาดา ลิ่มสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 กล่าวว่าการระดมพลังทุกภาคส่วน ช่วยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรการศึกษาถูกแก้ไขได้รวดเร็ว เด็กนักเรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ พัฒนาตนเองอย่างมีคุณภาพมากขึ้นจากความพร้อมที่มีมากขึ้น

ดร.สุชาดา ลิ่มสวัสดิ์

“สุราษฎร์ธานีมี 19 อำเภอ สพป.สุราษฎร์ธานีเขต 2 ดูแล 8 อำเภอ ครอบคลุม 178 โรงเรียน นักเรียนกว่า 30,000 คน ถ้ามองในภาพรวมเป็นตำบลหรืออำเภอหนึ่งนั้นทรัพยากรของจังหวัดไม่ได้ขาดแคลนจนน่ากังวล อย่างไรก็ตามการมีโรงเรียนขนาดกลาง 103 แห่ง และมีโรงเรียนขนาดเล็กถึง 73 แห่ง ตลอดมาเผชิญกับปัญหาครูไม่ครบชั้นและงบประมาณไม่พอ โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่พูดกันมายาวนาน นอกจากนี้ถ้ามองไปที่พื้นที่รับผิดชอบของ สพป.สุราษฎร์ธานีเขต 1 จะยิ่งเห็นภาพชัดด้วยมีโรงเรียนลักษณะพิเศษตั้งอยู่บนเกาะหลายแห่ง เช่นที่โรงเรียนบ้านเกาะนกเภาและโรงเรียนบ้านเกาะพลวย ที่มีนักเรียนไม่ถึง 10 คน ได้รับจัดสรรงบประมาณตามรายหัว การมาถึงของธนาคารโอกาสและความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่เกิดขึ้น จึงเป็นการเริ่มต้นครั้งสำคัญของการบรรเทาปัญหาให้โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นการส่งกำลังใจมายังครูและบุคลากรทางการศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดแนวทางการปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรในเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ต่อไป”

(ซ้าย) ดร.อารี อิ่มสมบัติ

ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. เผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่ามีนักเรียนยากจนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อ.1-ม.3) 9,654 คน จากจำนวนนักเรียน 162,360 คน คิดเป็น 5.95% ของนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับทั่วประเทศ ติดอันดับ 8 จาก 14 จังหวัดภาคใต้ ในภาพรวมทั้งประเทศสุราษฎร์ธานีมีจำนวนนักเรียนยากจนอยู่ในระดับปานกลาง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่สามารถดูเพียงค่าเฉลี่ยภาพรวมได้ เนื่องจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ โรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็น ยกตัวอย่างโรงเรียนทีปราษฎร์วิทยา ที่ อ.เกาะสมุย มีจำนวนนักเรียนยากจนสูงที่สุดในจังหวัด คือ 276 คน สะท้อนว่า โรงเรียนนี้แห่งเดียวมีนักเรียนยากจนครึ่งหนึ่งของเกาะสมุย ดังนั้นจึงควรนำข้อมูลเชิงลึกมาออกแบบการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตั้งเป้าหมายเชิงพื้นที่

“โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสุราษฎร์ธานี ไม่สามารถประเมินจากค่าเฉลี่ยของจังหวัดหรืออำเภอได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยการทำงานของคนในพื้นที่ผ่านข้อมูลเชิงลึกเพื่อทราบว่าโจทย์คืออะไร หรือต้องแก้ปัญหาตรงจุดไหน สุราษฎร์ธานี ยังมีโรงเรียนที่มีความเหลื่อมล้ำด้านพื้นที่ตั้ง หรือลักษณะโรงเรียนพื้นที่พิเศษ นับเฉพาะโรงเรียนในสังกัด สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1 มีทั้งหมด 3 แห่ง คือโรงเรียนบ้านเกาะนกเภา โรงเรียนบ้านเกาะเต่า และโรงเรียนบ้านเกาะพลวย ข้อมูลระบุว่านอกจากเกาะเต่า โรงเรียนขนาดเล็กบนเกาะอีกสองแห่งจัดการเรียนการสอนสูงสุดที่ชั้น ป.6 แน่นอนว่าด้วยปัญหาเรื่องอุปสรรคการเดินทาง จะมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถก้าวข้ามช่วงชั้นไปถึงมัธยมศึกษาได้”

อ่าน : ดร.อารี อิ่มสมบัติ: ปักหมุดจุดเหลื่อมล้ำโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล จากดอยสูง จ.เชียงราย ถึงแดนใต้ จ.สุราษฎร์ธานี

ดร.สมพร เพชรสงค์

ดร.สมพร เพชรสงค์ กรรมการสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สุราษฎร์ธานีมีโรงเรียนเล็กที่ขาดแคลนจำนวนมาก ติดขัดด้วยข้อจำกัดการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม สมัชชาการศึกษาสุราษฎร์ธานีซึ่งมีองค์กรหลักคือหอการค้าจังหวัด พยายามจะช่วยลดอุปสรรคการเรียนรู้ให้เบาบางลง ทำให้เด็กเยาวชนเข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาสมัชชาการศึกษาสุราษฎร์ธานีทราบว่าการส่งต่อโอกาสอยู่ แต่ไม่ทราบช่องทาง ธนาคารโอกาสจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่เราจะนำไปขยายผล ด้วยเชื่อว่าถ้าจุดใหญ่ทำได้ จุดเล็ก ๆ ก็ทำได้เช่นกัน

ทั้งนี้สุราษฎร์ธานีเป็น 1 ใน 20 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา แนวทางการเปลี่ยนพื้นที่โรงเรียนให้เป็นแหล่งสร้างอาชีพถือเป็นหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ ยังมีความร่วมมือของหน่วยงานและผู้คนในจังหวัดที่ทำให้เกิดการระดมทรัพยากรจากท้องถิ่น เช่นมีทุนการศึกษาจากสมัชชาฯ ที่ตั้งไว้ในงบประมาณราว 3,000,000 บาท เพื่อสนับสนุนเด็กเยาวชนให้เข้าถึงการศึกษา โดยนอกจากธนาคารโอกาสที่เป็นตัวแบบหนึ่ง สมัชชาฯ ยังต้องการองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเติม เพราะเราทราบดีว่าข้อมูลและองค์ความรู้จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้พบทางออกในแต่ละปัญหาอุปสรรคที่ซับซ้อนและแตกต่างกัน

อาร์ม วงศ์อำไพพิสิฐ

คุณอาร์ม วงศ์อำไพพิสิฐ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า หอการค้าสุราษฎร์ธานี MOU กับ กสศ. และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เพื่อทำงานเรื่อง ‘All for Education-Education for All’ ในมุมมองภาคเอกชนคาดหวังเรื่องผลลัพธ์การลงทุน ปัญหาของสุราษฎร์ธานีอาจไม่ใช่ความยากจน รายได้มวลรวมของจังหวัดที่ 2 แสน 1 หมื่นล้านบาท GDP อยู่ที่ 1.84 แสนต่อประชากร 1 ล้านคนเศษ อย่างไรก็ตามตัวเลขผลิตภัณฑ์จังหวัด (Gross Provincial Products: GPP) กลับอยู่ที่อันดับ 6 ของภาคใต้ และเป็นที่ 20 กว่าของประเทศ ที่เป็นอย่างนั้นเพราะยังมีประชากรกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หลุดจากระบบการศึกษา อีกกลุ่มคือประชากรที่ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ

หอการค้าจึงมองการพัฒนาจังหวัดที่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ด้วยการช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาสทางการศึกษาเป็นวาระสำคัญ โดยทราบดีว่าไม่มีหน่วยงานใดหนึ่งที่จะทำงานด้านการศึกษาให้สำเร็จเพียงลำพัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมภาคีก่อตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัด ซึ่งการทำงานผ่านเครือข่ายโดยมีสมัชชาการศึกษาเป็นแกนกลาง ทำให้เกิดการเชื่อมระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน ที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน สำหรับภาคเอกชนเราต้องการสร้างบุคลากรคุณภาพรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงาน ในภาวะที่ประชากรผู้สูงอายุในจังหวัดเพิ่มขึ้นจาก 16% ไปถึงเกือบ 20% สวนทางกับเด็กเกิดใหม่ที่ลดจาก 25% เหลือแค่ 18% ดังนั้นเราจึงต้องมองไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นทางเพื่อไม่ให้มีเด็กหลุดจากระบบออกมาอีก และต้องทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น โดยวันนี้เราพูดกันถึงธนาคารโอกาส ซึ่งสิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามาร่วมลงทุนและได้รับกลับคืน จึงเป็นเรื่องของทุนทางเศรษฐกิจ ทุนด้านองค์ความรู้ และทุนทรัพยากรมนุษย์ ถือเป็นการ Win-Win กับทุกฝ่าย  

“ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน เป็นตัวแบบหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มความขาดแคลน ด้วยการทำงานผ่านการศึกษาข้อมูล ทำให้เรารู้ว่าโรงเรียนใดขาดโครงสร้างพื้นฐาน โรงเรียนใดขาดเทคโนโลยีสมัยใหม่ โรงเรียนใดขาดครู หรือโรงเรียนใดต้องการองค์ความรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอน ในฐานะภาคเอกชนที่พร้อมเป็นฝ่ายสนับสนุน ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มองเห็นโอกาสของเด็ก ๆ เรื่องการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล ซึ่งจะเป็นบานประตูที่ช่วยเปิดไปพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต”

ด้านภาคการเมืองนำโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด อำเภอท่าชนะ เขต 2 ได้ร่วมผลักดันนโยบายการจัดสรรทรัพยากรที่เสมอภาค โดยมองว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ถึงราก คือความร่วมมือของทุกคนในพื้นที่

ดร.ปรเมษฐ์ จินา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานีคำนึงถึงเรื่องการสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลด้านการศึกษา พยายามตั้งโจทย์การทำงานให้สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ เช่นสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ที่พยายามหาทางแก้ในหลายรูปแบบ หลายวิธีการ ใช้โมดูลหรือหน่วยการเรียนรู้ที่จำเป็นในพื้นที่ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น บางโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นในเรื่องของการท่องเที่ยว ก็ใส่ในเรื่องขององค์ความรู้ด้านภาษา องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยว สุราษฎร์ธานีมีอำเภออยู่ติดทะเลถึง 9 อำเภอ ก็เข้าไปดูปัญหาในเรื่องของการประกอบอาชีพการประมง ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในทั้ง 9 อำเภอ

ดร.ปรเมษฐ์ จินา

“เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนเพื่อค้นพบตัวเอง ค้นพบศักยภาพของตัวเอง อย่างประเทศที่เขาสำเร็จการศึกษาในระดับต้น ๆ ของโลก ครูจะให้เด็กพยายามค้นพบตัวเอง เหมือนน้องเทนนิส ที่ค้นพบว่าตัวเองชอบเทควันโด ก็พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อเล่นกีฬาชนิดนี้ให้ดี จนได้เหรียญโอลิมปิก ความสำคัญในประเด็นต่อมา ก็คือการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ทุกองคาพยพในพื้นที่ ต้องมีการวางเป้าหมายร่วมกัน วางแผนการทำงานและพยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยเดือนกันยายนจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำลังจะมีการจัดงานสมัชชาการศึกษาขึ้นเพื่อระดมความคิดจากทุกภาคส่วนมาดูแลเรื่องนี้ เพื่อมีข้อมูลและแนวทางที่ชัดเจนในการผลักดันการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษารายหัว ที่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่”

บุญยิ่ง ย้งลี

คุณบุญยิ่ง ย้งลี สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอท่าชนะ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้มองเห็นชัดขึ้นจากการจัดกิจกรรมนี้ คือการพยายามสร้างความเสมอภาคในการเรียนรู้ พยายามลดความแตกต่างเรื่องทรัพยากรด้านการศึกษา ระหว่างโรงเรียนเล็กและโรงเรียนใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านการศึกษา มาเป็นเครื่องมือในการจัดการเรื่องการสร้างความเสมอภาคในการเรียนรู้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์อย่างคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่มีบทบาทสำคัญมาก

รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี

คุณรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ปัญหาด้านการศึกษา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องมองเห็นมิติและความซับซ้อนต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จากที่เคยศึกษาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนการสอน พบว่าแม้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะมีความสำคัญและมีบทบาทด้านการเรียนการสอน แต่สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการผลิตครูที่มีความเข้าใจ และมีบทบาทในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนและจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงสภาพปัญหาที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ โดยครูจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และคำนึงถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวผู้เรียนโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่จะต้องนำไปทำงานต่อในพรรคร่วมรัฐบาล

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. มีภารกิจสำคัญเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีสถาบันการศึกษา โรงเรียน และครู เป็น ‘ข้อต่อ’ ที่จะช่วยให้งานไปสู่ความสำเร็จ ทั้งนี้ กสศ. ได้มีการทำงานเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการศึกษาในระยะยาวจำนวนหนึ่ง เช่น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มุ่งปิดข้อจำกัดของการขาดแคลนครูและทรัพยากรของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล โดยสนับสนุนเด็กเยาวชนในพื้นที่ที่ตั้งใจอยากเป็นครูและขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยหลักสูตรพัฒนาครูเพื่อทำงานในพื้นที่เฉพาะ และกลับมาเป็นครูในโรงเรียนบ้านเกิด สำหรับสุราษฎร์ธานีมีครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ที่จบการศึกษาและเตรียมบรรจุในเดือนตุลาคม 2567 นี้ 13 คน

ต่อมาคือการแก้ไขข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร ซึ่ง กสศ. คาดหวังว่าธนาคารโอกาสและถนนครูเดินจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดการส่งต่อทรัพยากรและยังเป็นการเติมความพร้อมให้กับครูและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น โดยกิจกรรม ‘ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน’ ได้เริ่มจัดที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย และครั้งนี้ที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเตรียมจัดต่อเนื่องครั้งที่ 3 ที่ภาคตะวันออก จังหวัดตราด และครั้งที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย นอกจากนี้ในภาพใหญ่ กสศ. ยังมีงานวิจัยเรื่องนโยบายการจัดสรรทรัพยากร ‘Equity Based Budgeting’ เพื่อจะทำให้งบประมาณจากส่วนกลางสามารถลงไปถึงโรงเรียนปลายทางได้ตามความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กหลุดจากข้อจำกัดจากการจัดสรรทรัพยากรตามจำนวนนักเรียน อันเป็นสาเหตุของช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดจาก ‘ขนาด’ ของโรงเรียน ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือการทำให้แต่ละ ‘พื้นที่’ สามารถจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง ‘สมัชชาการศึกษา’ จนเกิดการระดมความร่วมมือและจัดสรรทรัพยากรจากหน่วยงานและคนหลายภาคส่วนในจังหวัด เพื่อปรับเปลี่ยนและวางแผนงานด้านการศึกษาในพื้นที่ในระยะยาว ทั้งหมดนี้คือการส่งเสริมโรงเรียนและครูให้มีความเข้มแข็ง